ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย #Saveคลองเตย ‘เชื้อโรคทำลายปอด แต่ความกลัวทำลายหัวใจ’

ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย #Saveคลองเตย ‘เชื้อโรคทำลายปอด แต่ความกลัวทำลายหัวใจ’

“เวลาดูแลคนไข้ ไม่ได้แคร์แค่เชื้อโรค โดยเฉพาะตอนนี้เชื้อโรคทำร้ายจิตใจ ทำลายความเป็นมนุษย์ของคนหลายคน ตอนระดมทุน มีคนบอกว่าจะไม่ช่วย ปล่อยให้ตาย เพราะมันกินเหล้ากันเองเลยติด”

คือความในใจของ ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

เป็นถ้อยคำที่กล่าวออกมาดังๆ ในเสวนาสาธารณะออนไลน์ “ #saveคลองเตย เพื่อนร่วมชุมชน-คนร่วมเมือง” ซึ่งตั้งวงสนทนาโดย ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งไม่เพียงนำมาซึ่งวิกฤตด้านสุขภาพ หากแต่เผยให้เห็นปัญหาในหลากมิติของชีวิตผู้คนโดยเฉพาะในชุมชนแออัดอย่าง ‘คลองเตย’ ที่กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ภายใต้สถานการณ์น่าห่วง นำมาซึ่งสปอตไลต์ฉายส่องจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน

ในความสับสนอลหม่าน ดร.บุษบงก์ เผยมุมมองในฐานะนักวิชาการซึ่ง ‘เดินดิน’ ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยในชุมชนจนกลายเป็นคนคุ้นเคยที่ชาวบ้านโทรปรึกษากระทั่งส่ง ‘ไลน์’ หาเพื่อปรึกษาสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเสมอมา

Advertisement

ต่อจากนี้ คือส่วนหนึ่งของข้อมูล ความคิด ความเห็นในประเด็นหลากหลายที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชนคลองเตย ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ชุมชน ผู้คน จนถึงพลังทำลายล้างของเชื้อโรคที่ไม่เพียงส่งผลต่อร่างกาย หากแต่ทำร้ายไปถึงหัวใจของผู้คนอย่างเหลือเชื่อ

คลองเตย ‘ภาพจำ’ ที่สวนทางประวัติศาสตร์

เวลาคนพูดถึงคลองเตย มักมีภาพจำบางอย่าง อันหนึ่งที่ตัวเองรู้สึกมากคือเวลาคนพูดถึงคลองเตย พูดถึงมันราวกับว่าจู่ๆ มันก็ผุดขึ้นมากลายเป็นชุมชนแออัดเลย ทั้งที่จริงๆ แล้ว มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่อยุธยา คือเป็นที่ตั้งของเมืองพระประแดงเก่า มีศาลเจ้าพ่อพระประแดง ตอนแรกก็สงสัยว่าทำไมมาโผล่ตรงนี้ ที่นี่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีผู้คนอยู่อาศัยมานานมาแล้ว การเกิดขึ้นมา ก็เพราะมีหน้าที่บางอย่าง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คนจะมาแออัดอยู่ในพื้นที่นี้

Advertisement

ย้อนไปในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีการสร้างท่าเรือกรุงเทพ มีการอพยพเข้ามาครั้งใหญ่ๆ 2 ครั้ง ครั้งแรก แน่นอนว่า คือสมัยที่มีการสร้างท่าเรือครั้งแรกคือปี 2480 ดึงดูดให้ผู้คนจากต่างจังหวัด เข้ามาทำงานเป็นผู้ใช้แรงงาน เมื่อได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์จริงๆ ถามเขาว่าบ้านอยู่ไหน จะพบว่ามาจากลำปาง บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ยายบางคนที่เข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2480 ยังมีชีวิตอยู่ สมัยก่อนเวลาเรือมาจอด สามารถเอาไม้มาประกอบบ้านได้ฟรี เลยปลูกบ้านได้ง่าย

มีภาพเก่าปี 2503 ช่วงที่กองทัพอเมริกันเข้ามา คลองเตยมีบาร์จำนวนมากที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เคยไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่ เขาบอกว่า ตรงนี้เป็นที่เอาศพคนอเมริกันมาต้ม เพื่อเก็บกระดูกส่งคืนประเทศ

คนรุ่น 2 รุ่น 3 ที่เข้ามาในคลองเตยช่วงปี 2510 ก็จำได้ว่าญาติชวนมาจากต่างจังหวัดให้มาอยู่ที่นี่ ชุมชนคลองเตย ไม่ได้ผุดขึ้นมาในอากาศที่ว่างเปล่า แต่มีรากที่ค่อยๆ ก่อขึ้นมา คนในนั้นไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ เขามีญาติพี่น้อง มีความเชื่อมโยงกัน สามารถทำผังเครือญาติได้ เล่าประวัติศาสตร์ได้ หลายคนเล่าว่า ตรงนี้เคยปลูกข้าว ตรงนั้นเคยจับปลา ตรงนี้เคยมีสะพาน ปี 2520 นั่งรถจากตรงนั้นไปเรียนหนังสือที่ปากคลองตลาดแล้วนั่งรถกลับมา

แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองพระประแดง (คลองเตย) และบางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ (โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2561)

เดินยา สาวออฟฟิศ วิศวกร ความหลากหลาย และ ‘เส้นเลือดใหญ่’ งานบริการ

การลงพื้นที่ เก็บแผนที่เดินดิน ทำผังเครือญาติ ไม่ได้ต่างจากการทำแผนที่ในชนบทเลย บ้านนี้เป็นญาติ บ้านนี้เป็นน้า บ้านนี้เป็นลุง หลังนี้เขาให้ยืมอยู่ ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ พลังของชุมชนเลยเยอะ ถามว่าคนในชุมชนทำอะไรบ้าง

อยากให้ลบภาพคลองเตยในจินตนาการออกไป เพราะมีความแตกต่างหลากหลายมาก แต่แน่นอนว่ามีคนจนเยอะกว่าคนชั้นกลาง แต่ไม่ได้มีแค่คนจนหรือเด็กส่งยา

ตึกแถวริมถนนไม่ธรรมดา มีคลินิกแพทย์ สัตวแพทย์ อู่รถแท็กซี่ โรงน้ำแข็งขนาดใหญ่ มีคนทำงานสำนักงานข้างนอก แต่ถ้าเข้าไปข้างในจะเป็นบ้านที่เป็นซอกเล็กๆ เป็นล็อกๆ

ส่วนระดับการศึกษา ไม่ใช่ว่าทุกคนต่างเรียนไม่จบ มีคนจบปริญญาตรี ช่วงเช้าๆ จะเห็นคนแต่งชุดทำงานเดินออกมาจากแถวนั้น มีครูจำนวนหนึ่งอยู่ในนั้นเลย คนระดับวิศวกรก็มี ตอนที่เราประกาศว่าขออาสาสมัครช่วยเดินแจกข้าว ปรากฏว่ามีครูเดินมาสมัครหลายคน เพราะโรงเรียนปิด สอนออนไลน์ อยากมาช่วย

คนที่ยากจนจริงๆ อยู่ริมทางรถไฟ มีคนที่ยังไม่สามารถเขยิบฐานะขึ้นได้ พอโควิดระบาด มีหลายครอบครัวที่อยู่ข้างนอกมารับผู้สูงอายุในชุมชนไปอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นบ้านหลายหลังจึงปิด คือมันมีเครือข่ายเหล่านี้อยู่ข้างนอก ฉะนั้นถ้าจะถามว่าคนในคลองเตยทำอาชีพอะไรบ้าง ก็มีตั้งแต่เดินยา เขยิบขึ้นมาอาจเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถส่งอาหาร แม่บ้าน คนทำงานโรงแรม เป็นพนักงาน คนเหล่านี้ อยู่ในคลองเตยจำนวนมาก ที่นี่คือเส้นเลือดใหญ่ของงานบริการในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ ซึ่งถ้าไม่มีคนเหล่านี้ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร

‘ไฟไหม้ ไล่ที่ โรคระบาด’ ถูกกระทำซ้ำๆ จากโครงสร้าง

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้วิ่งเล่นอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือที่นี่เป็นชุมชนแออัด เผชิญสิ่งต่างๆ มาเยอะมาก ความเปราะบางไม่ได้เกิดจากความเป็นชุมชนแออัดอย่างเดียว ตอนนี้คลองเตยยังเป็นพื้นที่ของการท่า เขาไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของที่ดิน แฟลตก็ยังต้องจ่ายค่าเช่าทุกเดือน ซึ่งก็จะไม่เท่ากันด้วย เช่น เป็นมือหนึ่งจ่ายเรตหนึ่ง ถ้าเช่าต่อเป็นมือ ก็อีกราคาหนึ่ง คนในคลองเตยโดนกระทำซ้ำๆ จากโครงสร้างที่กำกับอยู่

ปี 2534 มีคลังสารเคมีระเบิดครั้งใหญ่ เป็นข่าวดังมาก มีคนได้รับผลกระทบจำนวนมาก มีแม่ที่ตั้งท้องตอนสารเคมีระเบิด ตอนนี้ลูกยังติดเตียง พิการตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้ นี่คือสิ่งที่ชุมชนโดน มีการเยียวยาตามประสา แต่การฟ้องร้องยกเลิกไป

คลองเตยเป็นชุมชนที่ไฟไหม้บ่อยมาก ปีละ 2-3 ครั้ง เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ไฟก็ไหม้ริมทางรถไฟ สาเหตุ อาจจะเพราะความแออัดของชุมชนเอง แต่อย่างที่ 2 คือ เผาไล่ที่ ขณะที่เขาพยายามดิ้นรนเพื่อตั้งตัว ก็ต้องระวังหลังอยู่ตลอด ว่าไฟจะไหม้บ้านไหม แรงที่จะไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า เขาต้องใช้เยอะกว่าเรา เพราะฉะนั้น เมื่อคนคลองเตยเจอโรคระบาด แรงที่เขาต้องใช้เพื่อสู้เพื่อให้รอดพ้นโรคระบาด จึงต้องใช้เยอะกว่าเรา

เวลามีโรคระบาด สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ คนเปราะบาง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้สูงอายุ แต่คนจน คนที่ไม่เท่ากัน จะเอาทรัพยากรที่ไหนไปรับมือ การบอกว่า ล็อกดาวน์ไปสิ Work From Home ไปสิ ถามว่า คุณยายที่ทอดลูกชิ้นขายหน้าห้องในแฟลตจะ WFH อย่างไร คนจะซื้อเจลไหวไหม ซื้อหน้ากากอนามัยไหวไหม นี่คือผลกระทบด้านสุขภาพที่ไม่ใช่มิติเดียว

ยังไม่ได้พูดอีกว่า แล้วเด็กจะเรียนออนไลน์ได้อย่างไร การกักตัว แยกตัว ไม่ต้องพูดถึง มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ 24 ตารางเมตรที่มีคนอยู่ด้วยกัน 9 คน 10 คน

ไฟไหม้บ้านพักคนงานชุมชนริมทางรถไฟคลองเตย เมื่อปี 2560

จาก ‘โรคของเศรษฐี’ สู่ ‘กุลี’ ที่เหลือแค่ลมหายใจ

งานวิจัยของเรา เซตไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 63 ซึ่งตอนนั้นยังสงบสุข เราเขียนหนังสือจดหมายเหตุโควิดเล่ม 2 อยู่ด้วย กรกฎา ยังไม่มีอะไร ตุลา แทบจะเปิดประเทศอยู่แล้ว เริ่มพูดถึงพาสปอร์ตเข้ามาเที่ยว กักตัว 10 วัน ไปภูเก็ตอะไรอย่างนี้

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ลงคลองเตยเป็นพื้นที่แรก ตอนนั้ยังไม่มีอะไร การได้ลงไปสนิทกับชุมชนก่อน ทำให้ได้สร้างเครือข่ายจำนวนมาก ช่วงมกรา กุมภา เราก็เกณฑ์คนในชุมชนมาเป็นนักวิจัยเอง เราลงชุมชนไปเก็บข้อมูล ลงลึกถึงมิติสังคม สุขภาพ ตอนนั้น ยังไม่มีการระบาดระลอกใหม่ แต่ทุกครอบครัวต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกแรก ฟื้นตัวไม่ถึง 5-10 เปอร์เซ็นต์ คนงานส่วนใหญ่ของคลองเตยส่วนหนึ่งเป็นกุลีขนของที่ท่าเรือคลองเตย กุลีเหล่านี้ จะมีเป็นกลุ่ม 10-15 คนไปนั่งรอ พอคอนเทนเนอร์มาลง ชิปปิ้งมาเรียก จะได้เงินมาแบ่งกันเป็นก้อนๆ ไป แต่พอเศรษฐกิจซบเซายาว คนเหล่านี้ก็ตกงานยาว พอไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย แกงถุงสมัยก่อน 40 บาทขายได้ เดี๋ยวนี้ 20-25 บาทก็ไม่มีคนซื้อ ถ้าเปรียบเป็นการจมน้ำ ตอนนี้เหลือแค่จมูกหายใจ แต่ตอนที่ลงพื้นที่ช่วงมกรา กุมภา ทุกคนมีความหวังว่าเดี๋ยวสงกรานต์ก็ดีขึ้น

เขาพูดถึงการระบาดครั้งแรกว่า เป็นโรคของเศรษฐี เขาไม่ต้องกลัว เพราะมันมาจากต่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับเขาหรอก พอเดือนธันวาปีที่แล้ว กรณีตลาดกลางกุ้ง ที่สมุทรสาคร คนคลองเตยเริ่มกังวล แต่ก็ยังไม่มาก เพราะแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในชุมชน เขาค่อนข้างสนิท รู้ว่าใครเป็นใคร มีแรงงานข้ามชาติที่แต่งงานกับคนในชุมชนหลายครอบครัวและมีลูก

กระทั่ง 7 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดครั้งนี้ ก่อนสงกรานต์ ยังมีคนพูดว่า โควิดอยู่ย่านคนรวย คนคลองเตยใครจะมีตังค์ไปเที่ยวทองหล่อ แต่ประเด็นคือ มีคนไปทำงานที่นั่น ตอนข่าวออก เขาคิดแบบเร็วๆ ว่าไฮโซไปเที่ยว จึงติดหลังสงกรานต์วิกฤตเกิดขึ้นอย่างมหาศาล

ทรัพยากรจำกัด ชุมชนแออัด กับการลงโทษทางสังคม

เนื่องจากพอทำวิจัยแบบนักมานุษยวิทยา เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เขามีเบอร์เรา โทรหา ไลน์คุยกันตลอด คืนแรกที่ได้รับโทรศัพท์จากชุมชน ซึ่งอาจไม่ใช่เคสแรก คือวันที่ 16 เมษายน บอกว่า อาจารย์ๆ มีเคส ไปตรวจมาแล้ว เขาต้องกักตัวในรถ จะทำอย่างไรดี ตอนนั้นการหาเตียงมันอลหม่านมาก คิดดูว่าชุมชนแออัด 1 หลังอยู่กันกี่คน ต่อมา ได้รับโทรศัพท์อีกว่า จะหาเงินจากไหนทำข้าวให้คนในชุมชน กักตัว 11 ราย ชุมชนเริ่มดิ้นรนกันเอง ออกแบบเองหมดว่าจะทำอย่างไรให้คนกักตัวได้ ความแตกตื่นสูงมาก ข้อดีของชุมชนแออัดคือ ข้างฝาติดกัน คนลุกขึ้นมาป้องกันชุมชนอย่างรวดเร็ว คนที่รู้ตัวว่าติดเชื้อก็พยายามระวัง เพราะการคุมโรคระบาดในชุมชน ถ้าจะพูดแบบแย่ๆ คือ คุมกันด้วยการลงโทษทางสังคม ถ้าบ้านนี้ติด คนอื่นจะด่า แล้วเมื่อต้องอยู่ในชุมชน จะทำอย่างไร จึงต้องป้องกัน เป็นมาตรการทางสังคมที่เกิดขึ้นเอง ใครบอกว่าโอ้ย ! คลองเตยกินเหล้าแล้วติดกันเอง อยากให้มาดูปรากฏการณ์ที่ชุมชนดิ้นรนทุกวิถีทาง ระดมแอลกอฮอล์มาฉีดรอบรถ อะไรก็ได้ที่มีอยู่ในมือ สรุปคนนั้น นอนในรถ 2 คืน จนน้ำมันหมด เพราะต้องเปิดแอร์นอน ชุมชนรู้ว่าเขาต้องทำอะไร แต่ทรัพยากรเขามีจำกัด พวกเขาไม่ใช่คนไม่รับผิดชอบต่อสังคม

ดิ้นรนบนลำแข้ง ‘ถ้าแอ๊กชั่นไม่ไว สถานการณ์จะไม่ใช่แค่นี้’

เคสระบาด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตัดวงจรตั้งแต่แรกๆ ถ้าตัดไม่ได้ จะไปกันใหญ่ จะไม่ใช่เลขคูณ เป็นเลขยกกำลัง คิดง่ายๆ ว่า ถ้าโควิดมันติดต่อผ่านการไอ จาม ระยะห่างสำคัญมาก พอไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ จะทำอย่างไร ความเป็นชุมชนแออัด ทำให้โรคแพร่เร็ว ต่อให้แจกหน้ากากอนามัย แจกแอลกอฮอล์ แต่ถ้าไม่สามารถยืดบ้านออกไป เพื่อรักษาระยะห่างได้ แค่นี้จบ ซอยคั่วพริก ชุมชนพัฒนาใหม่ ที่ทำศูนย์กักตัวขึ้นมาเองก่อนที่จะมีการแอ๊กชั่นใดๆ จากภาครัฐ เขาพยายามหาผ้าพลาสติกมากัน ภาพของชุมชนคั่วพริก เลยเป็นตัวอย่าง แต่ความที่คลองเตยมีหลายชุมชน บริบทแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ชุมชนคั่วพริก มีศาลาประชาคม ข้าวของที่อยู่ในศูนย์กักตัว ชุมชนเป็นผู้บริจาค ผ้าพลากสติกใหญ่ๆ ร้านขายของเก่าบริจาค ข้าวที่เอามาเลี้ยงคนที่โดนกักตัวคือ แต่ละบ้านต้มแกงมาคนละหม้อ ที่นอน เอามาจากบ้านตัวเอง เขาดิ้นรน ไม่ได้งอมืองอเท้า เชื่อว่าถ้าชุมชนไม่ออกมาแอ๊กชั่นเร็วขนาดนี้ สถานการณ์ตอนนี้ จะไม่ใช่แค่นี้

กทม.รุกตรวจโควิดย่านคลองเตย

คิดแบบ ‘ปกติ’ ไม่ได้ ในความ ‘เปราะบางซ้อนเปราะบาง’

อยากให้จินตนาการถึงชุมชนแออัด ซึ่งมีถนนเส้นเล็กๆ แบบที่เดินสวนกันไม่ได้ เวลาขนของไป ต้องใช้รถเข็นที่ต่อพิเศษให้พอดี การรับส่งคนไข้ ไม่ใช่เฉพาะแค่คนไข้โควิด แต่มีคนที่ต้องไปล้างไตทุก 2 วัน คนเหล่านี้จะใช้ชีวิตอย่างไร เป็นความเปราะบางซ้อนเปราะบาง โควิดแพร่กระจาย แต่ยังมีโรคอื่นที่ตายง่ายกว่านั้นอีกอยู่ในนั้นด้วยซึ่งเราต้องใส่ใจ ดังนั้นจะคิดแบบปกติไม่ได้ ว่าถึงเวลาก็เอารถไปจอด เอาเตียงสนามมาขนไป มันไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น

คนไข้บางคนต้องใช้คนยก 4-5 คนออกมา เวลาจะออกแบบระบบบริการอะไร พื้นที่ทางกายภาพสำคัญ เพราะสัมพันธ์ไปกับการส่งต่อผู้ป่วยด้วย แล้วพอเป็นคนไข้โควิด ซึ่งต้องระมัดระวังการติดเชื้อ เวลาออกมา ต้องเดินผ่านบ้านกี่หลัง ถามว่าระหว่างทางจะทำอย่างไร และต้องทำให้คนที่อยู่บ้านที่ถูกเดินผ่านสบายใจด้วย คลองเตยไม่ใช่บ้านจัดสรร จอดหน้าบ้าน ขึ้นรถเลย เพราะฉะนั้น ต้องทำให้มั่นใจว่าการขนส่งแต่ละครั้งจะไม่เป็นการแพร่กระจายเชื้อ เช่น บอกว่า จะมีการพ่นยาให้นะ การพ่นยา ช่วยฆ่าความวิตกกังวลในใจ เวลาดูแลคนไข้ ไม่ได้แคร์แค่เชื้อโรค โดยเฉพาะตอนนี้เชื้อโรคทำร้ายจิตใจ ทำลายความเป็นมนุษย์ของคนหลายคน ตอนระดมทุน มีคนบอกว่าจะไม่ช่วย ปล่อยให้ตาย เพราะมันกินเหล้ากันเองเลยติด

เชื้อโรคแค่ทำลายปอด แต่ความกลัวเกี่ยวกับเชื้อโรค ทำลายหัวใจ ทำลายอีกหลายๆ อย่าง ถ้าเราไม่ระวังตัว ก็จะโดนมันทำลาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image