หลากมุมมอง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับล่าสุด ‘ผิด-ไม่ผิด’หรือละเมิด(ลิข)สิทธิ์อย่างไร?

ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิต ทำให้ผู้คนจากพื้นที่ต่างสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลากหลายและนำเสนอเผยแพร่ออกไปได้ด้วยอย่างมากมายเช่นกัน และเนื่องจากมีการใช้งานจากผู้คนจำนวนมาก ภาครัฐจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือมาควบคุม ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดตามมา จึงออก พ.ร.บ.คอมฯ พ.ศ.2550 ขึ้นเป็นฉบับแรกของประเทศไทย

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการวิสามัญ บอกว่า ย้อนกลับไปปี 2549 เรามี พ.ร.บ.คอมฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งยุคสมัยนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ก ไลน์ ไม่มีโซเชียลมีเดียที่ส่งข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว ดังนั้นตลอด 9 ปีที่ผ่านมาจึงมีปัญหาเกิดขึ้นค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายใหม่

เป็นที่มาของ (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ…. โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมฯ (ฉบับที่..) พ.ศ….

แล้วร่างใหม่ พ.ร.บ.คอมฯ ต่างจากฉบับเดิมอย่างไร?

Advertisement

ไพบูลย์สรุปเนื้อหาสำคัญของร่างฉบับนี้ออกเป็น 3 ประเด็น อย่างน่าสนใจว่า

“ประเด็นที่ 1 มีการแก้ไขความคลุมเครือของกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายหลายอย่าง เช่น ม.11 แก้เรื่องสแปม ม.14 เรื่องหมิ่นประมาท เรื่องผู้ให้บริการ ม.16 การตัดต่อเผยแพร่ภาพ ประเด็นที่ 2 มีการเพิ่มโทษเกี่ยวกับรัฐ และประเด็นที่ 3 มีการบังคับว่าหลังจากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว จะมีการดำเนินการลบข้อมูล และมีการเพิ่มอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่

“เช่นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ จากเดิมเราไม่สามารถปิดบล็อกได้เพราะมีการเข้ารหัส ผมได้พูดคุยกับหลายสื่อเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ มักจะบอกว่าเฟซบุ๊กนี่แหละตัวดี อย่างเวลาได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลมาสามารถดูผ่านไลฟ์ได้ฟรี แล้วเฟซบุ๊กเขาก็ไม่รับผิดชอบอะไรทั้งนั้นเพราะเขาเห็นว่าเป็นเรื่องต้องดำเนินการแจ้งเอง จากประสบการณ์บางกรณีส่งแจ้งให้มีการปิดหรือระงับ ก็ไม่มีผลตอบรับกลับมา หรือบางกรณีก็บอกกลับมาว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถแชร์ได้ ตรงนี้เป็นปัญหาที่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นำเข้ามาดูด้วย”

Advertisement

ไพบูลย์ยังบอกอีกว่า เเต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังสรุปไม่ได้ เช่น ม.14 มีปัญหาเรื่องความทับซ้อนกับกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่ และ ม.20 เรื่องการจะปิดบล็อกอะไร ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องการวันนี้คือการตรวจกรองว่าการจะใช้ทั้ง ม.14 เเละ ม.20 จะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่

บรรยากาศในการพูดคุยแสดงความคิดเห็น

ขณะที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บุคคลที่คลุกคลีกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุว่า ถ้าเปรียบเทียบสื่อในประเทศไทย อย่างสื่อหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ มักจะไม่มีปัญหาด้านเนื้อหา เพราะมีบรรณาธิการ มีคนตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนจะนำเสนอสู่สาธารณะ แต่สื่อออนไลน์ไม่มี ผู้ใช้งานสามารถนำข้อมูลเสนอผู้บริโภคสื่อได้โดยตรง ดังนั้นหลายปีที่ผ่านมาจึงมีปัญหาค่อนข้างมาก

“การปฏิรูปสื่อออนไลน์ เราจะต้องมีการดำเนินการ 4 ด้าน 1.เรื่องกฎหมาย เดิมเรามี พ.ร.บ.คอมฯ ปี 2550 เเต่ยังไม่เคยแก้ไขและพัฒนา ทำให้การบังคับใช้อาจจะมีปัญหา ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงนี้จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไข 2.กลไกการกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายต้องชัดเจน ที่ผ่านมา ตำรวจโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคมีความรู้ความเข้าใจน้อยมากเกี่ยวกับการสืบสวนคดีทางเทคโนโลยี มักจะให้มาเเจ้ง บก.ปอท. ซึ่งเป็นการสร้างภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน เป็นเรื่องที่ต้องเเก้ไข

“3.ประเด็นการประสานงานกับผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ การขอความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายมักขัดกันกับนโนบายของบริษัทต่างๆ ในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ เเล้วจะทำอย่างไรให้ผู้ให้บริการเหล่านี้ให้ความร่วมมือ ถ้าทำได้ปัญหามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์สามารถระงับยับยั้งได้ เเละ 4.จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตมีจิตสำนึกใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ นี่คือจุดต้นทางของกระบวนการที่จะระงับปัญหาต่างๆ มากที่สุด” พล.ต.ต.พิสิษฐ์อธิบาย

ขณะที่ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการวิสามัญ ระบุว่า ปี 2558 นับเป็นครั้งเเรกที่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ตาม ม.32 วรรค 3 บัญญัติให้รัฐมีอำนาจในการขอให้ศาลสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ แต่ทำได้ชั่วคราว เพราะมีการระบุเงื่อนไขว่าเมื่อศาลสั่งระงับแล้วโจทก์จะต้องนำตัวจำเลยมาขึ้นศาลให้ได้ภายในเวลาที่ศาลกำหนดประมาณ 60-90 วัน คำถามก็คือการกระทำผิดในโลกออนไลน์จะหาตัวผู้กระทำผิดภายในเวลาที่กำหนดได้หรือไม่ แล้วถ้าเจอแล้วแต่ไม่อยู่ในประเทศไทยแล้วจะทำอย่างไร ทำให้มาตรา 32 วรรค 3 ขณะนี้ยังไม่เคยใช้คุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ได้เลย

“สำหรับร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับล่าสุด มีการคุ้มครองเพิ่มขึ้น อย่าง ร่างมาตรา 20(3) เปิดไว้ค่อนข้างกว้างว่าข้อมูลที่ผิดกฎหมายไทยให้ศาลสามารถสั่งระงับการเผยแพร่ได้ หรือใช้การปิดกั้นไม่ให้เข้าถึง ซึ่งมาตรานี้ความจริงแล้วไม่ใช่ของใหม่ แต่ของเก่าเราระงับได้เฉพาะเว็บลามกอนาจารไม่รวมข้อมูลอื่นที่ผิดกฎหมาย ในมาตรานี้ยังครอบคลุมหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การหมิ่นประประมาทผู้อื่นแล้วถูกลงโทษไปแล้ว แต่เสียงและข้อความที่หมิ่นประมาทก็ยังคงอยู่ในโซเชียลมีเดียก็เข้าข่ายด้วย เเต่ทั้งนี้การจะใช้กฎหมายนี้ ต้องใช้อย่างพอดี ไม่ใช่ว่ามีอำนาจบล็อกได้ก็บล็อกกันแหลกลาญ กระทบสิทธิในการรับรู้ของประชาชน ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง”

เพราะประเด็นเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงร่วมออกความเห็นกับร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับนี้ด้วย

ปิยนุชบอกว่า จุดยืนของแอมเนสตี้ มีความคำนึงถึงเสรีภาพการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเป็นหลัก เราเข้าใจจุดประสงค์ของ พ.ร.บ.นี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยทางเรื่องคอมพิวเตอร์ หรือเรื่องความมั่นคง ซึ่งมีเจตนาที่ดี แต่เราก็มีความกังวลเรื่องการตีความที่มีการบังคับใช้แล้วอาจไม่เป็นไปตามเจตนาของ พ.ร.บ. รวมถึงอาจมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตามเมื่อเราแสดงความห่วงใยไปก็มีการแก้ไข เรื่องนี้ก็ต้องขอชื่นชมคณะกรรมการร่างฯ ที่มีการรับฟัง

“เเต่ยังมีบางมาตราที่เรามีความกังวลอยู่ คือม.14(2) เนื่องจากการตีความของมาตรานี้ครอบคลุมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาท และยังระบุถึงความผิดในการ นำเอาข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในส่วนนี้ แอมเนสตี้มีคำถามว่าตามบทบัญญัติมาตรานี้ ส่วนไหนที่เรียกว่าข้อมูลอันเป็นเท็จ เรามีความเป็นห่วงว่าการใช้คำนิยามที่กว้างจะเป็นเหตุให้มีการใช้ พ.ร.บ.ฟ้องคดีและนำไปสู่การตีความที่มีบทลงโทษทางอาญา ที่อาจจะกระทบต่อเสรีภาพของประชาชน

“นอกจากนี้ยังมี ม.18 ม.19 และ ม.20 ที่พูดถึงภาพรวม กลไกการตรวจสอบและการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในส่วนนี้ให้อำนาจกับพนักงานในการเข้าถึงข้อมูลผู้ต้องสงสัย รวมถึงระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลออกจากระบบได้ เข้าใจว่าจะต้องได้รับการอนุญาตจากศาลก่อน แต่การที่ใครสักคนเข้าถึงหรือลบข้อมูลก็อาจจะกระทบเรื่องสิทธิส่วนบุคคลเหมือนกัน” ปิยนุชทิ้งท้าย

ด้าน อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต อธิบายภาพการทำงานของอินเตอร์เน็ตโดยเเบ่งออกเป็น 3 ชั้น โดยชั้นบนสุดคือ เนื้อหา ชั้นที่ 2 คือ สื่อตัวกลาง หรืออาจเรียกว่าผู้ให้บริการ หรือแพลตฟอร์ม ทำหน้าที่ค้ลายภาชนะสำหรับใส่เนื้อหา เเละชั้นสุดท้าย เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน หรือผู้ให้บริการการเชื่อมต่อ เช่น สายเคเบิล สายสัญญาณ อินเตอร์เน็ต ไวไฟ คลื่นความถี่ต่างๆ

จากโครงสร้างดังกล่าวจะเห็นว่า พ.ร.บ.คอมฯ เน้นในชั้นที่ 2 คือ ผู้ให้บริการ ยกตัวอย่างเช่น ม.14 ถ้ามีการเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลที่เป็นความผิด ผู้ให้บริการจะต้องรับผิดตาม ม.15 ด้วย เเละ พ.ร.บ.ฉบับใหม่มีการเพิ่มเติมเนื้อหาใน ม.15 (4) อีก 2 วรรค คือวรรค 2 ให้รัฐมนตรีออกประกาศขั้นตอนการแจ้งเตือนและนำข้อมูลออก และวรรค 3 คือถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าทำตามขั้นตอนนั้นแล้ว ก็จะไม่มีความผิด

“ถามว่าทำไมต้องเน้นส่วนของผู้ให้บริการ ถ้าดูจากกฎหมายสื่อเรื่องการเผยเเพร่เนื้อหาทั้ง พ.ร.บ.การพิมพ์, พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์, พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หากมีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายจะมุ่งไปหาคนเผยแพร่คือชั้นบนสุด เเต่ปัญหาคืออินเตอร์เน็ตมีผู้เผยแพร่เยอะ การจะไปไล่ทีละคนแบบสื่ออื่นคงยาก ดังนั้น จึงต้องให้ผู้ให้บริการเป็นคนช่วยดูแลผู้ใช้บริการของตัวเอง โดยเขียนภาระความรับผิดทางกฎหมายไว้”

เเล้วหากผู้ให้บริการไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลของเมืองไทยจะทำอย่างไร?

“ปัญหานี้ส่งผลให้การควบคุมขยับมาในชั้นสุดท้าย คือโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการบล็อกแทน เมื่อเราขอให้เขาปิดจากนอกประเทศไม่ได้ ก็ขอให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบล็อกให้ ประเด็นคือ มีเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมที่ควรจะใช้วิธีนี้จริง แต่อย่างไรก็ตามเราอาจจะต้องดูถึงผลกระทบกับคนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย” อาทิตย์กล่าว

เป็นหลากมุมมอง หลากความเห็น ที่ต้องขบคิดกันต่อไป

ในยุคสมัยที่ไม่มีใครปฏิเสธว่า “เทคโนโลยี” จำเป็นกับการดำเนินชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image