3ปีไม่มี ‘สมาพ่อปู่’ป้อมมหากาฬ สงกรานต์ครั้งสุดท้าย กับการพัฒนาที่ไปไม่ถึงไหน?

3ปีไม่มี‘สมาพ่อปู่’ป้อมมหากาฬ สงกรานต์ครั้งสุดท้าย กับการพัฒนาที่ไปไม่ถึงไหน?

นับเป็นปีที่ 2 ของ ‘สงกรานต์ไม่เหมือนเดิม’ สำหรับชาวไทยและหลายประเทศในอาเซียน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ไทยเจอระลอก 3 และ สปป.ลาว ประกาศล็อกดาวน์นครหลวงเวียงจันทน์ตั้งแต่ 13-30 เมษายนนี้ หลังพบนักธุรกิจชายชาวไทยติดโควิด เดินทางหลายจุดครอบคลุมขอบเขตกว้างขวางในเวียงจันทน์

ทำสงกรานต์ในราชอาณาจักรไทย และบุนปีใหม่สปป.ลาวงานกร่อย

แต่นี่ไม่ใช่ปีแรกสำหรับชาวบ้าน (อดีต) ชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งเคยมีการจัดงาน ‘สมาพ่อปู่’ เป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องมานานกว่าครึ่งศตวรรษ จวบจนปีสุดท้ายของการมีอยู่ของชุมชนดังกล่าว เมื่อ พ.ศ.2561 เนื่องด้วยกรุงเทพมหานครภายใต้คำขวัญ ‘ทุกชีวิตเราดูแล’ เข้ารื้อถอนบ้านเรือนหลากยุคสมัย พร้อมปิดฉากการต่อสู้ 25 ปีเต็มของชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้ายด้วยคำว่าการ ‘พัฒนาเมือง’

ภาพผู้คนแต่งกายด้วยผ้าไทยสีสันสดใส ตั้งขบวนแห่กลองยาว พร้อมร่ายรำกันอย่างคึกคัก แห่เครื่องเซ่นไหว้ อาทิ หัวหมู ปลายำ และไข่ต้ม มุ่งหน้าสู่บริเวณ ‘เชิงเทินป้อม’ กลายเป็นอดีตที่ไม่อาจหวนคืน

Advertisement

สงกรานต์ในปีนั้น กลายเป็นทั้งการ ‘หวนรำลึก’ ความทรงจำในชุมชน และ ‘อำลาพ่อปู่’ ไปพร้อมๆ กัน

การรื้อถอนบ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬในช่วงปลายเดือนเมษายน 2561 ปิดฉากการต่อสู้ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ
การรื้อถอนบ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬในช่วงปลายเดือนเมษายน 2561 ปิดฉากการต่อสู้ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ

2561 อำลาพ่อปู่‘ป้อมมหากาฬ’ ในสงกรานต์‘ครั้งสุดท้าย’

60 ปีคือเลขกลมๆ ของความต่อเนื่องยาวนานในการจัดพิธีสมาพ่อปู่ ซึ่งทุกปี มีการสักการะใน 3 จุดของชุมชน ได้แก่

Advertisement

1.เชิงเทินป้อม ซึ่งเป็นการไหว้พ่อปู่ตามความเชื่อเดิมของชาวบ้านที่เล่ากันต่อมาว่า เคยมีศาลเพียงตาในบริเวณดังกล่าว แต่ภายหลังถูกรื้อออกไป

2.ลานกลางชุมชน ไหว้ต้นไม้ใหญ่ 4 ต้น คือ “โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง” ที่อยู่คู่ชุมชนมานาน

3.ศาลตายายริมคลอง สักการะเจ้าพ่อพระยาเพชร หรือพระยาเพชรปาณี เจ้าของวิกลิเกพระยาเพชร บุคคลที่มีตัวตนจริงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นที่มาของชื่อตรอกพระยาเพชร

ทว่า ในปีสุดท้าย ชาวบ้านจำใจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบพิธี จากเดิม 3 จุด เหลือ 2 จุด คือ ที่เชิงเทินป้อม และศาลตายายริมคลอง เพราะลานกลางชุมชนในวันนั้น กลายเป็นพื้นที่ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยซากปรักหักพังของ ‘บ้าน’ ซึ่งถูกรื้อถอนในช่วงกลางเดือนเมษายน 2561 ขณะที่งานสมาพ่อปู่ครั้งสุดท้ายของชุมชนมีขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม ล่าช้ากว่าปีก่อนๆ ที่มักจัดในช่วง ‘หลังสงกรานต์’ เพื่อรอให้ชาวบ้านกลับจากต่างจังหวัด หรือท่องเที่ยวในวันหยุดยาวมารวมตัวให้ได้มากที่สุด แต่มักจะยังอยู่ในช่วงเดือนเมษายน

“การทำพิธีสมาพ่อปู่ครั้งนี้คาดว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากสมาชิกในชุมชนแยกย้ายไปอยู่ในที่ต่างๆ จึงรวมตัวกันได้ยากขึ้น หลังจากต่อสู้มายาวนานกว่า 25 ปี ถึงตอนนี้เหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่า แต่รู้สึกว่าเหมือนทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง เป็นเรื่องยากที่อธิบายได้ว่า ชุมชนป้อมมหากาฬเดินมาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันที่คนชุมชนป้อมมหากาฬจำต้องเอ่ยคำเชื้อเชิญเพื่อน พี่น้อง มิตรสหาย กัลยาณมิตรทุกคนมารวมกันเป็นครั้งสุดท้าย

“เราอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้มา 40 กว่าปี ซึ่งตอนนี้อายุเกือบจะ 60 ปีแล้ว เพราะย้ายตามพ่อแม่มาอยู่ที่นี่ ได้เห็นชุมชนนี้มาตั้งแต่เด็ก เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานเป็นร้อยๆ ปี เป็นรากเหง้าของชุมชน มันมีความสำคัญ แต่เนื่องจากมีการพัฒนาเมืองเกิดขึ้น แรกๆ เราก็ต่อสู้ เพื่อหวังอยากจะอยู่ในที่ดินผืนเดิม แต่เราสู้กันมา 20 กว่าปีแล้ว มันไม่เกิด…”

คือคำกล่าวของ พีระพล เหมรัตน์ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬคนสุดท้าย ในสงกรานต์สุดท้าย และพิธีสมาพ่อปู่ครั้งสุดท้าย เมื่อปี 61 ในวันนั้น ไร้เงาอดีตประธานชุมชนอย่าง ธวัชชัย วรมหาคุณ ผู้ก้มกราบที่พื้นกลางชุมชน กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่เคยช่วยเหลือ ซาบซึ้งใจแม้พ่ายแพ้ พร้อมประกาศว่า ‘นี่คือน้ำตาหยดสุดท้าย’

สงกรานต์สุดท้ายของชุมชนป้อมมหากาฬ ในพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชิงเทินป้อมมหากาฬ โดยมี ‘กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ’ (กอ.รมน.) กทม.เข้าร่วม เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561

ปีแรกแห่งการพัฒนา
บูรณะไม่ปรึกษากรมศิลป์‘ท่าเรือยุค ร.6’

ไม่กี่วันหลังไม้แผ่นแรกถูกรื้อจากฝาบ้าน พื้นดินที่เคยขวักไขว่ด้วยรอยเท้าของชาวบ้าน และแขกผู้มาเยี่ยมเยือน ถูกการเข้าดูแลพื้นที่โดยภาครัฐภายใต้ชุดความคิดในการ “พัฒนา” เริ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็ว มุ่งหวังให้เป็น “สวนสาธารณะ” แห่งใหม่ของคนไทยบนพื้นที่ราว 4 ไร่ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์เกือบ 50 ปีที่แล้ว

การ ‘ปรับภูมิทัศน์’ ให้งดงามในนิยามภาครัฐดำเนินต่อไป ทว่า สังคมก็ตั้งคำถามมากมายตั้งแต่ช่วงปีแรกของการพัฒนา ปรากฏในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ติดตามประเด็น “พื้นที่สาธารณะ” และการพัฒนาเมือง โดยมองว่า สิ่งที่ภาครัฐกระทำอยู่สะท้อนความห่างไกลของการเป็นสวนสาธารณะที่ “ตอบโจทย์” ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ที่ไม่เพียงพอ ห้องน้ำที่ไม่ค่อยจะถูกสุขลักษณะ ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยังไม่นับประเด็นความปลอดภัยที่นักวิชาการเคยท้วงติงหลายครั้ง ว่าพื้นที่ว่างหลังกำแพงป้อมมหากาฬ ไม่เหมาะสมต่อการเป็นสวนสาธารณะเนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด ฝั่งหนึ่งคือกำแพงสูง มีรั้วรอบขอบชิด อีกฝั่งหนึ่งก็ติดคลองโอ่งอ่าง

ไหนจะประเด็นการบูรณะอาคาร ‘พระยาญาณประกาศ’ ในรั้วสวนฯ ซึ่งเคยเป็นท่าเรือสำหรับเจ้านายและขุนนางสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีการทำความสะอาด และทาสีขาวบริเวณผนังทั้งด้านนอกและด้านใน โดยเกิดกระแสการตั้งคำถามในแวดวงวิชาการว่าได้มีการทำงานร่วมกันกับกรมศิลปากรหรือไม่ เนื่องจากมีการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว โดย กทม.ระบุว่า เตรียมใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์

ในตอนนั้น รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ออกมาท้วงติงว่า กทม.กลายเป็นผู้เข้าไปทำลายโบราณสถานเสียเอง โดยไม่ได้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงให้ทราบคือ กรมศิลปากร ต่อมา กทม.ได้ออกมาโต้ว่า อาคารพระยาญาณประกาศ ไม่ใช่โบราณสถาน แม้จะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยหยิบยกประเด็นที่ว่า “ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียน”

“ในแง่ของประวัติศาสตร์ เป็นอาคารที่มีคุณค่า นับเป็นโบราณสถานได้ด้วยตัวของมันเอง แม้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ตาม ดังนั้นจึงควรถูกประเมินว่าจะต้องได้รับการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง แต่กระบวนการที่ กทม.เข้าไปซ่อมแซมโดยไม่ผ่านกระบวนการทางวิชาการทั้งการวิจัย การอนุรักษ์ ถือว่าเป็นการคุกคามโบราณสถานของชาติโดยเจตนา”

กทม.กลายเป็นผู้เข้าไปทำลายโบราณสถานเสียเอง สรุปได้ว่าเป็นหน่วยงานที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรม นอกจากรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้ายไปแล้วทั้งที่มีคุณค่ามากกว่าอาคารหลังนี้เสียอีก” อาจารย์โบราณคดีกล่าวไว้เมื่อกว่า 2 ปีมาแล้ว

กทม.ชวนชม ‘ดอกไม้บานที่สวนป้อมมหากาฬ’ เมื่อปลายปี 2563 ก่อนโดนวิพากษ์ว่า ‘ไม่สวยด้วยที่มา’ จากการรื้อย้ายชุมชน
ป้ายข้อมูล ‘ตรอกถ่าน’ ภาษาไทย จีน อังกฤษ บอกประวัติศาสตร์ท่ามกลางบรรยากาศแข็งทื่อของสวนสาธารณะไร้ชีวิตผู้คน ถัดออกไปคืออาคารพระยาญาณประกาศ ท่าเรือสมัย ร.6 ที่บูรณะโดยไม่ปรึกษากรมศิลปากร

2 ปีเคลื่อนผ่าน โหมงานจัดดอกไม้ คุ้มไหม?‘ประวัติศาสตร์ 8 บรรทัด’

เวลาล่วงผ่านไปสู่ปีที่ 2 และปีที่ 3 ถ้อยคำของ จักกพันธุ์ ผิวงาม (อดีต) รองผู้ว่าฯกทม.ในช่วงเวลาหลังรื้อชุมชนยังคงตราตรึง นั่นคือ การระบุว่าได้มอบหมายให้สำนักผังเมือง ศึกษาข้อมูล เพื่อจัดทำนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ป้อมมหากาฬในอาคารพระยาญาณประกาศ อาทิ เรื่องราวของป้อมปราการพระนครทั้ง 14 ป้อม ที่ปัจจุบันเหลือเพียงป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุเท่านั้น ความสำคัญเกาะรัตนโกสินทร์ และข้อมูลท่องเที่ยวสถานที่สำคัญโดยรอบ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมา

เป็นความย้อนแย้ง ตลกร้าย ในชะตากรรมของสามัญชนในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ถูกทำลายแทบไม่เหลือซาก เพื่อให้ภาครัฐศึกษาข้อมูลแล้วเนรมิตนิทรรศการประวัติศาสตร์บนหน้ากระดาษมาแทนที่เพื่อเรียนรู้ผ่าน ‘การท่องเที่ยว’

ผ่านมาถึงวันนี้ มีเพียงแผ่นป้ายข้อมูลประวัติศาสตร์ ชี้โลเกชั่นว่าตรงนี้ตรงนั้นเคยเป็นสถานที่ใด อาทิ ตรอกนกเขา, ตรอกถ่าน และตรอกพระยาเพชรปาณี โรงลิเกแห่งแรกในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีภาพเบื้องหน้าคือ อากาศที่ว่างเปล่า

ย้ำเตือนการสูญสลายหายสิ้นของประวัติศาสตร์ชุมชนแห่งนี้บนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ในฐานะชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้าย หลอมรวมผู้คนจากต่างถิ่นที่อยู่ในแต่ละห้วงเวลา มีพลวัต ความเคลื่อนไหวโยกย้ายเข้าออก อันเป็นธรรมชาติของคำว่า ชุมชน

เท่านั้นยังไม่พอ หากพิจารณาในมุมของการเป็นพื้นที่ ในฐานะ ‘สวนสาธารณะ’ ก็อาจกล่าวได้ว่า ห่างไกลจากความสำเร็จ ทั้งในแง่คุณภาพ และปริมาณ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ แม้ไม่มีตัวเลขชัดเจน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีจำนวนบางตา ไม่มีเหตุผลใดๆ สนับสนุนความคุ้มค่า ในการพัฒนาพื้นที่ด้วยการรื้อถอนบ้านเรือน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ โบราณคดี อีกทั้งสถาปนิกจำนวนมากยืนยันว่ามีคุณค่าในเชิงวิชาการ และมี “มูลค่า” ในด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563 มีการนำดอกไม้ชนิดต่างๆ มาปลูกในสวน ติดตั้งหุ่นโชว์เสื้อผ้า 3 ตัว ห่มด้วยกล้วยไม้ ไม่พอ ยังมีประตูรูปดอกไม้หลากสี ก่อนหน้านั้น ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน โฆษกกรุงเทพมหานคร ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง บุตรชาย พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. โพสต์เฟซบุ๊กชวนชมความงดงามของสวนดังกล่าวพร้อมติดแฮชแท็ก #กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว สุดท้ายเจอ ‘ทัวร์ลง’ โดยชาวเน็ตชี้ว่า ‘ไม่สวยด้วยที่มา’ ก่อนย้อนขุดปมไล่รื้อชาวบ้านมาตีแผ่

‘ทำสวนดอกไม้ด้วยการไล่คนในชุมชนออก ถามจริงนั่นคือความภูมิใจหรือ’

‘ป้อมมหากาฬมีค่าแค่ความสวยงาม กับการพักผ่อนใจ โดยข้ามหัวคนในชุมชนเก่าแก่หรือ?’

‘ไม่สวยทั้งรสนิยมและที่มา’

‘น่าเศร้า ความสวยงามชั่วคราว ที่มีไว้สำหรับนักท่องเที่ยวได้มาเซลฟี่ ที่ต้องแลกมาด้วยวิถีชีวิตชุมชนของผู้คน คนจริงๆ ที่กลายเป็นความอัปลักษณ์ของเมือง’

คือส่วนหนึ่งของคอมเมนต์

ต่อมา ร้อยตำรวจเอก พงศกร โพสต์ชี้แจงว่า ในการ ‘ขอคืนพื้นที่’ นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำตามขั้นตอน โดยเริ่มจากรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนและประชาชนทั่วไป ความเห็นส่วนใหญ่ เห็นควรขอคืนพื้นที่ดังกล่าว และ กทม.ได้ทำความเข้าใจกับชุมชนก่อนล่วงหน้า พร้อมทั้งช่วยเหลือ เยียวยา และจ่ายค่าเวนคืนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ตาม พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน พ.ศ.2535

‘ภูเขาทอง’ มุมมองจากสวนฯ ปี 2562 หลังรื้อชุมชม 1 ปี จากเดิมนักท่องเที่ยวต่างชาติมักเข้าเยี่ยมชุมชนก่อนแล้วเดินเท้าต่อไปยังวัดสระเกศฯ ในอดีตศาลเพียงตาริมคลองโอ่งอ่างคือ 1 ใน 3 จุดสักการะเมื่อทำพิธีสมาพ่อปู่

เลิกไล่ชุมชนเก่าทำ‘สวนผักชี’
เปิดแนวคิดฟิ้นเมืองหลังโควิด

ตัดภาพมาในวันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร เผยแพร่ข้อเสนอแนะผ่านบทความ ‘เปิดแนวคิดฟื้นฟู เมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์หลังโควิด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป’ คอลัมน์ พื้นที่ระหว่างบรรทัด ในมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในตอนหนึ่งว่า การท่องเที่ยวยุคหลังโควิดของไทยต้องเลิกเอาใจนักท่องเที่ยวมากจนเกินพอดีเสียที โดยมองว่า ควรยกเลิกการรื้อไล่ชุมชนตลอดจนอาคารเก่า ที่ไม่มีคุณค่าตามเกณฑ์ของกรมศิลปากร เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์

‘พื้นที่ดังกล่าวมีมากพอแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ การจัดการพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพต่างหาก สวนดอกไม้แบบผักชีโรยหน้าตลอดจนกิจกรรมที่ไร้ความยั่งยืน เช่น สวนดอกไม้ป้อมมหากาฬ และพายเรือคายัค
วนไปมาเล่นๆ ในคลองโอ่งอ่างบางลำพูเพื่อถ่ายรูปลงโซเชียล ควรยกเลิกทำกันเสียที เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นเท่านั้นนะครับ คงต้องมีการระดมความเห็นอย่างกว้างขวางอีกมาก หากต้องการทำจริง

การระบาดของโควิดครั้งนี้ได้ช่วยส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนมากๆ ต่อการพัฒนาพื้นที่เมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ เมืองที่ตายและไร้ชีวิตจากการพึ่งพาเฉพาะการท่องเที่ยวเป็นอย่างไร โควิดได้เผยมันให้เห็นต่อหน้าต่อตาเราแล้ว

ซึ่งผมได้แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายจะมองเห็นปัญหานี้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป’

ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพ 3 ปีเต็มหลังการย้ายชุมชน ไม่ว่าจะเลี่ยงไปใช้คำว่า ‘ขอคืนพื้นที่’ หรืออะไรก็ตาม สุดท้ายไม่อาจหลีกพ้นคำถามสำคัญที่ว่า การพัฒนาเมืองในนิยามของภาครัฐ ก่อให้เกิดผลดีกับคนกรุงเทพฯ และสังคมไทยอย่างคุ้มค่ากับการรื้อทิ้ง ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตหรือไม่ โดยยังไม่ต้องเทียบมาตรฐานโลกสากล ที่เราทุกคนคงมีคำตอบอยู่แล้ว แต่จะยอมรับความจริงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image