Mr.Zero (คนหมายเลขศูนย์) หนังการเมือง และเรื่องชีวิต ของ นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์

“Mr.Zero (คนหมายเลขศูนย์)” เป็นหนังสั้นประเภท Documentary, Experimental ความยาว 41.10 นาที บอกเล่าชีวิตของ บัณฑิต อานียา นักเขียนและกวีที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองร้ายแรง โดยดำเนินเรื่องเคลื่อนไปกับหนังสือ คนหมายเลขศูนย์ ซึ่งเขาเป็นผู้เขียน

ไม่เพียงแต่เป็นหนังสั้นที่กล้าหาญแตะประเด็นสุ่มเสี่ยงในสังคมอันเปราะบาง แต่หนังยังเล่าเรื่องได้อย่างดีเยี่ยมและงดงามจนคว้าชนะเลิศรางวัล ดุ๊ก สำหรับภาพยนตร์สารคดี พร้อมคำชื่นชมท่วมท้นที่ตามมาภายหลัง

ในแง่ที่ว่า หนังไม่ได้มุ่งเน้นเล่าชีวิตการต่อสู้ทางการเมืองของบัณฑิต อานียาแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มันบอกเล่าถึงภาวะการถูกกระทำในมิติอื่นๆ ของชายผู้นี้-ทั้งจากสภาพแวดล้อม สังคม ไปกระทั่งภายในหัวจิตหัวใจของบัณฑิตเอง

Mr.Zero (คนหมายเลขศูนย์) เป็นผลงานการกำกับของ นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ (ตัง) และผู้กำกับร่วม ชวัลรัตน์ รุ้งแสงเจริญทิพย์ (เฟม) เพื่อทำส่งเป็นธีสิสของนักศึกษาปีที่ 4 สาขาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

ตัง-นัชชา ยิ้มเขินๆ เมื่อถูกถามถึงนามสกุลอันคุ้นหูนั้น

“คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นคุณลุงค่ะ คือคุณพ่อ (พรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) เป็นน้องชายของเขา เราเลยมีศักดิ์เป็นหลานคุณวันชัย”

การที่เติบโตมาในครอบครัวที่เปิดพื้นที่ให้ถกเถียงและพูดคุยกันอย่างเปิดเผยในทุกประเด็นนั้น ไม่น่าแปลกที่นัชชาจะสนใจและลงมือทำเรื่องการเมืองซึ่งนับว่าเสี่ยงยิ่งกว่าเสี่ยงในบรรยากาศบ้านเมืองอันอุดอู้และไม่พูดไม่จาต่อกันแห่งนี้

Advertisement

“ถ้าไม่ได้โตมากับการอยู่ในครอบครัวที่พูดเรื่องการเมือง พาไปงาน 14 ตุลาหรือ 6 ตุลา เราคงไม่ได้เป็นแบบนี้”

“ก็อาจจะกลายเป็นคนที่รู้และเห็นว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ปัญหานี้ แต่ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับกู ทำนองนั้น”

Mr.Zero (คนหมายเลขศูนย์) คือหลักฐานอย่างดีที่บอกชัดเจนว่า นัชชาไม่เพียงแต่สนใจการเมืองอย่างผิวเผินอย่างสีเสื้อหรือทัศนคติบางอย่าง แต่เป็นการแสดงให้เห็นอำนาจอันทับซ้อนมากมายประดามีที่แอบซ่อน พรางตัวอย่างแนบเนียนอยู่ในสังคม

นี่อาจไม่ใช่เพียงแต่ชวนนัชชามาคุยเรื่องหนัง แต่มันยังไปถึงการพูดคุยเรื่องราวการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เอื้อให้อำนาจนิยมมีบทบาทขึ้นเช่นนี้

 

ทำไมสนใจทำหนังเกี่ยวกับคุณบัณฑิต?

เราสนใจทำประเด็นการเมือง เลยเดินดุ่มไปที่ไอลอว์ถามว่ามีเคสไหนน่าสนใจ เขาแนะนำลุงบัณฑิต เพราะลุงคุยง่ายและเปิดมากกว่าคนอื่น ได้ลองไปสัมภาษณ์ลุง ตอนแรกยังไม่แน่ใจว่าจะทำเรื่องนี้ดีไหม คิดหนักอยู่เหมือนกัน แต่พอได้ไปบ้านลุงบัณฑิตลองศึกษาลึกซึ้งจริงจัง เริ่มศึกษาชีวิตเขา เห็นหนังสือที่เขาเขียน ได้คุยกับเพื่อนเขาหลายคน มีเพื่อนเขาคนหนึ่งที่รู้จักกันมา 20 ปีแล้ว แนะนำหนังสือของลุงบัณฑิตเรื่อง “คนหมายเลขศูนย์” เขาบอกว่าชอบหนังสือเล่มนี้มาก สนุก ดูเกี่ยวข้องกับชีวิตของลุงบัณฑิตด้วย แต่ตอนเขียนลุงบัณฑิตอาจจะไม่ได้คิดว่าตรงกับชีวิตตัวเอง พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกว่า…ใช่

ก่อนหน้านี้ไม่เคยอ่านหนังสือของคุณบัณฑิต?

ไม่รู้จักเขามาก่อนค่ะ ไม่รู้ด้วยว่าเขาเป็นนักเขียน

ทำไมสนใจประเด็นการเมือง?

อาจจะมาจากหลายสาเหตุ ก็อ่านหนังสือบ้าง สนใจการเมืองตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย ตอนที่ทำหนังเรื่องนี้เมื่อประมาณปีที่แล้ว สถานการณ์การประท้วงของนักศึกษากำลังรุนแรง เรารู้สึกอยากมีส่วนร่วมในนั้นแต่เราไม่ไช่คนที่จะไปทำแบบนั้นได้ ไม่ใช่แนวปลุกระดม ช่วงนั้นจะมีคดีการเมืองเยอะ เราเห็นผ่านเฟซบุ๊กของไอลอว์และสำนักข่าวประชาไท แต่ละเคสดูมีความน่าเศร้าใจ เหมือนเราเห็นภาพสะท้อนสังคมไทย อำนาจที่พยายามกดทับความคิดและการแสดงออก โดยที่คนทั่วไปไม่สามารถต่อต้านได้เลย สร้างความกลัวให้ทุกๆ คน เลยอยากลองว่าจะทำประเด็นหนักแบบนี้ออกมายังไง

มองงานเขียนของคุณบัณฑิตยังไง?

ความจริงเรื่องคนหมายเลขศูนย์นี้ลุงบัณฑิตเขียนเอง แต่เขาจะบอกว่าแปลมาจากคนอื่นอีกทีหนึ่ง ลุงบอกว่าพอพูดว่าแปลมาหนังสือจะขายดี แต่พอบอกว่าเขียนเองจะไม่มีใครอ่าน เราชอบผลงานของลุง มีความแหกขนบไม่เหมือนนักเขียนคนอื่น ลุงเป็นตัวของตัวเองสูงมาก เชื่อมั่นในตัวเอง คิดยังไงก็เขียน ไม่แคร์ว่าสังคมจะคิดยังไงทั้งกับตัวลุงและงานเขียนของลุงเอง แสดงออกมาได้เต็มที่และเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนเข้าใจโลก เข้าใจความรู้สึกของคน

เรื่องที่เลือกมาทำคือคนหมายเลขศูนย์ พูดถึงชีวิตของจอห์น เลนนอน ไม่รู้ว่าลุงศึกษาเรื่องนี้มาจากไหน ลุงมีความละเอียดลออในเรื่องความรู้สึก

คุณบัณฑิตได้ฉายาว่า “กึ่งบ้า กึ่งอัจฉริยะ” ได้สัมผัสแล้วเป็นยังไง?

ตอนทำงานลุงน่ารักมาก บอกอะไรทำหมดเลย บอกว่าอยากได้ฉากลุงอาบน้ำ ตอนแรกให้ลุงถกกางเกงขึ้นมา ปรากฏว่าติดในกล้อง ลุงก็บอกว่าไม่เป็นไร ลุงมีกางเกงในสีดำตัวใหม่ ไปหยิบมาแล้วให้ถ่าย แล้วจะมีฉากต้องเดินขึ้นเขา ชันมากและไกล ลุงจะเหนื่อย เลยบอกว่าถ้าลุงไม่ไหวไม่ต้องถ่ายฉากนี้ก็ได้ค่ะ ลุงบอกว่าไม่เป็นไร ลุงทำให้ หนูประทับใจมาก แต่ก็มีส่วนที่ลุงย้ำคิดย้ำทำ มีความเป็นตัวเอง เป็นคนมั่นใจ

เราเคยเถียงกับลุงบ้าง สุดท้ายลุงก็ยอม เช่น จะให้ลุงพูดบทโมโนล็อกที่เราเขียนมาซึ่งก็เอามาจากหนังสือของลุงนั่นแหละ แต่ลุงบอกว่ามันไม่ใช่นะ ลุงไม่อยากพูด ไม่ใช่สิ่งที่เขาเขียน เราก็ต้องเอาหลักฐานมายืนยันว่าลุงเขียนแบบนี้ค่ะ ลุงก็ยอม บางทีก็เถียงกันเรื่องการเมืองเรื่องศาสนา แกดื้อบางทีเราก็ยอม

DSCF4818

ทำไมเลือกถ่ายแบบสารคดีไม่ใช่ฟิกชั่น?

อยากออกกองเล็ก เป็นสารคดีจะเหมาะกว่า เพราะทำกันแค่สองคน เราแค่ต้องการไปศึกษาชีวิตของคนคนหนึ่งแล้วตีแผ่ให้คนอื่นได้รู้ โดยมีประเด็นเชิงการเมืองเกี่ยวข้องด้วย ชีวิตลุงบัณฑิตเหมือนสัญลักษณ์การถูกกดขี่ ตั้งแต่เด็กจนแก่ถูกกระทำจากพ่อ คนรอบข้าง ถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด

งานนี้ทำเป็นวิทยานิพนธ์กับเพื่อนอีกคน อาจารย์ให้อิสระตั้งแต่แรกที่เสนอโปรเจ็กต์นี้ แต่เขาจะถามถึงกระบวนการทำงาน ว่าเราจะทำได้สำเร็จแน่ๆ ไหม แต่ปล่อยให้เราทำเต็มที่ ตอนแรกที่เสนออาจารย์ เราบอกว่าอยากทำสารคดีเชิง Poetic ผสมหนังทดลอง พยายามหาแนวทางแปลกใหม่ที่ไม่ใช่การเล่าตรงๆ ไปสัมภาษณ์โต้งๆ พอได้อ่านหนังสือลุงเราเริ่มรู้สึกคลิกกับเรื่องราวในชีวิตของลุง จึงเอาสองเรื่องนี้มารวมกันได้ พออ่านหนังสือลุงบัณฑิตแล้ว เราก็เลือกทำแบบมีความเป็นศิลปะ ทำให้ตีความได้หลายแง่มุม คุณไม่ต้องตีความเหมือนกันก็ได้ถ้าคุณไม่คิดแบบนั้น

หนังเรื่องนี้ใช้เวลาทำนานแค่ไหน?

รวมทุกกระบวนการใช้เวลาประมาณหนึ่งปี แต่จะมีช่วงเว้นไปบ้าง รีเซิร์ชอยู่ครึ่งปี อ่านบทความของอาจารย์หลายๆ คน อ่านข่าว อ่านเว็บไซต์ไอลอว์ และอ่านหนังสือของลุงบัณฑิตที่เขียนไว้ 50 กว่าเล่ม แต่เราอ่านได้ 15 เล่ม

“…เราแค่ต้องการไปศึกษาชีวิตของคนคนหนึ่งแล้วตีแผ่ให้คนอื่นได้รู้ โดยมีประเด็นเชิงการเมืองเกี่ยวข้องด้วย.”

“ชีวิตลุงบัณฑิตเหมือนสัญลักษณ์การถูกกดขี่ ตั้งแต่เด็กจนแก่ถูกกระทำจากพ่อ คนรอบข้าง ถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด…”

 

ขั้นตอนหลังจากนั้น?

จากนั้นเราก็ไปติดตามชีวิตลุง ไปอาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง อยู่กับลุงก็สร้างบทไปด้วยเก็บฟุตเทจไปด้วย ตามลุงไปที่ต่างๆ ลุงไปดูหนัง ไปคุยกับเพื่อน ไปร้านหนังสือ ไปผับหรือบาร์เหล้า เราก็ตามไป และเริ่มได้ไอเดียจากเหตุการณ์เหล่านี้ เอามาโยงกับเหตุการณ์ในหนังสือ และเขียนเป็นบทขึ้นมา

พอได้บทแบบสำเร็จมาแล้ว ก็ Reenacted ถ่ายให้มีความเป็นภาพยนตร์มากขึ้น มีถ่ายใหม่บ้าง ซึ่งลุงก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ถ่ายทำกันที่ไหน?

บ้านลุงอยู่ที่หนองแขม กรุงเทพฯ ไปบ่อยมาก ลุงเขาอยู่คนเดียวด้วย แต่ก็มีไปถ่ายต่างจังหวัดด้วย เป็นฉาก Poetic ที่เราแต่งขึ้นมาใหม่ ไม่ได้เกี่ยวกับในชีวิตประจำวันลุง ไปถ่ายที่เชียงดาว ตอนนั้นลุงนัดเจอเพื่อนที่เชียงใหม่ เรากับเพื่อนก็เลยตามไปด้วย ง่ายๆ อย่างนั้นล่ะ (ยิ้ม)

คิดว่าหนังตัวเองดูยากไหม?

เราว่าถ้าคนที่ติดตามสถานการณ์การเมืองน่าจะไม่ยากนะ แต่ถ้าคนที่ไม่ติดตาม สมมุติเขาไม่รู้เรื่อง 14 ตุลา, 6 ตุลา หรือกระทั่งในปัจจุบัน ก็อาจจะไม่คลิก ไม่โดน อย่างรุ่นน้องเราที่คณะก็ถามว่าทำไมต้องเป็นจอห์น เลนนอน ล่ะ เขาไม่เก็ตเลย ตอนนี้คนที่ดูส่วนใหญ่เป็นคนที่คิดแบบเดียวกับเราอยู่แล้ว เลยอาจไม่เห็นผลว่าจะเปลี่ยนคนที่คิดต่างได้ไหม ส่วนคนที่เห็นด้วยพอดูเขาก็ยิ่งอินยิ่งรู้สึกอยู่แล้ว

คาดหวังกับหนังแค่ไหน?

จริงๆ ไม่ได้คาดหวังกับมันตั้งแต่แรก เป็นความรู้สึกอยากทำ แค่นั้นเลยในตอนแรก แต่พอเป็นแบบนี้ก็คิดว่าถ้ามันได้ไปไกล ให้คนทั่วไปได้ดูลองฉุกคิดกับประเด็นนี้ก็ดีนะ

คิดจะทำให้หนังไปสู่วงกว้างขึ้นไหม?

เคยคุยกับอาจารย์และพวกพี่โปรดิวเซอร์ที่ทำหนัง เขาบอกให้ส่งไปเทศกาลเยอะๆ ถ้าหนังไม่ได้รางวัลคนก็ไม่สนใจหรอก ต้องได้รางวัลจากเมืองนอกถึงจะเป็นข่าวขึ้นมา ก็คงทำแบบนั้นเผื่อหนังจะได้รางวัลอื่นต่อไป

รู้ตัวว่าชอบหนังตั้งแต่เมื่อไหร่?

จริงๆ เราเคยเรียนการละครมาก่อน เอกการแสดง ที่ธรรมศาสตร์นี่แหละค่ะ ไม่เคยคิดเลยว่าจะมุ่งมาสายหนัง ตอนแรกก็อยากเป็นผู้กำกับละครเวที แต่เจอสังคมอีกประเภทหนึ่งแล้วเรารู้สึกไม่ใช่ เลยซิ่ว แล้วมาสายนี้แทน เพราะตอน ม.6 ก็มาสอบตรงเข้าคณะละครเลย ช่วง ม.ปลาย เราไปเข้าค่ายกับคณะละครมะขามป้อม โครงการละครเพื่อความเปลี่ยนแปลง แล้วก็รู้สึกสนใจ เริ่มเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่ตอนนั้น

DSCF48166

ชอบดูหนังฟังเพลงแบบไหน?

(คิด) ก็คงอินดี้ค่ะ ไม่ใช่หนังหรือเพลงที่แมสมาก อย่างหนัง ชอบ The Tree of Life (2011) แล้วก็เอาเรื่องนี้เป็นเรฟเฟอเรนซ์แรกสุดที่เสนออาจารย์ แต่จริงๆ ก็ออกมาไม่เหมือนหรอก (หัวเราะ) คือเล่าเรื่องด้วยภาพ ถ้าเป็นผู้กำกับญี่ปุ่น เราชอบฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ที่กำกับ Nobody Knows (2004), Still Walking (2008) ส่วนหนังสือชอบ 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

การสนใจเรื่องทางความคิดหรือการเมือง มีผลจากสิ่งแวดล้อมไหม?

ถ้าพวกเพื่อนๆ จะไม่ได้หนักหน่วงกับเรื่องการเมือง จะมีเราที่โดดออกมา คิดว่าครอบครัวเป็นหลักที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะพ่อเป็นคนสนใจการเมืองอยู่แล้ว เขาจะเล่าเรื่องการเมืองให้ฟังตั้งแต่เด็ก พาไปงาน 14 ตุลา 6 ตุลา ที่ท่าพระจันทร์ ที่บ้านคุยเรื่องการเมืองกันประจำ คุยทุกเรื่อง ถกกันยาวเลย บางทีเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด แต่มันก็ดีนะ

ส่วนใหญ่ในสังคมไทยจะไม่ชอบให้เด็กเถียงผู้ใหญ่

คิดว่าเป็นการปลูกฝังจากการศึกษาเลย ตอนเด็กๆ เราก็ไม่กล้าเถียงครู ไม่กล้าทำผิดกฎ แต่พอยิ่งโต เราก็ยิ่งรู้สึกว่าเรามีชีวิตเป็นของตัวเอง มีความคิดเป็นของตัวเองได้ ตอนมัธยมปลายก็เริ่มเถียงอาจารย์ ไม่รู้ว่าอะไรทำให้เราเปลี่ยนไปเป็นแบบนั้น แต่เด็กควรจะตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากกว่านี้ว่าครูไม่มีสิทธิมาตีหรือฉีกการบ้านเด็ก

วิธีคิดแบบนี้ทำให้อยู่ในสังคมยากไหม?

ตอนเถียงอาจารย์อาจจะมีเพื่อนสนับสนุนด้วยเลยไม่เครียดเท่าไหร่ แต่ตอนที่รับน้องที่ศิลปกรรมการละคร มีการว้าก เราก็โพสต์เฟซบุ๊กในกรุ๊ปที่มีรุ่นพี่รุ่นน้องว่าเราไม่เห็นด้วย ธรรมศาสตร์ไม่สอนเรื่องการว้าก กลายเป็นว่าโดนรุ่นพี่แบน โดนทุกคนแบน เป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายอย่างหนึ่ง รุ่นพี่เรียกเราไปคนเดียวยืนล้อมแล้วถามว่าทำไมถึงต่อต้านการรับน้อง ทำให้เรารู้สึกกดดันและไม่ปลอดภัย อีกรอบหนึ่งอาจารย์เรียกประชุม มีรุ่นพี่มาด้วย เราก็ลุกขึ้นพูดว่าไม่พอใจที่รุ่นพี่ทำแบบนี้ สุดท้ายโดนเกลียด อาจารย์เขาก็รับรู้นะแต่ทำอะไรไม่ได้ ทั้งที่คนเรียนศิลปะนี้ควรมีเสรีภาพ เปิดโอกาสให้แสดงไอเดีย จะมีช่วงที่แรงๆ แค่ตอนรับน้องเท่านั้น จากนั้นเบาลง แต่เราก็ซิ่วออกมา

สิ่งที่อยากบอกเกี่ยวกับหนัง Mr.Zero?

เอาหนังเราไปฉายได้เลย ยินดี (ยิ้ม) ไม่หวงเลย จัดเสวนาอะไรก็เอาไปฉายได้ เต็มที่เลย

สุดท้ายที่บอกว่าคุณบัณฑิตดื้อ แล้วคิดว่าตัวเองดื้อไหม?

ดื้อ (หัวเราะ) ไม่งั้นสู้ลุงไม่ได้ ลุงไม่ยอม ขี้เถียงมาก แล้วเหมือนเราพยายามบอกเหตุผลแต่แกก็เถียงกลับเรื่องเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image