ในวันที่ต้องก้าวต่อไป ศานนท์ หวังสร้างบุญ บทเรียนจากกรณี ‘ป้อมมหากาฬ’

ท่ามกลางการเรียกร้องกรณี “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ที่ไม่ได้มีเพียงเสียงของประชาชนในพื้นที่ แต่รวมไปถึงผู้คนที่เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมากทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งหมดต่างพยายามเรียกร้องให้ กทม.ทบทวนถึงกรณีดังกล่าว พร้อมเสนอทางออกต่างๆ

แต่ที่สุดแล้วไม่อาจเปลี่ยนการตัดสินใจ เพราะเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เป็นประธานประชุมการดำเนินการย้ายชุมชนบริเวณป้อมมหากาฬ พร้อมมอบหมายให้สำนักการโยธา กทม.จัดกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ครบมือเพื่อเตรียม “เคลียร์” พื้นที่ เปลี่ยนชุมชนเป็นสวนสาธารณะ

โดยจะเริ่มต้นไล่รื้อ 13 หลัง ในวันที่ 3 กันยายนนี้

ดังนั้น ภาพการจัดกิจกรรมต่างๆ ในวันที่ 28 สิงหาคม สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

Advertisement

ทั้งชมภาพยนตร์ที่ “มหากาฬรามา” ชิมอาหารคาวหวานฝีมือชาวบ้าน เลือกซื้อสินค้าชุมชน รวมทั้งพูดคุยประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต จึงอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะเห็นภาพประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตที่อาจไม่มีให้เห็นอีกแล้วในอนาคต

จึงนำมาสู่การพูดคุยกับ “ศานนท์ หวังสร้างบุญ” สมาชิกกลุ่ม Trawell ที่มีเป้าหมายในการให้ชุมชนอยู่กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน หนึ่งในผู้ที่พยายามเสนอทางออกต่างๆ ของพื้นที่ดังกล่าวมาโดยตลอด โดยเฉพาะการพยายามผลักดัน “มหากาฬโมเดล” เปลี่ยนแปลงป้อมมหากาฬให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเพื่อเป็นทางออกของปัญหา

แม้ว่าสุดท้ายข้อเสนอนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ภาครัฐตัดสินใจนำมาปฏิบัติ และจนถึงนาทีนี้ที่อาจมีเสียงของเครื่องจักรกำลังติดเครื่องเดินหน้าทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มกำลัง

Advertisement

เขาเองก็ยังคงยืนหยัดตัดสินใจทำตามเป้าหมายต่อไป

และไม่หยุดที่จะเดินหน้าเช่นกัน

pra01030959p1

รู้สึกอย่างไรที่สุดท้าย กทม.ตัดสินใจที่จะไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ?

จริงๆ ต้องบอกว่าไม่ได้ปฏิเสธที่จะให้ กทม.เข้ามาพัฒนาพื้นที่อยู่แล้ว ถ้าเข้าไปเห็นชุมชน ทุกคนจะเห็นในสิ่งเดียวกันว่ามีศักยภาพ แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดที่เป็นสถานที่ดีเลิศแก่การเยี่ยมชม ดังนั้น การที่ กทม.จะปรับปรุงพื้นที่เราไม่เคยปฏิเสธเลย แต่การที่เข้ามาไล่และรื้อบ้านคนทั้งหมดออกมันเป็นวิธีที่พวกผมรู้สึกเสียดาย เสียดายโอกาสในการสร้าง คือเหมือนว่าเรามีของดีอยู่ในมือ ทำไมเราจึงต้องทำลายมันลงไปเพื่อสร้างอะไรไม่รู้ขึ้นมาใหม่

คิดว่าทำไมสุดท้าย กทม.จึงตัดสินใจแบบนี้?

คือทุกๆ ครั้งที่คุยกับรัฐมันก็เป็นเรื่องของกฎหมายที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ด้วยวัตถุประสงค์ที่บอกว่าจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถาน คือตรงนี้เป็นวัตถุประสงค์ แต่รัฐตีความว่าเป็นสวนสาธารณะทั้งหมด ในความหมายของผมคือ สิ่งที่เราพยายามพูดกันอยู่เราไม่ได้ช่วยให้คนผิดเป็นถูก เรากำลังบอกให้ทุกคนเคารพกฎหมายเหมือนเดิม แต่ในขณะที่เราเคารพกฎหมาย เราพยายามสร้างสิ่งที่มันดีให้กับทุกคนได้หรือไม่

ดีกับทุกคนหมายถึง 1.เราต้องมองไปที่ศักยภาพของพื้นที่ก่อนที่จะฟันธงว่าพื้นที่นี้ควรที่จะเป็นอะไร ปัจจุบันเราฟันธงมันไปแล้วว่ามันต้องเป็นสวนสาธารณะ แต่คำถามคือ คุณเคยเห็นหรือไม่ว่ามันมีบ้านไม้โบราณกี่หลัง แต่ละหลังมีศักยภาพอย่างไร รวมไปถึงเสน่ห์อะไรในพื้นที่ที่ควรดำรงเอาไว้ 2.ศักยภาพของบุคคล ชุมชน ที่สามารถเป็นคนบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์และสามารถทำงานให้กับรัฐได้

ดังนั้น เราจึงไม่ได้บอกเลยว่าเราจะทำให้คนผิดเป็นถูก เราอยากบอกว่าในการทำตามกฎหมายที่บอกว่าเพื่อให้เป็นสวนสาธารณะและโบราณสถาน มันพอจะมีวิธีการอื่นอีกหรือไม่ที่จะดึงศักยภาพทั้งสองอย่างนี้ออกมาได้

แต่ว่าดูเหมือนเสียงของประชาชนจะไม่มีความหมายต่อการตัดสินใจของ กทม.?

ใช่ เพราะ กทม.บอกว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะคิดถึงเรื่องอนาคต วิธีการทำงานของ กทม.คือรื้อก่อน รื้อเสร็จแล้วเดี๋ยวค่อยว่ากัน (หัวเราะ) ก็คล้ายๆ กับที่เห็นที่อื่นเหมือนอย่างกรณีสะพานเหล็ก คือถามว่ารื้อดีหรือไม่ ก็ใช่ที่เขาอาจบุกรุกที่ดิน รื้อเสร็จแล้วยังไงต่อ สุดท้ายแล้วก็เป็นที่รกร้างเหมือนเดิม คือเรายอมไม่ได้ในจุดนี้มากกว่า

แล้วคิดอย่างไรกับวิธีการ “รื้อก่อนแล้วจัดการทีหลัง”?

พูดง่ายๆ คือเหมือนกับว่าเราไม่เคยมีแผนในการพัฒนาที่บูรณาการ คือ เหมือนผมพูดถึงการทำศัลยกรรม คุณก็ต้องดูก่อนว่าคุณมีดั้งหรือเปล่า คุณจะเสริมหน้าอก หรือทำอะไร สุดท้ายแล้วคุณต้องดูก่อนว่าพื้นฐานเรามีอะไรเพื่อที่จะดูว่าเราจะเพิ่มตรงไหน พัฒนาอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มันไม่ดีเสร็จแล้วก็รื้อ แต่ถามว่าเสร็จแล้วทำอะไรต่อ อย่างกรณีสะพานเหล็กก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนที่มาทำต่อเลย คือถ้า กทม.ทำต่อพัฒนาต่อเนื่อง ทำสะพานเหล็กให้เป็นเหมือนอย่างคลาร์กคีย์ที่สิงคโปร์ได้ มีภาพมีวิสัยทัศน์ที่ดีพร้อม คุณจะรื้อที่ไหน ทุกคนก็พร้อมสนับสนุนด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ทำไมคนยังรู้จัก “มหากาฬโมเดล” น้อย คิดว่าพลาดตรงไหนบ้าง?

ในมุมของผม ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก คือคนส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่พร้อมที่จะทำงานต่อไป กับอีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่เข้ามาบุกรุกจริงๆ ทำสิ่งผิดกฎหมายจริงๆ อย่างการขายพลุ คนในนั้นมีหลากหลายจนคนที่ประสบหรือผ่านไปผ่านมา มองแล้วหรือรับสารแล้วเหมารวมไปว่าไม่ดี อีกอย่างหนึ่งคือคนเข้าใจว่ามหากาฬโมเดลเป็นพวกที่จะอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว อนุรักษ์ชุมชนให้อยู่แบบเดิมอย่างเดียว ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง

แต่ข้อเสนอของเราจริงๆ แล้วมันคือการถามกลับไปว่าคุณจะดึงศักยภาพตรงนี้ออกมาได้มากน้อยแค่ไหน ภายใต้กรอบของกฎหมาย

อีกมุมหนึ่ง กทม.พยายามบอกว่าการเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่า?

ผมเห็นด้วย พื้นที่ตรงนี้ต้องเป็นพื้นที่ของสาธารณะอยู่แล้ว แต่ผมก็อยากจะถามต่อไปว่าคุณลืมศักยภาพของพื้นที่ไปหรือไม่ คือถ้าใครเคยไปที่ป้อมจะเห็นว่าป้อมกำแพงสูงประมาณ 7 เมตรจากพื้นดิน อีกฝั่งหนึ่งของกำแพงเป็นคลองโอ่งอ่าง การสร้างสวนที่อยู่ด้านหลังกำแพง 7 เมตร และพื้นที่ด้านหลังเป็นคลองมันคือการสร้างสวนในพื้นที่ปิด แล้วสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่บอกว่าทำเพื่อทุกคนก็ยังไม่เห็นแบบเลย คำถามคือจะอยู่กันอย่างไร ผมมองว่าถ้าเรายังไม่มีแผนที่ชัดเจนมันจะเกิดอาชญากรรม หรืออาจจะเกิดการไปมั่วสุมได้

แล้วศักยภาพที่พื้นที่มี?

คือพื้นที่ด้านในมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบอื่น เหมือนอย่างที่หมู่บ้านโบราณที่เกาหลีที่เป็นบ้านโบราณเรียงกัน แล้วคนก็ท่องเที่ยวกันตามตรอก แต่ละบ้านก็เปิดบ้านโชว์ภูมิปัญญาของแต่ละคน ที่นี่เองก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก คือมีบ้านเรียงกันอยู่ด้านหลัง ไม่มีรั้ว ทุกคนอยู่กันอย่างเป็นชุมชน ถ้าเราพัฒนาด้วยศักยภาพตรงนี้แทนที่เราจะทำสวนที่อาจไม่มีคนมาใช้จะดีกว่าหรือไม่

แล้วทุกวันนี้สิ่งที่ชาวบ้านทำคือการเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อสาธารณะอยู่แล้ว ทุกคนในชุมชนก็ร่วมมือกันดูแลรักษาและพัฒนาบ้านโบราณต่างๆ ตามบ้านเรือนก็มีป้ายที่ติดว่าสุขาเข้าได้อยู่เจ็ดหลังในชุมชน ห้องน้ำของเขา บ้านของเขาเป็นของสาธารณะไปแล้วโดยปริยาย แล้วทุกวันเสาร์-อาทิตย์ใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้คนในชุมชนก็ช่วยดูแลความสะอาด ผลัดกันดูแลเวรยามรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

ลองคิดดูว่าถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐด้วยก็จะยิ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ดีกว่าเดิมและเป็นพื้นที่ที่คนใช้ได้จริงมากกว่าสวนสาธารณะ

คิดว่ากรณีนี้จะเป็นบทเรียนของสังคมไทยต่อไปอย่างไร?

เราเห็นแน่นอนว่าวิสัยทัศน์เป็นแบบนี้คือ รื้อก่อนและค่อยทำ รื้อก่อนและค่อยคิด เอาจริงๆ ผมเข้าใจนะ ผมอยู่ในสังคมแบบนี้ จบวิศวะผมรู้ว่ากรมโยธาธิการคิดอย่างไร หรือว่าแนวคิดของวิศวกรเป็นอย่างไร ผมเองก็อยู่ในโลกของห้างสรรพสินค้ามาโดยตลอด และรู้ว่าเราถูกทำให้มองอย่างไร ขณะที่โซนพระนครชั้นใน มันคือเขตที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ทั้งวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ แต่วันนี้เราใส่ใจกับที่จับต้องได้มากเกินไป ผมกำลังจะบอกว่าเรากำลังสร้างเมืองร้าง แต่คนที่เป็นซอฟต์แวร์ข้างในเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คุณหาไม่ได้อีก มันจะเกิดบทเรียนว่า แม้ว่าข้อเสนอในวันนี้ของมหากาฬโมเดลจะยื้อกันจนถึงว่า กทม.ยอมเก็บบ้านไม้โบราณก็ตาม แต่ซอฟต์แวร์ที่ประเมินค่าไม่ได้เหล่านี้กำลังหายไป

มันเป็นบทเรียนสำคัญที่ชุมชนอื่นๆ ในประเทศกำลังจะเจอเช่นกัน

มีชุมชนใดในลักษณะเดียวกันที่มีความเสี่ยงเช่นนี้อีก?

ผมว่าเสี่ยงหมด หากพิจารณาจากแผนของภาครัฐ มันคือแผนของการเอาคนออกจากเมืองไปทั้งหมด ที่น่าตลกมากคือ ภาครัฐมีการจัดประชุมกันว่าพื้นที่หลังป้อมจะมีการจัดนิทรรศการรำลึกชุมชนโบราณเก่าๆ คำถามคือคุณกำลังทำลายชุมชนที่ว่านี้อยู่ เพื่อที่จะนำพื้นที่ตรงนี้มาเป็นที่จัดแสดงชุมชนโบราณที่ตายไปแล้ว จัดแสดงบนพื้นที่ที่ถูกทำลาย ผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน (หัวเราะ)

ชุมชนมีความสำคัญกับสถานที่อย่างไร?

ครอบครัวเกิดจากคน 2-3 คน ชุมชนเกิดจากหลายครอบครัว เมืองก็คือหลายๆ ชุมชนรวมกัน ประเทศก็เกิดจากหลายๆ เมืองรวมกันเป็นประเทศ ดังนั้น พื้นฐานของทุกอย่างก็คือมนุษย์ ทุกวันนี้ กทม.พยายามบอกว่าปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ของทุกคน แต่ทุกคนของเขาคือใคร คือถ้าบอกว่าคือคนที่อยู่อาศัย ทุกวันนี้เขาถอยจนห้องน้ำไม่ใช่ห้องน้ำของเขา บ้านของเขาจะไม่ใช่ของเขา เขาอาจจะต้องฝากบ้านเรือนเพื่อที่จะอยู่ในแฟลตหรืออะไรก็ว่ากันไป เขายอมเสนอปรับตัวขนาดนี้เพื่อที่จะอยู่ที่เดิม อยู่ดูแลเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายก็เป็นอย่างที่เห็น

ดังนั้น ทุกคนที่เขาตีความ มันไม่ได้หมายถึงทุกคนขนาดนั้นหรอก เพราะการสร้างอะไรก็แล้วแต่มันต้องมีกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว สำหรับผม ชุมชนมีความสำคัญกับเมืองมาก มันคือราก มันคือพื้นฐาน เมืองนี้ก็เป็นเมืองของคน ไม่ใช่เป็นเมืองของตึก ไม่ใช่เมืองของสวน ไม่ใช่เมืองของรถ แต่ถามว่าทุกวันนี้เรากำลังให้ความสำคัญกับอะไร

ทำอย่างไรที่จะทำให้สังคมไทยเห็นถึงความสำคัญของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ มากยิ่งขึ้น?

ถ้าสื่อช่วยกันประโคมข่าวหรือว่าสนใจเรื่องราวแบบนี้มากขึ้นก็คงจะดี คือผมไม่รู้ว่าทุกวันคนเสพสื่ออะไรบ้าง อย่างเพื่อนผมหลายคนก็ยังไม่เข้าใจว่าผมทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร คือจะลาออกกันไปทำไม แต่ไม่ว่าอย่างไรถ้าจะทำให้คนเห็นก็ต้องมีคนบุกเบิก ทุกการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องมีคนบุกเบิกอยู่แล้ว และถ้าจะเป็นไปได้สุดท้ายก็ต้องช่วยกัน ทำให้ทุกคนเข้าใจ การมีคนอยู่ในเมืองในพื้นที่มันดีอย่างไร ทำให้คนเลิกมองว่าคนจนเป็นปัญหา เป็นคนที่สร้างปัญหาต่างๆ ในเมือง

เป้าหมายต่อไปหลังจากนี้?

คือผมเองก็ไม่ได้เป็นนักขับเคลื่อนอะไร การที่มาให้สัมภาษณ์ออกสื่อบ่อยๆ มันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ปลอดภัยเท่าไรนัก (หัวเราะ) แต่ชีวิตเราก็ต้องเดินต่อไป คือผมไม่ได้อยากตีกับรัฐ เพียงแต่ผมเองอยากหาข้อสรุปตรงกลางมากกว่า แต่ประเด็นคือรัฐไม่ฟังเท่าไร แค่นั้นเอง ในเมื่อวันนี้รัฐไม่ฟัง เราก็พร้อมที่จะถอย ดังนั้น แนวทางต่อไปจากนี้ ถ้าเราพบว่าชุมชนใดมีภูมิปัญญาดีๆ มีศักยภาพ ก็จะสนับสนุนและดึงศักยภาพนั้นออกมา บอกรัฐว่าชุมชนนี้มีสิ่งนี้ควรที่จะเก็บเอาไว้ เสนอสิ่งที่ดีสิ่งที่มีคุณค่าให้รัฐเห็น ที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของภาครัฐ

คือผมไม่ได้ต้องการมาทำตรงนี้เพื่อที่จะเป็นนักเคลื่อนไหว เพียงแต่ต้องการทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม พยายามที่จะทำให้ธุรกิจและสังคมสามารถที่จะเติบโตไปด้วยกันได้ แต่ถ้าระบบของรัฐยังเป็นแบบนี้ ผมก็ไม่อยากอยู่ในสถานการณ์ที่เอาตัวเองมาเสี่ยงขนาดนี้ คือถ้าไม่เห็นด้วยแต่แรกก็ไม่อยากให้รัฐมาให้เงินสนับสนุน เพราะมันเป็นการทำลายชีวิตคนอื่น

อย่างกรณีนี้เขาให้เงินสนับสนุนเพื่อให้เรามาทำการท่องเที่ยวชุมชน แต่สุดท้ายกลับทำมาแบบนี้ แล้วชีวิตของอีกหลายคนที่อาจไปทำสิ่งอื่นๆ ได้ เพื่อนผมหลายคนที่ต้องลาออกมาเพื่อทำหน้าที่ตรงนี้ เขาจะรับผิดชอบอย่างไร

นี่คือความจริงที่ทุกคนควรจะรับทราบ ชีวิตของผมเองก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะต่อต้าน ดังนั้น หากถามว่าจะเดินต่อไปได้แค่ไหน ก็คงต้องเดินต่อไปตามกำลังที่มี

 

จุดเริ่มต้นของ Trawell บริษัทเพื่อธุรกิจและชุมชน

ความย้อนแย้งและก้าวต่อไปในอนาคต

pra01030959p3

“ความจริงจุดเริ่มต้นของ Trawell มาจากการชนะเลิศสุดยอดการประชุมผู้นำเยาวชนของโลก หรือ One Young World ในปลายปีที่แล้ว

“ซึ่งได้เสนอโมเดลของการพัฒนาเมืองด้วยการท่องเที่ยว แกนหลักคือการพัฒนาเมือง แกนรองคือการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ”

นี่คือสิ่งที่ศานนท์ได้เริ่มต้นพูดถึง Trawell ก่อนที่เขาจะเสริมต่อว่า มันเป็นแนวคิดที่ว่าถ้าการท่องเที่ยวจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงใช้คำว่า Travel ซึ่งแปลว่าการท่องเที่ยว รวมกับคำว่า Well ซึ่งแปลว่าดี พยายามสร้างธุรกิจที่คนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยนอกจากเป็นการทำให้ชุมชนดีขึ้น ยังเป็นการทำให้วัฒนธรรมต่างๆ คงอยู่ต่อไปอีกด้วย

“หัวใจสำคัญที่ทำให้เราชนะได้ เป็นเพราะเราสามารถทำให้สิ่งที่จับต้องเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ ผ่านทางการเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในชุมชน และในระยะยาวจะส่งผลดีและยั่งยืนแก่ชุมชน”

ศานนท์เล่าว่า ตอนนั้นเขาและเพื่อนได้ลงพื้นที่สำรวจและเลือกพื้นที่ 4 จุดที่เห็นถึงศักยภาพ ได้แก่ ชุมชนบ้านบาตร, ชุมชนนางเลิ้ง, ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ และชุมชนป้อมมหากาฬ โดยแต่ละชุมชนต่างมีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว

“พอชนะผมก็ต้องทำในตามโมเดลที่ชนะมา ซึ่งเงินรางวัลที่นำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์จนถึงทุกวันนี้ก็เป็นเงินของรัฐ ป้ายทุกอย่างในชุมชนก็เป็นเงินของรัฐ

“ดังนั้น มันจึงเป็นความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น ในขณะที่มีการให้เงินเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันก็มีไล่รื้อเกิดขึ้น”

แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหาที่เกิด ศานนท์ยังคงยืนยันที่จะทำ Trawell กับชุมชนอื่นๆ ต่อไปที่ได้มีการวางแผนเอาไว้ พร้อมยืนยันแนวทางว่าไม่ได้มีการต่อต้าน ไม่มียุยงให้ใช้ความรุนแรง ทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ดึงศักยภาพของชุมชนออกมา และเมื่อวันใดที่รัฐมีโครงการใดๆ ก็พร้อมที่จะเสนอทางออก

“อย่างในเพจมหากาฬโมเดล ก็ไม่พูดถึงเรื่องต่อต้านเลย ไม่มีการด่าว่ารัฐ ไม่มีคำหยาบใดๆ เราพูดถึงแต่ศักยภาพของชุมชน แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว พูดแต่ในด้านบวก นั่นคือสิ่งที่เราจะทำต่อไป” ศานนท์ทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image