มิทสึอากิ โฮโซยะ หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ฟุคุชิมะ ‘ตอนนั้นแม้แต่หมอญี่ปุ่นยังไม่อยากมาฟุคุชิมะ’

มิทสึอากิ โฮโซยะ หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ฟุคุชิมะ ‘ตอนนั้นแม้แต่หมอญี่ปุ่นยังไม่อยากมาฟุคุชิมะ’

มิทสึอากิ โฮโซยะ
หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ฟุคุชิมะ
‘ตอนนั้นแม้แต่หมอญี่ปุ่นยังไม่อยากมาฟุคุชิมะ’

มิทสึโอกะ โฮโซยะ เป็นนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ ที่มีประสบการณ์ตรงในการรับมือกับสถานการณ์กะทันหัน ซึ่งเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อ 11 มีนาคม 2554
เหตุธรณีวิบัติภัย ที่ต่อด้วยสึนามิขนาดใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่โลกเคยพบเห็นมา อันกลายเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟุคุชิมะ ไดอิจิ ก่อรูปเป็นวิกฤตซ้ำซ้อน ซึ่งยากต่อการบริหารจัดการการรับมืออย่างยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ของการให้บริการดูแลด้านสาธารณสุขในห้วงเวลาเฉียบพลันนั้น
ญี่ปุ่นโชคดีไม่น้อยที่สถานการณ์ในโรงไฟฟ้าปรมาณู ถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยเร็ว ทั้งๆ ที่อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ในระดับนี้ มีโอกาสที่จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่กินเวลายาวนานได้สูงมาก
กระนั้นในระยะเฉียบพลันของสถานการณ์ แพทย์ชาวญี่ปุ่นในพื้นที่ประสบวินาศภัยครั้งนี้ก็ต้องทำงานอย่างหนัก ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เผชิญอยู่
ประสบการณ์ในห้วงวิกฤตดังกล่าวของนายแพทย์โฮโซยะ จึงทรงคุณค่าไม่น้อย สำหรับใช้เป็นบทเรียนเพื่อประยุกต์ใช้ในการรับมือกับวิบัติภัยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน รวมทั้งในประเทศไทย
คุณหมอโฮโซยะ อาศัยโอกาสที่ถ่ายทอดประสบการณ์ดังกล่าว พูดถึงความช่วยเหลือของทีมแพทย์-พยาบาลจากประเทศไทยที่เดินทางไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวญี่ปุ่นถึงที่
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้รับมาหลังการสัมภาษณ์ครั้งนี้ก็คือ ทีมแพทย์-พยาบาลจากไทยที่เดินทางไปให้ความช่วยเหลือ ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดฟุคุชิมะและในเมืองโซมะและอีกหลายเมืองในบริเวณใกล้เคียงครั้งนั้น แยกออกเป็น 2 รอบด้วยกัน รอบแรก ประกอบด้วย นพ.นริศ วารณะวัฒน์ และ นางสาวรุ่งทิวา อัศวินานนท์ ทำหน้าที่อยู่ระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคมจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม
ส่วนรอบที่สอง มี นพ.สุทธิพงษ์ ปังคานนท์ และ นางขิ่ม สกุลนุ่ม ปฏิบัติงานช่วยเหลืออยูที่ ฟุคุชิมะและพื้นที่ใกล้เคียงอยู่ตั้งแต่ 19 พฤษภาคม จนถึง 3 มิถุนายนปีนั้น
คุณหมอชาวญี่ปุ่นยืนยันว่า แม้ทีมแพทย์-พยาบาลของไทย เพียงแค่ไปปฏิบัติหน้าที่ในยามที่วิกฤตการณ์ด้านการแพทย์เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว แต่เพียงแค่การตัดสินใจเดินทางไปเพื่อให้ความช่วยเหลือ
ก็ถือเป็นน้ำใจอันยิ่งใหญ่แล้ว

⦁สถานการณ์ในวันเกิดเหตุเป็นอย่างไรบ้าง?
ผมทำงานอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ฟุคุชิมะ ตอนเกิดเหตุผมเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัย
ราว 14.46 น. เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ บริเวณตอนเหนือและทางตะวันออกของกรุงโตเกียวเราเรียกว่า อีสต์เจแปน ส่วนบริเวณพื้นที่ริมฝั่ง วัดความรุนแรงได้ 7 แมกนิจูด เป็นแผ่นดินไหวใหญ่มาก สำนักการแพทย์ของมหาวิทยาลัยฟุคุชิมะตั้งอยู่ในเมืองฟุคุชิมะ
ตอนเกิดเหตุแผ่นดินไหว ผมอยู่ในออฟฟิศของตนเอง ตอนเกิดเหตุมี ข้าวของบนโต๊ะทำงานล้มระเนระนาด หนังสือที่จัดเรียงไว้บนชั้น ร่วงหล่นกระจายลงมาทั้งหมด ที่ทำงานของผมอยู่ในพื้นที่ที่วัดความรุนแรงได้ 6 แมกนิจูดเท่านั้น คุณคงจินตนาการได้ว่าถ้าอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งที่แผ่นดินไหวรุนแรงถึง 7 แมกนิจูดนั้นสถานการณ์จะรุนแรงกว่าเพียงใด
หลังจากนั้นก็เกิดสึนามิตามมา
ด้านซ้ายมือของพื้นที่คือเมืองโซมะ โซมะซิตี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดฟุคุชิมะ นี่คือภาพเปรียบเทียบระหว่างก่อนเกิดสึนามิและสภาพหลังเกิดสึนามิทางด้านขวา คุณจะเห็นสภาพความเสียหายได้จากการเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่เคยเป็น
ผลจากการเกิดสึนามิ ทำให้เกิดไฟดับ เตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ไดอิจิ สูญเสียพลังงานทั้งหมด ระยะทางจากโรงไฟฟ้าสู่เมืองฟุคุชิมะนั้นห่างแค่ 40 กิโลเมตร
ในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว เราได้จัดตั้งสำนักงานใหญ่ของศูนย์รับมือวิบัติภัยขึ้นที่สำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยฟุคุชิมะ ในฐานะที่เป็นรองผู้อำนวยการ ผมก็เลยต้องทำงานอยู่ที่สำนักงานแห่งนี้ตลอดหลังจากเกิดแผ่นดินไหวเป็นต้นมา
มาตรการที่เราใช้รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ แรกสุดเป็นช่วงเวลาเฉียบพลันหลังเกิดเหตุ ถัดมาเป็นช่วงที่ทางการแพทย์เรียกว่าเป็น สถานการณ์กึ่งเฉียบพลัน แล้วก็ระยะสุดท้ายที่เป็นการดูแลในระยะยาว
ในช่วงเฉียบพลันสูงสุดนั้น เราคาดหวังว่าจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลั่งไหลกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ตรงกันข้ามกับที่เราคาดการณ์ไว้ ไม่มีผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บเดินทางเข้ามามากมายนัก
นี่คือภาพห้องโถงชั้นล่างสุดของอาคารสำนักงานของเรา เราได้จัดเตรียมเตียงพยาบาลไว้เป็นจำนวนมากเพื่อรองรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะมีมากมายเหล่านี้ แต่มีผู้ป่วยถูกส่งตัวเข้ามาเพียงแค่มากกว่า 100 คน นิดหน่อยเท่านั้นเอง

นพ.สุทธิพงษ์ ปังคานนท์ และ นางขิ่ม สกุลนุ่ม ระหว่างเตรียมพร้อมออกปฏิบัติงานในเมืองโซมะ จังหวัดฟุคุชิมะ

⦁อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่คืออย่างไร?
จริงๆ แล้ว ที่เราคาดหวังกันไว้ก็คือ เนื่องจากมีอาคารบ้านเรือนหลายหลังพังทลาย คงมีผู้ป่วยจำนวนมากทีเดียวที่ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ได้รับบาดเจ็บ เป็นการบาดเจ็บทางร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างเช่นตกจากที่สูง หรือมีข้าวของบางอย่างตกใส่ มีอีกบางส่วนที่ได้รับบาดเจ็บภายใน แต่มีจำนวนไม่มากนัก
หลังจากนั้นอีกสองสามวันให้หลัง หลังจากที่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าเด่นชัดขึ้นมา และมีคำสั่งอพยพประชาชนในหลายพื้นที่ออกไปจากเขตอันตราย ก็มีผู้ป่วยที่เดิมเคยรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ ที่จำเป็นต้องอพยพ มีรถโรงพยาบาลนำส่งตัวผู้ป่วยแบบนี้เข้ามายังโรงพยาบาลของเราทุกวัน
สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เราต้องรับคนไข้เหล่านี้เอาไว้เป็นการชั่วคราว เมื่อเราได้รับทราบว่ามีโรงพยาบาลที่อื่นๆ สามารถรับตัวคนไข้เหล่านี้ไปดูแลต่อได้ เราก็จัดการส่งคนไข้เหล่านี้ต่อให้กับโรงพยาบาลเหล่านั้นด้วยรถพยาบาลอีกเช่นเดียวกัน
ดังนั้น เราจึงทำหน้าที่คล้ายเป็นตัวกลาง ที่อยู่ตรงกลางทำหน้าที่ส่งผ่านผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลเท่านั้นเอง

Advertisement

⦁มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ศูนย์เท่าใด?
ผมจำตัวเลขจริงๆ ได้ไม่แม่นยำนัก ตอนเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหม่ๆ เจ้าหน้าที่ของเราราวครึ่งหนึ่งพักอยู่กับบ้านส่วนอีกครึ่งหนึ่งประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัย ผมพอจะประมาณได้ว่ามีเจ้าหน้าที่หลายร้อยคนได้ที่อยู่เผชิญสถานการณ์ในเวลานั้น เราช่วยกันจัดเตรียมเตียงผู้ป่วยประมาณ 900 เตียง แต่ครึ่งหนึ่งของจำนวนเตียงทั้งหมดของโรงพยาบาลมีผู้ป่วยเต็มอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงต้องรับผู้ป่วยเท่าที่จำนวนเตียงที่ว่างอยู่ บวกกับอีกส่วนหนึ่งซึ่งเคยใช้เป็นเตียงผู้ป่วยสำหรับฝึกหัดพยาบาล เราใช้เตียงเหล่านี้รองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตที่จำเป็นต้องอพยพ ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายคนไข้เหล่านี้ต่อไปยังโรงพยาบาลที่รองรับได้ต่อไป โดยที่ต้องแน่ใจว่า เรามีเตียงว่างไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยใหม่ได้เสมอ

⦁คงต้องทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง?
ใช่แล้วครับ แต่ในเวลานั้นเราไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยนอก เพื่อให้สามารถใช้เวลากับงานบรรเทาทุกข์จากวิบัติภัยได้เต็มที่ นอกจากนั้น การที่เรามีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่เพียงครึ่งเดียว อีกราวครึ่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่ของเรายังอยู่กับบ้าน ทำให้เราสามารถเรียกตัวคนที่อยู่กับบ้านเหล่านั้นมา เพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำงานได้
นั่นคือสถานการณ์ในช่วงระยะเฉียบพลันของสถานการณ์ ที่เราจำเป็นต้องรับมือกับผู้ป่วยในแล้วก็ผู้ป่วยที่ต้องย้ายสถานที่รักษา ช่วงนี้กินเวลานาน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นเราก็ต้องเข้าสู่สถานการณ์ระยะ กึ่งเฉียบพลัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิมเป็นส่วนใหญ่
ผมเองเป็นกุมารแพทย์ ผมรู้ดีว่ามีผู้อพยพเป็นจำนวนมากจากพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมทั้งมีเด็กๆ อยู่ด้วย แต่ผมไม่สามารถเห็นและเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ดังนั้น ผมถึงขอให้บรรดาหมอหนุ่มๆ เดินทางไปตรวจสอบในหลายๆ สถานที่เพื่อดูว่า การอพยพผู้คนที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานั้นเป็นอย่างไรบ้าง
บนผนังด้านซ้ายมือของศูนย์ (โชว์ภาพ) มีกระดาษแผ่นใหญ่สำหรับใช้อธิบายสถานะของศูนย์อพยพต่างๆ ว่าแต่ละศูนย์มีผู้อพยพอยู่เป็นจำนวนเท่าใดและมีเด็กๆ อยู่ด้วยมากน้อยแค่ไหน พวกเขาต้องการอะไรบ้าง เรารวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้สำหรับใช้เป็นแนวทางในการนำเวชภัณฑ์ และข้าวของสิ่งจำเป็นไปแจกจ่ายให้กับผู้คนในศูนย์เหล่านี้
การดำเนินการเช่นนี้เริ่มต้นเมื่อ 16 มีนาคม กิจกรรมนี้ถูกกระจายออกไปทั่วทั้งมหาวิทยาลัยการแพทย์ ทำให้เราสามารถคงการให้บริการทางการแพทย์แบบเข้มข้นเอาไว้ได้
ไม่เพียงแค่แผนกกุมารแพทย์เท่านั้น แผนกอื่นๆ อย่างเช่น แพทย์ฝึกหัด, แผนกผู้ป่วยมะเร็ง, แพทย์จากแผนกผิวหนัง, แผนกโรคติดเชื้อ ทุกคนจากทุกแผนกร่วมมือเข้าด้วยกันเป็นทีม เพื่อการทำงานครั้งนี้
หลังจากวันที่ 31 มีนาคม เรามีทีมงานเฉพาะอย่างเช่น ทีมกุมารแพทย์, ทีมแพทย์โรคติดเชื้อ ทีมแพทย์ที่ดูแลทางด้านสุขภาพจิต การสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือด เป็นต้น เรามีทีมแพทย์เฉพาะทางอยู่แทบครบทุกด้าน
ในตอนนั้นคนที่อยู่ในศูนย์อพยพ ถูกเคลื่อนย้ายออกไปพำนักในบ้านพักชั่วคราวแล้ว ดังนั้น ความต้องการการช่วยเหลือทางการแพทย์จากทีมแพทย์เหล่านี้จึงลดน้อยลงมาก
ดังนั้น ตอนที่ทีมแพทย์จากไทยเดินทางมาถึงฟุคุชิมะ ภารกิจในการให้ความช่วยเหลือด้วยการออกไปพบผู้ประสบภัยโดยตรงของเราลดลงแล้วในระดับหนึ่ง

⦁ตอนนั้นมีแพทย์จากที่อื่นในญี่ปุ่นมาเสริมหรือเปล่า?
มีทีมแพทย์จากแพทยสมาคมแห่งญี่ปุ่น แล้วก็ทีมแพทย์จากสมาคมแพทย์ประจำภูมิภาค ให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในหลายๆ ทาง
จริงๆ แล้วตอนนั้นมีคลินิกแล้วก็โรงพยาบาลต่างๆ คอยให้บริการดูแลสุขภาพของผู้คนในเมืองอยู่ด้วย การให้บริการทางการแพทย์จึงพอสนองความต้องการได้ ไม่ขาดแคลนเท่าใดนัก คนที่โยกย้ายไปอยู่ในศูนย์อพยพแล้วจะได้รับการดูแลจากสมาคมแพทย์ประจำภูมิภาคที่รับผิดชอบส่วนนี้โดยเฉพาะ ตามความเป็นจริงแล้วแพทย์เลยไม่ได้ขาดแคลนมากมายนัก

Advertisement

⦁ในช่วงนี้ ปัญหาสุขภาพอะไรที่พบมากที่สุด?
ในกรณีของการเกิดสึนามิ มีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้เพียง 2 ทางเท่านั้นเอง นั่นคือ คนที่รอดชีวิตจากสึนามิ กับพวกที่เสียชีวิตไปกับสึนามิ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์มากมายแต่อย่างใดหลังเกิดสึนามิ
อย่างไรก็ตาม มีปัญหาใหญ่ที่สุดกับคนที่ต้องเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์อพยพซึ่งต้องการการดูแลสุขภาพจิต เพราะพวกเขาได้รับประสบการณ์เจ็บปวดจากทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ แล้วยังต้องมาหวาดกลัวกับกัมมันตภาพรังสีไปด้วยในเวลาเดียวกัน

⦁ให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างไร?
จริงแล้วไม่ค่อยมีใครในโซมะได้รับกัมมันตภาพรังสี คนจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการอพยพ ได้รับกัมมันตภาพรังสีเพิ่มจากระดับปกติเล็กน้อย ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายใดๆ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการเกิดความวิตกกังวล เกิดความกลัวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ไดอิจิ มากกว่า หลายคนกลัวกันมาก

⦁มีทีมแพทย์จากไทยเดินทางไปกี่คน เข้าไปช่วยงานอย่างไร?
ที่ผมพบด้วยตัวเอง มีอยู่ 2 คนครับ มีกุมารแพทย์ 1 คน (นพ.สุทธิพงษ์ ปังคานนท์) กับพยาบาลอีก 1 คน (หมายถึงนางขิ่ม สกุลนุ่ม) จากประเทศไทย เดินทางมาให้ความช่วยเหลือ ร่วมทำงานเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่รับมือกับผู้ประสบภัยในส่วนของกุมารแพทย์ และโรคติดเชื้อ เดินทางออกไปพบกับประชาชนที่พักอยู่ในศูนย์อพยพ แต่ตอนนั้นในศูนย์อพยพเหลือคนอยู่ไม่มากนักแล้ว และบรรดาเด็กๆ ก็มีสุขภาพดีกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ในช่วงกลางวันที่พวกเขาเดินทางไปเยี่ยมศูนย์อพยพต่างๆ เด็กส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ที่ศูนย์ แต่เดินทางไปเรียนหนังสือกัน
อย่างที่ผมบอกไว้ในตอนแรก คนในศูนย์อพยพลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะโยกย้ายไปอยู่บ้านพักชั่วคราวที่ทางการจัดไว้ให้กันมากขึ้น ภารกิจทางการแพทย์ในตอนนั้นจึงเป็นการเข้าไปพูดคุยกับคนที่ยังคงอยู่ เพื่อดูว่าจะให้การสนับสนุนพวกเขาในด้านไหนบ้าง
แพทย์จากไทยจึงไม่ได้รับมือกับบรรดาเด็กๆ อย่างจริงๆ จังๆ แต่เป็นการเข้าไปดูแลผู้ใหญ่ในศูนย์ เข้าไปวัดความดัน ดูแลสุขภาพทั่วไป แล้วก็รับฟังเรื่องราวจากปากของผู้คนในศูนย์ โดยอาศัยล่ามเป็นคนแปลอีกต่อหนึ่ง แต่ด้วยความเป็นหมอ พวกเขาสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกันผ่านการแสดงออก
คุณพยาบาลในทีมคนหนึ่งมีประสบการณ์จากการประสบภัยสึนามิด้วยตัวเองมาก่อนแล้ว ดังนั้น จึงเป็นกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาก แล้วก็เห็นได้ชัดว่าห่วงใยผู้ประสบภัยของเรามาก ทั้งจากคำพูดและทัศนคติที่แสดงออกมา ใครก็ตามที่ได้รับการดูแลจากพยาบาลท่านนี้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกดี ช่วยให้จิตใจสงบ รู้สึกเหมือนได้รับการเยียวยาจากคุณพยาบาล

⦁หลังผ่านระยะที่สองแล้ว มีปัญหาด้านสุขภาพอะไรอีกบ้าง?
หลังจากผ่านระยะกึ่งเฉียบพลันมาแล้ว ศูนย์อพยพก็ลดน้อยลงตามลำดับ แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ขึ้น ผู้คนจำนวนมากต้องอพยพออกไปไกลมากจากถิ่นที่อยู่เดิม หลายคนเผชิญกับที่อยู่ใหม่ สภาพแวดล้อมแบบใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ถือเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับพวกเขา เด็กๆ ที่ต้องอพยพตามไปด้วยก็ถูกรังแก ถูกบูลลี่ นอกจากนั้นแล้วในแง่ของสุขภาพทางกาย ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากมายแล้ว
ตอนนั้นทีมแพทย์และพยาบาลจากไทยก็เดินทางกลับแล้ว พวกเขาใช้เวลาอยู่ที่ฟุคุชิมะไม่นานนัก ราวหนึ่งสัปดาห์หรือ 10 วัน

⦁ประสบการณ์ในการทำงานกับทีมจากไทย?
ผมอยากให้ทีมจากประเทศไทยได้ทำอะไรมากกว่านั้น แต่จริงๆ แล้วตอนที่พวกเขาเดินทางมาถึง ก็ไม่ค่อยมีปัญหาสุขภาพให้ได้ดูแลกันมากแล้ว เพราะสถานการณ์ในเวลานั้นดีขึ้นแล้ว ผมรู้สึกเสียใจแทน เพราะพวกเขาเดินทางมาไกลมากจากประเทศไทย
แต่ผมได้รับฟังมามากว่า บรรดาคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในศูนย์ทั้งหลายประทับใจอย่างยิ่งต่อการที่คุณหมอและพยาบาลเหล่านี้เดินทางไกลมาจากต่างแดน พวกเขาพากันแสดงความขอบคุณต่อความช่วยเหลือนี้ด้วยภาษาฟุคุชิมะ ใช้สำเนียงท้องถิ่นในพื้นที่ฟุคุชิมะขอบคุณพวกเขากันยกใหญ่

⦁บทเรียนสำหรับอนาคตมีอย่างไร?
การให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพในช่วงเฉียบพลันหลังเกิดวินาศภัยในระดับนี้ยากลำบากอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่นถ้าคุณอยากเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ประสบภัยสึกนามิก็ไม่มีระบบขนส่งอะไรที่จะนำคุณไปที่จุดนั้น และแม้ว่าคุณสามารถไปถึงได้แล้วก็ตาม คุณก็จะขาดแคลนทั้งอุปกรณ์การแพทย์และสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับใช้งานทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้คนเหล่านั้น คุณจำเป็นต้องจัดหาอาหารติดตัวไปเอง พร้อมอุปกรณ์ยังชีพทุกอย่าง เหมือนกับทหารในกองกำลังป้องกันตนเองยังไงยังงั้น คุณถึงสามารถจะให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ให้กับประชาชนที่ประสบภัยในช่วงเวลาเฉียบพลันสูงสุดนั้นได้

⦁อยากฝากอะไรถึงทีมแพทย์-พยาบาลจากประเทศไทย?
ผมอยากจะบอกว่า ในเวลานั้น จังหวัดฟุคุชิมะทั้งจังหวัดถูกมองว่าเป็นดินแดนอันตรายเพราะกัมมันตภาพรังสีจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ ข่าวลือสะพัดไปอย่างนั้น แต่ถึงอย่างนั้น ทีมแพทย์-พยาบาลจากประเทศไทยก็ยังตัดสินใจเดินทางไกลมากมาจากประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือเรา พวกเราถึงได้รู้สึกขอบคุณพวกเขาและชื่นชมต่อการกระทำของพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง
ผมคิดว่าทุกคนที่อยู่ในศูนย์อพยพที่ได้รับความช่วยเหลือก็มีความรู้สึกในแบบเดียวกันนั้น และในเวลานั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลชาวญี่ปุ่นเองยังรู้สึกกลัวที่จะเดินทางมา เพราะทุกคนไม่เข้าถึงสถานการณ์ที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ไดอิจิ ดังนั้น เราถึงได้รู้สึกเป็นบุญคุณอย่างมากที่ทีมจากประเทศไทยเดินทางมา และแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณที่ต้องการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
พวกเรารู้สึกตื้นตันใจอย่างมากต่อการให้ความช่วยเหลือในครั้งนั้น

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image