โควิด-19 เชื้อร้ายในกรงขัง อย่าให้ใครต้องถูกลืม

ภาพจาก กรมราชทัณฑ์

สถานการณ์โควิดยังน่าห่วงในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งไม่เพียงคน ‘ข้างนอก’ ทว่า คน ‘ข้างใน’ อย่างผู้ต้องขังหลังซี่กรงคืออีกหนึ่งกลุ่มที่ลืมไม่ได้ ด้วยสถิติชี้วัดว่ามีการแพร่ระบาดสูงมากด้วยหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะความแออัด และความยากยิ่งในการรักษาระยะห่าง

นำไปสู่การเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษบางส่วนออกสู่อิสรภาพ จะด้วยการไฟเขียวประกันตัวหรือเงื่อนไขอื่นใดก็ตามแต่

ล่าสุด อานนท์ นำภา ทนายความชื่อดังในหมู่ ‘ราษฎร’ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หลังยืนยันพบเชื้อโควิด ตาม จัสติน ชูเกียรติ แสงวงค์ ที่ชิงป่วยไปก่อนหน้า ท่ามกลางความหวาดผวาทั้งของตัวผู้ต้องขังกระทั่งผู้ต้องสัมผัสใกล้ชิด

ผู้คนยืนถือป้ายอย่าประหารชีวิตด้วยโควิด-19 หน้าเรือนจำแห่งหนึ่งในสหรัฐ ภาพจาก AP

แน่นอนว่าบรรยากาศเช่นนี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะในไทย

Advertisement

612,000 ราย คือยอดผู้ติดเชื้อโควิดในที่คุมขัง เรือนจำ และสถานกักกันในสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2563-กุมภาพันธ์ 2564

2,700 คน คือจำนวนผู้เสียชีวิต ทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการแพร่ระบาดและเสียชีวิตภายนอกที่คุมขังและเรือนจำกว่า 4 เท่าตัว

ข้อมูลจากการเก็บข้อมูลวิจัยโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่เพียงได้มาแต่ตัวเลขชวนผวา ทว่า ยังเปิดเผยถึงภาพรวมของปัญหาหลักใน 69 ประเทศทั่วโลก นั่นคือการขาดความสามารถในการจัดบริการตรวจหาเชื้อ และแนวทางการจัดการเรื่องสาธารณสุขที่ไม่ดีพอ ซึ่งในช่วงแรกของการแพร่ระบาด แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่เรือนจำก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการการตรวจหาเชื้อ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการขาดมาตรการป้องกันและปกป้องคุ้มครองในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา ฝรั่งเศส อิหร่าน ปากีสถาน ศรีลังกา ตองโก ตุรกี และสหรัฐอเมริกา

‘ความแออัด’ คือปัจจัยสำคัญ เนื่องด้วยสถานที่คุมขังต่างๆ เผชิญปัญหานี้เหมือนกันทั่วโลก ซึ่งกว่า 102 ประเทศมีรายงานเรื่องอัตราความหนาแน่นในเรือนจำมากกว่าร้อยละ 110 ผู้ต้องขังจำนวนมากเป็นผู้ต้องขังที่ถูกแจ้งข้อหาหรือกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง รวมถึงจำนวนผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกในระหว่างการพิจารณาคดีหรือการกักขังโดยพลการ เป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขที่เกินสัดส่วน และมีจำนวนมากกว่าผู้ที่ถูกตัดสินคดีแล้วในกว่า 46 ประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น กว่า 12 ประเทศในแอฟริกามีจำนวนนักโทษมากกว่าปริมาณที่รับได้กว่าร้อยละ 200 ในบุรุนดียูกันดา และแซมเบีย ร้อยละ 300 และในสาธารณรัฐคองโก สูงถึงร้อยละ 600

นักระบาดวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า เรือนจำเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดไวรัส เนื่องจากความแออัด การขาดสุขอนามัยและระบบการระบายอากาศ ทำให้ไม่สามารถมีการรักษาระยะห่างทางกายภาพ ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในเรือนจำในทุกทวีปทั่วโลก

ข้อมูลในช่วงปลายปี’63 อินเดียมีรายงานการติดเชื้อใน 351 เรือนจำ จาก 1,350 เรือนจำ หรือ 1 ใน 4 แห่งของเรือนจำใน 25 รัฐทั่วประเทศ ในขณะที่ปากีสถานมีจำนวนนักโทษติดเชื้อไม่น้อยกว่า 2,313 ราย
เกาหลีพบว่ามีผู้ต้องขัง 771 คน และเจ้าหน้าที่ 21 คน ติดเชื้อภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ในศูนย์กักกันกรุงโซลตะวันออก และในวันที่ 4 มกราคม 2564 มียอดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,041 คน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด ลัดฟ้าไปแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศแถบแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ข้อมูลเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 10,000 คนในเรือนจำหลายแห่ง กว่า 65% เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเรือนจำ จนทำให้เรือนจำต้องทำการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ

ส่วนในยุโรป แม้ว่าจะมีความพยายามลดความแออัดในเรือนจำตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิด-19 แต่ในวันที่ 15 กันยายน 2563 ใน38 เรือนจำที่มีการรายงานข้อมูล พบผู้ต้องขังไม่น้อยกว่า 3,300 คนและเจ้าหน้าที่เรือนจำ 5,100 คน ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล ในวันที่ 31 มกราคม 2564 ผู้ต้องขังและเด็กติดเชื้อ จำนวน 19,354 คน ในเรือนจำและสถานกักกันเยาวชน 126 แห่ง ในอังกฤษและเวลส์ และมีเจ้าหน้าที่ 12,184 คน ติดเชื้อตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดในช่วงแรก

UN Office on Drugs and Crime (UNODC) ระบุว่าในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกมีความพยายามปล่อยนักโทษกว่า 600,000 รายในปี 2563 เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ ส่วนใหญ่เป็นนักโทษที่มีปัญหาสุขภาพ

กล่าวโดยสรุป กลุ่มคนในสถานที่คุมขังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน คือ

บุคคลที่ถูกพรากเสรีภาพไปมักมีสภาพร่างกาย สุขภาพ และโรคภัยที่ซ่อนอยู่มากกว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป เพราะการอยู่ในสภาพที่มีสุขอนามัยที่แย่กว่า สภาวะความเครียด โภชนาการที่ไม่ดี ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี รวมถึงการระบาดของเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเลือด วัณโรค และสภาวะข้างเคียงจากการใช้ยาเสพติด

นอกจากนี้ ในเรือนจำมักมีการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ การอักเสบ และเชื้อโรคอันเนื่องมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย มีเหตุจากความแออัดและขาดการรักษาสุขอนามัย นักโทษมักมีปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน หัวใจ หอบหืด ความดันโลหิตสูง และการติดเชื้อในปอด เช่น โรคปอดบวมและวัณโรค

ผู้คนในเรือนจำมักไม่สามารถรักษาระยะห่างทางร่างกายได้ และการดูแลรวมถึงให้บริการด้านสุขภาพอาจมีอย่างจำกัด

ด้วยเหตุนี้หน่วยงานสหประชาชาติต่างๆ ได้เรียกร้องให้เห็นข้อเท็จจริงว่า นักโทษมักมีภาวะการกดภูมิคุ้มกัน การติดสารเสพติด และโรคติดต่อ เช่น เอชไอวี วัณโรค และไวรัสตับอักเสบ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ครั้นเปิดตำรามาตรฐานสากลพบว่า ข้อกำหนดขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือข้อกำหนดแมนเดลา (Nelson Mandela Rules) กล่าวถึงการรักษาความสะอาดและสุขอนามัย อาทิ มีเครื่องสุขภัณฑ์เพียงพอแก่ความจำเป็นกับผู้ต้องขังทุกคน ทั้งต้องสะอาดและเหมาะสม ที่อาบน้ำและฝักบัวต้องติดตั้งให้เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขังทุกคนซึ่งต้องสามารถอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดได้บ่อยตามความจำเป็นตามฤดูกาลและตามสภาพของแต่ละภูมิภาค น้ำต้องจัดไว้เพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนได้ดื่มเมื่อต้องการ สำหรับผู้ต้องขังหญิง ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งของซึ่งตรงต่อความต้องการด้านสุขอนามัยของผู้หญิงโดยเฉพาะ โดยอย่างน้อยรวมถึงผ้าเช็ดตัวที่สะอาด และการจัดส่งน้ำดื่มอย่างสม่ำเสนอให้เพียงพอต่อการดูแลเด็กและผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงซึ่งทำการตั้งครรภ์ ให้นมบุตรหรือมีประจำเดือน

ส่วนรัฐมีหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในมิติของสิทธิ

ด้านสุขภาพ สุขภาพของผู้ต้องขัง และสิทธิในการได้รับน้ำและสุขอนามัย โดยต้องทำให้มั่นใจว่าผู้ต้องขังต้องสามารถเข้าถึงการดูแลและบริการสุขภาพในมาตรฐานเดียวกับบุคคลทั่วไป เก็บข้อมูลสาธารณสุขที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลในที่คุมขังหรืออยู่ระหว่างการควบคุมตัวอย่างทันท่วงที ให้บริการหน้ากากอนามัยและสบู่ในปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย การเข้าถึงน้ำใช้ที่สะอาด และการเข้าถึงการตรวจและการรักษาโรคโควิด-19

ส่วนประเด็นวัคซีน แม้ว่าการแจกจ่ายวัคซีนโดยรัฐบาลจะทำเป็นห้วงเวลาที่ต่างกันและมีการจัดกลุ่มเป้าหมายที่ซับซ้อน แต่รัฐยังคงต้องทำให้มั่นใจว่านโยบายและแผนการฉีดวัคซีนนั้นไม่เลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้รัฐบาลควรเสาะหาทางเลือกอื่นแทนการคุมขังผู้อยู่ระหว่างดำเนินคดี เพื่อลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ

จากสถานการณ์เหล่านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้วิธีการแยกขังหรือมาตรการกักตัวก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้มาตรการป้องกันอื่นได้ การห้ามเยี่ยมจะต้องเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเท่าที่จำเป็นและมีสัดส่วนชัดเจน และเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระและเป็นกลาง ในกรณีต่างๆ ที่มีส่วนของการใช้กำลังรุนแรงภายในพื้นที่เรือนจำ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกใส่ใจกับข้อกังวลเรื่องสถานที่กักขัง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งภายในเรือนจำและระหว่างเรือนจำกับสังคมภายนอก เพื่อไม่ให้การระบาดขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น

เป็นอีกหนึ่งความท้าทายภายใต้พื้นที่จำกัดที่ภาครัฐทั่วโลกต้องเอาจริง

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image