อาศรมมิวสิก : เมื่อวิญญาณยังเสรี จัดประกวดดนตรีบนเวทีไร้พรมแดน

อาศรมมิวสิก : เมื่อวิญญาณยังเสรี จัดประกวดดนตรีบนเวทีไร้พรมแดน

อาศรมมิวสิก : เมื่อวิญญาณยังเสรี จัดประกวดดนตรีบนเวทีไร้พรมแดน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ.2564 ผมได้รับเชิญไปพูดกับนักศึกษาปริญญาเอก วิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการสัมมนาเรื่อง “วิกฤตและความท้าทาย” วิกฤต หมายถึง ภาวะของความเสี่ยงที่ล่อแหลมต่ออันตราย ซึ่งในเวลานี้คือโรคระบาดโควิด-19 วิกฤต ที่ชีวิตคนไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤต ทำให้เกิดความกลัวตาย กลัวจะไม่มีกิน และกลัวจนเป็นโรคประสาท (บ้า) สุขภาพของคนไทยเข้าขั้นวิกฤต ขณะเดียวกันก็มีวิกฤตด้านอื่นๆ อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตผู้นำ วิกฤตความน่าเชื่อถือ วิกฤตศรัทธา วิกฤตคนรุ่นเก่า วิกฤตโครงสร้างและความมั่นคง เป็นต้น

กรณีวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2563 สร้างความตระหนกตกใจแก่คนไทยอย่างมาก คนส่วนใหญ่รู้สึกกลัว ต้องป้องกันตัวเอง จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดระบุว่า มาจากสนามชกมวยลุมพินี ในกรุงเทพฯ การควบคุมของรัฐบาลโดยใช้โครงการ “ไทยชนะ”

วิกฤตครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 คนในสังคมเริ่มกลัวน้อยลง มีความมั่นใจในความปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่รู้สึกว่าทำไมรัฐบาลป้องกันโรคระบาดไม่ได้ การระบาดของโรคใช้เวลานานหลายเดือนแล้ว ซึ่งต้นตอการแพร่ระบาด มาจากบ่อนการพนันในภาคตะวันออก ชลบุรี ตราด จันทบุรี นนทบุรี และในกรุงเทพฯ การควบคุมโดยรัฐใช้โครงการ “เราชนะ”

Advertisement

วิกฤตครั้งที่สาม เกิดระบาดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2564 คนในสังคมไม่เชื่อถือการควบคุมโรคระบาดตามมาตรการของรัฐ การแพร่ระบาดเชื้อโรคจากสถานบันเทิง (คลับและผับ) พื้นที่ในซอยทองหล่อ (คริสตัลคลับและเอมเมอรัลด์ผับ) กรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่เกาะช้าง จังหวัดชลบุรี และที่จังหวัดสระแก้ว พบว่าผู้ติดเชื้อเป็นคนที่มีชื่อเสียง นักร้อง ดารา อาทิ รมว.คมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ รายงานแจ้งว่าเชื้อโรคโควิดเป็นสายพันธุ์อังกฤษ (หมอยง ภู่วรวรรณ) เปิดเผยการแพร่ระบาดมาจากประเทศกัมพูชา ชาวบ้านพูดกันว่า “โรคโควิดติดคนรวยแต่ซวยคนจน”

การควบคุมโรคโดยโครงการ “หายนะ” เป็นความรู้สึกของประชาชนที่ต้องเผชิญชีวิตอย่างยถากรรม ไปทำงานไม่ได้ ไปทำมาหากินไม่ได้ ต้องหยุดงาน ตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีความหวัง และไม่มีที่พึ่ง ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการบริหารของรัฐไม่น่าเชื่อถือเข้าขั้นวิกฤต วิกฤตศรัทธาและวิกฤตความน่าเชื่อถือ

สำหรับกิจกรรมดนตรีทุกอย่างที่เป็นรูปธรรมต้องยกเลิกหมด ประชาชนมีชีวิตอยู่ด้วยความกลัว กังวลว่าวันนี้จะมีคนติดโรคอีกเท่าไหร่ การเรียนดนตรีแบบตัวต่อตัวไม่สามารถจะเรียนดนตรีปฏิบัติได้ งานแสดงดนตรีทุกรูปแบบถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ยิ่งมีนักร้อง มีนักดนตรี มีดาราที่แสดงอยู่ในพื้นที่ของคริสตัลคลับและเอมเมอรัลด์ผับติดโรคระบาดด้วย ก็ยิ่งทำให้นักดนตรีอื่นๆ ที่แสดงตามร้านอาหาร โรงแรม ก็ถูกยกเลิกงานหมด ตกงานกันถ้วนหน้า หายนะของอาชีพดนตรี

Advertisement

คนที่มีอาชีพดนตรีจะเดินหน้าชีวิตต่อไปอย่างไร ก็ต้องมาคิดกันใหม่ หากใคร่ครวญให้ดีก็พอมองเห็นช่องทางเหลืออยู่บ้าง ต้องเลือกทำกิจกรรมดนตรีที่เป็นนามธรรม เพราะดนตรีทางกายภาพหรือรูปธรรมนั้นหมดสิทธิไปแล้ว ก็เหลือดนตรีที่เป็นเสียงอย่างเดียว ดนตรีที่ส่งเสียงผ่านสื่อทางอากาศ เมื่อเสียงดนตรียังมีเสรีภาพเหลืออยู่ มีเวทีที่ไร้พรมแดนในทางอากาศ ก็ต้องหาช่องทางในการประกอบอาชีพดนตรีในวิถีทางแบบใหม่

การจัดประกวดดนตรีผ่านสื่อออนไลน์ ยังพอมีเป้าหมายอยู่ โดยจัดการประกวดออนไลน์ไปทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะในประเทศไทย การเชื่อมโยงนักดนตรีเยาวชนจากทั่วโลก เพื่อให้กำลังใจกัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนผู้ที่ยังฝึกซ้อมดนตรี ได้ส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อเป็นช่องทางให้เยาวชนแต่ละคนได้เห็นความก้าวหน้า ได้เห็นฝีมือของเด็กที่เรียนดนตรีคนอื่นๆ โดยที่ทุกคนจะได้รับความเห็นจากคณะกรรมการระดับนานาชาติ ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกวดและเติบโตขึ้นในอาชีพดนตรีได้อย่างมั่นคง

การจัดประกวดครั้งนี้จัดขึ้นโดยโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ “พื้นที่ดนตรีแห่งใหม่” ใช้ชื่อการประกวดว่า “Sugree Charoensook International Music Competition Edition 2021” ซึ่งมีอาจารย์ตปาลิน เจริญสุข และอาจารย์กมลมาศ เจริญสุข เป็นผู้ดำเนินการ ผู้จัดมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกถึงฝีมือทางดนตรี เด็กจะได้ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย ที่สำคัญก็คือเป็นกิจกรรมดนตรีที่เกิดขึ้นเพื่อชดเชยกิจกรรมดนตรีที่เป็นรูปธรรม ซึ่งได้ขาดหายไประหว่างการระบาดโควิด

การประกวดเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2564 รวม 6 ครั้ง ครั้งละเดือน แต่ละเดือนก็จะจัดประกวดเครื่องดนตรีคนละประเภท ได้แก่ เดือนเมษายนจัดการประกวดประเภทเครื่องสายสากล เดือนพฤษภาคมจัดการประกวดเปียโน เดือนมิถุนายนจัดการประกวดขับร้อง เดือนกรกฎาคมจัดการประกวดเครื่องเป่าลมไม้ เดือนสิงหาคมจัดการประกวดเครื่องเป่าทองเหลือง เดือนกันยายนจัดการประกวดกีตาร์ และในเดือนตุลาคมจัดการประกวดเครื่องดนตรีพื้นบ้านและเครื่องดนตรีโลก ซึ่งหมายถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้านนานาชาติ

ผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัล เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร เมื่อโอกาสอำนวยก็จะได้รับเชิญแสดงที่ห้องแสดงดนตรี “ห้องสุกรี เจริญสุข” ที่บ้านเอื้อมอารีย์ พุทธมณฑลสาย 2 กรุงเทพฯ ได้รับวิดีโอบันทึกการแสดงของผู้ชนะ ซึ่งคณะผู้จัดการจะได้นำผลงานการแสดงไปโพสต์ลงในโซเชียลเน็ตเวิร์กและทางยูทูบ

กติกาในการประกวดดนตรี เปิดรับสมัครจากเยาวชนทุกเชื้อชาติและจากทุกประเทศ ผู้ประกวดจะเข้า แข่งขันในรุ่นที่ตัวเองสมัครเท่านั้น การตัดสินใช้บริการคณะกรรมการนานาชาติ ในรูปแบบออนไลน์ ผู้ประกวดสามารถส่งผลงานแสดงเป็นแบบคลิปวิดีโอผ่านการอัพโหลดลงในยูทูบ (YouTube) โดยตั้งสถานะให้เป็นพับลิก (public) หรืออันลิสต์ (unlisted)

ผู้ประกวดส่งผลงานแสดงจำนวน 1 เพลง เลือกบทเพลงได้อย่างอิสระที่ต้องการเล่น เล่นจากความจำเท่านั้น (ไม่ดูโน้ต) โดยไม่กำหนดเวลาหรือความยาวของบทเพลง กรรมการมีสิทธิที่จะเลือกฟังท่อนใดท่อนหนึ่งก็ได้ ซึ่งกรรมการจะฟังอย่างน้อย 2-3 นาที สำหรับคลิปวิดีโอการแสดงควรบันทึกไว้ไม่เกิน 2 เดือน ก่อนการสมัคร ส่วนกรรมการจะตัดสินจากคลิปวิดีโอที่ผู้เข้าประกวดส่งมาเท่านั้น ทั้งนี้ ในการตัดสินของคณะกรรมการถือว่าเป็นที่สิ้นสุด

สำหรับเดือนเมษายน พ.ศ.2564 นี้ มีนักดนตรีเครื่องสายจากหลายประเทศส่งผลงานมาประกวด 128 รายด้วยกัน ซึ่งทำให้ผู้จัดได้เริ่มต้นกิจกรรมดนตรีในมิติใหม่ เป็นการเปิดเวทีที่ไร้พรมแดน เพราะทุกคนก็ตกอยู่ในภาวะ (กลัวโควิด) ที่ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ ออกไปไหนไม่ได้ เรียนดนตรีออนไลน์ ซ้อมดนตรีในบ้านคนเดียว เมื่อมีการประกวดดนตรีออนไลน์เกิดขึ้น เด็กที่มีความพร้อมก็สามารถส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันได้ทันที

จากเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2564 ก็จะมีการประกวดออนไลน์ เดือนละเครื่องมือ ผู้สนใจสามารถติดตามได้จาก Facebook: @sugreeimc ซึ่งจะหารายละเอียดที่ต้องการได้

เมื่อเกิดวิกฤตการระบาดโควิด-19 ครั้งที่ 3 นี้ มีความรุนแรงกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมาก พวกสามัญชนคนทั่วไปต่างตระหนกตกใจกลัวถึง 3 อย่างด้วยกัน ข้อหนึ่ง กลัวติดเชื้อโควิดแล้วตาย หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ข้อสอง กลัวอดอยากตาย ไม่มีจะกิน ต้องตกงานไม่มีเงินสำรอง ข้อสาม ไม่ติดโควิดแต่กลับเป็นโรคจิตจนกลายเป็นคนบ้าแทน

ขอให้ทุกคนรักษาจิตใจของตัวเองให้มั่นคง ความรู้สึกที่หมดศรัทธาต่อผู้นำก็สามารถรู้สึกได้ ความรู้สึกที่หมดความเชื่อถือในโครงสร้างของสังคมก็พึงรู้สึกได้ แต่อย่าหมดศรัทธาในตัวเอง ต้องเชื่อมั่นในตนเอง อย่าลืมว่า แม้กายภาพที่เป็นรูปธรรมจะล้มเหลวไปแล้ว แต่เสรีภาพที่เป็นนามธรรม จิตวิญญาณที่มีเสรีไร้ขอบเขต ไม่มีเงื่อนไขและไม่มีข้อจำกัดนั้น ยังมีอยู่อย่างมั่นคง ตอนนี้คิดอะไรออก คิดอะไรได้ ก็ลงมือทำไปก่อนเลย และอยู่กับมันให้ได้ การเล่นดนตรีออนไลน์ จัดประกวดดนตรีออนไลน์ เพื่อประคองและรักษาจิตใจเอาไว้ รักษาฝีมือให้มั่นคง เมื่อเวลาที่โรคโควิดผ่านไปเมื่อไหร่ ชีวิตที่เชื่อมต่อกับโลกก็จะดำเนินก้าวไปข้างหน้าได้

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image