‘กลัว แต่จะไม่หยุดพูด’ คำในใจ หทัยรัตน์ พหลทัพ กับพรุ่งนี้ของ ‘เดอะ อีสาน เรคคอร์ด’

“เรากล้านำเสนอในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า”

คือคำกล่าวของ หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการภาคภาษาไทยของ เดอะ อีสาน เรคคอร์ด ที่นิยามตัวเองว่าไม่ใช่สื่อท้องถิ่น หากแต่เป็น ‘สื่อทางเลือก’

โดดเด่น ด้วยเนื้อหาที่เจาะลึกถึงก้นบึ้งของความเป็นอีสาน แตกต่างด้วยมุมมองและความลึกซึ้งถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น หลากหลายด้วยประเด็นเชิงสังคม วัฒนธรรมซึ่งไม่อาจแยกขาดจากคำว่า ‘การเมือง’

เป็นที่รู้จักของคนอีสาน จนถึงชนชั้นกลางในโลกออนไลน์ ก่อนขยายกว้างไกลไปกว่านั้นอีกหลายเท่าจากกรณี ดร.เดวิด สเตร็คฟัสส์ อดีต ผอ.ศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาระหว่างประเทศ และผู้ดูแลเว็บไซต์ เดอะ อีสาน เรคคอร์ด นักวิชาการชื่อดังชาวอเมริกันผู้พำนักอยู่ในเมืองไทยนานเกือบ 4 ทศวรรษ ถูกมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ยกเลิกสัญญา ส่งผลให้วีซ่าสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีตำรวจเข้ากดดันผู้บริหาร ก่อน มข. เผยแพร่แถลงการณ์ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเพราะไม่มีความก้าวหน้าในเนื้องานที่ตกลงกันไว้

Advertisement

ส่งผลให้ต้องยื่นขอวีซ่าใหม่ โดยนัดหมายฟังผล ‘พรุ่งนี้’ จันทร์ที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเลื่อนมาจากวันที่ 19 เมษายน โดยระบุว่าเพื่อขอพิจารณาสถานะของบริษัท บัฟฟาโล่ เบิร์ด โปรดักชั่นส์ ที่ดูแล เดอะ อีสาน เรคคอร์ด โดย ดร.เดวิดเป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศ

ไม่ว่าจะในฐานะเพื่อนร่วมงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะภรรยาคู่ชีวิต นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ หทัยรัตน์ อดีตนักข่าวการเมืองในสื่อกระแสหลักผู้มีประสบการณ์โชกโชน ก่อนตัดสินใจ ‘กลับบ้าน’ หวนคืนสู่แผ่นดินอีสาน พัฒนาเนื้อหาสื่อทางเลือกซึ่งอยู่กลางสปอตไลต์ในเวลานี้

อีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงนับจากวินาทีนี้ หากคำตอบคือข่าวร้าย
‘พรุ่งนี้’ ของเดอะ อีสาน เรคคอร์ด จะเป็นอย่างไร
‘พรุ่งนี้’ ของการต่อสู้จะเป็นไปในทิศทางไหน
นี่ไม่ใช่บทสัมภาษณ์แบบ ถาม-ตอบ หากแต่เป็น ‘ความในใจ’ ที่เจ้าตัวพรั่งพรูผ่านถ้อยคำให้เรียงร้อยจากสุ้มเสียงสู่ตัวอักษร

สดใส เมื่อพูดถึงความคิดความฝันในฐานะสื่อมวลชน
แจ่มชัด ตรงไปตรงมา เมื่อตั้งคำถามถึง ‘ความไม่ปกติ’ ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
กระทั่ง สั่นเครือ ร่ำไห้ในบางช่วงบางตอน

ไม่ว่าในมุมอ่อนไหว หรือเข้มแข็ง ก็ยืนยัน ไม่ยอมแพ้

ประเด็นที่ ‘สื่อหลัก’ ไม่จับ
กับเรื่องในอีสานที่ ‘มันน่าทำไปหมด’

เราไม่ได้เรียกเดอะ อีสาน เรคคอร์ด ว่าเป็นสื่อท้องถิ่น แต่เรียกว่าเป็นสื่อทางเลือก เพราะเจตนารมณ์ของมัน คือถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกจริงๆ ผู้ก่อตั้งเป็นชาวอเมริกัน 2 คน ที่มาสอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่รู้สึกว่าควรมีเนื้อหาจากทางอีสานเป็นสื่อทางเลือกให้คนอ่าน จึงเริ่มต้นจากการตั้งเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ พอมีรากเหง้าแบบนั้น ในฐานะที่มาทีหลัง เราก็มีความคิดความฝันในฐานะนักข่าวว่า อยากทำอะไรที่เราไม่เคยทำ และสื่อกระแสหลักไม่จับ เช่น คนอีสานถูกใช้วาทกรรม โง่ จน เจ็บ เราก็อยากขยายให้เห็นว่าจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เราเองก็เป็นคนอีสาน บ้านอยู่หนองบัวลำภู ก็คิดว่าตัวเองได้รับการศึกษานะ การศึกษาก็ไม่ได้ทำให้โง่ อ่านหนังสือออกนะ พูดภาษาอังกฤษได้ คุณเอาอะไรมาจับว่าคนอีสานโง่ จน เจ็บ เรื่องในอีสานมันน่าทำไปหมด ถ้าคนเป็นนักข่าวมาเห็นประเด็น โอ้โห! เราอยากมีนักข่าวเยอะๆ เพื่อเจาะลึก

เจาะลึก สอบอำนาจ ตั้งคำถามนโยบาย
ในการเมืองเรื่อง ‘สังคม-วัฒนธรรม’

ตั้งแต่ช่วงที่มาทำงานให้เดอะ อีสาน เรคคอร์ด เรากล้านำเสนอในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า ช่วงที่เริ่มมีตำรวจมาคือ หลังจากเผยแพร่คลิปสัมภาษณ์ อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เมื่อปลายปี 2562 ก่อนเกิดกระแสของนักศึกษาซึ่งได้รับความนิยมมาก เป็นคลิปแรกๆ ที่ตัวเองมาทำ คนดู 6-7 แสน หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนให้ความสนใจ เราก็เริ่มทำข่าวเชิงลึก เรื่องตรวจสอบการใช้อำนาจ นโยบาย ทำซีรีส์เรื่องความหวานและอำนาจ เพื่อให้เห็นว่า น้ำตาลเข้ามาในประเทศไทย และเอเชียได้อย่างไรในยุคอาณานิคม ส่งผลถึงนโยบายของรัฐบาลอย่างไร เช่น การผลักดันให้เกิดโรงงานน้ำตาลในอีสานเพิ่มขึ้น มีซีรีส์ชุดลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำ เรื่องหมอลำกับความเป็นอีสานว่ามันหายไปได้อย่างไร วัฒนธรรมเปลี่ยนไปอย่างไร ทำเรื่อง 1 ทศวรรษปี 53 ซึ่งเป็นเรื่องครบรอบการเสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2553 เน้นประเด็นผลกระทบต่อคนอีสาน และทำไมคนอีสานถึงไปตายที่กรุงเทพฯ มากมายขนาดนั้น นำไปถึงเรื่องที่ว่า ตอนนี้คนอีสานติดคุกเท่าไหร่ ชีวิตเขาเป็นอย่างไรหลังออกจากคุก อันนี้เราทำเป็นพ็อคเก็ตบุ๊กออกมา

ถามตรง ถามแรง กลางปรากฏการณ์น่าจับตา
จนถึงวัน ‘ตำรวจ’ ถามหา

พอเห็นนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว ในฐานะบรรณาธิการที่เป็นนักข่าวการเมืองเก่า เห็นว่าเป็นเรื่องน่าจับตามาก เราก็ทำซีรีส์ ข่าวเชิงลึกเรื่องพลังคนรุ่นใหม่ของที่ราบสูง ฉายให้เห็นภาพว่าคนรุ่นใหม่ในอีสานคิดอะไร โดยเดินทางไปในจังหวัดต่างๆ ดูปรากฏการณ์ของเขา แล้วเอามาทำเป็นวิดีโอสารคดีเชิงข่าว ทำมากว่า 20 ตอน ยังไม่จบ ซึ่งเราก็เห็นการเติบโต โดยเฉพาะขอนแก่นซึ่งเมืองที่นักศึกษามีความเคลื่อนไหวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะไผ่ ดาวดิน ระหว่างทำซีรีส์นี้อยู่ มีช่วงหนึ่งไปสัมภาษณ์ทนายอานนท์ นำภา ซึ่งเป็นคนร้อยเอ็ด ตอนนั้นเขามาขึ้นเวทีปราศรัยที่ขอนแก่น เราก็ถามแนวคิดความฝัน สิ่งที่เขาอยากเห็น และสิ่งที่เขาเคลื่อนไหว ซึ่งคำถามอาจตรงและแรง ยอมรับว่ากลัวเหมือนกัน แต่บรรยากาศทำให้รู้สึกว่าเราต้องมีความกล้าในการทำหน้าที่นักข่าว
หลังจากนั้น เริ่มรู้สึกว่ามีตำรวจมาป้วนเปี้ยนแถวออฟฟิศ แต่ไม่ได้แสดงตัว มีเพื่อนบ้านเห็นแล้วมาบอก ถัดจากนั้นมี กอ.รมน.ท้องถิ่นหาข้อมูลว่า เดอะ อีสาน เรคคอร์ด เป็นใคร ซึ่งก็มีเจ้าของร้านกาแฟที่รู้จักกันมาบอก ก็รู้สึกว่าน่าจะอยู่ในสปอตไลต์แล้ว แต่ก็ไม่ได้ระวังตัว เพราะคิดว่าสังคมน่าจะโต ให้สิทธิเสรีภาพกันได้แล้ว เราแค่ทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน

ย้อนไทม์ไลน์ ‘พวกเราทำอะไรผิด?’ เปิดโปรเจ็กต์ 64 ที่ (จ่อ) สะดุด

ปีนี้มีโครงการที่เตรียมจะทำหลายเรื่อง เช่น วีรบุรุษของอีสานที่หายสาบสูญ ประวัติศาสตร์อีสานที่ควรจดจำ แม้กระทั่งเรื่องเชิงศิลปวัฒนธรรม อย่างเครื่องดนตรีอีสานที่กำลังหายไป สมุนไพรที่เคยอยู่ในชีวิตประจำวันของคนอีสานแถบนี้มันหายไปไหน อีกอย่างหนึ่งที่อยากทำคือ นักต่อสู้ชาวอีสานที่เป็นผู้หญิง เราเห็นบทบาทของนักต่อสู้ตั้งแต่รุ่น ยายไฮ หลังจากนั้นมา ก็มีหลายคนมากที่ลุกออกมานำหน้าผู้ชาย มันเป็นบทบาทที่รู้สึกว่า เฮ้ย แม่งโคตรดี ! เราไม่ใช่เฟมินิสต์ แต่รู้สึกว่า เออ ทำไมจึงเห็นสภาวะที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้อง ปกป้องสิทธิตัวเองมากมายขนาดนี้ มันเกิดปรากฏการณ์อะไร แต่พออาจารย์เดวิดถูกเพิกถอนวีซ่า ก็มานั่งทบทวนตัวเอง ดูไทม์ไลน์ว่า พวกเราทำอะไรผิด คุยกับน้องๆ ว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น ก็ขอโทษ พี่กับอาจารย์เดวิดรับผิดชอบเอง

สิ่งหนึ่งที่น้องๆ ในทีมพูดคือ เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราแค่ทำหน้าที่เป็นนักข่าว เราแค่รายงานความจริง มันทำให้รู้สึกใจชื้น นี่แหละวารสารศาสตร์ คนที่เป็นนักข่าวในต่างจังหวัดเขามีความคิดความฝันนะ แต่ด้วยปัจจัยหลากหลาย บางทีเกิดความกดดัน เจอผู้มีอิทธิพล บางทีไม่มีเงินทุน ทำให้อุดมการณ์ตายไป เกิดไม่ได้สักที แต่พอเรามาทำ ก็พยายามทำสิ่งที่เป็นความฝันของนักข่าว

รับตังค์ต่างชาติ ข้อ (กล่าว) หาที่ขอยิงคำถามกลับ

เมื่ออยากทำเว็บไซต์แบบนี้ พ๊อกเก็ตบุกส์แบบนี้ ซึ่งมีแหล่งทุนที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิเสรีภาพ และไม่ผิดกฎหมาย เราก็เต็มใจรับเงินนะ เราเคยขอทุนไปที่กองทุนสื่อสร้างสรรค์ ไม่เยอะด้วย ไม่ถึงล้าน แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ตอนนั้นเสนอเรื่องที่คิดว่าใช้เวลาทำการบ้านพอสมควร คือเส้นทางสายไหมในอีสาน ประเด็นการค้าในอดีตที่ยังไม่มีพรมแดนประเทศ มีตำนานที่สามารถเล่าได้ การที่จะให้สื่อมีเสรีภาพในการใช้ความคิด ความสร้างสรรค์ รัฐไทยก็ไม่ส่งเสริม อาจจะเป็นเพราะชื่อหทัยรัตน์หรือเปล่า เราก็ไม่รู้ พิจารณาแล้วอาจจะแรง ในขณะที่บางสื่อ ได้เป็นสิบๆ ล้าน บางบริษัทใหญ่ ก็ได้เป็นสิบล้าน ถ้าเป็นอย่างนี้สื่อเล็กๆ สื่อทางเลือกจะเติบโตได้อย่างไร

ไม่แคร์โฆษณา พึ่งพิง ‘ความกล้า’ สร้างเนื้อหา ‘แตกต่าง’

การที่เราไม่ได้พึ่งโฆษณา เพราะพึ่งพาเงินจากแหล่งทุนที่มาสนับสนุนสิทธิเสรีภาพ ทำให้ไม่ต้องแคร์ว่าองค์กรโฆษณาจะตัดเรา เราใช้ความสามารถ ความกล้าหาญ ใช้สิทธิเสรีภาพได้เท่าที่ใจอยากจะทำ เท่าที่ความกล้าของเราจะสนับสนุนให้ทำ
อีกอย่างหนึ่งคือต้องขอบคุณทีมงานที่ไม่กลัวด้วย พวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดความฝัน อยากทำอะไรเพื่อบ้านเกิด เพราะทีมงานเราส่วนใหญ่เป็นคนแถวนี้ เป็นนักศึกษาจบใหม่ที่มีความคิด ความฝันว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อบ้านเกิดตัวเองโดยใช้ทักษะที่มี ไม่ว่าจะเป็นการเขียน อ่าน พูด สื่อสาร เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

เมื่อสื่อทางเลือกสร้างแรงกระเพื่อม สู่วันที่ชาวบ้านพูดถึงการ ‘กระจายอำนาจ’

สิ่งหนึ่งที่เห็นมากๆ ในช่วง 2 ปีที่กลับมาอยู่อีสานคือ พอเดอะ อีสาน เรคคอร์ดทำแบบนี้ ชาวบ้านพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจค่อนข้างมาก ในประเด็นต่างๆ ที่เราไปเกาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหมืองแร่ทองคำ เหมืองหินปูนดงมะไฟ หนองบัวลำภู เหมืองโพแทชที่สกลนคร หรือแม้กระทั่งเรื่องโรงไฟฟ้า โรงงานน้ำตาล เขาไม่อยากเดินทางไปร้องเรียนที่กรุงเทพฯ ไม่อยากไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือแม้แต่นักศึกษาก็คุยกันว่าไม่อยากไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ เพราะเสียค่าใช้จ่าย และที่เห็นชัดๆ เลยคือปีนี้ นักศึกษาที่มาฝึกงาน ส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน จบแล้วไม่ได้อยากไปกรุงเทพฯ อยากเป็นสื่อมวลชนในพื้นที่ แต่โอกาสไม่เปิดให้ เราก็ไม่สามารถจ้างได้ เพราะไม่มีเงิน

ตอนนี้เรากำลังถ่ายความคิดว่ามีความเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะทำสื่อภูมิภาค ขยายแนวคิดคล้ายๆ กับเดอะ อีสาน เรคคอร์ด ไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปนครราชสีมา ไปทางภาคเหนือ ซึ่งเราเดินสายคุยแล้ว กับนักกิจกรรม นักวิชาการทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุยสไกป์กับนักวิชาการที่ มอ.ปัตตานี มอ.สงขลา ว่าควรมีสื่อภูมิภาคเพื่อคืนอัตลักษณ์ท้องถิ่น อย่างน้อยก็เพื่อให้การกระจายงบประมาณลงพื้นที่ อย่างน้อยก็เพื่อให้เขาคิดว่า คนในพื้นที่มีตัวตน อีกอย่างที่เน้นมากๆ คือ อยากให้พื้นที่อีสานที่มีการพัฒนาน้อยๆ ได้รับการเหลียวแล อยากให้พื้นที่แข็งแรงด้วยตัวมันเอง

หนึ่งความฝัน ‘อยากให้ทุกจังหวัดมีสื่อของตัวเอง’

สิ่งหนึ่งที่ฝันคือ อยากให้ทุกภาค ทุกจังหวัดมีสื่อของตัวเอง เพราะสื่อไปกระจุกอยู่ที่ตรงกลาง ในวงการสื่อมวลชนครั้งหนึ่งเคยคุยกันว่า ข่าวเชิงลึกที่สามารถจับกุมคนร้ายได้โดยเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ที่สุดในสังคมไทยคือการทุจริตยา หลังจากนั้นมาไม่เคยมีครั้งใดเลยที่เราสามารถจับคนที่กระทำความผิดมาลงโทษได้ หลังจากนั้น เป็นประเด็นการเมืองทั้งหมดเลยตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 แต่ท้ายสุดก็มีรัฐประหารมาตัดตอนกระบวนการยุติธรรม

ในขณะที่กรณีเหมืองดงมะไฟที่หนองบัวลำภู มีแกนนำถูกฆ่าตาย 4 คน ตอนเป็นสื่อส่วนกลาง เราแทบไม่รู้เรื่องเลย ทั้งที่เป็นบ้านตัวเอง มันก็จับมือใครดมไม่ได้ เพราะไม่มีการตามข่าวต่อ ข่าวนี้ส่วนใหญ่นักข่าวที่ทำเป็นนักข่าวส่วนกลาง มาแล้วไป ไม่ได้เจาะลึกว่าใครเป็นต้นสายปลายเหตุในการทำให้เกิดความรุนแรง ชาวบ้านเดือดร้อน แกนนำตาย จนถึงขั้นแห่โลงศพไปทั่วศาลากลาง นักข่าวส่วนกลางไม่สามารถเกาะกระแสในพื้นที่ได้ตลอด การที่มีสื่อในพื้นที่มันตอบโจทย์ปัญหาแบบนี้แหละ ตอบโจทย์ว่าปัญหามันไม่ถูกแก้ ถูกหมักหมม เหมือนถูกนำเสนอไปแป๊บๆ ไม่มีนักข่าวที่เกาะและเจาะลึก พอเรามาทำเรื่องดงมะไฟ ขับเคลื่อนเคียงคู่กับการต่อสู้ของชาวบ้าน ก็สร้างความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การปิดเหมือง การรื้อคดีจากดีเอสไอ

เรื่อง ‘แตะไม่ได้’ ประเด็นอ่อนไหวที่ต้องไล่ ‘ลบเมนต์’

มีบางเรื่องที่ต้องแตะด้วยความระมัดระวังเหมือนกัน เช่น มีข้อเขียนของคอลัมนิสต์คนหนึ่ง คือ คุณวิทยากร โสวัตร เรื่องการกระจายอำนาจผสมกับเรื่องการปกครองตนเอง ซึ่งทำให้คนตีความไปได้ว่า เฮ้ย! เป็นการส่งเสริมให้ ‘เป็นอื่น’ หรือเปล่า มีการถกเถียงกันในคอมเมนต์ว่าถ้ายุ่งยากนัก แยกประเทศออกมาปกครองตนเองเลย
อันนี้เราต้องลบออก บางทีเนื้อหาของผู้เขียนไม่ได้สื่อตรงขนาดนั้น แต่คนอ่านตีความ นี่ก็เป็นประเด็นอ่อนไหวที่สร้างความแตกแยกได้ ก็ต้องช่วยๆ กันดูคอมเมนต์ ไล่ลบ
ส่วนเรื่องศาสนา มีการนำเสนอบ้าง แต่ไม่ได้มากมาย ประเด็นถกเถียงด้านอัตลักษณ์ ความเป็นลาว ความเป็นคนอีสาน เราก็ค่อนข้างระวัง อีกเรื่องหนึ่งคือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ทุกครั้งที่รายงานข่าวหรือเฟซบุ๊กไลฟ์ จะบอกน้องๆ ว่า เมื่อมีการปราศรัยที่เนื้อหาสุ่มเสี่ยง ให้หันกล้องหนี เพื่อที่จะไม่ไปส่งเสริม สนับสนุน อย่างน้อยเราไม่ได้ยุยง ปลุกปั่นตามมาตรา 116 เราแค่ไปรายงานปรากฏการณ์ การที่เคยเป็นนักข่าวในสื่อกระแสหลัก ก็สอนให้เราระวัง ต้องใช้หลักวารสารศาสตร์

สมัย ภักดิ์มี แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดนาหนองบง และ เดวิด สเตร็คฟัสส์ อดีตผู้อำนวยการโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน CIEE รับประทานอาหารพื้นบ้านร่วมกันหลังพิธีบายศรีสู่ขวัญเมื่อ 21 เมษายนที่ผ่านมา (ภาพจากเดอะ อีสาน เรคคอร์ด)

เลิกสัญญา เพิกถอนวีซ่า ดร.เดวิด ‘เราคิดแน่ๆ ว่าถูกกลั่นแกล้ง’

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีคนวงในเล่าให้ฟังว่ามีกระบวนการไอโอพยายามกลั่นแกล้ง ต้องการล้มเดอะ อีสาน เรคคอร์ด และขับอาจารย์เดวิดออกนอกประเทศ ตอนนี้ก็ปรึกษานักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายเอกชน และหน่วยงานต่างประเทศหลายแห่ง ว่าอันนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิสื่อมวลชนหรือเปล่า เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า มันลดความกล้าของเราลงไหม ถามว่าลดกำลังใจไหม มีแน่ๆ เพราะตั้งแต่อาจารย์เดวิดถูกเลิกจ้าง ก็เกิดมาจากการจัดกิจกรรมที่ชวนให้คนอีสานมาพบปะพูดคุยกันเพื่อหาประเด็นในการทำงานในอนาคตของเดอะ อีสาน เรคคอร์ด เราเชิญศิลปินอีสาน นักประวัติศาสตร์อีสาน นักวิชาการอีสาน นักกิจกรรม นักศึกษาและกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันมานั่งพูดคุยกันว่า อยากรู้อะไร อยากเห็นอะไร อยากเห็นอีสานเป็นอย่างไร มันเริ่มจากตรงนั้น และเป็นสิ่งที่ตำรวจนำไปอ้างกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการเพิกถอนสัญญาจ้าง เข้าไปพูดคุยกับคณบดี จนนำมาสู่การเพิกถอนวีซ่า สู่ข่าวใหญ่โต ตอนนี้เราคิดแน่ๆ ว่าถูกกลั่นแกล้ง ด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากล ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มขวาจัดที่โจมตีว่าอาจารย์เดวิดไม่รักประเทศไทย เราไม่รู้ว่าคนโจมตีต้องการอะไร ต้องการให้ออกนอกประเทศ หรือต้องการให้หยุดพูด หรือต้องการให้เดอะ อีสาน เรคคอร์ด หายไป

ถ้อยแถลงที่ไม่เคยเชื่อ ‘ในเซนส์นักข่าว เรื่องนี้ไม่ปกติ’

ไม่เชื่อแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ผู้ช่วยคณบดีโทรมาบอกอาจารย์เดวิดเองว่า ลำบากใจที่จะให้อยู่ต่อเพราะตำรวจมาหา 4 คน กดดันให้เลิกจ้าง ซึ่งจริงๆ ต้องขอบคุณคณบดีที่ในช่วงโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาปิดไปเพราะโควิด ท่านกรุณาต่อวีซ่าให้เพื่อรักษาสถานะขององค์การแลกเปลี่ยน เราคิดว่าอาจารย์เดวิดในฐานะผู้อำนวยการโครงการก็กำลังประสานงานกับศูนย์แลกเปลี่ยนนักศึกษาองค์กรใหม่ในอเมริกาให้ส่งนักศึกษามา ทีแรกประเมินว่าเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว น่าจะกลับมาเปิดได้ แต่ไม่มีคนลงทะเบียนเรียน ก็คิดว่าจะเลื่อนมาเป็นมกราฯ แต่ก็เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก่อน

ทีแรกก็ยอมรับ เข้าใจว่าถูกเพิกถอนแล้ว เลยใช้บริษัทบัฟฟาโล่ เบิร์ด โปรดักชั่นส์ ซึ่งดูแลเดอะ อีสาน เรคคอร์ด ให้อาจารย์เดวิดเป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศ ซึ่งขอ Work Permit (ใบอนุญาตทำงาน) ได้แล้วด้วย 2 ปี แต่ไปติดขั้นตอนตรง ตม. ซึ่งพอสืบสาวราวเรื่องไป ทำให้เห็นว่ามีกระบวนการไม่ชอบมาพากล อย่างที่เคยให้ข่าวไปว่า ทำไมต้องเลือกสอบพนักงานช่วงสงกรานต์ เราก็ต้องเรียกลูกน้องกลับมา สำนักงานอยู่ขอนแก่น ลูกน้องอยู่อุดรฯ อยู่หนองบัวลำภู ก็ต้องเรียกกลับมา เพราะจะมี ตม.ภาค 4 มาสัมภาษณ์เพิ่มเติม ในเซนส์นักข่าว มันไม่ปกติ มีความพยายามหาจุดบกพร่องของบริษัทว่าไประดมทุนนู่นนี่นั่น ผิด พ.ร.บ.เรี่ยไรหรือเปล่า ซึ่งถ้าผิดเราก็จ่ายค่าปรับ เหมือนผิดเพราะฝ่าไฟแดง หรือที่เราพยายามเปลี่ยนประเภทขอวีซ่า ว่าถ้าไม่ขอวีซ่าธุรกิจ ขอวีซ่าแต่งงานได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้ ในกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย ทนายบอกว่ายังเปลี่ยนประเภทการขอวีซ่าไม่ได้ ต้องรอให้ปฏิเสธวีซ่ามาก่อน ซึ่งจะต้องรอผลวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ทุกคนก็ตุ้มๆ ต่อมๆ

กลัว แต่ไม่หยุดพูด บั่นทอนจิตใจ แต่ไม่ถอย

ถามว่ามันบั่นทอนกำลังใจไหม มีบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้เราแพ้ ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าต้องถอย ก็จะสู้ตามกระบวนการ เส้นทางของกฎหมาย การถูกทำให้เสียชื่อเสียง จากที่เราเป็นนักข่าวมา 20 ปี มันบั่นทอนจิตใจนะ ทำให้เราคิดว่าที่ผ่านมาฉันทำอะไรผิด การทำหน้าที่สื่อและแต่งงานกับชาวต่างชาติ มันผิดตรงไหน ตอนนี้สังคมไทยตกอยู่ภายใต้ความกลัว เป็นบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ถามว่าเรากลัวไหม กลัว แต่จะทำให้หยุดพูด หยุดหายใจไหม ก็ไม่

ร้องไห้กอดกัน ในวันที่นักข่าว ตกเป็นข่าว

เอาความจริงนะ ก็ร้องไห้กอดกัน (เสียงสั่น) เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอในชีวิต เราเคยแต่ทำข่าวคนอื่น ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะตกเป็นข่าวแบบนี้ ล่าสุด สิ่งที่เสียใจคือสถานีโทรทัศน์เก่าที่เราเคยรักมาก ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา นี่เป็นสิ่งที่เจ็บปวดมาก เพราะรักองค์กรนั้นมาก

แผนของ ‘พรุ่งนี้’ คือ ‘วีซ่าแต่งงาน’

ถ้าถูกปฏิเสธวีซ่าธุรกิจ ทนายแนะนำว่าเราจะต้องขอเอกสารที่เป็นคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรว่าทำไมไม่อนุญาต ก็คงต้องอุทธรณ์ อีกช่องทางหนึ่งมีประเด็นเชิงกฎหมายคือ ถ้ามีการกลั่นแกล้ง ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ อาจฟ้องร้องศาลปกครอง แต่กระบวนการอาจจะยาว เดี๋ยวคงต้องปรึกษาทนายว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง
ถ้าวันที่ 3 พฤษภาคม ไม่ได้วีซ่า จะใช้กระบวนการวีซ่าติดตามภรรยา เพราะเราจดทะเบียนกันตั้งแต่ปีที่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผย เพราะช่วงโควิดจัดงานไม่ได้ คงต้องใช้กระบวนการนี้ แต่ถ้าหากไม่ได้ โดยบอกว่าอาจารย์เดวิดเป็นบุคคลต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ก็ต้องมีคำอธิบายว่าเป็นบุคคลต้องห้ามอย่างไร เช่น เป็นบุคคลที่ส่งผลต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งทนายบอกว่าไม่ใช่ ไม่มีเลย ดังนั้น ถ้าคุณไม่ให้ในกรณีที่เราเตรียมจะขอวีซ่าแต่งงาน เราว่ามันเป็นละเมิดสิทธิแล้ว การจะให้อาจารย์เดวิดกลับประเทศช่วงสถานการณ์โควิด ในขณะที่ภรรยาอยู่ในประเทศ ก็ไม่มีมนุษยธรรมเกินไปหรือเปล่า
เราจะไม่หยุดแน่ๆ จะสู้จนถึงที่สุดในฐานะเป็นพลเมือง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image