คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน : โลกแบนราบเข้าหากัน

หากใครมีโอกาสร่วมงานสัมมนา 40 ปี ประชาชาติ CSR 360 องศา ในหัวข้อ “ธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” เมื่อวันพุธที่ 24 สิงหาคม 2559 ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ผ่านมา

คงจะมองเห็นภาพของการร่วมมือกันของภาคเอกชนหลายแห่ง ที่เริ่มเข้าไปมีบทบาทในภาคสังคมประชารัฐมากขึ้น ยิ่งเฉพาะต่อเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยรอบที่ธุรกิจของตัวเองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เราแทบจะไม่เห็นองค์กรหนึ่งองค์กรใดให้ความสำคัญต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเลย

ตรงข้ามกลับตักตวงเอาแต่ผลประโยชน์กลับสู่องค์กรของตัวเอง

Advertisement

เพื่อสร้างผลกำไร

ตอบแทนคู่ค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น

แต่ไม่สนใจเลยว่าชุมชนที่ตัวเองเข้าไปดำเนินธุรกิจจะเป็นอย่างไร สภาพแวดล้อมเสียหายหรือไม่ มีมลพิษทางอากาศ เสียง และฝุ่นละอองหรือเปล่า

Advertisement

จนเกิดคดีฟ้องร้องมากมาย และในท้ายที่สุดชุมชนต่างๆ เหล่านั้นก็แพ้คดีไปอย่างราบคาบ จนเป็นรอยด่างในใจที่ทำให้ชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยไม่มีความไว้วางใจขบวนการทางทุนนิยมอีกเลย

ยิ่งเมื่อมีภาคเอ็นจีโอเข้ามาสนับสนุน ยิ่งจะทำให้รอยด่างในใจถ่างออกมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้อยู่คู่กับสังคมไทยมาหลายปี กระทั่งเริ่มมีการพูดถึงเรื่องของธรรมาภิบาล

ความโปร่งใส

การตรวจสอบย้อนกลับ

รวมไปถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการทำกิจการเพื่อสังคม หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Corporate Social Responsibility-CSR

เรื่องราวเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมธุรกิจ จนทำให้หลายองค์กรเชื่อว่าแนวทางในการดำเนินกิจการเพื่อสังคมคงจะเป็นเรื่องของการปลูกป่าชายเลน สร้างฝาย บริจาคเงิน และสิ่งของต่างๆ

ก็เลยต่างพากันทำเรื่องราวเหล่านี้ทั้งหมด

ถามว่าดีไหม?

ก็ดี

แต่ถ้าถามลึกไปกว่านั้นว่ามันใช่คำตอบจริงๆ หรือเปล่าของกระบวนการทำซีเอสอาร์?

ปรากฏว่าไม่ใช่

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรอก เพราะเรื่องกิจการเพื่อสังคมเริ่มต้นจากแนวคิดของฝั่งตะวันตก กระทั่งไหลบ่ามาทางฝั่งตะวันออก

เข้าไปอยู่ในบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ จนพัฒนาต่อยอดให้ทุกองค์กรต้องเขียนรายงานเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม

บางองค์กรอาจก้าวข้ามพ้นคำว่าซีเอสอาร์

บางองค์กรมองเห็นว่าแนวทางที่ทำอยู่นั้นไม่สามารถทำให้สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมโดยรอบบริษัทที่ตัวเองเข้าไปดำเนินธุรกิจเกิดความยั่งยืนได้

ท้ายที่สุดจึงเกิดคำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “Sustainable Development-SD” ในเวลาต่อมา ทั้งยังมีกระบวนการในการพัฒนาอย่างยั่งยืนรอบด้าน

ไม่ว่าจะเป็นคน องค์กร ผลิตภัณฑ์ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่ต่างเกื้อหนุนกันเพื่อให้สังคมโดยรวมอยู่กันอย่างมีความสุข

ดังนั้น องค์กรต่างๆ ที่ถูกรับเชิญให้ขึ้นมาพูดบนเวทีสัมมนา 40 ปี ประชาชาติ CSR 360 องศา “ธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” อย่างเอสซีจี, มิตรผล, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง, ไทยเบฟ, เครือเจริญโภคภัณฑ์, พรีเมียร์ กรุ๊ป และนารายา จึงเป็นตัวอย่างของ 7 องค์กรที่ปรับโมดูลธุรกิจให้สอดรับกับแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งบางองค์กรยังพัฒนาไปถึงระดับสากล เพื่อให้องค์กรของตัวเองถูกรับการคัดเลือกให้ติดอันดับ Dow Jones Sustainability Indices-DJSI

หรือดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์

เพราะ DJSI คือการจัดอันดับความยั่งยืนทางธุรกิจระดับโลก ไม่ได้คำนึงถึงแนวทางด้านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมองครอบคลุมไปยังเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณทางธุรกิจ, การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือเป้าหมายที่แต่ละองค์กรกำหนดแนวทางไว้

ดังนั้น สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ รับฟังมุมมองขององค์กรต่างๆ ที่มาพูดในงานสัมมนา จึงไม่เพียงเป็นการเรียนรู้แลกเปลี่ยนมุมมองในแต่ละองค์กร

หากยังทำให้ผู้เข้าร่วมรับฟังสัมมนานำประโยชน์ และสาระที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ไปปรับใช้ด้วย โดยเฉพาะกับองค์กรเล็กๆ หรือบางองค์กรที่กำลังเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ตรงนี้คือเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

เสมือนพี่สอนน้อง

เสมือนโค้ชที่บอกกล่าวกันและกัน

จนทำให้องค์กรของไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เพราะดั่งที่ทุกคนทราบดีโลกของเราทุกวันนี้แบนราบเข้าหากัน

โลกธุรกิจก็เช่นกัน

รวมไปถึงโลกแห่งสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมด้วย

หากเรามีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ มีความเป็นสากล และมีธรรมาภิบาลที่ดี เราในฐานะองค์กรของไทย เดินไปประเทศไหน เขาก็พร้อมอ้าแขนรับ

พร้อมจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

ยิ่งโลกในปัจจุบันเป็นยุคของอี-คอมเมิร์ซด้วยแล้ว ดังนั้น การทำธุรกิจต่อไปในอนาคต หากเราวางแผนการบริหารจัดการที่เป็นระบบ

นำมาตรฐานระดับโลกมาประยุกต์ใช้

โอกาสที่บริษัทต่างๆ จะแบนราบเข้าหากันอย่างสมดุลย่อมมีสูงขึ้น

ซึ่งเหมือนกับองค์กรทั้ง 7 ที่กำลังสยายปีกไปในนานาประเทศทุกวันนี้

ล้วนต่างเติบโตมาจากการลองผิดลองถูกมาแล้วทั้งสิ้น

แล้วทำไมเราไม่เริ่มต้นลองทำกันบ้างล่ะ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image