ปรากฏการณ์‘ยืนหยุดขัง’ หลากยุทธศาสตร์ 1 เป้าหมาย ‘ปล่อยเพื่อนเรา’

‘ราษมัม’ยืนหยุดขังวอนปล่อยลูกแม่

ดําเนินมาเกือบครบ 1 เดือนเต็มแล้ว สำหรับกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โดยการยืนสงบนิ่งหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน กรุงเทพฯ เป็นเวลา 112 นาที นำโดย พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ สมาพันธ์ ศรีเทพ ผู้ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมเสื้อแดง เมื่อปี 2553

จุดมุ่งหมายคือเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังจากการทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยทุกวันโดยไม่มีกำหนด จนกว่านักต่อสู้เหล่านั้นจะได้รับอิสรภาพ นั่นคือสิทธิการประกันตัวออกมาสู้คดีตามกฎหมาย

จากนาทีแรก นับแต่เวลา 17.00 น.ของวันที่ 22 มีนาคมวันปฐมฤกษ์ ซึ่งมีผู้เริ่มต้นยืนเพียง 8 คน จนกลายเป็นหลักร้อยกระทั่งวันนี้มีทั้งพัฒนาการของรูปแบบและยุทธศาสตร์ ที่สำคัญคือการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทย กระจายสู่กลุ่มต่างๆ ก่อเกิดกิจกรรมคล้ายคลึงกันหลายต่อหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด บ้างก็มาเป็นกลุ่ม บ้างก็ยืนคนเดียว บ้างก็ยืนที่บ้านภายใต้สถานการณ์ “กักตัว”

ศาล เรือนจำ แยกไฟแดง ดาดฟ้า ประตูหน้าบ้าน ไปจนถึงชายหาด คือสถานที่ยืนหยุดขังซึ่งไม่ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายอย่างไรในด้านรูปแบบ ล้วนมี 1 เป้าหมายหลักนั่นคือ “ปล่อยเพื่อนเรา”

Advertisement
ยืนบนชายหาดชู 3 นิ้ว จี้ปล่อยเพื่อน

นับ 1 ถึง 112 จาก 8 คนสู่หลักร้อย
จากช่วงสัปดาห์แรกของกิจกรรมการยืนหยุดขังหน้าศาลฎีกาซึ่งมีผู้ยืนอยู่ในหลักหน่วยหรือสิบต้นๆ ทั้งยังมีเพียงคนคุ้นหน้า อย่าง พันธ์ศักดิ์ หรือพ่อน้องเฌอ, บารมี ชัยรัตน์ สมัชชาคนจน, ทาทา นักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ เป็นขาประจำ ทว่า จำนวนคนก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ เมื่อกิจกรรมนี้เริ่มเป็นที่รู้จักก็เริ่มมีคนหน้าใหม่ ทุกเพศ ทุกวัย ไม่เว้นสมณเพศ เข้าร่วม อาทิ สามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า ผู้เคยถูกติดตามตัวจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

“คนดัง” หลากวงการตบเท้าเข้า “ยืนเฉยๆ” แขวนป้ายบนร่างกายของตัวเองซึ่งไม่ผิด พ.ร.บ.ความสะอาด

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รั้วแม่โดม, สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ รวมถึงศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งไม่เพียงร่วมยืน หากแต่อ่านจดหมาย 5 หน้ากระดาษถึง “เพนกวิน-รุ้ง” พริษฐ์ชิวารักษ์ และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวมถึงคนอื่นๆ ที่กำลังอดอาหารเรียกร้องความเป็นธรรม โดยขอร้องให้ “รักษาชีวิต” ให้อยู่ไปนานๆ เพราะไม่คิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะจบ
อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น ถ้าศึกษาจากประวัติศาสตร์ จากกรณี มหาตมะ คานธี ประท้วงโดยการอดอาหารถึง 18 ครั้ง ใช้เวลาตั้งแต่อายุ 40 กว่า ถึงอายุเกือบ 80 ปี รวมแล้วเป็นเวลาเกือบ 40 ปีในการต่อสู้ ดังนั้น อยากให้เยาวชนคนหนุ่มสาวใช้ความอดทน ขันติ บารมี

Advertisement

“ขอให้รักษาชีวิตไว้ในการทำงานเพื่อทั้งคนรุ่นตัวเอง ทั้งคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะมาอีกหลายรุ่น ส่วนคนรุ่นผมกำลังจะหมดอายุแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือสนับสนุนให้เขาเดินหน้า รักษาชีวิตต่อไป เขายังมีประโยชน์ต่อทั้งคนรุ่นเขาและคนรุ่นที่กำลังก้าวขึ้นมา อนาคต สังคม ประเทศชาติ อยู่ที่คนรุ่นใกล้พวกเขา รุ่นที่กำลังจะก้าวขึ้นมา ยามนี้คนรุ่นใหม่ต้องใช้สติปัญญาในการฝ่าข้ามไปสู่สังคมที่ดีกว่าที่เป็นมา” ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์กล่าว

สำหรับวันที่มีจำนวนผู้ยืนทุบสถิติ รวมกว่า 500 ราย ตรงกับ“มหาสงกรานต์” 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มคน “เดือนตุลา” ในนาม OctDem (Octoberists for Democracy) ชักชวนกันออกมายืน
นำโดย สิตา การย์เกรียงไกร อดีตประธานสภาตุลาการนักศึกษา องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และ พลากร จิรโสภณอดีตประธานศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ปี 2516

ยืนหยุดขังหน้าศาลฎีกา เริ่มจาก 8 คนสู่หลักร้อย

ในวันนั้นยังมีเยาวชนร่วมผนึกกำลังอีกหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น“กลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี” นำ เจษฎา ศรีปลั่ง หรือเจมส์ เดินทางมาร่วม รวมถึงนักกิจกรรมอีกหลายราย อาทิ “เจ๊ป๊อกกี้” ผู้มีบทบาทในการยื่นหนังสือต่อองค์กรนานาชาติแจ้งถึงสถานการณ์ทางการเมืองในไทย บางวัน “ศิลปะปลดแอก” ยังร่วมแจมด้วยการออกแบบป้ายแขวนทวงเพื่อนคืนสู่อิสรภาพ ต่อยอดความหลากหลายในอีเวนต์ยืนหยุดขัง

ปรับยุทธศาสตร์สู้โควิด‘ลดเวลา-ดาวกระจาย’
ความเปลี่ยนแปลงในยุทธศาสตร์ยืนหยุดขังหน้าศาลฎีกาเกิดขึ้นในวันที่ 26 ของกิจกรรม เมื่อ 18 เมษายน โดยมีการปรับลดเวลาจาก 112 นาที เหลือ 1 ชั่วโมง 12 นาที และใช้รูปแบบดาวกระจายหลายจุด จุดละไม่เกิน 40 คน เพื่อสกัดโควิด ทั้งหน้าศาลฎีกา, ลานแม่พระธรณีบีบมวยผม และหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว อย่างไรก็ตาม ในวันแรก 2 จุดหลังยังไร้คน ทว่า มารวมตัวแบบ “เว้นระยะ” หน้าศาลฎีกาเหมือนเดิม ขยายปีก 2 ฝั่งนอกรั้วเชือกพลาสติกกั้น

พันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่มีการปรับลดเวลาและยุทธศาสตร์ให้มีลักษณะเป็นดาวกระจาย เนื่องจากมีประกาศว่าถ้าจะจัดกิจกรรมต้องขออนุญาต ผอ.สำนักงานเขต หรือผู้อำนวยการสำนักอนามัย ซึ่งตนเห็นว่าท่านทั้งสองเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ถ้าจะให้อนุญาตจัดกิจกรรมทางการเมืองที่มีความกระทบกระทั่งกับข้าราชการระดับสูงกว่าอาจจะมีปัญหากระอักกระอ่วนใจ จึงตัดสินใจที่จะดำเนินกิจกรรมภายใต้สถานการณ์ กล่าวคือ ขอให้ผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมลงทะเบียนก่อน 40 คน รวมกับทีมงาน 10 คน เป็น 50 คน เปิดให้ลงทะเบียนหน้าเพจ

“เราตั้งใจทำตามมาตรการนี้ เพราะอยากจัดกิจกรรมช่วยเพื่อนที่อยู่ข้างในต่อไป สำหรับคนที่อยากมาร่วมกิจกรรม แนะนำให้ไปจัดในบริเวณใกล้เคียง เช่น ลานแม่พระธรณี อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ้าอยู่นอกเขตเราจะจัดการอะไรไม่ได้

“ส่วนสาเหตุที่ลดเวลาลงเพื่อที่จะให้ผู้มาร่วมชุมนุมได้กลับบ้านเร็วขึ้น ตามมาตรการเคอร์ฟิว แต่ถ้าระบาดหนักกว่านี้เราก็จะคุยกันอีกครั้ง เพื่อให้กิจกรรมเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้การส่งเสียงของเราที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับเพื่อนของเราทำได้ทุกวัน” นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

เมื่อครบ 1 ชั่วโมง 12 นาที ชุมนุมหันหน้าเข้าสู่ศาลฎีกา ชู 3 นิ้ว เปล่งเสียง “ปล่อยเพื่อนเรา” 3 ครั้งอย่างกึกก้องดังเช่นทุกวัน

 

ยืนทวงลูกหน้าเรือนจำ‘ราษมัม’พรึบ!
ในช่วงเวลาที่กิจกรรมยืนหยุดขังดำเนินไป ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจแล้วนำไปปรับใช้ในจุดต่างๆ อย่าง “ราษมัม” ซึ่งยืนทวงลูกหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร เมื่อวันที่ 17 เมษายน นำโดย สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ “เพนกวิน”, ยุพิน มณีวงศ์แม่ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก, แม่แอมมี่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ , แม่ทนาย อานนท์ นำภา และแม่ รุ้ง ปนัสยา

กลุ่มราษมัมถือภาพลูกของตนพร้อมข้อความ “ปล่อยลูกแม่” โดยแม่แอมมี่ยังถือภาพของ ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แทนแม่พริ้ม ที่ไม่ได้เข้าร่วมในวันนั้นด้วย

ขณะที่บรรยากาศทั่วไปมีประชาชนเข้าร่วมตั้งแต่ช่วงต้น ประมาณ 300 ราย ยืนเป็นแถวซ้อนกันหน้าประตูเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยาวถึงทางเดินเท้าริมรั้วที่ขนานกับถนนงามวงศ์วาน มีนักกิจกรรมและบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายรายเข้าร่วมยืน รวมถึงสังเกตการณ์ด้วยอาทิ อินทิรา เจริญปุระ หรือทราย, นพ.ทศพร เสรีรักษ์, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ถนอม ชาภักดี นักวิชาการด้านศิลปะร่วมสมัย
ชื่อดัง, กลุ่มประชาชนเบียร์ เป็นต้น

หญิง 2 รายแต่งกายด้วยชุดคล้ายนักโทษ ถือป้ายผ้าสีดำ มีข้อความเขียนด้วยอักษรสีขาว “ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยนักโทษการเมือง” เดินบนผิวถนนงามวงศ์วาน ผู้ชุมนุมต่างตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” ซ้ำๆ อย่างกึกก้อง

ตัดภาพไปที่อำเภอภูเขียว จังหวัดขอนแก่น พริ้ม บุญภัทรรักษาแม่ไผ่ยืน 112 นาทีคนเดียวคู่ขนาน “ราษมัม” โดยเผยแพร่ภาพตัวเองยืนคนเดียวพร้อมชู 3 นิ้วผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว และขอบคุณพ่อแม่
พี่น้องที่มายืนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมติดแฮชแท็ก #คืนลูกให้แม่

ยืน 112 นาทีผุดหลายจังหวัด กลุ่มก็มี เดี่ยวก็มา
ระหว่างที่กิจกรรมยืนหยุดขังในกรุงเทพฯ ดำเนินไป ปรากฏการณ์ยืน 112 นาที ก็เกิดขึ้นในหลากหลายจังหวัดด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือ “ปล่อยเพื่อนเรา” ไม่ว่าจะเป็น “ยืนหยุดขัง เชียงใหม่” โดย กลุ่ม We, The People หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์และลานหน้าศาลแขวงเก่า โดยมี “บิ๊กเนม” ในวงวิชาการหลายท่านเข้าร่วมในวันแรกของกิจกรรม เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 15 เมษายน อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี, ผศ.ดร.ชำนาญ จันทร์เรือง และรศ.ไชยันต์ รัชชกูล เป็นต้น

ในภาคเหนือยังมียืนหยุดขังหน้าศาลจังหวัดและห้าแยกพ่อขุน เชียงราย ในอีสาน มียืนหยุดขังหน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี และหน้าศาลจังหวัดสกลนคร ในกรุงเก่า ยังมียืนหยุดขังหน้าศาลากลางเก่า พระนครศรีอยุธยา ที่มีฉากเบื้องหน้าเป็น 3 แยกไฟแดงอีกหนึ่งปรากฏการณ์น่าสนใจ คือการยืนหยุดขังสไตล์ปัจเจก คือ ยืนคนเดียว บ้างก็ถึงขนาดถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ยืนยันว่าครบ
112 นาทีไม่มีโกง เช่น ศิลปินหนุ่มวง Solitude Is Bliss ซึ่งใช้เวลาช่วง “กักตัว” ยืนคนเดียวบนดาดฟ้าในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ย้อนไปก่อนหน้านั้น สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินอาวุโส เจ้าของรางวัล
ศรีบูรพา 2562 ซึ่งพำนักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ยืนเพียงคนเดียวอย่างต่อเนื่องที่บ้านพัก เป็นเวลา 112 นาที พร้อมถือป้ายข้อความ“ยืนหยุดขัง 112 นาที” รวมถึงภาพเยาวชนที่ถูกจองจำซึ่งวาดขึ้นด้วยตนเอง

และที่ฮือฮามาก คือภาพของชายหนุ่มรายหนึ่งซึ่งใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า สราวุทธิ์ เซียนแว่น กุลมธุรพจน์ ยืนชู 3 นิ้วบนหาดทราย พร้อมใช้วัตถุขีดเขียนบนชายหาดว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” พร้อมสัญลักษณ์เส้นตรง แนวตั้ง 3 ขีด ไหนจะแม่ที่ขี่จักรยานมาทวงลูกคืนหน้าศาลเยาวชนเชียงใหม่ ขอสิทธิประกันตัวสู้คดี และที่ล้ำเกินบรรยายคือการยืนหยุดขังที่ไม่มีคนยืน แต่ให้ “รองเท้า” ยืนแทนเป็นสัญลักษณ์ พร้อมภาพ
ผู้ต้องขัง อย่างที่ปรากฏหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน เมื่อ 18 เมษายน

ยังไม่นับกลุ่มของ หลวงพ่อดาวดิน ปฐวัตโต ที่ปักกลดพร้อมมวลชนกลุ่มหนึ่งหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โดยอดอาหาร ดื่มเพียงน้ำเปล่า เพื่อทวงความเป็นธรรมให้ “เพนกวิน” และเพื่อน โดยระบุว่าจะทำไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหว ในแทบทุกเช้า เยาวชนกลุ่ม “ราษฎรเอ้ย” นำโดย “บอมเบย์” ไม่ยืนหยุดขัง แต่มาร่วม “นั่งสมาธิ” เรียกร้องปล่อยเพื่อนเช่นกัน

นี่คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญในการแสดงออกอย่างสันติและขันติที่กำลังดำเนินอยู่อย่างน่าจับตายิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image