อาศรมมิวสิก : ดนตรี,ธรรมะหญ้าปากคอก,ไม่เคยมีอะไรใหม่ในจักรวาลนี้ ข้อคิดจาก Wilhelm Backhaus

Portrait of German pianist Wilhelm Backhaus (1884 - 1969) as he sits in front of a piano, New York, New York, 1961. (Photo by Fred Stein Archive/Archive Photos/Getty Images)

ในการร่ำเรียน, ฝึกฝนวิชาดนตรีในภาคปฏิบัติ มักจะมีอะไรๆ ที่คล้ายคลึงกับวิชาการปฏิบัติในศิลปศาสตร์สาขาอื่นๆ นั่นก็คือ ผู้เรียนมักใฝ่หาสิ่งที่เป็น “สูตรสำเร็จ” หรือ “ทางลัด” ที่จะนำพาไปสู่การบรรลุได้มาซึ่งฝีไม้ลายมือและความสามารถอันเป็นเลิศได้ โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องออกแรงฝึกฝนมากนัก ความคิดในการใฝ่หาทางลัด, เหนื่อยน้อยๆ แต่ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็วนี้เอง ทำให้ผู้เรียนดนตรีภาคปฏิบัติ (ในระดับเริ่มต้น-ปานกลาง) เกิดความสับสน, ท้อแท้ในยามที่ต้องมานั่งฝึกปฏิบัติกับบทเรียน-แบบฝึกหัดอันแสนน่าเบื่อในความรู้สึกของพวกเขา ไม่มีเคล็ดลับ, ยาวิเศษขนานใดเลยหรือที่จะเป็นพาหนะ นำพาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ได้ในระยะเวลาอันสั้น
แนวคิดนี้ช่างสะท้อนถึงปรัชญาชีวิตในการสร้างฐานะของผู้คนในสังคมที่ต่างก็เหน็ดเหนื่อยกับการสร้างรากฐานชีวิต จนอยากใฝ่หาความสำเร็จด้วยทางลัด ที่ลงทุนน้อย เหนื่อยน้อยแต่ให้ผลตอบแทนสูง และกว่าจะรู้ว่า “ทางลัด” เหล่านี้เป็นเพียงมายา, ภาพลวงตา ก็ต้องเสียเวลาเสียทรัพย์สินเงินทองไปมากมายกับสารพัดทางลัดเหล่านั้น (ความหวังจากการถูกลอตเตอรี่ดูจะเด่นชัดที่สุด) ความใฝ่ฝันในการร่ำรวยเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืนด้วยการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง อาจมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ้าง (ตัวอย่างที่ไม่ควรเลียนแบบ) แต่การประสบความสำเร็จทางดนตรีโดยไม่ต้องผ่านการฝึกฝนนี่สิ ที่ไม่น่าจะมีตัวตนจริง หรือเป็นความจริงในโลกนี้
แรงบันดาลใจในการเขียนบทความชิ้นนี้มาจากการที่ผู้เขียนได้ไปอ่านบทความในหนังสือรวมข้อคิด, ประสบการณ์ ของบรรดานักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่ในปลายศตวรรษที่ 19-ต้นศตวรรษที่ 20 เล่มหนึ่งและไปประสบพบเจอกับ ข้อคิดจากประสบการณ์ของนักเปียโนชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่นามว่า “วิลเฮล์ม บัคเฮาส์” (Wilhelm Backhaus) เขาเกิดในปี ค.ศ.1884 และเสียชีวิตในปี ค.ศ.1969 เขาเป็นนักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่ในระดับตำนาน ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตีความงานวรรณกรรมดนตรีเปียโนทั้งหลายของเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) และของ บรามส์ (Johannes Brahms)
ความเป็นเลิศในการตีความทางดนตรี ผนวกกับประสบการณ์ความคิดทั้งในชีวิตและในด้านดนตรีที่เขาสะท้อนออกมาในข้อเขียนของเขา ทำให้เราได้ข้อคิดที่ชวนให้เห็นถึงความจริงในชีวิตเราที่ว่า ความสำเร็จไม่มีทางลัดหากแต่มันมาจากการทุ่มเทฝึกฝนอย่างแท้จริง อุทิศตนทำงานหนักในสิ่งที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่ที่สำคัญก็คือไม่เลิกรา
ตลอดชีวิตการเล่นเปียโน เมื่อผู้คนทั้งหลายเห็นความสำเร็จฝีไม้ลายมือทางเปียโนของเขาต่างก็พากันทึ่งและประหลาดใจ อดไม่ได้ที่จะถามถึงว่ามี “เคล็ดลับ” หรือ “เทคนิควิเศษ” อันใดหรือไม่ที่จะสร้างความยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ แต่พวกเขาก็ต้องประหลาดใจที่ วิลเฮล์ม บัคเฮาส์ สารภาพความจริงอันแสนจะเรียบง่ายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากเพียงแค่ การฝึกซ้อมการไล่บันไดเสียง (Scales), การฝึกกระจายคอร์ด (Arpeggios) ธรรมดาๆ อย่างหนักหน่วงนี่แหละ ที่เป็นพื้นฐานทั้งหมดในเทคนิคที่เราเห็นในการบรรเลงเปียโนของเขา นอกจากนั้น ก็คือการฝึกฝนดนตรีของ “บาค” (Johann Sebastian Bach) ที่บัคเฮาส์บอกว่ามันจะทำให้ครอบคลุมถึงเทคนิคทางดนตรีทั้งหมด สำหรับเขา

เพียงแค่การฝึกไล่บันไดเสียง, ฝึกการเล่นแบบกระจายคอร์ด และดนตรีของบาค เพียงเท่านี้ก็คือ “เคล็ดลับ” ทั้งหมดที่เขามีอยู่ ที่เมื่อพูดออกมา (ด้วยความจริงใจ) แล้ว ก็แทบจะไม่มีใครเชื่อ เพราะนักเรียนเปียโนยังฝังใจกันว่าศิลปินขั้นนี้น่าจะต้องมี “ของดี” ที่สามารถเปลี่ยนโลหะธรรมดาๆ ให้กลายเป็นทองคำได้
บัคเฮาส์กล่าวว่า เมื่อพูดว่าทุกอย่างมีเพียงเท่านี้ ก็ดูว่าจะไร้ค่าเกินไป แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็คงขึ้นอยู่กับการฝึกฝนอย่างจริงจัง, หนักหน่วงในเรื่องอันเป็นพื้นฐานเรียบง่ายเหล่านี้นั่นเอง บัคเฮาส์กล่าวว่า การฝึกฝนดนตรีของบาคคือหนทางที่สั้นที่สุดและรวดเร็วที่สุดในอันที่จะบรรลุถึงความสำเร็จทางเทคนิค ถึงแม้ว่ามันจะฟังดูว่าซ้ำซาก, ล้าสมัยที่จะกล่าวย้ำในข้อแนะนำเดิมๆ ว่าให้ฝึกดนตรีของบาคมากๆ
บัคเฮาส์สรุปสั้นๆ ว่า นักเปียโนหนุ่ม, สาวคนใดหากปรารถนาที่ต้องการจะประสิทธิ์ประสาทมือของตนเองให้อยู่ในเงื่อนไขที่พร้อมจะตอบสนองต่อความคิดสั่งการอันละเมียดละไมของสมอง, บรรลุถึงซึ่งพื้นฐานเทคนิคอันน่าอัศจรรย์นั้น สำหรับเขาแล้วมันมาจาก 3 สิ่งอันวิเศษคือ Scales (การฝึกบันไดเสียง), Arpeggios (การฝึกแบบกระจายคอร์ด) และดนตรีของบาค เขายังกล่าวว่าครูดนตรีที่เน้นความสมัยใหม่, ล้ำยุคอาจมีแนวโน้มที่จะคิดว่าการฝึกบันไดเสียงเป็นสิ่งล้าสมัย (Old Fashioned) ถ้าคิดแบบนั้นเขาอ้างถึง นักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 19 ชาวรัสเซียอย่าง “วลาดิเมียร์ เดอ พาคมันน์” (Vladimir de Pachmann) ที่แม้จะเป็นนักเปียโนในระดับ “ขั้นเทพ” (Virtuoso) แล้ว ก็จะต้องขวนขวาย หาเวลาฝึกซ้อมบันไดเสียงอยู่เสมอๆ เป็นประจำ
ผู้เขียนคิดว่าเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องระดับพื้นฐานธรรมดาๆ ที่นักเรียนเปียโนและนักเรียนดนตรีภาคปฏิบัติทุกๆ คนรู้กันดีอยู่แก่ใจ มิใช่เพียงแค่บัคเฮาส์, วลาดิเมียร์ เดอ พาคมันน์ เท่านั้น มันคือขั้นพื้นฐานอันแสนจะธรรมดาๆ สำหรับนักเรียนดนตรีทุกๆ คน ยิ่งกับนักดนตรีในกลุ่มเครื่องสายในวงออเคสตรานั้นดูจะแทบยิ่งจะสำคัญมากกว่าเสียอีกในความจำเป็นที่จะต้องฝึกซ้อมบันไดเสียง เพราะเครื่องดนตรีของพวกเขาไม่มีจุดคั่นแบ่งช่อง (Fret) เสียงแบบกีตาร์ จึงต้องอาศัยความแม่นยำของหู และการฝึกบันไดเสียงให้แม่นยำติดตัว
เรื่องการฝึกบันไดเสียงพื้นฐานของนักเรียนดนตรีและการฝึกฝนสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ดูน่าเบื่อ (อาจรวมถึงแบบฝึกหัดทางสรีระ, ร่างกายของนักกีฬาชนิดต่างๆ) ชวนให้ผู้เขียนนึกไปถึงเทศนาธรรมครั้งหนึ่งของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 (พระนามเดิมว่า “เจริญ คชวัตร”) เมื่อหลายสิบปีก่อนที่ท่านเคยเทศน์ ในทำนองที่ว่า พุทธศาสนิกชนผู้ใฝ่ธรรมนั้น บ่อยครั้งที่ชอบไปพูดถึงหลักธรรมขั้นสูงและมองว่า “ศีล 5” ขั้นพื้นฐานนี้เป็นเพียง “หญ้าปากคอก” และก็พากันหลงลืมมองข้ามไม่ได้ลงมือรักษาศีล 5 ในทางปฏิบัติให้เคร่งครัด คิดว่าเป็นเพียงหญ้าปากคอกที่จะกินเสียเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้กินมันสักที ทั้งๆ ที่มันขึ้นจ่ออยู่ที่ปากคอกนั่นเอง มัวแต่ไปพูดถึงหลักธรรมขั้นสูงที่ไกลตัวจากวิถีชีวิต ช่างเหมือนกันเหลือเกินกับปรัชญาการเรียนดนตรีหรือศิลปศาสตร์ในหลากหลายแขนง บทเรียนพื้นฐาน, หญ้าปากคอกนี่แหละที่จะทำให้เราเจริญเติบโตในศิลปศาสตร์ต่างๆ อ้างไปให้ไกล
ยิ่งกว่านั้นพระพุทธเจ้ายังเคยตรัสว่าไม่จำเป็นต้องไปรู้จักใบไม้ทั้งป่า เพียงแค่เรียนรู้จากใบไม้ในกำมือเดียวนี่แหละที่สามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้โดยไม่ต้องดิ้นรนไขว่คว้าใบไม้มาทั้งผืนป่ามานั่งพิจารณา

เรื่องราวทางประสบการณ์ดนตรีของ วิลเฮล์ม บัคเฮาส์ อีกเรื่องหนึ่งที่ชวนคิดและน่าจะนำมาพูดถึงอย่างยิ่งนั่นก็คือ เรื่องการบูชาวีรบุรุษทางดนตรี ที่สะท้อนถึงการยกย่องบูชาวีรบุรุษ, บุคคลต้นแบบอะไรก็ตามแต่ ที่เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย หรือเรียกว่าในทุกๆ กาลเทศะ พวกเราทุกคนต่างก็มีวีรบุรุษบุคคลต้นแบบที่เราบูชาในรูปแบบและเหตุผลที่แตกต่างกันไป แล้วเราควรจะบูชาท่านเหล่านั้นอย่างไรจึงจะเป็นความเหมาะสม, เป็นความเจริญในการบูชานั้นที่ไม่ใช่เป็นการบูชาด้วยศรัทธาที่แรงกล้าอันมืดบอด วิลเฮล์ม บัคเฮาส์ ก็เช่นเดียวกัน
เขาเกิดในช่วงปลายสมัยศตวรรษที่ 19 ได้มีโอกาสทันร่วมยุคสมัยกับ “โยฮันเนส บรามส์” (Johannes Brahms) ในตอนที่ยังเป็นเด็กน้อยวัยเพียง 11 ปี (ขณะนั้นเรียนเปียโนจนมีความสามารถที่เราอาจเรียกเขาได้ว่าเป็น “เด็กอัจฉริยะ”) เขาได้มีโอกาสชมการบรรเลงบทเพลงเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 2 ของบรามส์ บรรเลงเดี่ยวเปียโนโดย “ออยเก็น ดัลเบอร์ต” (Eugen D’Albert) ภายใต้การอำนวยเพลงโดยตัวบรามส์เอง ในปี ค.ศ.1895 ที่เมืองไลป์ซิก (Leipzig) และหลังจากนั้นเขาได้มีโอกาสให้เข้าพบกับบรามส์ เขาบอกว่าในตอนนั้นเขามีอายุเพียง 11 ปี และบรามส์ก็เกลียดนักเกลียดหนากับแนวความคิด “เด็กอัจฉริยะ” (Child Prodigy) ตัวเขาจึงไม่ได้แสดงความเป็นเด็กพิเศษใดๆ กับ
บรามส์ (ความจริงแล้วแนวคิด “เด็กอัจฉริยะ” ในวงการดนตรีก็เป็นที่ถกเถียงและ บางครั้งก็อาจเป็นการเย้ยหยันกันอยู่ในทีมาอย่างยาวนาน)
เขาเล่าว่าเป็นธรรมดาของเด็กน้อยที่ยังเหนียวแน่นด้วยแนวคิดบูชาวีรบุรุษ เขาได้แอบเก็บเถ้าซิการ์ที่บรามส์สูบแล้ว เอามาเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วยความภาคภูมิใจ และเก็บไว้ราว 2 ปี จนกระทั่งได้เกิดความคิดว่า วิธีที่จะแสดงถึงความทรงจำ หรือการบูชาบรามส์ที่ดีที่สุดก็คือ การเล่นดนตรีผลงานการประพันธ์ของบรามส์ด้วยสำนึกในพันธกิจที่จะทำให้ได้ดีที่สุดนั่นเอง จึงเป็นการ “ปฏิบัติบูชา” ที่เหมาะที่ควรที่สุด มิใช่การเก็บเถ้าซิการ์ของ บรามส์มานั่งกราบไหว้เช้า-เย็น เขาจึงทิ้งเถ้าซิการ์นั้นไป แน่นอนที่สุด ในกาลต่อมาบทเพลงเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 2 ของบรามส์ กลายเป็นหนึ่งใน “นามบัตรทางดนตรี” ของ บัคเฮาส์ที่เขานำออกบรรเลงตามสังคีตสถานสำคัญๆ ทั่วยุโรป จนได้รับการยกย่องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในเปียโนคอนแชร์โตของ บรามส์ นี่คือวิถีแห่งการปฏิบัติบูชา ที่ควรโน้มนำมาสู่ความเชื่อด้านอื่นๆ ของพวกเราหรือไม่
หลายสิบปีก่อน ตอนที่ผู้เขียนเป็นแค่เด็กหนุ่มรักแผ่นเสียง ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่มีสตางค์, ไม่มีโอกาสจะเดินทางไป “เมืองนอก” แบบใครๆ เขา ผู้เขียนยังจำความรู้สึกได้แม่นยำที่เคยถูกผู้ใหญ่คนหนึ่ง “Bluff” ในทำนองที่ว่า เห็นคุณรักดนตรีคลาสสิก (ดนตรีชั้นสูงในความคิดของท่าน) เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ แต่ถึงอย่างไรคุณก็ไม่เคยไปเห็น “ของจริง” ในยุโรป บ้านโมซาร์ท, บ้านเบโธเฟน, กรุงเวียนนา คุณก็ยังไม่เคยเห็น ในขณะที่ผมเห็น “ของจริง” มาหมดแล้ว
ในตอนนั้นผู้เขียนเถียงไม่ออกจริงๆ ไม่เคยเห็นในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ แต่ก็ไม่กล้าเถียงกลับไปว่า แม้จะยังไม่เคยเห็นของจริงทั้งหลายที่ว่ามา แต่ลองเอาความรัก, ความศรัทธาในดนตรีออกมาชั่งน้ำหนักดูซิ “ผมเชื่อว่าของผมหนักกว่าแน่นอน” 10 กว่าปีต่อมาผู้เขียนได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดีอีกคนหนึ่ง ให้โอกาสเดินทางไปชมคอนเสิร์ตและดูงานทางดนตรีทั้งที่เบอร์ลิน (Berlin), เวียนนา (Vienna) และซัลส์บวร์ก (Salzburg) ได้มีโอกาสไปเห็น “ของจริง” กับเขาบ้าง ได้ไปพบเห็นบ้านเกิดโมซาร์ท เห็นปอยผมโมซาร์ทที่เขากล้อนเก็บไว้ ไปยืนสูดลมหายใจในห้องที่เขาอ้างว่าโมซาร์ทเกิดในห้องนี้ ช่างเป็นโอกาสพิเศษสุดอะไรเช่นนี้ โอกาสที่พอจะพูดกับใครๆ ว่า ผมเคยเห็น เคยฟัง เคยไปถึงสถานที่จริงมาแล้ว มันเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่มีผู้ใหญ่ใจดีอีกคนหยิบยื่นให้
แต่ถ้าถามว่าเมื่อไปถึงแล้ว ได้รู้ได้เห็นมาแล้ว ทำให้รักดนตรีมากขึ้นไหม ก็คงตอบได้อย่างซื่อๆ ว่า มิได้มากขึ้นเลย เพราะก่อนจะไปรู้ไปเห็น ความรักดนตรีก็มีล้นปรี่อยู่ก่อนนับเป็นสิบปีมาแล้ว

พอพูดมาถึงตรงนี้แล้วผู้เขียนนึกไปถึงนิทานพื้นบ้าน “อาฟานที” ซึ่งบางครั้งมีความคล้ายคลึงกับเรื่องของ “นัสรูดิน” ที่ว่ากันว่าเป็นชาวอุยกูร์ และบ่อยครั้งก็คล้ายๆ กับ “ศรีธนญชัย” ในบ้านเรา ตัวละครที่ใช้เสมือนเป็นตัวแทนในการวิพากษ์ผู้ทรงอำนาจ การสะท้อนถึงความไม่ตรงประเด็น ที่บางทีเราเองก็ไม่ตรงประเด็น (ไม่จริงใจ) แม้กระทั่งกับตัวเราเอง เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง อาฟานที ถูกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถามว่า เจ้าเคยไปเยือนที่เขาเทียนซาน มารึยัง? อาฟานทีตอบว่าเคยไปมาแล้ว ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านนั้นถามต่อว่า แล้วเจ้าได้รู้ได้เห็นอะไรมาบ้าง อาฟานทีตอบกลับมาว่า “นกพญาอินทรีที่เขาเทียนซาน ก็ยังคงเป็นนกพญาอินทรี เหมือนที่เคยเห็นในที่อื่นๆ” แล้วเจ้าเรียนรู้อะไรอีก อาฟานที ตอบกลับ (อย่างเจ็บๆ คันๆ) ว่า “ข้าพเจ้าพาไก่ตัวหนึ่งติดตัวไปด้วย พามันเดินวนจนรอบเขาเทียนซาน จนกระทั่งพามันกลับมาที่บ้าน มันก็ยังคงเป็นไก่ตัวเดิม”
นี่แหละเรื่องราวที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการนั่งอ่านข้อคิด, ประสบการณ์ของศิลปินเปียโนผู้ยิ่งใหญ่อย่างวิลเฮล์ม บัคเฮาส์ และนี่ก็คือข้อแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ของคนรุ่นเก่าๆ ที่มีมุมมองต่อดนตรี ในแบบยุคสมัยของสังคมที่ยังไม่ซับซ้อนมาก มีเวลาในการพิจารณาประสบการณ์ต่างๆ มากมายรอบตัวที่เกิดขึ้น จากนักดนตรี ขยับขึ้นไปเป็นศิลปิน จากศิลปินขยับขึ้นเป็น “นักคิด-นักปรัชญา” ประสบการณ์ของท่านเหล่านี้ ให้ประโยชน์กับผู้รักดนตรีและแม้กระทั่งสำหรับบุคคลทั่วไป บทเรียนอันเรียบง่ายที่พวกเรามักมองข้าม, การเคารพบูชาในลัทธิความเชื่อหรือบุคคลที่ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของสารัตถประโยชน์อันแท้จริง
สำหรับตัวผู้เขียนเองแล้วในเรื่องนี้ก็คงเสมือนไก่ของอาฟานทีนั่นแหละ ที่ต่อให้ไปเดินรอบเขาเทียนซานมาแล้วมันก็ยังคงเป็นเพียงไก่บ้านตัวเดิม

Advertisement

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image