50 ปี ค่ายอาสาฯ มก. รวมพล’ฅนค่าย’

“ข้อดีของการออกค่ายอาสาคือ การสร้างคน ทำให้เรารู้จักการทำงานร่วมกัน ในสมัยที่เป็นนิสิต ทุกคนบริสุทธิ์ใจต่อกัน รักกัน ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราทำงานมาได้จนถึงทุกวันนี้”

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ ศิษย์เก่าค่ายอาสา KU 37 เปิดใจและเล่าว่า ได้ทำงานค่าย 4 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วก็ยังไปออกค่ายช่วยน้องๆ อยู่ เช่นเดียวกับศิษย์เก่าคนอื่นๆ ซึ่งในช่วง 3-4 ปีหลังจะมีศิษย์เก่ามารวมตัวกันเยอะมาก ปีนี้ครบรอบ 50 ปีพอดี จึงถือเอาวาระนี้จัดงาน “รวมพลฅนค่าย ห้าสิบปีแห่งอุดมการณ์ มุ่งมั่น สืบสานปณิธานอย่างยั่งยืน ครบรอบ 50 ปี ค่ายอาสาฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” เชิญชวนน้องพี่ชาวค่ายมาร่วมพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ในวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2559 ที่อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทั้งนี้ มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยถึงเรื่องราวครั้งก่อนกับพี่ๆ ชาวค่าย อย่าง รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ (KU 26) ที่เล่าให้ฟังว่า ค่ายอาสาฯ มก. ก่อตัวเป็นรูปร่างขึ้นมาเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ.2509

pra02300859p2

Advertisement

“ผมจำได้ดี ในวันที่พี่เวท-ดร.เวท ไทยนุกูล และพี่เปี๊ยก-คุณบำรุง บุญปัญญา สองรุ่นพี่ปี 4 ในขณะนั้น (KU 23) ได้พบกับผม ซึ่งผ่านการรับน้องปีหนึ่งขององค์การฯ มาหมาดๆ พี่เวทพูดว่า ‘ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เขามีค่ายอาสาฯ เกษตรเรายังไม่มี สนใจร่วมไหม ถ้าพี่ 2 คน จะเคลื่อนไหวจัดตั้ง?’ จึงยืนยันได้ว่า พี่เวท-ดร.เวท ไทยนุกูล และพี่เปี๊ยก-คุณบำรุง บุญปัญญา คือสองรุ่นพี่ผู้บุกเบิกค่ายอาสาฯ มก. ในช่วงกลางปี 2509 จริงๆ

“จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ค่ายอาสาฯ มก.ก่อกำเนิดมาครบ 50 ปีพอดี จึงขอระลึกถึงพี่ 2 คนนี้ด้วยจิตคารวะที่ได้เสียสละแรงกายแรงใจสร้างพื้นที่และเวทีให้น้องๆ รุ่นหลังได้เป็นแหล่งปลูกสร้างและปลูกฝังวิถีทรรศนะ ทักษะความคิด และจิตวิญญาณแห่งการทำงานเพื่อปวงชน บนหนทางแห่งการเกื้อกูลแบ่งปัน เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่นับวันจะเต็มไปด้วยการแข่งขันนี้อย่างมีสันติสุขตลอดไป”

ทางด้าน บำรุง บุญปัญญา (KU 23) หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายอาสาฯ มก. เล่าว่า ครั้งนั้นการรวมตัวกันของหนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง โดยขนานนามตนเองอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมาว่า “กลุ่มนิสิตอาสาสมัคร มก.” ไม่มีนัยแหลมคมหรือตื่นเต้นอะไรมากมาย แทบไม่น่าเชื่อว่าเวลาได้ผ่านไปถึง 5 ทศวรรษแล้ว

pra02300859p3
(จากซ้าย) ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ, เวท ไทยนุกูล, ประเสริฐ ชิตพงศ์, บำรุง บุญปัญญา

“การเดินทางย้อนรอยประวัติศาสตร์ไปตาม ‘ค่าย’ ที่พวกเราได้ไปใช้ชีวิต ไปเรียนรู้และเก็บความทรงจำอันงดงามไว้ โดยไม่ถูกฝังทิ้งไปตามกาลเวลา ผมก็ถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งซาบซึ้งในความรักความผูกพันที่น้องๆ มอบให้ ยังแอบสงสัยในใจว่าน้องๆ กลุ่มนี้ยังจะมีพลังใจ พลังแรง ในการสืบสานอุดมคติจากช่วงวัยหนุ่มสาวได้จริงหรือไม่

“อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งคือการได้สัมผัสถึงความพยายามอย่างสูงของน้องๆ ที่จะพบปะพูดคุยกัน รื้อฟื้นความสัมพันธ์ ความรักใคร่ ห่วงใย (ไม่ใช่แค่การกินเหล้าพบปะสังสรรค์) เพื่อนำไปสู่การรวมพลังสร้างสรรค์ของบรรดาชาวค่ายทั้งในอดีตและปัจจุบัน เรื่องราวการเคลื่อนไหวของน้องค่ายกลุ่มนี้กระทบความรู้สึกครุ่นคิดของผมตลอดมา เป็นการส่งสัญญาณที่น่าติดตามและน่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง”

ศิษย์เก่า KU 23 บอกและย้อนเรื่องราวครั้งเก่าก่อนว่า

“เมื่อ 5 ทศวรรษที่แล้ว เป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการนำประเทศเข้าสู่ความทันสมัย คำขวัญที่ว่า ‘น้ำไหล.. ไฟสว่าง.. ทางดี.. มีงานทำ’ เป็นคำขวัญยอดฮิตที่แม้แต่เด็กๆ ก็ท่องจำได้ขึ้นใจ ในขณะเดียวกันชาวชนบทก็เป็นเป้าหมายหลักของการที่จะต้อง ‘ถูกพัฒนา’ ตามการเปลี่ยนแปลงของกระแสตะวันตก

“บรรยากาศของนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคแรกๆ ที่นิสิตนักศึกษาเริ่มลงพื้นที่ไปช่วยพัฒนาชนบทในรูปแบบของชมรมค่ายอาสา”

pra02300859p1

ทวีศักดิ์บอกว่า การมีขึ้นของชมรมค่ายอาสา สิ่งที่เราทำมาตลอดคือการสร้างโรงเรียนในชนบท นับตั้งแต่โรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 1 หลังที่ 1 ที่บ้านคับพวง ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ในปีการศึกษา 2510-2511 มาถึงโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 74 ในปีการศึกษา 2558-2559

“ปัจจุบันกิจกรรมของชมรมค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีกิจกรรมเพื่อสังคมชนบทมาต่อเนื่องและยาวนานถึง 50 ปี ในปีนี้ พ.ศ.2559 ในฐานะศิษย์เก่าของชมรมค่ายอาสาพัฒนาได้ใช้ชีวิตในช่วงที่เป็นนิสิตกับกิจกรรมระหว่างปี และได้ออกค่ายเพื่อสร้างโรงเรียนในชนบท ต้องยอมรับว่าการเป็นฅนค่ายได้ให้ประสบการณ์ชีวิตและนำมาใช้ได้กับการดำเนินชีวิตได้ดีในปัจจุบัน”

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2559 จึงขอเชิญชวนน้องพี่ศิษย์เก่าค่ายอาสาฯ พบปะสังสรรค์ร่วมกัน ที่อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image