“ตลาด” สร้างรัฐ-ประวัติศาสตร์ประชาชน “กาดก่อเมือง” และ “ยุคทองล้านนา”

“ตลาด” สร้างรัฐ-ประวัติศาสตร์ประชาชน “กาดก่อเมือง” และ “ยุคทองล้านนา”

ตลาด” สร้างรัฐประวัติศาสตร์ประชาชน

กาดก่อเมือง” และ “ยุคทองล้านนา”

ปรับปรุงจากคำนำเสนอ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในหนังสือ กาดก่อเมือง : ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.. 2564

Advertisement

ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ตั้งอยู่บนด้านใต้ของดินแดนทิวเขาสลับซับซ้อนผืนใหญ่กลางทวีปเอเชีย ซึ่งวิลเลม ฟาน สเคนเดิล (Willem van Schendel) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม สมมติชื่อว่าโซเมีย (Zomia)

บนดินแดนเทือกเขานี้มีที่ราบหุบเขากระจายอยู่ทั่วไป ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก อันเป็นที่ตั้งของชุมชนเมืองบางแห่งก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่อื่น บางแห่งก็เป็นรัฐอิสระในตัวเอง บางแห่งแม้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติกลับมีอิสระปกครองและดำเนินความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยตนเอง

และด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นทิวเขาสลับซับซ้อนของโซเมียทำให้การเดินทางระหว่างหุบเขาเป็นไปได้ยาก ส่วนเส้นทางน้ำซึ่งมีแหล่งกำเนิดบนโซเมียหลายสาย (พรหมบุตร, อิรวดี, สาละวิน, โขง, เจ้าพระยา, น้ำดำ และน้ำแดง) ก็ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมที่ไม่ดีนัก เพราะในเขตต้นน้ำมีเกาะแก่งอยู่มาก หรือน้ำไหลเชี่ยวจนเกินกว่าจะใช้ในการเดินเรือได้สะดวก ดังนั้น การค้าของรัฐและผู้คนในดินแดนโซเมียจึงมักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักประวัติศาสตร์นัก รัฐที่เกิดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แม้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐในหลายด้านแล้ว แต่การค้ากลับเป็นมิติที่ได้รับความสนใจน้อย จนเมื่อทุนนิยมอาศัยอำนาจของราชอาณาจักรสยามขยายเข้ามาเชื่อมต่อกับดินแดนแถบนี้

Advertisement

การค้าสร้างรัฐ

ที่จริงแล้ว แม้เมื่อก่อนจะตกเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามการค้าก็มีความสำคัญอย่างมากทั้งต่อรัฐและผู้คนในดินแดนซึ่งเรียกกันในปัจจุบันว่าล้านนา มีหลักฐานจำนวนมากกล่าวถึงการค้าทั้งระหว่างรัฐหรือชุมชนในล้านนาประเทศ กับส่วนอื่นบนโซเมียด้วยกัน หรือแม้แต่ระหว่างล้านนาประเทศกับเมืองท่าอื่นๆ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นราบ ทั้งที่ติดทะเล หรือเป็นเมืองท่าบกที่รวบรวมสินค้าเพื่อส่งต่อลงไปยังเมืองท่าใกล้ฝั่งทะเล (เช่น เชียงแสน, หลวงพระบาง, เวียงจันทน์, ตาก และเมียวดี เป็นต้น) นอกจากการค้าทางไกลซึ่งทำให้ผลผลิตของล้านนาเชื่อมโยงกับการค้านานาชาติแล้ว ยังมีการค้าทางไกลทางบก ซึ่งทำให้ล้านนาได้แลกเปลี่ยนสินค้ากับตลาดใหญ่บนโซเมียด้วยกัน คือยูนนานซึ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังถูกราชวงศ์หมิงผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิจีน

แม้ว่าผู้คนในล้านนาประเทศยังมีชีวิตอยู่ในเศรษฐกิจยังชีพ แต่การแลกเปลี่ยนก็มีความจำเป็นแก่ผู้คนซึ่งผลิตอาหารเพื่อบริโภคเอง ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนโดยตรง (การค้า) หรือแลกเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมประเพณีก็ตาม นอกจากนี้มีสินค้าบางอย่างซึ่งไม่สามารถผลิตขึ้นได้เองทุกชุมชน จำเป็นต้องมีพ่อค้าขนจากแหล่งอื่นเข้ามาแลกเปลี่ยน ที่สำคัญคือ เกลือ, เหล็ก, ของใช้ที่ต้องอาศัยช่างฝีมือในการผลิต เช่น เครื่องเงิน และฝ้าย (ซึ่งไม่อาจผลิตได้ในชุมชนที่ลุ่มมากๆ) เป็นต้น

ยิ่งเมื่อไรที่ชุมชนหันมาทำการผลิตอะไรก็ตามที่มากกว่าปัจจัยสี่เพื่อดำรงชีวิต วัตถุดิบ, เครื่องมือการผลิต, ฝีมือหรือเทคโนโลยี, แรงงาน ฯลฯ ในชุมชนหนึ่งๆ ย่อมไม่มีทางที่จะมีพร้อมหมดได้ ต้องแสวงหา ดึงดูดมาจากชุมชนอื่น ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงตลาด เพราะสินค้าใดที่อยู่เกินไปจากปัจจัยสี่ (แม้แต่หมากและการกินหมาก หรือการสูบยา) ย่อมต้องการตลาดที่กว้างกว่าความต้องการในชุมชนหนึ่งๆ เพื่อให้คุ้มกับการลงทุน เพราะพืชเหล่านี้ไม่ใช่ “พืชสวนครัว”

โดยเฉพาะพวกไทไต ซึ่งอพยพเคลื่อนย้ายมายึดที่ราบหุบเขาทางตอนใต้ของโซเมียในอาณาบริเวณกว้างขวาง ตั้งอำนาจของตนขึ้นในที่ราบหุบเขาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ไม่ว่าที่ราบนี้จะเคยอยู่ในความครอบครองของชนเผ่าอื่น หรือเป็นที่ว่างเปล่าจากอำนาจทางการเมืองแล้วสร้างระบบชลประทานเพื่อเปิดที่นาได้กว้างขวาง ทำให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารขนาดใหญ่ มีระบบปกครองและสังคมที่เรียกว่า “เมือง” และเพราะเมืองเป็นชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาก ทั้งมีอาหารเหลือ จึงกลายเป็นตลาดที่สำคัญในท้องถิ่น เพราะประชาชนซึ่งอยู่บนที่สูงและผลิตอาหารได้น้อยสามารถนำเอาสินค้าจากที่สูงของตนลงมาแลกเปลี่ยนในตลาดนัดของเมืองได้ เราอาจเห็นบทบาทของเมืองและตลาดของพวกไทไตเช่นนี้ได้จากกวางสี, สิบสองจุไท, ตอนใต้ของยูนนาน, ลุ่มน้ำโขงตอนกลาง, ล้านนาประเทศ, รัฐชาน, คำตี่, ไปจนถึงเมืองในลุ่มน้ำพรหมบุตร เหตุดังนั้น การค้าจึงเป็นส่วนหนึ่งของรายได้และอำนาจของ “เจ้าและท้าว” ซึ่งเป็นใหญ่ในเมืองเหล่านี้ด้วย

ล้านนาประเทศ

สืบมาจนถึงรัฐในล้านนาประเทศ การค้าก็ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเจ้าตลอดมา ซึ่งเก็บภาษีจากการแลกเปลี่ยนในท้องถิ่น, การค้าทางไกลและภาษีผ่านแดนที่เก็บจากกองคาราวานของพ่อค้า ยิ่งกว่านี้ยังมีสินค้าจากส่วนในของอนุทวีปนี้ที่ไหลไปสู่เมืองท่าชายฝั่งมาตั้งแต่ก่อนจะถึง “ยุคการค้า” ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เพื่อส่งไปยังตลาดใหญ่ในจีน, อินเดียและตะวันออกกลาง พวกท้าวและเจ้าซึ่งปกครองเมืองในล้านนาประเทศและลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (หลวงพระบาง) ย่อมหาโภคทรัพย์จากการค้าทางทะเลเช่นนี้ด้วย แม้รัฐของตนไม่มีเมืองท่าทางทะเลก็ตาม ตราบจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา ผู้ปกครองด้านตะวันตกของล้านนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยวนหรือพม่า ยังรักษาตาก (บ้านตากในปัจจุบัน) เป็น “เมืองท่า” ของตนสำหรับระบายสินค้าลงสู่มหาสมุทรอินเดียตลอดมา

นอกจากผลกระทบของการค้าต่อรัฐในหุบเขา ซึ่งมีมากกว่าที่มักจะกล่าวถึงกันในงานศึกษาทั่วไปแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังให้รายละเอียดของผลกระทบต่อประชาชนคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักเสียยิ่งกว่าผลกระทบต่อรัฐด้วยซ้ำ

ชาติพันธุ์ในทัศนะใหม่

หนึ่งในผลกระทบที่อาจารย์วราภรณ์ เรืองศรี ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือชาติพันธุ์

ความเข้าใจทางวิชาการแต่เดิมคือเรื่องของกลุ่มคนที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางพันธุกรรมและวัฒนธรรม มีมาแต่เดิมอย่างไรก็ดำรงอยู่เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ยิ่งหากนำเอาแนวคิดชาติพันธุ์แบบเก่าเช่นนี้มาอธิบายประชาชนในหุบเขาของโซเมีย ก็จะยิ่งสมมติกันว่าผู้คนดำรงรักษาชาติพันธุ์ของตนอย่างสืบเนื่องตลอดมา เพราะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นน้อย นอกจากชนชั้นสูงซึ่งอาจมีความสัมพันธ์ผ่านการแต่งงาน, สงคราม หรือการเผยแผ่ศาสนา ส่วนประชาชนไม่มีโอกาสได้สัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ถึงยอมรับว่ามีเส้นทางการค้านานาชาติผ่านมาสู่ชุมชน ก็ไม่ค่อยสนใจรายละเอียดมากพอที่จะมองเห็นความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างพ่อค้ากับชาวบ้าน

แต่หนังสือเล่มนี้มองชาติพันธุ์ด้วยทัศนะของนักวิชาการรุ่นใหม่ ชาติพันธุ์ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เป็นสำนึกที่ก่อตัวขึ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ทางสังคม ดังนั้นจึงมีพลวัตในตัวเองสูง ไม่เคยหยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้าง

ว่าเฉพาะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียวก็ไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ นอกจากจะผสมกลมกลืนกับกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงแล้ว การค้ายังทำให้เกิดความสัมพันธ์พิเศษระหว่างคนในชุมชนบางกลุ่มกับคนนอกชุมชน ทั้งในชาติพันธุ์เดียวกันและต่างชาติพันธุ์ ดังเช่นในรัฐชานตอนบนและที่สูงกะฉิ่น มีชุมชนชาวฮ่อหรือพ่อค้าที่เดินทางไกลจากยูนนานมาตั้งหลักแหล่งถาวร แต่งงานกับผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นและเดินทางทำการค้าในฤดูเดินทางทุกปี ยังไม่พูดถึงเจ้าของม้า, ล่อ, งัวต่างและลูกหาบ ซึ่งให้เช่าสำหรับการค้าในระยะใกล้บ้าง ไกลบ้างอยู่เสมอ

หากมองความสัมพันธ์เช่นนี้นอกไปจากความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการค้าย่อมมีมโหฬาร ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิต เครื่องมือการเกษตร (เช่น จอบ และผาลไถ) ซึ่งใช้กันแพร่หลายในตอนใต้ของโซเมีย ล้วนได้มาจากอินเดียหรือจีนทั้งสิ้น ทั้งนี้ยังไม่นับของกินและของใช้อื่นๆ ซึ่งล้วนทำให้วัฒนธรรมการบริโภคและโลกทัศน์ของผู้คนในแต่ละชุมชนเปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่อาจยกให้แก่ศาสนาหรือพระราชอำนาจได้เพียงอย่างเดียว

ทัศนคติของผู้คนที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่นก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เช่น ฮ่อและเงี้ยวไม่เคยถูกประชาชนในรัฐต่างๆ ของล้านนาประเทศมองเป็นศัตรูหรือคนอื่นที่ต้องกันไว้นอกวิถีชีวิตปรกติของตน แต่การเปลี่ยนเข้าสู่รัฐแบบใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งทำให้ล้านนาประเทศถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันกับราชอาณาจักรสยาม และทัศนคติของรัฐสยามที่มีต่อฮ่อ หลังการรุกรานของพวก “ฮ่อ” ในลาว และหลังกบฏ “เงี้ยว” เมืองแพร่ต่างหาก ที่ทำให้ทัศนคติของประชาชนในล้านนาประเทศที่มีต่อสองกลุ่มชาติพันธุ์นี้เปลี่ยนไปเป็นข้าศึกและผู้ร้ายที่น่ากลัว

คำถามใหม่ หลักฐานเก่า

หลัง 14 ตุลาคม 2516 มีเสียงเรียกร้องศึกษาประวัติศาสตร์ประชาชนมากขึ้น แทนที่จะจำกัดอยู่เฉพาะส่วนบนของสังคมดังที่เคยเป็นมา แต่ข้อขัดข้องที่มักถูกอ้างถึงเสมอก็คือไม่มีหลักฐานเพียงพอจะศึกษาประวัติศาสตร์ประชาชนได้ อันที่จริงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่เคยพูดอะไรเอง แต่จะพูดเมื่อถูกตั้งคำถาม หลักฐานชิ้นเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันหากตั้งคำถามอย่างหนึ่ง มันก็จะตอบอย่างหนึ่ง หากตั้งคำถามอีกอย่างหนึ่ง มันก็จะตอบอีกอย่างหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามใหม่กับหลักฐานที่เกี่ยวกับการค้าในรัฐหุบเขาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของโซเมีย อันไม่ใช่หลักฐานใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้เสียเลย แต่เพราะผู้เขียนตั้งคำถามที่ทำให้หลักฐานให้คำตอบเกี่ยวกับชีวิตและโลกทัศน์ของประชาชนระดับล่างโดยทั่วไป จึงทำให้กลายเป็นงานศึกษาประวัติศาสตร์ประชาชนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และมีในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยไม่สู้มากนัก

นอกจากหนังสือเล่มนี้ให้ความกระจ่างแก่บางประเด็นในประวัติศาสตร์ของล้านนาประเทศแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่ดีอันหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ประชาชน ที่มักทำให้นักเรียนประวัติศาสตร์ขยาดกับการ “ไม่มีหลักฐาน”

“ตลาด” สร้างรัฐ-ประวัติศาสตร์ประชาชน “กาดก่อเมือง” และ “ยุคทองล้านนา”คนหลากหลายชาติพันธุ์ในกาด (ตลาด) 92 ปีมาแล้วที่ล้านนา เมื่อ พ.. 2472 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

กาด (ตลาด) เมืองเชียงใหม่ มีคนหลายชาติพันธุ์ (ภาพวาดจากบันทึกของแพทย์นักสำรวจ P. Neis ที่เดินทางไปเมืองเชียงใหม่ในช่วงต้นทศวรรษ 1880)

แม่ค้ากำลังเตรียมหาบของไปขายในกาดของเมือง (คาดว่าเขียนขึ้นในคราวบูรณะวิหารใน ค.. 1863 เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากกรุงเทพฯ และพม่า จิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ เรื่องสังข์ทอง วัดพระสิงห์ อ. เมืองฯ จ. เชียงใหม่)

กองคาราวานวัวต่างขณะเดินทางผ่านลำน้ำแห่งหนึ่ง (ภาพวาดจากบันทึกของแพทย์นักสำรวจ P. Neis)

วัวต่างหัวขบวน ถูกแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างดี มีกระดิ่งอยู่ด้านบนไว้สำหรับส่งเสียงเตือนคนอื่นไกลๆ ว่า คาราวานวัวต่างกำลังมา (ในบันทึกของ P. Neis ระบุว่า กองคาราวานวัวต่างมักจะแบ่งเป็นกองย่อยมีวัวอยู่ 10-12 ตัว และมีคน 2 คนคอยควบคุม แต่โดยมากมักเป็นครอบครัวมากกว่า)

ล่อต่าง ที่พ่อค้าจากยูนนานใช้ในการขนสินค้าไปตระเวนขายตามเมืองต่างๆ (ภาพวาดจากบันทึกของ Carl Bock)


จากคำนำเสนอ ของ สรัสวดี อ๋องสกุล

ในหนังสือ ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.. 2564


เท่าที่ผ่านมาการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเดิมของล้านนาให้ความสำคัญต่อชนชั้นสูงอย่างมาก โดยวิเคราะห์พลังความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์เป็นเพราะพระบรมเดชานุภาพ อาณาจักรจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมสลายขึ้นอยู่กับกษัตริย์ แนวทางวิเคราะห์เช่นนี้ละเลยบทบาทของสามัญชนคนชั้นล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้ฐานรากของอาณาจักร

อาจารย์วิชญา มาแก้ว สนใจประวัติศาสตร์สามัญชน พลิกมุมมองใหม่ว่า แท้จริงสามัญชนมีบทบาทในประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง โดยมุ่งศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในยุคทองของล้านนา คริสต์ศตวรรษที่ 14-16 เนื่องจากเศรษฐกิจสะท้อนวิถีชีวิตของชนชั้นในสังคม โดยเฉพาะชนชั้นสามัญ

หนังสือเล่มนี้ค้นพบว่า การค้าระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขยายตัวขึ้นมากในคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 จนได้ชื่อว่า ยุคสมัยแห่งการค้า ทำให้การค้าตามเมืองท่าชายฝั่งเติบโต เช่น หงสาวดี กรุงศรีอยุธยา ส่งผลให้การค้าขยายตัวเข้าไปตอนในภาคพื้นทวีปจนเชียงใหม่มีฐานะเป็นเมืองการค้า ที่ส่งสินค้าของป่าออกมายังเมืองท่าชายฝั่ง และรับสินค้าฟุ่มเฟือยกลับขึ้นไป การค้าที่เจริญเติบโตข้างต้นเป็นเงื่อนไขสำคัญของการก่อเกิดยุคทองล้านนา ดังนั้น ยุคทองล้านนามิใช่คำกล่าวลอยๆ ว่า เจริญรุ่งเรืองทั้งเศรษฐกิจ สังคม อำนาจรัฐ และศิลปวัฒนธรรมอย่างง่ายๆ อีกต่อไป

การค้าระดับใหญ่ของภูมิภาคล้านนาได้สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งกิจกรรมการผลิต การแลกเปลี่ยน การกระจายทรัพยากร และกิจกรรมการบริโภค ได้นำพาผู้คนต่างชนชั้นมาร่วมปะทะสังสรรค์กัน เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อสามัญชน ซึ่งเกิดเป็นแรงกระเพื่อมต่อกลุ่มพ่อค้า ช่างฝีมือ และไพร่ร่ำรวย ราวกับพวกนี้เป็น “คนกลุ่มใหม่” นับเป็นพลังเศรษฐกิจของ “หน่ออ่อน” แบบเศรษฐกิจแบบทุน หรือตลาด ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของล้านนา

นอกจากนั้น อาจารย์วิชญายังชี้ให้เห็นว่า “แนววัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักของการอธิบายระบบเศรษฐกิจยุคจารีตที่ว่าวิถีการผลิตแบบเลี้ยงตนเอง หรือเศรษฐกิจแบบพอยังชีพในสังคมชนบทสามารถผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองได้อย่างเพียงพอและ “หยุดนิ่ง” หลายศตวรรษ โดยไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นมีข้อจำกัด โดยชี้ได้ชัดเจนว่าในยุคทองล้านนาซึ่งเป็นยุคจารีตได้ค้นพบบทบาทของชนชั้นสามัญชนเป็นกลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวในทางเศรษฐกิจ ซึ่งหนังสือเล่มนี้อธิบายได้อย่างชัดเจน

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของสามัญชนคนล้านนาในยุคทอง ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-16

ท้ายสุดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านและวงวิชาการไม่มากก็น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image