อาศรมมิวสิก : เมื่อนักดนตรีต่างชาติเสียชีวิตในเมืองไทย

อาศรมมิวสิก : เมื่อนักดนตรีต่างชาติเสียชีวิตในเมืองไทย

อาศรมมิวสิก : เมื่อนักดนตรีต่างชาติเสียชีวิตในเมืองไทย

เมื่อปี พ.ศ.2543 ได้พบนักดนตรีเครื่องสายจากเยอรมันเข้ามาเที่ยวเมืองไทย คุณมาร์ติน กรุนด์ และ คุณโยฮันส์ นิตก้า (Martin Grund และ Johannes Nitka) ได้เจอกันที่ร้านอาหารต้นโพธิ์ ถนนพระอาทิตย์ ครั้งนั้นได้ตัดสินใจชักชวนวงออเคสตราเยอรมันมาแสดง โดยมีเด็กหญิงตปาลิน เจริญสุข ร่วมแสดงเชลโลกับวงทูริงเก็นฟีลฮาร์โมนิก (Thuringen Philharmonie Gotha-Suhl Orchestra) ที่ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีเทอเย่ มิกเคลสัน (Terje Mickelson) ชาวนอร์เวย์ เป็นผู้ควบคุมวง ถือเป็นโอกาสแรกที่ได้เชื่อมสัมพันธ์กับนักดนตรีฝั่งยุโรปแบบจริงจัง ต่อมาก็ได้เชิญนักดนตรีเก่งๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนานักดนตรีและการแสดงดนตรีในไทยมากขึ้น ทำให้พัฒนาเสียงวงออเคสตราจากสำเนียงไทยๆ ให้เป็นเสียงวงออเคสตราคลาสสิกแบบวงในยุโรป

จูริส ลาคูติส (Juris Lakutis) ได้ย้ายครอบครัวมาอยู่เมืองไทย กับภรรยาและลูกชาย 1 คน สอนดนตรีให้เด็กไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 สอนเชลโล เล่นเชลโล ได้ร่วมก่อตั้งวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra) เป็นหัวหน้ากลุ่มเชลโล ภรรยา อาจารย์อกริต้า (Agrita Lakutis) เธอสอนฟลุตที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นหัวหน้ากลุ่มฟลุตของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยด้วย

การเริ่มต้นสร้างคุณภาพการเรียนดนตรีสากลที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ใช้ครูที่มีมาตรฐานจากยุโรป ครูที่ได้มาจากอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมัน กลุ่มนี้หายากหน่อยเพราะค่าตัวแพง ส่วนนักดนตรีที่ได้มาจากยุโรปตะวันออก อาทิ ลัตเวีย ลิทัวเนีย สาธารณรัฐเช็ก โรมาเนีย ฮังการี นักดนตรีกลุ่มนี้มีฝีมือสูง ย้ายไปทำงานในเยอรมัน เมื่อชักชวนมาอยู่เมืองไทยก็มีค่าตัวย่อมกว่าพวกยุโรปตะวันตก วิธีการชักชวนก็หาจุดลงตัวแบบรับหนึ่งพ่วงหนึ่ง คือถ้าจ้างสามีหรือภรรยาก็จะรับไว้ทั้ง 2 คน จึงมีครูดนตรีจากยุโรปตะวันออกมาอยู่กันหลายคน

Advertisement

อาจารย์อกริต้า ลาคูติส อยู่ที่เมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2545 ได้ล้มป่วยเป็นไข้เลือดออกทำให้สมองอักเสบเป็นคนป่วยติดเตียงเมื่อกันยายน พ.ศ.2562 เข้ารักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ ย้ายไปโรงพยาบาลยันฮี ย้ายไปศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ศาลายา ครั้งสุดท้ายได้ย้ายไปที่โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เป็นโรงพยาบาลที่มีราคาค่าใช้จ่ายต่ำกว่าที่อื่น (ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อ) แต่ครอบครัวก็ยังมีปัญหาเรื่องเงิน หาไม่ทันและจ่ายไม่ไหว สามียังเป็นหนี้โรงพยาบาลอีกจำนวนหนึ่งด้วย ทำให้ครอบครัวมีความเดือดร้อนเป็นที่สุด

ธิปก พินิจสกุล (โทนี่) ศิษย์รักอาจารย์อกริต้า ได้เชิญชวนนักเป่าฟลุตที่อยู่ในกรุงเทพฯ 20 กว่าคน เปิดแสดงเพื่อช่วยเหลืออาจารย์ที่บ้านปลูกรัก ซึ่งเป็นบ้านของอาจารย์ขวัญชนก พงศ์ไพโรจน์ ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2563 ตอนนั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องโรคระบาด สามารถเปิดการแสดงบนเวทีได้อยู่ ได้รับเงินบริจาค 4 แสนกว่าบาท เพื่อนนักดนตรีก็ได้ร่วมบริจาค 5 หมื่นกว่าบาท ซึ่งก็ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอาจารย์อกริต้า แต่ก็ยังไม่พอสำหรับค่ารักษาพยาบาล พบว่าเชื้อโรคนั้นโหดร้ายกับผู้ป่วยมาก แต่ค่ารักษาพยาบาลก็โหดร้ายกับผู้ดูแลมากเหมือนกัน

อาศรมมิวสิก : เมื่อนักดนตรีต่างชาติเสียชีวิตในเมืองไทย

Advertisement

ตปาลิน เจริญสุข ในฐานะลูกศิษย์ก็อยากช่วยครูผู้มีพระคุณ จึงได้เปิดแสดงออนไลน์เพื่อเป็นสะพานบุญรับบริจาคและส่งข่าวให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เวลา 1 ทุ่ม ครั้งนั้นได้เปิดแสดงใช้เวลาไป 1 ชั่วโมง โดยผู้บริจาคสามารถโอนเงินเข้าบัญชีอาจารย์จูริส ลาคูติส มีคนดูออนไลน์ 2,000 กว่าคน รุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2563 มีผู้บริจาค 260,000 บาท ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่ใช้ดนตรีช่วยเหลือครูดนตรีผู้ที่มีความเดือดร้อนในยามที่โรคโควิด-19 ยังระบาดอยู่ บ้านเมืองปิด แสดงดนตรีแบบมีคนดูไม่ได้

อาจารย์จูริส สามี ก็ได้เอาเงินไปจ่ายให้โรงพยาบาล ปรากฏว่าเงินยังไม่พอกับหนี้ที่มี ทำให้บรรดาลูกศิษย์รวมตัวกันแสดงดนตรีแบบหามรุ่งหามค่ำ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ครั้งแรกโดยแสดงดนตรี 24 ชั่วโมง มีนักดนตรี 24 คน (24 Challenge for Lakutis) เพื่อช่วยลดภาระหนี้ เริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม เวลา 2 ทุ่ม ถึงวันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2563 จบลงเวลา 2 ทุ่ม มีลูกศิษย์ของอาจารย์ที่อยู่ในมาเลเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และที่อยู่ในประเทศไทยร่วมแสดง ครั้งนั้นได้รับเงินบริจาค 280,000 บาท

เสียงดนตรีเป็นสะพานบุญ มอบจากทุกหัวใจของลูกศิษย์ ได้ช่วยเหลือครูดนตรีในยามทุกข์ยาก ลำพังที่เป็นคนไทยด้วยกันนั้นยากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นนักดนตรีต่างชาติที่เข้ามาป่วยอยู่ในเมืองไทย เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่มีหลักประกันสังคมใดๆ ช่วยเหลือ นอกจากนักดนตรีและคนที่รู้จักกันเท่านั้นที่จะให้ความช่วยเหลือ

ต่อมาอาจารย์จูริส ลาคูติส ได้เล่นเชลโล มีอาจารย์ธีรนัย จิระสิริกุล เล่นเปียโน แสดงในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เวลา 1 ทุ่ม เล่นเพลง Song to the Moon ขับร้องโดย อาจารย์กมลพร หุ่นเจริญ และเพลง Ave Maria ขับร้องโดย ศศินี อัศวเจษฎากุล มีศิลปิน ดร.สุชาติ วงษ์ทอง วาดภาพเพื่อร่วมบริจาคด้วย รายได้ทั้งหมดก็เพื่อช่วยเหลือรักษาความเจ็บป่วยของอาจารย์อกริต้า ลาคูติส

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2564 อาจารย์จูริส ผู้เป็นสามี ได้ลงนามเพื่อถอดเครื่องช่วยหายใจออกจากร่างของภรรยา เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะยื้อชีวิตของเธอให้ทรมานอีกต่อไป เช้าวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2564 เวลา 06.00 น. อาจารย์อกริต้า ลาคูติส ก็สิ้นลม เธอเป็นครูสอนฟลุตที่ดี มีนักเรียนรักเธอมาก เป็นครูดนตรีที่เอาจริงเอาจัง เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถสูง เป็นหัวหน้าฟลุตของวงดนตรีอาชีพ (วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย)

เนื่องจากครอบครัวเธอเป็นชาวลัตเวีย ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ทางครอบครัวก็ไม่สามารถจะจัดการกับพิธีกรรมในเมืองไทยได้สะดวกนัก ประกอบกับช่วงเวลาโรคระบาดโควิดแพร่กระจายรุนแรง ลูกศิษย์ได้อาสาหาวัด หาหีบศพ จัดพิธีศพให้ตามแบบพุทธศาสนา ตั้งศพที่วัดศาลาแดง เลียบคลองทวีวัฒนา ทำพิธีสวด 3 วัน และเผาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ.2564 เวลา 13.00 น.

เมื่อก่อน นักดนตรีชาวตะวันตกที่เข้ามาประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีในเมืองไทยมีไม่มากนัก เข้ามาก็ได้ทำงานในราชการระดับสูง เมื่อเสียชีวิตลง สถานทูตแต่ละประเทศก็เข้ามามีบทบาทดูแลจัดการ นักดนตรีที่เข้ามาอยู่นานจนตั้งรกรากในเมืองไทย ส่วนใหญ่ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี จาคอบ ไฟท์ (Jacob Feit) ครูไมเคิล ฟุสโก (Michael Fusco) ครูอัลเบอร์โต นาซารี (Alberto Nazari) ครูฝรั่งเหล่านี้ก็จะมีหลุมฝังศพตามพิธีศาสนาของเขา เมื่อญาติพี่น้องและลูกหลานมาตามหาภายหลังก็จะมีหลักฐานหลุมฝังศพเหลืออยู่ ปัจจุบันมีนักดนตรีชาวต่างชาติเข้ามามากขึ้นแต่ไม่สามารถทำพิธีฝังอย่างฝรั่งได้ เพราะพิธีกรรมและราคาค่าฝังศพแพงมากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มี “พิธีไหว้ครูดนตรี” ให้แก่นักเรียนดนตรี ซึ่งได้สะท้อนออกมาในครั้งนี้ว่า “ต้นความกตัญญูกับต้นน้ำใจ” มีความเจริญงอกงาม มีบทบาทสำคัญระหว่างครูกับศิษย์ พิธีไหว้ครูดนตรีทำขึ้นระหว่างศิษย์กับครู ทำให้ศิษย์มีครู ครูก็ยอมรับศิษย์มาสอนวิชาให้

เดิมนั้นจะทำพิธีกันเฉพาะคนดนตรีไทย (โขน ละคร ลิเก) เมื่ออาจารย์สงัด ภูเขาทอง ให้นักเรียนดนตรีสากลได้เข้าร่วมพิธีไหว้ครูดนตรีด้วยที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ.2513 และทำพิธีเผื่อแผ่ครูปลูกต้นกตัญญูดนตรีเรื่อยมา เมื่อได้สร้างวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ขึ้นในปี พ.ศ.2537 ก็ได้ทำพิธีไหว้ครูดนตรีไทยและครูดนตรีสากลให้นักเรียนดนตรีทุกคนไหว้ครูรวมกัน

อานิสงส์ของพิธีไหว้ครูซึ่งทำให้ศิษย์ดนตรีทั้งหลายมีความภูมิใจว่าเป็นศิษย์มีครู เมื่อครูดนตรีตกทุกข์ได้ยาก พวกศิษย์ทั้งหลายก็ได้โอกาสช่วยเหลือครูในยามยาก เห็นได้จากกรณีของอาจารย์อกริต้า ลาคูติส เป็นตัวอย่าง ความพยายามของศิษย์ที่คอยช่วยกันหาเงินเพื่อการรักษาพยาบาล ช่วยนำศพออกจากโรงพยาบาล ทำใบมรณบัตร จัดพิธีศพ ด้วยความศรัทธาและทำกันอย่างตั้งอกตั้งใจ แม้จะรักษาชีวิตครูเอาไว้ไม่ได้ แต่ก็ได้แสดงความเสียสละและมีน้ำใจ ได้แสดงความกตัญญูที่มีต่อครู กระทั่งจัดการเผาศพครูจนเสร็จ

ในช่วงเวลาที่ฉุกเฉินมีโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การดำเนินชีวิตขยับได้ยาก แต่เมื่อมีความเจ็บป่วยล้มตาย ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบว่ามีอาชีพเกิดขึ้นใหม่ อาทิ การหาซื้อหีบศพออนไลน์ การจัดพิธีงานศพเป็นสำรับพร้อมหีบศพ การหาวัด จัดหาศาลาสวด การจัดเลี้ยงอาหารกล่อง ทำพิธีกรรมสวดศพครบโดยไม่ต้องเดินทางไปหาตามวัด ประหยัดเวลา และยังสามารถเลือกชุดพิธีศพว่าจะเอาแบบไหน ราคาก็ต่อรองได้ด้วย

อาจารย์อกริต้า ลาคูติส ได้จากโลกไปแล้วด้วยความสงบ เธอและสามีเป็นก้อนอิฐเล็กๆ ที่ได้วางเป็นรากฐานของเสียงวงออเคสตราแบบเสียงยุโรปขึ้นในวงออเคสตราไทย ได้ช่วยพัฒนานักดนตรีไทยให้มีฝีมือทั้งทางตรงและทางอ้อม จาก พ.ศ.2545-2564 เกือบ 20 ปี แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่มีใครใส่ใจนัก แต่นักเรียนดนตรี ลูกศิษย์ นักดนตรีอาชีพ ผู้ฟังทั้งหลาย ต่างก็ได้ประจักษ์ ด้วยการแสดงความช่วยเหลือจัดการงานศพ

ชีวิตของอาจารย์อกริต้า ลาคูติส เป็นภาพสะท้อนระดับจิตใจในเรื่องคุณธรรม ความกตัญญู น้ำใจ และการเสียสละ ซึ่งเป็นการเรียนรู้คุณค่าของชีวิตทางอ้อม โดยส่วนตัวแล้ว ผมในฐานะผู้ที่ชักชวนครอบครัวลาคูติสเข้ามา และได้ตกระกำลำบากในเมืองไทย ก็ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ ส่วนบุญกุศลที่บังเกิดขึ้นกับนักเรียนดนตรี ลูกศิษย์ และนักดนตรีคลาสสิกทั้งหลาย ซึ่งก็ตกเป็นประโยชน์ต่อวงการดนตรีคลาสสิกไทย ขอให้ดวงวิญญาณของอาจารย์อกริต้า ลาคูติส ได้พบกับความสงบสุขบนสวรรค์ จุติในภพภูมิใหม่ด้วยเทอญ

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image