‘4เว็บไซต์ใหม่’ ในเครือมติชน จากนิตยสารดังสู่โลกออนไลน์

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน จะมีอีเวนต์หนึ่งที่ตอกย้ำความยิ่งใหญ่ด้านคอนเทนต์ของ มติชน กับการเปิดตัว 4 เว็บไซต์ใหม่ในเครือมติชน ซึ่งเป็นการเพิ่มแพลตฟอร์มใหม่ในการนำเสนอเนื้อหาของนิตยสารในเครือทั้ง 4 ฉบับ คือ มติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม, เส้นทางเศรษฐี และ เทคโนโลยีชาวบ้าน เพื่อตอกย้ำความเป็นที่ 1 ด้านสื่อออนไลน์ ภายใต้ชื่องาน

Matichon Moving Forward #MagazineOnline

หลังเริ่มดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากหนังสือพิมพ์เป็นหลัก คือ www.matichon.co.th อีกช่องทางของหนังสือพิมพ์มติชน, www.prachachat.net ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และ www.khaosod.co.th ของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งทำให้มติชนกลายเป็นที่ 1 ด้านสื่อออนไลน์

และตอนนี้ นิตยสารในเครือมติชนทั้ง 4 ฉบับ จะเริ่มเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเป็นทางการ

Advertisement

www.matichonweekly.com

‘ชุมชนคอลัมนิสต์ แหล่งรวมนักคิดนักเขียน’

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เกริ่นว่า นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ดำเนินการมาเป็นปีที่ 36 แล้ว เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศและครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด เรามีนักเขียนและคอลัมนิสต์ระดับแถวหน้าของประเทศ เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะ พีระ, ธงชัย วินิจจะกูล, คำ ผกา, กาละแมร์ ฯลฯ คิดว่าหากมีอีกเวที จะช่วยดึงดูดคนอ่านมากขึ้น

แฟนของนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ในรูปแบบเล่ม เป็นกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งสุวพงศ์บอกว่า เคยเจอคนหนึ่งอายุมากถึง 80 ปี ส่วนในเว็บไซต์นั้นตั้งเป้าดึงกลุ่มคนอ่านที่อายุต่ำกว่า 40 ปี

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร์
สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร์

“ด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่จริงๆ”

Advertisement

“ก่อนหน้านี้เราทำอี-บุ๊กส์ ซึ่งมียอดขายพอสมควร หลังจากนั้นก็มีเฟซบุ๊กแฟนเพจ Matichon Weekly ซึ่งมียอดกดไลค์กว่า 1 แสนไลค์ และคิดว่าจะโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีนักอ่านรุ่นใหม่ที่ได้เจอกับรูปแบบเว็บไซต์ จึงเอาเนื้อหาของนิตยสารที่มีแฟนนักอ่านอันดับ 1 มา โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้อ่านขยายตัวมากขึ้น”

“ในเว็บไซต์จะมีทั้งเนื้อหาฉบับเต็ม และการหยิบเนื้อหาจากบางคอลัมน์มานำเสนอในรูปแบบใหม่ และหากดำเนินการไปได้ระดับหนึ่งแล้ว อาจเพิ่มส่วนของเบื้องหลังงานเขียนแต่ละชิ้น อาจเป็นรูปแบบของคลิปวิดีโอ หรือการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก (live) อันจะทำให้เกิดชุมชนนักอ่านและนักเขียน นอกจากนี้ หากมีจดหมายหรืออีเมล์จากคนอ่านทางบ้าน ก็จะเอามาเป็นส่วนหนึ่งของเว็บแล้วให้บก.หรือนักเขียนมาเป็นคนตอบ ส่วนข่าวเหตุการณ์จะเป็นการดึงเนื้อหามาจาก www.matichon.co.th”

สุวพงศ์ อธิบายเพิ่มว่า ช่วงแรกของการเปิดเว็บไซต์จะมีกิจกรรมเชิงรุกเพื่อเพิ่มยอดคนอ่าน เช่น แจกหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนหรือแจกต้นฉบับเก่าของนักเขียนแต่ละท่าน นำมาใส่กรอบสำหรับคนอ่านที่แชร์เนื้อหา และมีกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อเชื่อม 2 โลกเข้าด้วยกัน เนื้อหาและบุคลิกของแต่ละเว็บไซต์จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เพราะทุกฉบับเหมือนกูรูอยู่แล้ว

“มติชนมีทั้ง “อาหารสมอง” ซึ่งเป็นนิตยสารที่ให้ความรู้คือนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่ตอบโจทย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ ให้อาหารทางความคิด, และยังมี “อาหารท้อง” คือนิตยสารเส้นทางเศรษฐี นำเสนออาชีพใหม่ๆ และเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่ตอบโจทย์อาชีพของคนรุ่นเก่าและใหม่” สุวพงศ์ทิ้งท้าย

พลิกอดีตต่อไปในยุคดิจิตอล

กับ www.silpa-mag.com

ศิลปวัฒนธรรม เป็นหนังสือวิชาการที่ทำโดยเอกชนรายเดียวที่หลงเหลืออยู่ มีจุดแข็งที่การเสนอเนื้อหาในแง่มุมของประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น เชื่อถือได้ และสามารถนำไปใช้อ้างอิงในทางวิชาการได้ โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 37 แล้ว

สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารศิลปวัฒนธรรม บอกว่า ก่อนหน้านี้นิตยสารศิลปวัฒนธรรมมีหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊ก, รายการเสวนาที่จัดขึ้นทุกวันพฤหัสฯสุดท้ายของเดือน และรายการวิทยุ มีหลายสื่อ เนื่องจากลักษณะเฉพาะของสื่อแต่ละชนิด เว็บไซต์จึงเหมือนหนังสืออีกเล่มที่มีความกะทัดรัดและขนาดสั้นลง

“แม้เราทำหนังสือมานาน แต่ก็อยากฟังเสียงของนักอ่านรุ่นใหม่ และมีทีมงานที่พร้อมสื่อสารกับคนอ่านตลอดเวลา โดยทั้ง 4 เว็บไซต์สะท้อนตัวตนมติชน เรามีทุกอย่างทั้งนิตยสารรายสัปดาห์ นิตยสารรายปักษ์ นิตยสารรายเดือน เป็นแหล่งรวมของบุคคลสารพัดอาชีพ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ใหญ่มาก ทุกคนพร้อมทำงานและร่วมมือกับเรา”

สุพจน์ แจ้งเร็ว
สุพจน์ แจ้งเร็ว

ด้าน สุลักษณ์ บุนปาน บรรณาธิการบริหารนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เกริ่นว่า นิตยสารทุกหัวที่มติชนดำเนินการอยู่ขณะนี้ล้วนเป็นจุดแข็งขององค์กร แต่ละฉบับมีแฟนเฉพาะกลุ่ม โดยก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบเว็บไซต์นั้น แต่ละฉบับต่างก็มีหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊ก ดังนั้น เว็บไซต์จึงเป็นช่องทางใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนอ่าน

“สำหรับเว็บไซต์ www.silpa-mag.com เหมือนการออกหนังสือเล่มใหม่ โดยเนื้อหาที่เสนอในเว็บไซต์นั้นจะสั้นกว่า กระชับ ที่สำคัญคือจะมีแหล่งอ้างอิงของข้อเขียนชิ้นนั้นๆ หากใครอยากค้นคว้าเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ อาจมีการเพิ่มเติมภาพเก่า หรือภาพท้องถิ่นที่ผู้อ่านทางบ้านส่งมาร่วมสนุก

“ก่อนหน้านี้ ศิลปวัฒนธรรมมีสื่อหลายช่องทาง ทั้งนิตยสารแบบเล่ม, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, วิทยุคลื่น FM 98.5 เมกะเฮิรตซ์ “ทัวร์อดีตกับศิลปวัฒนธรรม” ซึ่งออกอากาศเวลา 13.30-15.00 น. ร่วมกับสปริงเรดิโอ และงานศิลปวัฒนธรรมเสวนา มองว่าเนื้อหากระจัดกระจาย ต่อไปเมื่อเข้าเว็บไซต์ของเราสามารถฟังถ่ายทอดสดทั้งงานเสวนาหรือรายการวิทยุได้ตามความต้องการ เป็นการทำให้คอนเทนต์ที่กระจัดกระจายมารวมไว้ที่เดียวกัน” สุลักษณ์กล่าว

ทั้งนี้ แม้นิตยสารศิลปวัฒนธรรมจะเป็นนิตยสารรายเดือน แต่ทีมงานรับประกันว่าเว็บไซต์จะไม่น่าเบื่อแน่นอน มีการเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา ทั้งยัง “ย่อย” เนื้อหาให้อ่านง่ายขึ้น โดยจะทยอยเพิ่มข้อมูลต่างๆ ที่เคยได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ ซึ่งแฟนนักอ่านสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ และมีอี-บุ๊กส์ฉบับย้อนหลังให้เลือกอ่านด้วย

“ในเว็บไซต์จะเป็นการย่อยเนื้อหาจากฉบับกระดาษให้สนุกขึ้น และเพิ่มเติมความเคลื่อนไหว เหตุการณ์อัพเดต ซึ่งเว็บไซต์จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น

“คอนเทนต์ทุกด้านนั้นมติชนมีอยู่ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนเราก็ต้องปรับวิธีการ ปรับตัวเราเพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและผู้อ่านใหม่ๆ อยากเสพเนื้อหาแบบไหน ก็หาได้ทั้งหมดจากหน้าจอที่มี ไม่ต้องมาหาและรอเราที่แผงหนังสืออีกต่อไป” สุลักษณ์ทิ้งท้าย

 

ติดตามสกู๊ปพิเศษ ของดีการเกษตรทุกเดือน

กับ www.technologychaoban.com

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน นิตยสารแนวเกษตรที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดของประเทศ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของเกษตรกรและผู้บริโภคมากว่า 29 ปีแล้ว เน้นการนำเสนอเรื่องการตลาด และการเป็นตัวกลางให้เกษตรกรมีช่องทางที่ดีขึ้น ชี้เป้าให้ผู้บริโภคที่ได้อ่านรู้ว่า “ของดี” อยู่ที่ไหนบ้าง ที่สำคัญคือเป็นการให้โอกาสกับเกษตรกรบางราย ได้มีช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครู้จักและเข้าถึง

พานิชย์ ยศปัญญา
พานิชย์ ยศปัญญา

พานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน อธิบายว่า เนื้อหาในเว็บไซต์ที่พิเศษแตกต่างจากฉบับเล่มคือ นำเสนอเนื้อหาโดยอิงตามฤดูกาลว่าแต่ละฤดูมีของดีอยู่ที่ไหนบ้าง นอกจากนี้ข้อมูลยังมีความอัพเดต มุ่งเป้าสนองความต้องการของสมาร์ท ฟาร์เมอร์ สร้างความพอใจให้ทั้งคนซื้อและคนขาย ทั้งยังเป็นช่องทางการพีอาร์หนึ่งให้เกษตรกรและผู้บริโภค โดยจะมีการแจกเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกง่ายให้กับแฟนๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในเว็บไซต์

“เนื้อหาของเทคโนโลยีชาวบ้าน มีจุดเด่นแตกต่าง และหลากหลาย ครอบคลุมพื้นที่และกลุ่มอาชีพของเทคโนโลยีชาวบ้าน เราทำในรูปแบบเว็บไซต์เพราะว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเนื้อหาในเว็บนั้นง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูล

“จุดเด่นที่เราอยากเน้น คือ คลังข้อมูล ก-ฮ ที่รวบรวมทุกความรู้ด้านการเกษตรเรียงตามตัวอักษรเพื่อให้ง่ายต่อการค้นข้อมูล และราคาสินค้าเกษตรแบบอัพเดตสำหรับคนที่ต้องการอยากรู้ คล้ายวิกิพีเดียด้านการเกษตร เพราะเป็นข้อมูลที่ไม่ตาย

“เราพยายามปรับตัว ปรับรูปแบบการนำเสนอให้เข้ากับคนรุ่นใหม่มากที่สุด” พานิชย์ย้ำ

 

บทความ Exclusive สร้างแรงบันดาลใจ

กับ www.sentangsedtee.com

กว่า 21 ปีกับการสร้างแรงบันดาลใจและช่องทางสร้างอาชีพ วันนี้นิตยสารเส้นทางเศรษฐี 1 ในนิตยสารของเครือมติชนก็พร้อมจะเป็นฮาว ทู (How To) ของคนที่มีอาชีพประจำ

วิมล ตัน บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารเส้นทางเศรษฐี กล่าวว่า นิตยสารเส้นทางเศรษฐีก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 21 ปีแล้ว เกิดขึ้นเพราะการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อยากเปิดโอกาสให้คนด้อยโอกาสได้ “สร้างอาชีพ” ซึ่งแต่ก่อนฐานสำคัญคือต่างจังหวัด

วิมล ตัน
วิมล ตัน

“ปัจจุบันการเข้าสู่อาชีพของคนเจนวาย (Gen Y) นั้นแตกต่างจากคนรุ่นเก่า จะเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับอาชีพฟรีแลนซ์ หรือคนที่ต้องการทำอะไรที่ตอบโจทย์ความชอบของตัวเอง รวมทั้งมีเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจ และฮาวทู โดยเรามองว่าความแพร่หลายและการเข้าถึงโลกออนไลน์ที่มากขึ้น จะเป็นอีกช่องทางที่มีประโยชน์

“เราตั้งเป้าว่านิตยสารเล่มสำหรับคนในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือคนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ส่วนเว็บไซต์จะนำเสนอข้อมูลอาชีพที่กำลังอยู่ในกระแส เช่นเรื่องเกษตรคนเมือง, อาหารคลีน, ธุรกิจสตาร์ตอัพ หรืออาชีพใหม่ที่พัฒนามาจากอาชีพเดิม คิดว่าการเปิดตัวเว็บไซต์ครั้งนี้จะสร้างแรงสะเทือนวงการสื่อได้อย่างมาก

“เราไม่ได้ช้า แต่รอวันที่พร้อมที่สุด” วิมลทิ้งท้าย

การปรับตัวเข้าหาคนอ่านในครั้งนี้ของ “เครือมติชน” ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกด้านของผู้บริโภคอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว และเชื่อว่านำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ และสนองความต้องการของคนอ่านที่มีหลากหลายได้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image