ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี บนความใฝ่ฝันถึง ‘รัฐสวัสดิการ’ ในวันที่คนรุ่นใหม่อยาก#ย้ายประเทศ

ศักราชที่โควิด-19 กระทบต่อชีวิตของผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะ ‘คนรุ่นใหม่’ มีเด็กจำนวนมากที่ต้องการหนีออกจากวิกฤตโรคระบาด และความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ด้วยการมุ่งหน้าหาช่องทางใหม่ๆ ในประเทศใหม่ๆ โดยเฉพาะดินแดนที่ประชาชนได้รับ ‘รัฐสวัสดิการ’ จากภาษีที่จ่ายอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ขึ้นปราศรัยในหลายเวทีในประเด็นดังกล่าว บอกเล่าถึงเรื่องราวชวนสะเทือนใจที่เคยพบเจอในฐานะคนเป็นครู เมื่อพ่อของลูกศิษย์คนหนึ่ง ตัดสินใจกดเงินสด 30,000 บาทมาเพื่อจ่ายค่าเทอม โดยไม่พึ่งพิงกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพราะไม่อยากให้ลูกต้องแบกรับหนี้สินเมื่อเริ่มต้นชีวิตการทำงาน

“ดอกเบี้ยในบัตรเครดิตสูงกว่า กยศ.หลายเท่า แต่เขามองในกรอบเศรษฐศาสตร์การเมือง มันน่าเศร้า เมื่อพ่อคนหนึ่งบอกว่า อยากให้ความจนมันจบอยู่ที่รุ่นเขา ไม่ถูกส่งต่อไป เป็นหนี้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เขาก็อยากให้มันจบอยู่ที่รุ่นของตัวเอง” ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างวลี ที่ฉายภาพความโศกอันเพิ่มทวีทุกนาทีในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

ในขณะที่บางราย สถานการณ์ในชีวิตย่ำแย่ไปกว่านั้น เมื่อสุดท้ายต้องกลับไปทำงานในโรงงาน เก็บเงินให้มากพอ ค่อยคิดฝันเรื่องการเรียนต่อ แม้มี ทว่า ก็ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด

Advertisement

นักศึกษากว่า 4% จึงไม่ได้เรียนต่อ ส่วนบางราย ษัษฐรัมย์ ต้องจรดปากกาเซ็น ‘ผ่อนผัน’ การจ่ายค่าเทอมให้พวกเขา

นี่คือโลกความจริงในยุคปัจจุบัน ขณะที่เมื่อย้อนกลับไปเมื่อกว่า 80 ปีก่อน ‘ความทุกข์ยาก’ เช่นนี้เองที่สร้างคนอย่าง ‘ปรีดี พนมยงค์’ ขึ้นมา

“ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่เปลี่ยนไป แม้เวลาจะล่วงมาเกือบศตวรรษแล้วก็ตาม เมื่อพูดถึงปรีดี พนมยงค์ สำหรับนักประวัติศาสตร์ ก็อาจจะเป็นตัวละครหนึ่งซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ขณะเดียวกัน ปรีดีมีสถานะของการเป็นปีศาจร้ายมาอย่างยาวนาน แต่สำหรับผม ผู้ที่ศึกษาวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับประเด็นรัฐสวัสดิการ หลายสิ่งซึ่งเป็นความปรารถนาของปรีดีเมื่อเกือบ 90 ปีที่แล้ว กลายเป็นภาพสะท้อนการต่อสู้เพื่อสังคมที่เท่าเทียม”

Advertisement

คือเกริ่นนำของปาฐกถา ‘รัฐสวัสดิการ เพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร’ โดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ในวาระรำลึก 121 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ 2564 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ก่อนเข้าสู่เนื้อหาหนักแน่นที่ปูพื้นฐานความเข้าใจในที่มาที่ไปของการต่อสู้เพื่อลดทอนซึ่งความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ปฐมบท ก่อนชวนให้ร่วมขบคิดว่า จากสภาพการณ์ใน ‘รัฐสังคมสงเคราะห์’ ดังที่เป็นอยู่ จะสามารถไปถึงฝั่งฝัน คือ ‘รัฐสวัสดิการ’ เพื่อคนใน ‘ชาติ’ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของได้อย่างไร ?

และจากนี้คือถ้อยคำจากนักวิชาการผู้ผลักดันประเด็นรัฐสวัสดิการตลอดมา

ติดลบตั้งแต่วันแรกของชีวิต

‘ความสิ้นหวัง’ ที่แทบไม่ต่างจาก 90 ปีก่อน

จากสถิติของธนาคารโลก ชี้ให้เห็นว่า สำหรับคนไทย หากคุณเกิดในครึ่งล่างของประเทศ หากคุณพยายามอย่างเต็มที่ คุณจะมีโอกาสเพียงแค่ 15% ที่จะเป็นชนชั้นกลาง หรือ 25% ของประเทศนี้ นั่นหมายความว่า คุณต้องทำงานหนักเป็น 10 เท่า เพียงแค่จะมีชีวิตตามแบบมาตรฐานของคนทั่วไป ตอกย้ำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำ ยังคงอยู่ในประเทศนี้ มีผู้คนจำนวนมากที่ถูกกักขังด้วยชาติกําเนิด แม้ว่าจะทำงานอย่างหนัก ก็ไม่สามารถยกระดับชีวิตตัวเองได้ ติดลบตั้งแต่วันที่ 1 ของชีวิต จนกระทั่งวันที่จากไปชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นมา คำถามสำคัญคือ ทรัพยากรของประเทศนี้ไปอยู่ที่ไหน ทำไมสิทธิพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา การรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งรายได้ที่เพียงพอ ถึงต้องเอาชีวิตของคนรุ่นหนึ่งแลกไป เพื่อให้คนรุ่นหลังมีชีวิตที่ดีขึ้น มันเกิดอะไรขึ้น ?

ทุกครั้งที่สอนวิชาการเมืองการปกครองสมัยใหม่ ผมจะอ่านบทความหนึ่งให้นักศึกษาฟัง เขาคิดว่าบทความนี้น่าจะเขียนเมื่อวาน เพราะเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในบทความนั้น เหมือนกับประเทศไทยในปี 2563-2564 ไม่ผิดเพี้ยน

สิ่งหนึ่งที่อยากย้ำ คือความเหลื่อมล้ำที่เป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เปลี่ยนแปลงการปกครอง กับความเหลื่อมล้ำและยุติธรรม ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่ออกมาตั้งคำถามทุกวันนี้ แทบจะเป็นตัวเดียวกัน เราเห็นผู้ใช้แรงงานผูกคอตาย เราเห็นผู้คนสิ้นหวังจำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความสิ้นหวังนี้แทบไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 90 ปีที่แล้ว

ปฐมบทต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่มากกว่า‘ประชาธิปไตยทางการเมือง’

อะไรคือสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่ยังคงอยู่ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด 90 ปีที่ผ่านมา คำอธิบายง่ายๆ คือ การผูกขาดความทรงจำของชนชั้นนำ คือการพยายามบอกว่าถ้าคุณเกิดมายากจน คุณเกิดมาอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ปู่พ่อคุณเป็นชาวนา แม่คุณเป็นผู้ใช้แรงงาน ย่าคุณเป็นคนงานเย็บผ้า คุณก็ต้องพอใจกับสถานะแบบนี้ต่อไป สังคมไทยเป็นแบบนี้มาชั่วนาตาปี มีลำดับชั้น มีความเหลื่อมล้ำที่ถูกทำให้เป็นปกติ และเมื่อใดก็แล้วแต่ที่เราพูดถึงสิ่งปกติในสังคมมนุษย์ อย่างความเท่าเทียม สังคมไทยกลับทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปีศาจร้าย กลายเป็นสิ่งอันตราย เพ้อฝัน และเป็นไปไม่ได้

ปฐมบทของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ที่มากกว่าเพียงประชาธิปไตยทางการเมือง แต่พูดถึงความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ การดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมกันในพื้นฐานความเป็นมนุษย์ เริ่มต้นที่ปี 2475 เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ พ.ร.บ.การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ซึ่งได้นำเสนอสิ่งที่ก้าวหน้าที่สุด แม้จะมาตรวัดด้วยสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบัน ข้อเสนอที่ปรากฏอยู่ในเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี วัดตามมาตรฐานปัจจุบันเรียกว่า รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ผนวกด้วย เงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า การทำให้ทุกคนมีหลักประกันพื้นฐานในชีวิต การวางนโยบายที่ง่ายและตรงจุดที่สุด การที่จะทำให้ผู้คนในประเทศนี้คงอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เรื่องที่น่าเสียดาย คือ พ.ร.บ.นี้ไม่เคยประกาศใช้ เป็นเรื่องน่าเศร้า เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีนี้ นำมาสู่ความขัดแย้งฉากแรก ระหว่างคณะราษฎร กับฝั่งอนุรักษนิยม และการพยายามลดบทบาทของปรีดี

แต่ข้อเสนอของปรีดีง่ายมาก การจัด “รัฐสวัสดิการ และเงินเดือนพื้นฐาน” ให้คนไทยทุกคน เริ่มต้นอยู่ที่ 20 บาท/เดือน คิดเป็นมาตรฐานของค่าครองชีพปัจจุบัน 4,000 บาท สิ่งเหล่านี้ภาคประชาชนกำลังพูดถึงเรื่องบำนาญ เรื่องเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า พูดกันมา 80-90 ปี เป็นเรื่องแรกของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

‘รัฐสังคมสงเคราะห์-ข้าราชการอภิสิทธิ์ชน’ ประเทศไทยหลัง 2500

ประเทศไทยหลังปี 2500 เดินหน้าสู่การเป็น “รัฐสังคมสงเคราะห์” และ “รัฐข้าราชการอภิสิทธิ์ชน” เงินจำนวนมากถูกนำมาใช้ในระบบราชการเพื่อใช้ต้านภัยคอมมิวนิสต์ และในขณะเดียวกันก็มีระบบสงเคราะห์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่รัฐสวัสดิการ

การต่อสู้เพื่อสังคมที่เป็นธรรม แม้จะถูกคั่นกลางโดยการรัฐประหารและเผด็จการทหารอยู่หลายครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อใดที่ประชาชนออกมาต่อสู้เรียกร้อง เพื่อสังคมที่ดีกว่า จะมีเรื่องรัฐสวัสดิการ พ่วงขึ้นมา เหตุการณ์น่าเศร้า ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เหตุผลหนึ่งก็เกิดจากการที่ชนชั้นนำในประเทศมองว่า คนไทยกำลังจะได้สิ่งที่ท้าทายอำนาจของพวกเขา ชนชั้นนำกลัว และเกลียดสิ่งที่ประชาชนรัก นั่นคือ ความเสมอภาค รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่กลับรักในความเหลื่อมล้ำ เผด็จการ และระบอบทุนนิยม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ปี 2519 จึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมสำคัญ และทำลายจิตวิญญาณการต่อสู้

การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการไม่เคยหายไป แต่เสียงของมันจะเบาทุกครั้งที่เผด็จการทหารมีอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถนำเสนอนโยบายที่ก้าวหน้า เป็นคุณกับประชาชน ผูกพันคำสัญญา นำมาสู่การสร้าง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในปี 2544 ภายใต้การบริหารงานของ พรรคไทยรักไทย

อย่างไรก็แล้วแต่ นับตั้งแต่รัฐประหาร ปี 2549-2557 สิ่งที่เกิดคือ พลังของฝั่งอนุรักษนิยมเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อพวกเขาทำลายขบวนการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรอยต่อสำคัญของประชาชน สู่อำนาจรัฐ เมื่อไม่มีการเลือกตั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ต้องผูกพันกับประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อำนาจของกลุ่มทุน ที่เข้ามาแนบสนิทชิดเชื้อกับอำนาจของฝั่งรัฐบาลมากขึ้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้คนที่คิดต่างถูกอุ้มหาย หลายคนต้องลี้ภัยทางการเมือง ไม่มีใครอยากจากบ้านเกิดเมืองนอน สิ่งที่เราเห็นคือ ผู้คนที่ปรารถนาสังคมใหม่ คนรุ่นใหม่ที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศนี้ มีกำลังวังชา มีสติปัญญา ต้องลี้ภัยจากประเทศนี้ไป หลายคนปรารถนาที่จะต่อสู้ ก็ถูกคุกคาม คุมขัง

ความผิดเดียวที่ทำให้นักศึกษาถูกคุมขังอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ เห็นคนรุ่นใหม่ลี้ภัยมากมาย และหายออกไปจากโลกนี้โดยไม่มีคำอธิบายใด คือพวกเขาอยากพัฒนาสังคมที่เสมอภาคมากขึ้น

3 อัตลักษณ์ล้าหลัง ขวาง ‘ความเท่าเทียมทางนโยบาย’

ถามว่าอะไรคืออุปสรรคต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรมในปัจจุบัน ก็มีอยู่ 3 ปัจจัย กลุ่มคนชั้นนำผูกขาดค่านิยมจารีตประเพณี ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความล้าหลัง ไม่สามารถทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ด้วย

อัตลักษณ์ ที่ 1 “ผูกขาดอำนาจทางการเมือง” ผ่านเครือข่ายกลุ่มทุน กองทัพ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้ามาได้ ไม่มีความคิดใหม่ ไม่เกิดการนำเสนอนโยบายที่ท้าทายอำนาจ แม้มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง นำเสนอโยบายได้ แต่ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะการมีรัฐประหารที่ต่อเนื่องยาวนาน มีกลไกการสืบทอดอำนาจ เมื่อเสียงความต้องการของประชาชนไม่สามารถถูกส่งต่อออกไปได้ ความเท่าเทียมทางนโยบายก็ไม่เกิดขึ้น

อัตลักษณ์ที่ 2 คือ “ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ” เรามีประโยคที่ว่า ‘ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน’ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ คนที่ยากจนที่สุด คือกลุ่มคนที่ทำงานหนักมากที่สุด ยิ่งรายได้น้อย ชั่วโมงการทำงานยิ่งสูง ทุกวันนี้เกิดกลุ่มผู้ใช้แรงงานกลุ่มใหม่เรียกว่า กลุ่มแรงงานเสี่ยง แบกรับความเสี่ยงแทนนายทุน กลไกเทคโนโลยีผูกขาด ทำให้นายทุนมั่งคั่งมากขึ้นในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ผู้ใช้แรงงานแบกรับความเสี่ยงมากขึ้นจนไม่สามารถต่อรองอะไรได้ มอเตอร์ไซค์ หมวกกันน็อก น้ำมัน ก็เงินของผู้ใช้แรงงาน นั่นคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

มีผู้ใช้แรงงานอิสระ กว่า 20 ล้านคน ครึ่งหนึ่งมีรายได้น้อยกว่า 8,000 บาท/เดือน ทำงานสูงกว่า 50 ชม./สัปดาห์ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นผ่านเงื่อนไขที่ทำให้ ‘ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ’ มากขึ้นและแนบชิดกับกลไกอำนาจของ ‘ชนชั้นนำทางการเมือง’

อัตลักษณ์สุดท้าย “ชนชั้นนำแบบจารีตประเพณี” อาศัยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคม ผูกคนไว้กับความกตัญญู ครอบครัว และการรับผิดชอบ บอกให้เรา ‘ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน’ เพื่อให้มีชีวิตที่ดี ให้เสียสละเพื่อชีวิตของคนภาคหน้า เพื่อครอบครัวของเรา ทำงานหนักทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถทำให้ผู้คนในครอบครัวมีชีวิตที่ดีได้ ซ้ำได้ไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่กำลังถูกขังไว้อยู่กับสังคมผู้สูงอายุ ที่พ่อแม่ของเขาทำงานหนักมาทั้งชีวิต แต่กลับไม่สามารถมีเงินบำนาญเพียงพอที่จะดูแลชีวิตยามเกษียณ คนรุ่นใหม่กำลังเหนื่อยล้า ด้วยสิ่งที่กดทับพวกเขา ทั้งอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางจารีตประเพณีทำให้ไม่สามารถที่จะมีความทรงจำหรือจินตนาการใหม่ๆ เกี่ยวกับความเท่าเทียมได้เลย

และสุดท้าย เราก็ได้แต่ปลอบตัวเองว่า ประเทศไทยนี้ ไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่พร้อมต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และไม่พร้อมต่อรัฐสวัสดิการ

ถ้าคิดว่า ‘คนเท่ากัน’ รัฐสวัสดิการ ก็เป็นไปได้

แม้ในวันที่จะรู้สึกสิ้นหวังมากที่สุด เรายังเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่ออกมาตั้งคำถาม ที่เงยหน้าแล้วเห็นความอยุติธรรมค้ำคอของพวกเขาอยู่ ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานหนัก หรือขยันเรียนหนังสือขนาดไหน โลกใบนี้ก็แทบจะถูกจองโดยคนไม่กี่กลุ่ม พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เราเห็นในข้อเรียกร้อง ด้านหนึ่งคือรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และแนวคิดประชาธิปไตย ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน รัฐสวัสดิการคือรูปธรรมสำคัญของประชาธิปไตย

วันนี้ คนรุ่นใหม่กำลังใฝ่ฝันถึงคำว่ารัฐสวัสดิการ บาทแรก จนบาทสุดท้าย ที่มารับประกันชีวิตของผู้คน เหลือเท่าไหร่ก็เอาไปทำอย่างอื่น เมื่อคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ก็ถูกเอาไปใช้กับ อาวุธ ยุทโธปกรณ์, เรือดำน้ำ, ตำรวจ คฝ., ทหาร, คุก แบ่งผู้คนออกจากกัน ขังไว้อยู่อีกฝั่งหนึ่งของกำแพง และโยนเศษเนื้อมาให้ในฐานะสังคมสงเคราะห์แต่เราสามารถได้สิ่งที่ดีกว่านี้หรือไม่

พ.ร.บ.ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร นำเสนอโดย ปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 89 ปีก่อน ผมเองเคยคำนวณว่า ถ้าทำตาม การทำรัฐสวัสดิการของไทยให้ก้าวหน้าที่สุด ใช้เงิน 3.2 ล้านบาท ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ประเทศไทยมี

แล้วทำได้หรือไม่ ? คำถามคือ เราคิดว่าคนเท่ากันหรือไม่ ถ้าเราคิดว่าคนเท่า รัฐสวัสดิการ ก็เป็นไปได้

ปัจจุบันนี้ เงินบำนาญของข้าราชการ 1 คน สูงกว่าเบี้ยผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยของประชาชน 42 เท่า ในนั้นมีนายพลทหารนับหมื่นที่เกษียณไป ไม่เคยก่อให้เกิดประโยชน์ใดแก่ประเทศ

โลกสะท้อน ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ไม่เคยทำให้คนขี้เกียจ

อีกด้าน ถ้าเราจะทำให้พ่อแม่ของเรา เมื่อเกษียณอายุ มีเงินบำนาญประชาชนถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท เหมือนกับที่อารยประเทศมี ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่ทำงานหนักมา จะใช้เงินเพียงแค่ 400,000 ล้านบาท/ปี (8%)

เงินเด็กถ้วนหน้า 0-18 ปี ใช้เงิน 450,000 ล้านบาท/ปี (9%) ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทำให้พี่น้องที่ทำงานแพลตฟอร์ม แรงงานนอกระบบ ขับส่งของ คนรับนำกลับไปทำที่บ้าน แรงงานภาคเกษตร มีประกันสังคมที่สามารถใช้ได้จริง มากกว่า ม.40 ที่เราใช้ในปัจจุบัน สิทธิประโยชน์ต่ำไม่จูงใจทำให้ทุกคนมีประกันสังคมถ้วนหน้า จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น เพียง 300,000 ล้านบาท/ปี (7%) เพื่อคน 20 ล้านคน เรียนฟรี พร้อมจบ ป.เอก โดยมีเงินเดือนอย่างที่นานาอารยประเทศพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ใช้เงินแค่ 200,000 ล้านบาท (8%) ทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท) ดีขึ้น เทียบเท่ากับระบบราชการ เพียงแค่ 300,000 ล้านบาท (6%)

เรื่องเหล่านี้เป็นไปได้ เพียงแค่เราคิดว่ารัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่สำหรับคนประเทศนี้ ต้องการหมอ พยาบาล ครูสอนอนุบาล รถเมล์ น้ำ-ไฟ ที่เข้าถึงทุกคนและราคาถูก มหาวิทยาลัยที่เรียนฟรี หรือต้องการเรือดำน้ำ ต้องการคุกมากขึ้น ต้องการตำรวจ คฝ.มากขึ้น เราต้องการแบบไหนกัน ?

ถ้าสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้จะทำร้ายประเทศไทยหรือไม่ ทำให้คนขี้เกียจ ไม่ทำงาน บางท่านสงสัยว่ากลุ่มทุนจะย้ายหนีหมด หรือประเทศจะล่มจม เงินเฟ้อ ของแพง ทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง แม้แต่ประเทศที่จัดรัฐสวัสดิการมากกว่าที่ผมพูดไป ก็ไม่มีงานวิจัยไหนบอกว่า ผู้คนเกียจคร้าน ไม่ออกไปทำงานเมื่อมีสวัสดิการดี เช่นเดียวกัน ภาษีไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด เพราะประเทศอื่นที่ระบบสวัสดิการดี ค่าแรงสูงสุด ก็สามารถดึงดูดกลุ่มทุนมากมายเข้ามาลงทุน และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนเขา แต่ถ้าเรากดค่าแรง กดชีวิตของประชาชน กดความฝัน ก็จะได้เป็นกลุ่มทุน ที่เข้ามาสูบเลือด สูบเนื้อ กอบโกยและขนกลับประเทศไป

ไม่มีประเทศไหน ‘ล้มละลาย’ ด้วยการทำให้คนได้ ‘เรียนฟรี’

ผมไม่เคยพบประเทศไหนที่ล้มละลาย ด้วยการทำให้คนได้เรียนหนังสือฟรี ไม่เคยพบประเทศไหนที่ล่มจม เพราะดูแลคนป่วย คนแก่ ไม่เคยมีประเทศไหนเช่นเดียวกัน ที่พัง เพียงให้หลักประกันคนว่างงานและเด็กเกิดใหม่ ไม่มีประเทศไหนที่พินาศด้วยการจัดรถเมล์ รถไฟ ให้ประชาชนใช้ถึงหน้าบ้าน

จากประวัติศาสตร์ ประเทศที่ล่มจม พินาศ เกิดจากการที่ชนชั้นปกครองเมินเฉยต่อประชาชน มองว่าเป็นหมาก ประเทศนั้นจึงล่มสลายได้ หรือ ถ้าจะให้ล่มจม ก็ปล่อยให้ล่มจม เพราะนั่นคือหน้าที่ของรัฐ ของสังคม ที่ต้องโอบอุ้มดูแลกัน

ผมมีโอกาสสนทนากับมิตรสหาย เขาบอกว่า คุณเชื่อไหม สวีเดนเคยยากจนมากถึงขนาดต้องกู้เงินประเทศอาร์เจนตินา คนหนุ่มสาวครึ่งประเทศอพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา เป็นพยาบาล พี่เลี้ยงเด็ก แรงงานภาคเกษตร ยากจนและสิ้นหวัง ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ทำให้สวีเดนเปลี่ยนแปลง กลายเป็นรัฐสวัสดิการ กลายเป็นประชาธิปไตยที่มั่งคั่ง ประโยคเดียวสั้นๆ ง่ายๆ มิตรสหายบอกว่า

เพราะประชาชนของเราชนะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image