คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง : HIGH NOON (DO NOT FORSAKE ME, OH MY DARLIN’) งอมือสู้อธรรม (ช่างมันสิ มิใช่ธุระเรา)

ถ้านั่งสบายๆ ตากสายลมเย็นคุยกัน แล้วถามว่าทนได้ไหมหากเห็นอันธพาลรังแกใครๆ แม้กระทั่งเด็กและคนแก่ หลายคนอาจตอบว่าไม่ด๊าย-ไม่ได้ คงต้องพยายามสู้หรือพยายามช่วย

ก็เราเป็นคนดีมีคุณธรรมนี่นา

แต่เมื่อต้องเผชิญความจริง หรืออยู่ใน “สถานการณ์พิเศษ” คุณธรรมของเราอาจฝ่อ อาจหลุบ อาจหุบ อาจเหี่ยว ไม่เหยียดตรงสูงตระหง่านแผ่กิ่งก้านกว้างไกลอย่างที่เราเคยเชื่อ

วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อเราหันกลับไปมองช่วงเวลาใน “สถานการณ์พิเศษ” เราจะเห็นภาพตัวเอง งอมือ งอตีนสู้อธรรม แต่เราก็จะหาคำอธิบายดีๆ ได้สารพัด เพราะใน “สวนแห่งคำแก้ตัว” garden of excuses เราเลือกเก็บคำแก้ตัวได้ที่เหมาะสม (หรือไม่เหมาะสม) มาใช้ได้เสมอ

Advertisement

ระหว่างที่ใจหมองๆ มองหาคำแก้ตัว เลยไปหยิบเพลงที่ได้รางวัลออสการ์ในปี ค.ศ.1952 มาฝาก เป็นเพลงทรงพลังที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง High Noon ตัวเพลงมีชื่อยาวว่า Do Not Forsake Me, Oh My Darlin’ แม้เพลงจะเก่าแก่แต่ยังคงความสง่างาม และถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในร้อยของยอดเพลงคาวบอยแห่งศตวรรษที่ 20

หากมองเผินๆ ภาพยนตร์เรื่อง High Noon (ซึ่งก็เป็นหนึ่งในร้อยยอดภาพยนตร์แห่งศตวรรษที่ 20 เช่นกัน) น่าจะเป็นแค่หนังคาวบอยประเภทยิงปืนขี่ม้าไปตามเรื่อง แต่ความจริงแล้วผู้สร้างแค่อาศัยฉากคาวบอยแบบเวสเทิร์น สร้างเรื่องราวการต่อสู้กับเหล่าอธรรมของจิตใจอันซับซ้อนแห่งมนุษย์

พระเอกของเรื่องเป็น marshal หรือ “นายอำเภอ” ในหัวเมืองเล็กๆ ของสหรัฐในครั้งที่เพิ่งตั้งประเทศได้ไม่นาน

Advertisement

แฟนหนังเข้าบอยจะต้องรู้จักคำว่า marshal และ sheriff เป็นอย่างดีว่าคือนายอำเภอ ทั้งนี้ เพราะผู้จัดทำคำบรรยายภาษาไทยท่านแปลอย่างนั้นมาตั้งแต่ยุค 40s

ความจริงแล้ว sheriff นั้นหากเป็นของอังกฤษจะมีหน้าที่ใกล้เคียงกับนายอำเภอไทย แต่หากเป็นของอเมริกันในหนังคาวบอย จะเป็นผู้รักษากฎหมายตามหัวเมือง หน้าที่จึงใกล้เคียงกับตำรวจมากกว่าหน้าที่ของนายอำเภอ

ส่วน marshal ในหนังคาวบอยก็มีหน้าที่คล้ายกันกับ sheriff เพียงแต่มักจะใช้เรียกผู้รักษากฎหมายที่อยู่ในชนบทห่างไกล ในถิ่นที่ยังต้องขี่ม้าจับผู้ร้ายอยู่ เพราะ marshal มีรากมาจากภาษาเยอรมัน marhaz ที่แปลว่าม้า

แต่จะผิดหรือถูกก็สายไปเสียแล้ว เพราะพวกเรานักดูหนังชาวไทยคุ้นเคยกับคำว่านายอำเภอในหนังคาวบอยมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ใครขืนเปลี่ยนไปเป็นอะไรที่รุงรังอย่าง “หัวหน้าผู้รักษากฎหมายหัวเมือง” คงโดนโห่

นายอำเภอใน High Noon คือ Gary Cooper พระเอกที่โด่งดังในยุคนั้น ส่วนนางเอกคือ Grace Kelly ที่ในชีวิตจริงภายหลังกลายเป็นเจ้าหญิงเกรซแครี่แห่งรัฐโมนาโก

นายอำเภอแกรี่ คูเปอร์ นั้นตามท้องเรื่องว่าเป็นคนตรงและซื่อสัตย์คนในเมืองส่วนใหญ่นับถือเขา

แต่ประหลาดแท้ พอผู้ร้ายซึ่งโดนพระเอกจับและต้องโทษจำคุกเมื่อหลายปีก่อนถึงกำหนดออกจากตะรางก็ส่งลูกน้องก๋า-กร่าง ล่วงหน้ามาในเมืองให้รู้กันทั่วๆ ว่าจะมายิงนายอำเภอเพื่อล้างแค้นวันนี้แหละ

จะมารถไฟขบวน High Noon หรือเที่ยงตรง

นายอำเภอแกรี่ไม่ใช่พระเอกคงกระพันหาญกล้าอย่างที่เห็นในหนังคาวบอยส่วนใหญ่ แต่เป็นพระเอกที่เหมือนคนธรรมดาเอามากๆ เขารู้ว่าพวกผู้ร้ายมีหลายคน เมื่อจะสู้ก็จำต้องขอกำลังชาวเมือง (ซึ่งในอดีตเคยรู้รสการรีดไถข่มแหงของผู้ร้าย) ให้มาช่วยกัน

ปรากฏว่าเอาจริงเข้า พระเอกหาพวกไม่ได้เลยสักคน

ชาวบ้านในเมืองนั้นต่างใช้วิธี “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

ความจริงแล้วการเอาตัวรอดเป็นเหตุผลดีที่สุดในการดำรงชีวิตอยู่ของคนและสัตว์ ไม่ต้องดูอื่นไกล คนที่เป็นทหารตำรวจยังต้องผ่านหลักสูตร survival หรือการเอาตัวรอดในป่ามา ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนทีเดียว

ไม่ว่าพระเอกจะหันไปหาใคร ทุกคนล้วนมีเหตุผลที่ดีในการไม่ช่วยพระเอกทั้งนั้น แต่ละคนจำต้องคิดถึงความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว

สำคัญที่สุดคือทุกคนกลัวอิทธิพลของผู้ร้ายไม่มีใครอยากหาเรื่องใส่ตัว แทบทุกคนเห็นตรงกันว่า “ได้ไม่คุ้ม” เสีย

บางคนก็ว่าไม่ใช่ “กงการอะไรของข้า” เหมือนในนิทานยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาอยู่บนเขา

บางคนกลับรู้สึกสนุกที่จะได้เห็นเขาฆ่ากัน สะใจเอาหน่อยๆ ด้วยซ้ำ เพราะหมั่นไส้ความเป็นผู้รักษากฎหมายและความเป็นคนตรงของพระเอกมานานแล้ว

ที่ดีใจเพราะอยากอาศัยความกว้างขวางและเงินทองของผู้ร้ายเพิ่มความร่ำรวยให้แก่ตัวเอง อย่างเจ้าของบาร์หรือเจ้าของโรงแรมก็มี

คนที่เห็นแก่ความชอบธรรม ยินดีสู้ร่วมกับพระเอกก็มีเหมือนกัน แต่แล้วก็ถอยเมื่อเห็นว่าพระเอกพวกน้อยกว่าผู้ร้าย

อย่าว่าแต่ใครอื่นเลย แม้กระทั่งเพื่อนร่วมงานก็นึกอยากให้พระเอก “เป็นอะไรไป” เหมือนกัน เผื่อจะได้ครองตำแหน่งแทน

ความคิดทั้งหมดนี้ จะผิดหรือถูก ผู้เขียนบทปล่อยให้คนดูคิดกันเอาเอง เพราะล้วนแต่เป็นอารมณ์และความรู้สึกแท้จริงอันซับซ้อนของมนุษย์ทั้งสิ้น

แม้กระทั่งนายอำเภอคนก่อน ซึ่งเป็นคนดีมีฝีมือในอดีต ก็ไม่ยอมช่วย แกว่าแกแก่แล้ว ลำบากมามากแล้ว แถมแนะนำให้พระเอกหนีไป เพราะการตายในหน้าที่นั้นเอาจริงเข้าก็เป็นเรื่องเพ้อๆ ไม่คุ้มค่า

สรุปแล้ว ไปๆ มาๆ นายอำเภอแกรี่ คูเปอร์ ต้องสู้ผู้ร้ายทั้งฝูงอยู่คนเดียว

แต่พอถึงตอนจบพระเอกก็ชนะ เพราะหนังสมัยนั้นเขาชอบให้เห็นว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม

จะมีที่แพ้ (ชั่วระยะหนึ่ง) ก็คือคนเขียนบท เพราะบังเอิญหนังออกมาตอนที่สหรัฐกำลังอยู่ในยุคขวาจัด มีอีตาวุฒิสมาชิก Joseph McCarthy เป็นหัวหอกในการออกล่าพวกเอียงซ้าย คนเขียนบท High Noon ซึ่งเป็นมือชั้นครูของฮอลลีวู้ด จึงถูกป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กระด้างกระเดื่องต่อระบบ ไม่จงรักภักดีต่อประเทศชาติและสถาบัน เพราะเขียนบทชี้จุดอ่อนของกฎหมายและบ้านเมืองให้คนดูไปทั่วโลก

เท่านั้นยังไม่พอ ยังให้พระเอกแสดงความเซ็งวิถีของอเมริกาโดยการโยนดาวสีเงินที่เป็นนายอำเภอทิ้งในตอนจบอีกด้วย

ไปฟังเพลงที่นำมาฝากเถอะ เผื่อจะได้อารมณ์ของพระเอกบ้าง ในเนื้อเพลงมีตอนหนึ่งบอกว่า พระเอกจะต้องเผชิญหน้ากับผู้ร้าย หรือไม่ก็ต้อง “วางร่างไอ้ขี้ขลาดลงในหลุมศพของเขา” –or lie a coward in my/his grave

ประเภทหากไม่สู้มัน ฉันมันก็แค่ไอ้ขี้ขลาด

บอกหน่อยได้ไหม เราขี้ขลาดกันหรือเปล่า?


DO NOT FORSAKE ME, OH MY DARLIN’

หรือ The Ballad of High Noon

จาก Tex Ritter

จาก Frankie Lane

และการบรรเลงจาก Duane Eddy

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image