เปิดถ้อยคำ 4 นักวิชาการ ถึง‘ชาญวิทย์’ ผู้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ในไทม์ไลน์แห่งความเปลี่ยนแปลง

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ ตุ๊กตาเรซิ่น ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

หากจะพูดถึงตำนานในแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ ผู้เป็นทั้งอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของสังคมไทยที่กล้าตั้งคำถาม เล่ามุมมองใหม่ พร้อมด้วยจิตวิญญาณที่อุทิศตนเป็น ‘ผู้ให้’ มาหลายทศวรรษ

บนเส้นทางทั้งชีวิตของชายผู้นี้ ซึ่งเข้าสู่วัย 80 กะรัต เมื่อ 6 พฤษภาคม 2564 ยังคงเดินหน้าตั้งปณิธาน สานต่อความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ ยึดมั่นแน่วแน่ในอุดมการณ์สิทธิ เสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตย

‘สำนักพิมพ์มติชน’ จัดเสวนาสาธารณะออนไลน์ 80 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มิตรทางปัญญาของทุกชนชั้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องในวาระครบ 80 ปีของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ โดยเชิญชวนบรรดาลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงาน ผู้ที่เคยทำงานมาร่วมพูดคุย และแลกเปลี่ยนความประทับใจในมุมมองด้านวิชาการของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ว่าสะท้อนสังคมในปัจจุบันอย่างไร

 

Advertisement
บรรยากาศสวนาสาธารณะออนไลน์ 80 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มิตรทางปัญญาของทุกชนชั้น
ผ่านเพจ Matichon Book-สำนักพิมพ์มติชน

ชุบชีวิตประวัติศาสตร์

คุณูปการ‘หัวขบวนเด็กรุ่นใหม่’

เริ่มต้นด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่หยิบยกเอาประสบการณ์ ‘ไปไหนไปด้วย’ ตั้งแต่ครั้งเดินทางไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มาบอกเล่า โดยในขณะนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง The Rise of Ayutthaya

Advertisement
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เหตุการณ์หนึ่งประทับใจมากคือการได้ติดตามไปร่วมวงเสวนากับ ศ.เดวิด วัยอาจ (David K. Wyatt) เจ้าพ่อใหญ่แห่งแวดวงประวัติศาสตร์ ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีการเปิดโต๊ะใหญ่ พร้อมเบียร์คนละหนึ่งแก้ว จากนั้นทุกคนก็ต่างเริ่มถกเถียง สอบถาม พูดคุย นั่นสร้างความตื่นเต้นผสมปนเปกับความประหลาดใจ

“ระยะเวลาที่ได้รู้จักกับอาจารย์ชาญวิทย์มาอย่างยาวนาน ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ ด้านที่เป็นด้านหลัก และเป็นคุณูปการที่สำคัญของอาจารย์ชาญวิทย์ คือสิ่งที่เรียกว่า วิธีวิทยา วิธีการทางประวัติศาสตร์ การศึกษาประวัติศาสตร์อย่างไร ใช้ปรัญชาอะไร ซึ่งในประเทศเราใช้กันน้อย เพราะประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับ สะท้อนความเป็นรัฐชาติ เพราะฉะนั้นจึงยิ่งใหญ่มาก ไม่เคยมีการวิพากษ์ วิจารณ์ และตรวจสอบ ซึ่งอาจารย์ชาญวิทย์ไม่ได้ไปปรับเปลี่ยนอะไรหรอก แต่กลับกันท่านไปเปิดพื้นที่ เปิดอยุธยา เปิดสุโขทัยให้กว้างขึ้น แล้วตั้งคำถามในสิ่งที่ว่า เรามองจากการค้าในสมัยนั้นจากสังคโลกได้ไหม มองบริบทสังคมในสมัยนั้นจากการแต่งกายได้ไหม” ศ.ดร.ธเนศกล่าว

อดีตคณบดีศิลปศาสตร์ย้ำว่า คุณูปการของอาจารย์ชาญวิทย์คือการทำให้ประวัติศาสตร์ไทยมีชีวิตชีวา มีมิติใหม่ๆ มีเรื่องใหม่ๆ ให้คิด ทำให้หลักฐาน หรือศิลาจารึกต่างๆ มีชีวิตใหม่ จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนเด็กรุ่นใหม่ที่อยากย้ายประเทศ

“อาจารย์ชาญวิทย์เปรียบเสมือนหัวหน้าขบวนการเด็กรุ่นใหม่ หรืออาจจะเรียกว่า ผู้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้” ศ.ดร.ธเนศกล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลเก่า เล่าใหม่
จากมุมมอง‘รัฐศาสตร์ การเมือง และการเดินทาง’

จากผู้ติดสอยห้อยตามไปทุกหนแห่งในดินแดนแห่งเสรีภาพในโลกตะวันตก มาฟังมุมมองของ ‘ลูกศิษย์’ คนสำคัญอย่าง รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้มีพื้นฐาน ‘นักรัฐศาสตร์’ ก่อนเบนเข็มสู่สายประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

“การทำงานของประวัติศาสตร์มันอยู่ที่หลักฐานข้อมูลว่าเราจะวิพากษ์หลักฐานอย่างไร ไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาข้อมูลใหม่ สามารถใช้ข้อมูลเก่าที่อธิบายสังคมแบบเดิมมาเล่าด้วยมุมมองใหม่ เราก็จะได้งานใหม่หมดเลย พวกเราที่มีฐานมาจากรัฐศาสตร์ มันมีจุดเด่นคือ เล่าเรื่องให้น้อยลง แล้วมองด้วยความเป็นสถาบันทางการเมืองมากขึ้น

หลักการรัฐศาสตร์บอกว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นสายตาของพวกรัฐศาสตร์จะเห็นสายตาของความเปลี่ยนแปลง”

นอกจากประเด็นประวัติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ที่เชื่อมโยงกัน ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ ยังให้ความสำคัญกับ ‘การเดินทาง’ ซึ่งไม่ใช่เพียงการท่องเที่ยวแบบผิวเผิน หากแต่มีความหมายลึกซึ้งไปกว่านั้น

“วันหนึ่งอาจารย์ชาญวิทย์กลับมาจากญี่ปุ่นแล้วคิดไอเดียหนึ่งขึ้นมานั่นคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วอล์กกิ้งทัวร์ โดยเริ่มพาเดินมาลานโพธิ์ ประตูท่าพระจันทร์ เลียบกำแพงวังหน้า มาสนามหลวง ดูปืนใหญ่ หอประชุมธรรมศาสตร์ ซึ่งทุกเรื่องสามารถบรรยายได้ ทุกอย่างเป็นประวัติศาสตร์ที่อยู่กับเราถึงปัจจุบัน เพราะประวัติศาสตร์มันไม่ได้ลอยในอดีต แต่สิ่งที่ประวัติศาสตร์ต้องการคือ หาคำตอบว่าอะไรคือรากของคุณ ที่มันคลุมชีวิต และจิตใจของคุณ อาจารย์ชาญวิทย์ยังบอกผมเรื่องการเดินทางว่า หากคุณไม่เคยเห็นโลกอื่น คุณก็ไม่สามารถเปรียบเทียบว่า คุณอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้ มันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจพัฒนาการทางสังคม และประวัติศาสตร์มากขึ้น

เราจะอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างอย่างไรให้มีความหมายที่สัมพันธ์กับโลก และสังคมของเราได้ และสิ่งหนึ่งที่โลกของนักวิชาการต้องรับรู้คือการตีความใหม่ เพราะการตีความสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ประวัติศาสตร์ของเราจึงใหม่อยู่ตลอดเวลา แม้แต่สิ่งที่เราเคยเล่าก็เปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีอะไรคงที่แน่นอน เรื่องจึงมีชีวิตชีวา” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

ส่วนประเด็นสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ‘ประวัติศาสตร์กับการเมือง’ ซึ่งคนมักคิดว่าเราเรียนประวัติศาสตร์ ก็ต้องอยู่ในโลกของอดีต จนถึงขั้นมีคนช่วยให้ดูพระ แล้วถามว่ารุ่นอะไร แต่ความจริงเราอยู่กับโลกปัจจุบัน

“สิ่งที่อาจารย์ชาญวิทย์ชี้ให้เห็นคือ เราศึกษาประวัติศาสตร์ 2475 ไม่ใช่ว่าเราจะย้อนกลับไปอยู่ในโลก 90 ปีที่แล้ว แต่หากเราสามารถชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นมรดก และสิ่งที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ จะทำให้เห็นอดีตที่อยู่กับเรา เช่น ถ้าไม่มีปฏิวัติ 2475 จะไม่ปรากฏวัฒนธรรมแต่งงานผัวเดียวเมียเดียวในสังคมไทย ผู้หญิงในปัจจุบันไม่ถูกทำให้เข้าใจว่า ตัวเองได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้น ถ้าเข้าใจ ก็จะสำนึกสิ่งที่ดีของคณะราษฎร 2475 แต่คุณถูกปิดตา และทำให้สำนึกถึงสิ่งที่เลวๆ ของคณะราษฎร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์อยุธยา เขมร หรือแม้แต่การเมืองไทย ทั้งหมดมันอธิบายว่า เราอยู่ตรงไหนของพัฒนาการ และเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร”

มาถึงตรงนี้ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์เชื่อมโยงถึงสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันโดยหยิบยกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาเทียบเคียงอย่างเห็นภาพ

“ผมซึ่งอยู่ในโลกประวัติศาสตร์การเมือง เราเห็นแน่ๆ ว่าสังคมไทยต้องเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย จะอยู่แบบศตวรรษที่แล้วไม่ได้หรอก ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาไกลมาก ต่อจากนี้กำลังเดินเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยแบบหยุดยั้งไม่ได้ การจับเยาวชนขังคุกไม่ให้ประกัน ก็เคยเกิดขึ้นกับ จิตร ภูมิศักดิ์ มา 60 ปีแล้ว นี่คือการลงทัณฑ์เพื่อไม่ให้คนต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายจิตรกลายเป็นวีรชนของคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน ดังนั้น ประวัติศาสตร์กับการเมืองไทยปัจจุบันมันคือเรื่องเดียวกัน

ประวัติศาสตร์-รัฐศาสตร์’, ‘ประวัติศาสตร์-การท่องเที่ยว’ และประวัติศาสตร์-การเมือง นี่คือทั้งสามคำที่ผมคิดว่า ในช่วงชีวิตทางวิชาการของอาจารย์ชาญวิทย์ กว่า 50 ปี ผู้มาพร้อมกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้เห็นปรากฏการณ์ของความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ชีวิตของท่านจึงอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ ความเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่ยุติ แต่มันก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเลยทีเดียว”

‘สร้างคน’ประสานเครือข่าย

เปิดเวทีใหญ่ เพื่อความก้าวหน้าวงวิชาการ

อีกหนึ่งลูกศิษย์ก้นกุฏิที่ในวันนี้นั่งเก้าอี้ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ นั่นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ ซึ่งเล่าย้อนไปเมื่อครั้งเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ในคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยขณะนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ มีอายุครบ 60 ปีแล้ว

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ

“ผมเข้ามาในรั้วธรรมศาสตร์ในสภาพบรรยากาศที่เกิดการประท้วง การต่อต้านย้ายศูนย์ท่าพระจันทร์ไปรังสิต ตอนนั้นนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยคือ อยากให้นักศึกษาปริญญาตรีไปเรียนที่รังสิต และหนึ่งในคนที่ออกมาต่อต้านคืออาจารย์ชาญวิทย์ เพราะต้องการรักษาบรรยากาศชีวิตท่าพระจันทร์ไว้ อาจารย์เลยลงมาประท้วงเต็มที่ มีการวางแผนหลากหลายจนทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า เวลาจะต่อสู้อะไร เราจะไม่สู้กับคนที่ด้อยกว่า เวลาจะต่อสู้กับความอยุติธรรม ต้องสู้กับคนที่มีอำนาจมากกว่า เราจะไม่ดูถูกดูแคลนคนที่อยู่ระนาบเดียวกับเรา หรือคนที่ขาดแคลนโอกาสกว่าเรา คุณต้องมองว่า คนที่เราจะเรียกร้องเอาความเสียสละ ต้องเอาความเสียสละจากคนที่ได้เปรียบในสังคม ไม่ใช่เอาจากคนที่เสียโอกาสทางสังคม” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ อีกหนึ่งคุณูปการนอกเหนือจากงานวิชาการที่แข็งขันของ ศ.ดร.ชาญวิทย์คือ การ ‘สร้างคน’ ด้วยการสนับสนุนนักวิชาการรุ่นใหม่ ทั้งโอกาส เวที ช่องทาง กระทั่งทุนทรัพย์

“อาจารย์ชาญวิทย์เป็นผู้สร้างคน สนับสนุนนักวิชาการรุ่นใหม่ ทั้งยังเป็นนักประสานงาน ท่านรู้จักตั้งแต่ระดับบนสุดของประเทศ จนกระทั่งคนทั่วไป เช่นคนอย่าง ทองม้วน ในหนังสือของ คำสิงห์ ศรีนอก ตัวละครธรรมดาที่มาจากต่างจังหวัด อาจารย์เข้ากับทุกคนได้ ร่วมโต๊ะกับใครได้หมดเลย อาจารย์พูดเสมอว่า ทุกคนมีความเชี่ยวชาญของตัวเอง และสามารถดึงทรัพยากรจากองค์กร หรือเครือข่ายมาสนันสนุนคนรุ่นใหม่ได้มาก งานที่โด่งดังตลอด 20 ปีของท่านคือ การร่วมกับองค์กรเอกชนอย่าง บริษัท โตโยต้า ประเทศไทย และมูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งทำให้มีเวทีในการนำเสนองานใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังชอบจัดเสวนา สัมมนาเวทีใหญ่มาก เปิดตลาดกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ” คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ เล่า

เรียนรู้จากคำถาม

ความในใจของ‘ข้าวนอกนา’

ปิดท้ายด้วยมุมมองของนักวิชาการด้านวัฒนธรรมอุษาคเนย์ชื่อดัง อย่าง สมฤทธิ์ ลือชัย ที่เปรียบตนเองเสมือน ‘ข้าวนอกนา’ เพราะไม่ได้อยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์มาก่อน แต่ด้วยเหตุการณ์หลายอย่างที่ประเดประดังเข้ามาทำให้ต้องก้าวเข้ามาในแวดวงนี้

อ.สมฤทธิ์ ลือชัย

“ครั้งหนึ่งผมซื้อทัวร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปอีสานใต้ นั่นคือครั้งแรกที่ได้รู้จักอาจารย์ชาญวิทย์ เวลาที่ได้ยินอาจารย์พูด รู้สึกแปลกใจ และตื่นเต้นมาก ทำไมคนคนนี้เล่าประวัติศาสตร์ได้สนุก ไม่เหมือนที่เรียนในห้อง แต่นั่นก็ยังไม่ได้ใกล้ชิดมาก จนกระทั่งผมเรียนจบไปทำงานเป็นนักข่าว ทุกครั้งที่สัมภาษณ์อาจารย์ สิ่งที่ได้กลับมานอกจากบทสัมภาษณ์คือ เอกสาร หนังสือ หรือชีทข้อมูลในประเด็นนั้นๆ พูดง่ายๆ คือ ท่านไม่ได้ให้สัมภาษณ์อย่างเดียว แต่ให้ความรู้กับเราด้วย จึงรู้สึกประทับใจ เคารพ และชื่นชมมาจวบจนวันนี้”

สมฤทธิ์ เสริมอีกว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์

มีสิ่งที่วิเศษที่ตัวเองไม่มี นั่นคือ การไม่พูด ‘คำหยาบ’ แม้แต่คำเดียว

“ท่านไม่เคยพูดคำหยาบ แม้แต่คำเดียวออกจากปากอาจารย์ชาญวิทย์ก็ไม่ปรากฏให้เห็น แล้วอาจารย์จะใช้วิธีสั่งงาน สั่งให้ทำ สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจอย่างมาก เวลาอาจารย์ชาญวิทย์จะให้ใครมาร่วมงาน อาจารย์จะให้เกียรติ และผมได้รับเกียรติอยู่เสมอ แต่เมื่อผมได้มาทำงานร่วมกับอาจารย์ ผมได้ประทับใจมากขึ้นกว่าเดิมอีกตรงที่มันได้สอนตัวเราถึงเรื่องกระบวนการขัดเกลาตัวเอง ผมเรียนกับท่านจากคำถาม เพราะผมเป็นสื่อ อาจารย์สอนอะไร อาจารย์ก็ทำสิ่งนั้นให้ดู

และทำให้คนอย่างน้อยที่สุดคือผม หันมาสนใจงานวิชาการ และมีความรู้ความเข้าใจทางด้านประวัติศาสตร์กับเขาบ้าง”

ทัตตพันธุ์ สว่างจันทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image