“จาม” จาก “จามปา” พูดภาษามลายู ดูแลกองเรือรบรัฐอยุธยา ชำนาญการค้าทางทะเลสมุทร

“จาม” จาก “จามปา” พูดภาษามลายู ดูแลกองเรือรบรัฐอยุธยา ชำนาญการค้าทางทะเลสมุทร

จาม” จาก “จามปา” พูดภาษามลายู

ดูแลกองเรือรบรัฐอยุธยา

ชำนาญการค้าทางทะเลสมุทร

 

Advertisement

จาม” อยู่ในกลุ่มภาษาและวัฒนธรรมชวามลายู จากรัฐจามปาในเวียดนาม ซึ่งมีส่วนสำคัญในพลังสร้างสรรค์ “ความเป็นอยุธยา” ตั้งแต่สมัยดั้งเดิม และความเป็นไทยสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

แต่ “จาม” ในพระนครศรีอยุธยาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทางการทุกวันนี้กีดกันทางประวัติศาสตร์ว่า “ไม่ไทย” และ “ไม่มีหัวนอนปลายตีน” แล้วถูกยัดเยียดเป็นเชลยกองทัพอยุธยากวาดต้อนจากกัมพูชาคราวศึก “ขอมแปรพักตร์” สมัยแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา

แต่ศึก “ขอมแปรพักตร์” เมื่อแรกสถาปนาอยุธยา พ.. 1893 ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นจริง ดังนั้นจามในอยุธยาถูกกวาดต้อนมาจากกัมพูชาก็ไม่มีจริง นักวิชาการตะวันตกซึ่งเป็นที่ยอมรับกว้างขวางระดับสากล เคยตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี แล้วพบว่าศึก “ขอมแปรพักตร์” ไม่มีจริง กรณีพระรามาธิบดีที่ 1 ให้พระราเมศวรยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชา เป็นวรรณกรรม “เพิ่งสร้าง” เพื่อยกย่องอยุธยา (ที่เพิ่งสถาปนาใหม่) แล้วด้อยค่าอาณาจักรกัมพูชา [มีงานค้นคว้าวิชาการแสดงหลักฐานอย่างละเอียดอยู่ในเอกสารเรื่อง “อโยชชปุระศรียโสธร” ฯ โดย วินัย พงศ์ศรีเพียร พิมพ์ในหนังสือ ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์ (คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งแรก พ.. 2539 หน้า 3-104)]

ในอยุธยาปัจจุบัน ชาติพันธุ์จามหรือเรียกตามภาษาปากว่า “แขกจาม” พูดภาษามลายูนับถือศาสนาอิสลาม เป็นมุสลิมตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนใหญ่กระจายอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาด้านทิศใต้โดยรอบวัดพุทไธศวรรย์ บริเวณคลองคูจามและคลองตะเคียน (แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือ แล้วลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้) มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานตั้งแต่ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา นับเป็นบรรพชนกลุ่มหนึ่งของอุษาคเนย์และของไทย

จามเป็นใคร? มาจากไหน? เมื่อไร?

จามเป็นชื่อทางวัฒนธรรม (คล้ายกับคำว่าแขก, ขอม, สยาม) หมายถึงประชากรของรัฐจามปาในเวียดนาม นับเป็นทายาทของบรรพชนชื่อ “ซาหวิ่น” กลุ่มคนดั้งเดิมในเวียดนาม ซึ่งประกอบด้วยคนนับถือศาสนาผีมีหลายชาติพันธุ์ที่พูดภาษากลางคือ ภาษามลายู (ในตระกูลภาษาชวามลายู) และชำนาญเดินเรือทะเลสมุทร

เริ่มรับวัฒนธรรมอินเดียราวเรือน พ.. 1000 สมัยแรก นับถือศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ฮินดู ปะปนศาสนาผี แล้วแผ่ขยายอิทธิพลไปทางลุ่มน้ำโขงบริเวณจัมปาสัก (ในลาว) ถึงอีสาน (ในไทย) สมัยหลัง เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม (ซึ่งรับผ่านทางจีน)

เข้าถึงอ่าวไทย

บรรพชนจาม (ซาหวิ่น) เข้าถึงอ่าวไทยทางบ้านเมืองลุ่มน้ำท่าจีนแม่กลองราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราว พ.. 500 นอกจากนั้นยังมีส่วนสำคัญในการกระจายการค้าระหว่างภาคพื้นทวีปกับกลุ่มเกาะของอุษาคเนย์ ดังพบหลักฐานสำคัญเป็นวัตถุในศาสนาผี 2 อย่าง ได้แก่ (1.) ลิงลิงโอ และ (2.) กลองทอง (มโหระทึก)

ครั้นหลัง พ.. 1000 เริ่มแรกการค้าโลก (นักโบราณคดีไทยเรียกสมัยทวารวดี) มีรัฐจามปาในเวียดนาม เป็น “คนกลาง” (ร่วมกับ “ศรีวิชัย”) เดินเรือทะเลสมุทรค้าขายทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ แล้วแลกเปลี่ยนกับรัฐบริเวณอ่าวไทยซึ่งมีชื่อในเอกสารจีน ได้แก่ (1.) หลั่งยะสิว หรือหลั่งเกียฉู่ บริเวณลุ่มน้ำท่าจีนแม่กลอง และ (2.) โถโลโปตี หรือทวารวดี บริเวณลุ่มน้ำป่าสักลพบุรี

รัฐจามปามีส่วนสำคัญผลักดันกำเนิดรัฐกัมพูชา จึงมีความทรงจำเรื่องนางนาคพระทอง โดยเชื่อว่าพระทองคือจามหรือวัฒนธรรมจามหลังรับวัฒนธรรมอินเดีย

เข้าถึงอยุธยา

รัฐจามปาค้าขายทางทะเลอย่างแข็งแรงและกว้างขวางก่อนมีรัฐอยุธยา ต่อมาเมื่อมีรัฐอยุธยาแล้วเติบโตขึ้นก็กลายเป็นรัฐคู่แข่ง แต่ในที่สุดราวเรือน พ.. 1900 จามปาเป็นเมืองท่ารุ่งเรืองเหนือกว่าอยุธยา ความเคลื่อนไหวเหล่านี้กระตุ้นให้ชาวจามจากจามปาออกค้าขายถึงอยุธยาแล้วตั้งหลักแหล่งถาวรเป็นประชากรอยุธยา จึงได้รับยกย่องอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่าเป็นกลุ่มค้าขายสำคัญของอยุธยาว่า “จีนจามชวานานาประเทศ”

รัฐสุพรรณภูมิบริเวณลุ่มน้ำท่าจีนแม่กลองขยายอำนาจไปยึดพื้นที่ทางแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ “เวียงเหล็ก” (ของพระเจ้าอู่ทอง) มีศูนย์กลางอยู่ “ตำหนักเวียงเหล็ก” (ปัจจุบันคือวัดพุทไธวรรย์) โดยมีกลุ่มจามและชวามลายูทำหน้าที่ค้าขายทางทะเลสมุทร แล้วตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเดียวกันซึ่งเรียกสมัยหลังว่า “ปท่าคูจาม” (มีความทรงจำว่ามัสยิดแห่งแรกอยู่ริมคลองตะเคียน ปัจจุบันคือมัสยิดกุฎีช่อฟ้า)

ปท่าคูจาม(อยู่เวียงเหล็ก) เป็นชื่อเรียกพื้นที่ซึ่งเป็นหลักแหล่งของคนพูดภาษามลายู (เช่น มลายูปตานี ฯลฯ) มีทั้งชาวจามและไม่จาม แต่โดยมีชาวจามเป็นกลุ่มหลักหรือมีอำนาจเป็นที่ยกย่องเกรงขามรู้จักมากสุด หมายถึง ชุมชนจามมีคูน้ำล้อมรอบอยู่อีกฟากหรือฟากข้าง (ของเกาะเมืองอยุธยา) “คูจาม” มี 2 แห่ง พบในแผนที่ฝรั่งเศสทำไว้ในแผ่นดินพระนารายณ์ ดังนี้ (1.) คลองคูจามใหญ่ ปัจจุบันเรียกคลองตะเคียน และ (2.) คลองคูจามน้อย ปัจจุบันเรียกคลองคูจาม [ปท่า” กร่อนจากคำดั้งเดิมว่า “ปละท่า” แปลว่า ฟากข้าง ซึ่งพบว่ามีใช้ในชื่อ อ. ปละท่า (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อ. สทิงพระ) . สงขลา]

ถ้ำจีน, ถ้ำจาม เป็นชื่อถ้ำคู่กันบนเทือกเขางู (. ราชบุรี) ลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นความทรงจำแสดงความคุ้นเคยและยกย่องอย่างทัดเทียมกันซึ่งคนสมัยหลังมีต่อชาวจีนชาวจาม ผู้ชำนาญการค้าทางไกลในทะเลสมุทร

อาสาจาม

กษัตริย์จากรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ลุ่มน้ำท่าจีนแม่กลอง ยึดอำนาจจากวงศ์ละโว้ (ลพบุรี) แล้วขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ราวหลัง พ.. 1950 ชาวจามจาก “ปท่าคูจาม” มีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญการยึดอำนาจครั้งนั้น จึงรับมอบหมายดูแลกองเรือรบ เรียกสมัยต่อไปว่า “อาสาจาม”

อยุธยาได้รับยกย่องเป็น “ราชอาณาจักรสยาม” ศูนย์กลางการค้านานาชาติ เมื่อราชวงศ์สุพรรณภูมิขึ้นเป็นกษัตริย์รัฐอยุธยาโดยมีกำลังสนับสนุนสำคัญคือจามและจีน

แผนที่แสดงหลักแหล่งของจามพูดภาษามลายูบริเวณเวียงเหล็ก “ปท่าคูจาม” (คลองคูจามใหญ่คลองคูจามน้อย) นอกเกาะเมืองอยุธยา ด้านทิศใต้

มัสยิดแห่งแรกของชาวจาม  มัสยิดกุฎีช่อฟ้า ริมคลองตะเคียน ต. คลองตะเคียน อ. เมืองฯ จ. พระนครศรีอยุธยา (ภาพเมื่อ 5 มิถุนายน 2562 จากเพจ Facebook : มัสยิดกุฎีช่อฟ้า)

(บน) คลองคูจามปัจจุบัน ผ่านหน้าวัดเตว็ด (ล่าง) มัสยิดตะเกี่ยโยคินฯ (ด้านใต้คลองตะเคียน) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต. คลองตะเคียน อ. เมืองฯ จ. พระนครศรีอยุธยา (ภาพจาก มติชนทีวี)

จาม” และ “อาษาจาม”

เป็นใคร? มาจากไหน?

ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ (ขณะนั้นเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) สงสัยเรื่องชาวจามและอาษาจามมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร? ดังนั้นเมื่อ พ.. 2486 ได้มีบันทึกถามนายธนิต อยู่โพธิ์ (ขณะนั้นเป็นหัวหน้าแผนกค้นคว้า กองวรรณคดี กรมศิลปากร สำนักนายกรัฐมนตรี)

ขณะกำลังค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องชาวจามและอาสาจาม นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้ถวายปัญหาเรื่องนี้ไปกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากนั้นพระองค์ท่านได้ประทานบันทึกตอบ

เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้เคยรวบรวมลงพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม [ปีที่ 21 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2543) หน้า 27-39] จะคัดเฉพาะของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ กับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาแบ่งปันดังต่อไปนี้

ปัญหา

ประวัติศาสตร์เรื่องอาษาจาม

ต้องการทราบว่าประวัติเป็นมาอย่างไร โดยอยากทราบความกระจ่างแจ้งดังนี้ :-

1. จามนี้จะเป็นคนของประเทศจาม ซึ่งจะหมายถึงอาณาจักรจัมปา หรืออาณาจักรจาม ซึ่งอยู่ระหว่างเขมรกับญวนหรือไม่?

2. คนจามเป็นคนท้องถิ่นนั้นเองหรือเป็นผู้มาจากอินเดีย หรือจากชวา.

3. พวกจาม ดูเหมือนถือศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์.

4. พวกจามเข้ามาอาษาเป็นทหารในประเทศไทย เมื่อราวสมัยไหนแน่.

5. มาในชั้นหลังๆ ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดูเหมือนอาษาจามจะได้แก่พวกมลายูหรือพวกแขกซึ่งสมัครเข้าเป็นทหาร โดยมากพวกนี้ถ้าจะกล่าวก็คือเป็นทหารที่ถือศาสนาอิสลาม.

6. ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทหารเรือในสมัยก่อนก็มักเป็นพวกอิสลาม ทั้งนี้จะสืบเนื่องมาจากอาษาจามครั้งอยุธยามีหน้าที่ทางทหารเรือ เพราะชาวมลายูสันทัดทางเดินเรือ.

7. จะสรุปความหรือวินิจฉัยว่า คำว่าจาม ที่เข้าใจกันในกรุงศรีอยุธยา จะหมายถึงชาวอิสลามโดยทั่วไป ได้หรือไม่ (โดยคนในสมัยนั้นในตอนหลังได้เลือนคำว่าจามจากความเดิม)

8. ข้อความที่ควรรู้เกี่ยวแก่อาษาจามมีประการใด เท่าที่จะค้นให้ได้ โปรดค้นให้ด้วย.

ปรีดี พนงยงค์

บันทึกรับสั่งเรื่องจาม

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ประทานแก่นายธนิต อยู่โพธิ์

เรื่อมนุษย์พวกจาม ถ้าหาความรู้ทางฝรั่งเศสอาจจะได้ความรู้ที่ดี ที่จริงเพราะฝรั่งเศสเขาค้นมากกว่าไทย ตัวฉันเองรู้ แต่หัวข้อไม่ถ้วนถี่ บางทีจะผิดไปบ้างก็เป็นได้ จะบอกให้เป็นเลาความต่อไปนี้

1. พวกจามเป็นมนุษย์อยู่ในจำพวกชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค ที่แยกย้ายกันไปตั้งชาติตั้งประเทศต่างๆ ตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นมาจนฟิลลิปปิน ชวามลายู เพราะฉะนั้นมนุษย์จำพวกนี้บ้านเมืองจึงอยู่ชายทะเลทั้งนั้น เป็นพวกที่ชำนาญการใช้เรือทะเลไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนๆ นานมาจึงกลายเป็นต่างชาติกันไป.

2. พวกจามมาตั้งบ้านเมืองอยู่ชายทะเลตั้งแต่ต่อแดนจีนลงมา จนแหลมเขมรอาณาเขตต์เดิมแต่ไหนไม่รู้ แต่พวกชาวอินเดียที่มาสอนสาสนาและวัฒนธรรมทางนี้ขนานนามประเทศอย่างประเทศหนึ่งที่มีในอินเดียว่า “จัมปา” คำว่าจามนั้นย่อลงมาจากจัมปา ประเทศกัมพูชาก็เป็นนามที่ชาวอินเดียตั้งเหมือนกัน.

3. พวกจามรับอารยธรรมและสาสนาของชาวอินเดีย ประพฤติเหมือนเขมรถือสาสนาเป็นพราหมณ์เป็นพื้น ยังเป็นซากเทวสถานของโบราณอยู่มาก ครั้นพวกอาหรับออกมาสอนสาสนาอิสลาม พวกจามเหมือนกับพวกมลายูและชวา ด้วยบ้านเมืองอยู่ริมทะเลได้ค้าขายสมาคมกับพวกอาหรับจึงตามกันไปเข้ารีตถือสาสนาอิสลาม.

4. เรื่องราวพงศาวดารของพวกจามนั้นเคยเจริญถึงได้เป็นคู่รบกับพวกขอม มีรูปภาพจารึกอยู่ที่ปราสาทบายน เมืองนครทม ทีหลังถูกขอมแผ่อาณาเขตต์รุกลงมาทางข้างเหนือ พวกจามจึงเสื่อมกำลัง บ้านเมืองแบ่งเป็นอาณาเขตต์ญวนบ้าง เขมรบ้าง ส่วนพวกจามเองโดยมากมาอาศัยอยู่เมืองเขมร ประวัติศาสตร์ก็มารวมอยู่กับเขมร บางคราววิวาทกับเขมรหนีมาพึ่งไทยบ้าง บางทีอพยพมาอยู่เมืองไทยกับเขมรบ้าง จึงมีพวกจามมาอยู่ในเมืองไทยแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

5. ก็ธรรมเนียมในครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ชาวต่างประเทศต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองไทย รัฐบาลมักจัดให้เป็นกรมอาษา เช่น อาษาญี่ปุ่น อาษาจามฝรั่งแม่นปืน เป็นต้น คือว่าเวลามีศึกสงครามต้องช่วยรบพุ่งตอบแทนที่ให้ตั้งทำมาหากินอยู่เป็นสุข ก็พึงสันนิษฐานว่า พวกจามถนัดในการใช้เรือทะเลมาแต่เดิม จะให้มีหน้าที่เป็นพนักงานเดินเรือกำปั่นของหลวงมาแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กำปั่นหลวงเดิมเป็นเรือค้าขายมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ให้พวกอาจามเป็นพนักงานเดินเรือกำปั่น คือเรือทะเลทั้งนั้น มาจนถึงสมัยต่อเรือไฟและเรือรบในรัชกาลที่ 4 และที่ 5 ก็ยังใช้พวกอาษาจามเป็นพนักงานเดินเรือ ทหารเรือไทยพึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 5 การเดืนเรือก็ยังใช้ฝรั่งกับพวกอาษาจามเป็นนาย จนถึงสมัยกรมหลวงชุมพร จึงได้หัดนายทหารเรือไทยให้เดินเรือได้เองมาจนบัดนี้.

6. มีข้อประหลาดในโบราณคดีอยู่อย่างหนึ่งที่ชนชาติเหล่านี้ คือ พม่า มอญ ไทย เขมร นิสสัยเป็นชาวดอน ไม่ชอบออกทะเลด้วยกันทุกชาติมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ใช้เรือก็ถนัดใช้แต่ในแม่น้ำเหมือนกันทุกชาติ จะเป็นเพราะถิ่นเดิมมาแต่เมืองดอนด้วยกันหรืออย่างไร ยังคิดไม่เห็น.

7. นึกเค้าเงื่อนเรื่องจามขึ้นได้อีก ในหนังสือพระราชพงศาวดาร มีว่า เมื่อสมเด็จพระรามราชา ราชโอรสสมเด็จพระราเมศวรครองกรุงศรีอยุธยาเกิดวิวาทกับเจ้าเสนาบดี เจ้าเสนาบดีไปเชิญพระนครินทรราชา ราชนัดดาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชพะงั่วเข้ามาตีได้พระนครกรุงศรีอยุธยา แล้วให้สมเด็จพระรามราชาไปครองเมือง “ปท่าคูจาม” เมืองปท่าคูจามไม่มีที่อื่น แต่ที่ริมแม่น้ำทางฝั่งตะวันตกข้างใต้พระนครศรีอยุธยาลงมาเหนือคลองตะเคียนยังมีคลองเก่าปรากฏอยู่จนทุกวันนี้เรียกว่า “คลองคูที่จาม” ที่ว่าให้สมเด็จพระรามราชาไปครองนั้น จริงอาจจะเป็นให้เอาไปคุมขัง หรือที่สุดปลงพระชนม์ที่ตำบลคูจาม นอกพระนครตำบลคูจามนั้นชื่อส่อว่าเป็นที่พวกจามมีมาค้าขายมาใช้เป็นท่า จอดเรือทะเลหรือเป็นที่ต่อเรือของพวกจามที่นั่น เพราะในแขวงเมืองสงขลามีชื่อตำบลหนึ่งอยู่ชายทะเลเรียกว่า “ปละท่า” เป็นที่เรือไปมาค้าขาย เห็นได้ว่าเป็นคำเดียวกับ ปท่าคูจาม โดยความที่กล่าวมานี้พึงเห็นได้ว่า พวกจามเคยเข้ามาอยู่ในเมืองไทยใกล้ๆ กับรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ยิ่งกว่านั้นยังมีเค้าซึ่งเป็นแต่ความสงสัยว่าพวกจามจะได้ไปมาค้าขายในอ่าวสยามแต่ดึกดำบรรพ์ แลมาให้ชื่อเรียกตำบลต่างๆ ไว้ ที่ยังเรียกกันอยู่จนทุกวันนี้ก็หลายแห่ง ไม่มีใครแปลออกและไม่รู้ภาษาอะไร ยกตัวอย่างเช่น เกาะสมุย เกาะสีชัง สัตหีบ เหล่านี้เป็นต้น.

8. ยังมีเค้าลำดับต่อไปอีกว่า พวกจามได้มาร่วมสมพงศ์กับเจ้าขอมที่ครองเมืองละโว้ คือที่เรียกว่า นางจามเทวีปรากฏอยู่.

บันทึกนี้เขียนให้นายธนิต โดยมีข้อไขว่านายธนิตจะเอาไปแสดงแก่ผู้ใด อย่าให้บอกว่าได้ไปจากสมเด็จกรมพระยาดำรง.

(ลงชื่อ) เดช คงสายพันธุ์ จดบันทึก 10 .. 86

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image