คอลัมน์ เริงโลกด้วยจิตรื่น : มาดมั่น”ที่หมายมุ่ง”

ภาพจาก www.dhammadelivery.com

หากสรุปชัดเจนว่าความสุขของการใช้ชีวิตคือ “สุข สงบ” และตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเดินไปสู่เป้าหมายเพียงวิถีนี้ ไม่มีสิ่งอื่นอย่างอื่นมาทำให้เขวได้

จะมองเห็นว่าชีวิตง่ายขึ้นทันที เพราะสิ่งอื่น อย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการสู่ “ภาวะสุข สงบ” เป็นเรื่องที่ต้องละทิ้งไป

“สงบ” หมายถึง ใจไม่วุ่นวายไปเพราะแรงกดดัน บีบคั้น หรือชักชวนให้เหลิงไปด้วยสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อม อยู่ในสภาวะที่ใจไม่แปรปรวนไปกับอิทธิพลที่เกิดจากความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ

“สุข” หมายถึง ไม่มีเรื่องที่ครอบงำ หรือย่อมให้ใจหม่นหมอง เศร้า รันทด ร่ำรำพัน

Advertisement

หากตั้งจิตให้อยู่ในภาวะ “สุขสงบ” และมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ย่อมหมายถึงการไม่นำพาความรู้สึกนึกคิดของตัวเองไปอยู่ในการครอบงำของความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ หรือการนำความเป็นไปของตัวเองไปเปรียบเทียบโน่นเทียบนี่ ให้เกิดความรู้สึกว่าแย่กว่า ดีกว่า

เมื่อนึกถึง “ความสงบ” ส่วนใหญ่จะเกิดภาพ สถานที่ต่างๆ ที่ไปในทางเงียบ สงัด ไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง ที่ชวนให้ใจโลดเเล่นไปในความอึกทึก

แต่ถึงที่สุดแล้ว “สงบ” เป็นเรื่องของใจที่รู้จักที่จะมีสมาธิอยู่กับการไม่ข้องแวะกับรูป รส กลิ่น เสียง ที่มากระทบ แม้เข้าไปยุ่งเกี่ยวก็ไม่รู้สึกถึงความอึกทึกนั้น

Advertisement

มองเห็นปัจจัยที่เข้าไปประกอบสร้างสิ่งต่างๆ นั้น และสามารถปล่อยวางไม่ให้จิตของตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นหวังว่าจะได้ หรือหวังว่าจะหลีกให้พ้น

ดูเป็นเรื่องไม่ยากเย็นอะไรนัก แค่ “ปล่อยวาง”

“ปล่อยวางอะไรได้ สิ่งนั้นก็ไม่มากระทบให้รู้สึก”

เป็นความง่ายในระดับ “ความรู้” และ “ความเข้าใจ”

แต่จะให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่าย

ที่ไม่ง่ายเพราะกระบวนการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ นั้นมีความต่อเนื่องจากเหตุหนึ่งไปสู่ผลอย่างหนึ่ง แล้วผลนั้นเป็นเหตุให้เกิดผลต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบสิ้น

อย่างเช่นที่ “หลวงพ่อชา สุภัทโท” เคยเทศนาธรรมว่า

“เธอจงระวังความคิดของเธอ

เพราะความคิดของเธอจะกลายเป็นความประพฤติของเธอ

เธอจงระวังความประพฤติของเธอ

เพราะความประพฤติของเธอจะกลายเป็นความเคยชินของเธอ

เธอจงระวังความเคยชินของเธอ

เพราะความเคยเชินของเธอจะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ

เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ

เพราะอุปนิสัยของเธอจะกำหนดชะตาชีวิตของเธอชั่วชีวิต”

นี่เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องกันไป

คนส่วนใหญ่มี “ชะตากรรม” คือการมุ่งสะสม หากจะเปลี่ยนไปเป็น “ปล่อยวาง” ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นทันที

จะต้องตั้งสติกันอย่างจริงจังที่จะสร้างวิธีคิดขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดความประพฤติใหม่ ต่อด้วยความเคยชินใหม่ เป็นอุปนิสัยใหม่

เพื่อให้ชะตากรรมใหม่เกิดขึ้น

ความยุ่งยากคือการต้องอดทนต่อแรงต้านที่เกิดจากอุปนิสัยเดิมๆ

“ชะตากรรม” จึงเป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงได้ยากยิ่ง

ดังนั้น แม้ “รู้” แม้ “เข้าใจ” แต่ใช่ว่าจะทำให้เป็นไปตามที่รู้และเข้าใจได้

ลองนึกดูก็ได้ว่า “จริงหรือไม่ที่ในแต่ละวันเราเลือกจะทำอะไรแบบเดิมๆ ที่เคยทำมา ทั้งที่รู้ทั้งที่เข้าใจว่ามีอย่างอื่น สิ่งอื่นที่ดีกว่าให้ทำ แต่กลับไม่ได้ทำในสิ่งที่ดีกว่า”

คนส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้

แต่แน่นอนไม่ใช่ทุกคนเป็นเช่นนั้น

ขึ้นอยู่กับว่าใครจะรักษา “ความมุ่งมั่น” ไว้ได้ต่อเนื่อง สู่เป้าหมายโดยยอมที่จะสละ หรือปล่อยวางสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image