คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : สื่อใหม่สื่อเก่าในคลื่นดิจิทัล

ในบรรดาชนเผ่าก้มหน้า (อยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน) ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก นับว่าชนเผ่าก้มหน้าสัญชาติไทยใช้เวลาอยู่กับมือถือมากไม่แพ้ชาติใดในโลก ดีไม่ดีติดท็อปไฟว์ท็อปเท็นด้วยซ้ำไป โดยเฉลี่ย 224 นาทีต่อวัน หรือเกือบสี่ชั่วโมง และหนึ่งในสาม หรือประมาณ 70 นาที อยู่กับแอพพลิเคชั่น “ไลน์” (ข้อมูลนี้เผยแพร่และได้รับการคอนเฟิร์มโดยไลน์เอง)

แม้จะเป็นแอพพลิเคชั่นที่คนใช้เวลาด้วยค่อนข้างมากแล้ว แต่ “ไลน์” ต้องการมากกว่านั้น ว่าแล้วจึงประกาศผันตนเองจากแอพพลิเคชั่น “แชต” เป็น “แพลตฟอร์ม” ด้วยการพัฒนารูปแบบบริการใหม่ๆ ที่หลากหลาย (มาก) ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ทั้งองค์กรธุรกิจและคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นด้านอีคอมเมิร์ซ, เกม, ทีวี, เพลง เป็นต้น

ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อทำให้คนอยู่กับ “ไลน์” นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยคิดใหญ่ว่าจะมีทุกสิ่งให้ครบจบทุกความต้องการได้ในที่เดียว

แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ “ไลน์” ที่คิดเช่นกัน ในแต่ละวันจึงมีแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เฉพาะในแอพพ์สโตร์ ปัจจุบันมีมากกว่า 2 ล้านแอพพลิเคชั่น เพิ่มขึ้นถึง 5 แสนแอพพ์ภายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่ท่ามกลางมหาสมุทรแอพพลิเคชั่นโดยเฉลี่ยแล้วจะมีแค่ 39 แอพพ์เท่านั้นที่มีโอกาสเข้าไปอยู่ในมือถือ แต่มีน้อยกว่านั้นมาก แค่ 4 แอพพ์เท่านั้นที่มีการใช้งานบ่อยๆ

Advertisement

แม้ “ไลน์” จะไม่ได้ต้องการเป็นแค่แอพพ์แชต หรือแค่ “สื่อ” (มีเดีย) แต่ถ้ามองในฐานะ “สื่อ” ต้องยอมรับว่าเป็น “สื่อ” ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ จากจำนวนฐานสมาชิกกว่า 33 ล้านราย

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัทวิจัยทีเอ็นเอส เพิ่งเปิดเผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในปี 2559 ว่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 9,883 ล้านบาท เติบโตขึ้น 22% จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่สื่ออื่นติดลบประมาณ 8% โดยเฉพาะในครึ่งปีแรก มีการใช้จ่ายเงินผ่านสื่อดิจิทัลไปแล้ว 4,732 ล้านบาท และคาดว่าในครึ่งปีหลังจะมากกว่าครึ่งปีแรกด้วย

การเติบโตของการโฆษณาในสื่อดิจิทัล ไม่ได้เกิดจากการเพิ่มงบโฆษณาโดยรวม แต่เป็นการโยกงบจากสื่อเดิมมาลงในดิจิทัล

ทีนี้มาดูกันต่อว่า อุตสาหกรรมใดที่มีแนวโน้มว่าจะใช้เงินโฆษณาไปกับสื่อดิจิทัลมากที่สุด

อันดับแรกคือ กลุ่มยานยนต์ ที่ 1,011 ล้านบาท แซงหน้ากลุ่มสื่อสารซึ่งเคยเป็นผู้นำมาโดยตลอดไปได้

ถัดมาเป็นกลุ่มเครื่องประทินผิว 974 ล้านบาท และอันดับสาม กลุ่มสื่อสาร ที่ 915 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ 627 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม 529 ล้านบาท

โดยกลุ่มเครื่องประทินผิวมีแนวโน้มในการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่มในมูลค่าสูงสุดเทียบจากปี 2558 โดยใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 379 ล้านบาท

เมื่อแจกแจงลงไปจะพบด้วยว่า “เฟซบุ๊กและยูทูบ” กวาดเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลไปมากที่สุด

โดยการลงโฆษณาใน “เฟซบุ๊ก” ได้รับความนิยมสูงสุด ด้วยส่วนแบ่ง 29% ของงบโฆษณาทั้งหมด หรือ 2,842 ล้านบาท และมียอดการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 49%

ส่วน “ยูทูบ” อยู่ที่ 1,663 ล้านบาท

ขณะที่ “ไลน์” ทำได้ดีในแง่การเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 131% หรือคิดเป็นมูลค่า 463 ล้านบาท

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ยังประเมินด้วยว่า ในปี 2559 นี้ เม็ดเงินที่ลงมาในโฆษณาดิจิทัลจะมีสัดส่วนประมาณ 8% ของงบโฆษณารวมทั้งหมด และคาดอีกว่าในปีหน้า 2560 จะมีโอกาสไปถึง 10% หรือทะลุหมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน เพราะแบรนด์สินค้าต่างๆ มีความพร้อมที่จะโยกเม็ดเงินจากสื่อเดิมมายังสื่อดิจิทัลมากขึ้น หากแต่ยังขาดข้อมูลสนับสนุนที่จะช่วยในการตัดสินใจ

ปัจจุบัน สื่อดิจิทัลมีบทบาทต่อผู้บริโภคในการสร้างการรับรู้ ทั้งต่อตราสินค้า บริการ และต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จากความนิยมในการใช้งานสมาร์ทโฟนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้แบรนด์สินค้าเริ่มหันมาใช้งบไปกับโฆษณาดิจิทัล ก็เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค พร้อมทั้งมีเป้าหมายในการสร้างยอดขาย และการเพิ่มขึ้นของลูกค้าเป้าหมายไปพร้อมกัน

โดยสื่อโฆษณาดิจิทัลมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดผู้ใช้อินเตอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด ยิ่งชนเผ่าก้มหน้าใช้เวลาอยู่กับหน้าจอในมือ (ถือ) ยาวนานขึ้นแค่ไหน สื่อดิจิทัลก็จะแทรกซึมเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้นเท่านั้น

แบรนด์สินค้า ธุรกิจต่างๆ และสื่อดั้งเดิมทั้งหลายจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น หากไม่อยากโดนกลืนให้จมหายไปในมรสุมคลื่นดิจิทัลที่กำลังถาโถมเข้ามา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image