โควิดยังไม่จบ เปิดนวัตกรรม‘เปลปกป้อง’ ลดการแพร่เชื้อเบ็ดเสร็จ ผลงานวิจัยไทย

“การระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาเราเจ็บปวดกับการที่เราไม่สามารถซื้อหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศมาใช้ได้ เฉกเช่นเดียวกับเปลความดันลบ ในวันที่เกิดโควิดครั้งแรกมูลค่าเปลความดันลบ สูงไปถึง 6.5-7 แสนบาท ทั้งๆ ที่ต้นทุนอยู่ที่แสนกว่าบาท ดังนั้นประเทศเราต้องเปลี่ยนแนวคิดว่า เราต้องช่วยเหลือประเทศตัวเองให้ได้ก่อน ซึ่งนี่คือความมั่นคงทางการแพทย์แบบหนึ่ง”

ผศ.นพ.อนุแสง  จิตสมเกษม

คือคำกล่าวของ ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 1 ใน 5โรงพยาบาลที่รับมอบ ‘เปลความดันลบ’ นวัตกรรมชิ้นสำคัญล่าสุด จาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

เปลที่ว่านี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 หรือ ‘Patient Isolation and Transportation Chamber-PETE (พีท) เปลปกป้อง’ ซึ่งผู้ป่วยโควิดเอกซเรย์-สแกนปอด เพื่อคัดกรองอาการในสถานพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาล โดยไม่ต้องออกจากเปล ลดการแพร่เชื้อแบบเบ็ดเสร็จ นับเป็นการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์สู้โควิด-19 ระลอกใหม่ได้เป็นอย่างดี

Advertisement

ที่สำคัญคือ เป็นนวัตกรรมที่ ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ของ เอ็มเทค สวทช. ดำเนินการพัฒนา และประยุกต์ให้สอดคล้องกับการใช้งานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส
โควิด-19 โดยมีส่วนแคปซูลไร้โลหะที่แข็งแรง และปลอดภัย

เพราะการ ‘เคลื่อนย้าย’ คือขั้นตอนสุดสำคัญ

ย้อนไปก่อนหน้านี้ เปลความดันลบทั่วไปในท้องตลาดยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่หลายประการและมีราคาสูง ‘เอ็มเทค’ จึงออกแบบ ดัดแปลงให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทต่างๆ จนกลายเป็นนวัตกรรมที่ ‘ผลิตได้เองในประเทศไทย’

Advertisement

ผศ.นพ.อนุแสงเล่าว่า การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิดไปในแต่ละจุดนั้นสำคัญอย่างมาก การมีเปลความดันลบจะช่วยลดเวลา ลดจำนวนคนที่ต้องใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่สำคัญคือช่วยระวังเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคโควิด ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างจำกัดและทำงานอย่างหนัก

“ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าหน้ากากอนามัยเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้ไม่เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 ดังนั้นตอนนี้เราต้องบอกเลยว่าเปลความดันลบ ที่เอ็มเทค สวทช. ทำได้ถือเป็นนวัตกรรมที่จะเป็นแรงผลักดันทำให้ผู้ผลิต และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีแรงผลักดันในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้เองในประเทศ” รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลกล่าว

เปิดกลไก ‘ทลายข้อจำกัดเดิม’ ได้มาตรฐานสากล

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ

ด้าน ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ‘เอ็มเทค’ เปิดเผยว่า ‘เปลความดันลบ’ คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ล่าสุดทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้คิดค้น PETE เปลปกป้อง ขึ้นมา โดยประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Chamber) มีลักษณะเป็นแคปซูลพลาสติกใสขนาดพอดีตัวคน และ ระบบสร้างความดันลบ (Negative pressure unit) เพื่อควบคุมการไหลเวียนอากาศภายในเปล

เมื่อพาผู้ป่วยขึ้นนอนบนเปลและรูดซิปปิดเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะเปิดระบบปรับค่าความดันอัตโนมัติเพื่อให้อากาศจากภายนอกไหลเวียนเข้าสู่ตัวเปล ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก เมื่ออากาศไหลผ่าน
ผู้ป่วยอาจมีเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาจากการหายใจ อากาศเหล่านั้นจะถูกดูดผ่านแผ่นกรองอากาศ (HEPA Filter) เพื่อกรองเชื้อโรคและทำการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV-C ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกทำให้มั่นใจได้ว่าอากาศเหล่านั้นปลอดเชื้อ นอกจากระบบฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทีมวิจัยยังพัฒนาตัวเปลให้มีช่องสำหรับร้อยสายเครื่องช่วยหายใจและสายน้ำเกลือเข้าไปยังผู้ป่วย และมีถุงมือสำหรับทำหัตถการ 6 จุดรอบเปล เพื่ออำนวยความสะดวกในการรักษาให้กับบุคลากรทางการแพทย์

“PETE เปลปกป้อง ยังช่วยทลายข้อจำกัดการใช้งานของเปลความดันลบเดิมที่มีทั่วไปในท้องตลาด ส่วนแรกคือระบบ ‘Smart controller’ ทำหน้าที่ควบคุมความดันภายในเปลจึงสามารถใช้งานได้ทั้งบนภาคพื้นและบนอากาศ สามารถตรวจสอบการรั่วไหลของอากาศสู่ภายนอก (Pressure alarm) และแจ้งเตือนการเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศ (Filter reminder) เมื่อถึงกำหนด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยของผู้ป่วยและการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อซึ่งได้ทำการทดสอบตามมาตรฐานสากลแล้ว ส่วนที่สองคือ สามารถนำเปลเข้าเครื่องเอกซเรย์และเครื่องซีที สแกนได้ เนื่องจากไม่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ จึงไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากเปลความดันลบเหมือนกับอุปกรณ์อื่น ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังเครื่องมือต่างๆ และระบบปรับอากาศภายในโรงพยาบาล และลดภาระในการทำความสะอาด ส่วนสุดท้ายคือ ตัวเปลสามารถพับเก็บลงกระเป๋าและมีน้ำหนักเบา ทำให้พกพาได้สะดวกและติดตั้งง่ายเหมาะกับการใช้งานในรถพยาบาล ดังนั้นหากนำ PETE เปลปกป้อง มาใช้ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากที่พัก เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้เป็นอย่างดี ช่วยลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ใช้บริการสถานพยาบาลได้โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาด” ดร.ศราวุธอธิบาย

ผลงานวิจัยไทย ใต้ร่มเงา‘สวทช.’

หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวด้วยว่า PETE เปลปกป้องที่พัฒนาขึ้นนี้ ได้รับการให้คำปรึกษาจากพันธมิตรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยให้ความสำคัญในมุมของผู้ใช้งานที่ต้องทำความสะอาดเปลได้อย่างรวดเร็ว
“ทีมวิจัยได้ประยุกต์ใช้ปืนพ่นนาโนบรรจุน้ำยาฆ่าเชื้อเบนไซออน ที่พัฒนาโดยนาโนเทค สวทช. สามารถทำความสะอาดได้ภายใน 10 นาที และทำงานต่อได้ทันที อีกทั้งยังได้ความเชี่ยวชาญจาก อาจารย์กนกลักษณ์ ดูการณ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาแพทเทิร์นอุตสาหกรรมและการออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูป (PATTERN IT) ช่วยออกแบบการตัดเย็บและขึ้นรูปนวัตกรรมเปลปกป้องให้มีความ
แข็งแรงปลอดภัย”

นับเป็นผลงานการวิจัยไทยที่ผ่านการทดสอบคุณภาพ ISO 14644 และอยู่ในขั้นตอนการทำมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้า IEC 60601-1 ซึ่งยืนยันถึงมาตรฐานความปลอดภัย โดยล่าสุดบริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เป็นผู้รับอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์และรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเตรียมผลิตและจำหน่ายต่อไป

กุลประภา นาวานุเคราะห์

กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยของอุตสาหกรรมการแพทย์ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เพื่อตอบโจทย์การผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ในอาเซียน ซึ่งต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกลไกในการยกระดับความสามารถ ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของประเทศ ซึ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ต้องไม่มีความซับซ้อนมากนัก แต่มีความปลอดภัยสูง

“ที่ผ่านมา สวทช. ได้เร่งพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมสำหรับรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีการส่งมอบผลงานมากกว่า 20 ผลงาน ครอบคลุมทั้งด้านการป้องกัน การลดการแพร่กระจายและฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ให้กับหน่วยงานที่มีความเสี่ยงและมีความต้องการใช้อุปกรณ์ อีกทั้งหลายผลงานที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีการผลิตได้ถูกนำไปต่อยอดและเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศเรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกันกับ เปลความดันลบ ซึ่งเป็นอีกนวัตกรรมที่ สวทช. โดยเอ็มเทคสามารถพัฒนาและผลิตได้เองในประเทศจะเป็นอีก 1 นวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในการระบาดระลอกใหม่นี้รวมถึงสถานการณ์วิกฤตที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในอนาคต”

สำหรับเปลปกป้อง PETE นี้ ทีมวิจัย เอ็มเทค มอบ 5 ชุดสำหรับมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และมูลนิธิ ได้แก่ 1.คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 2.โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 ของโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ กทม. 3.มูลนิธิรวมน้ำใจ (คลองเตย) กทม. 4.โรงพยาบาลวิภาวดี กทม. 5.โรงพยาบาลเซนต์เมรี่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลจนถึงการนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์ปอดและเครื่องซีที สแกน โดยไม่ต้องนำผู้ป่วยออกจากเปลความดันลบ ช่วยลดการแพร่เชื้อโรคบนอุปกรณ์ทางการแพทย์และสถานพยาบาล

นับเป็นอีกย่างก้าวเล็กๆ ที่สำคัญ และนำพาไปสู่ความมั่นคงทางการแพทย์ที่ออกแบบ พัฒนา ประยุกต์โดยคนไทย เพื่อคนไทยในการสู้ศึกโควิดอย่างแท้จริง

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image