คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : เติมพลังชุมชน

งานเสวนาของ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เกี่ยวกับซีเอสอาร์ของภาคธุรกิจที่ทำเพื่อชุมชนเสร็จสิ้นลงไปแล้ว

บริเวณหน้างานเสวนาที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อวันก่อน มีนิทรรศการจัดแสดง

นิทรรศการดังกล่าวมองแล้วสะดุดตา เพราะแต่ละองค์กรให้ความสำคัญกับชุมชน

เริ่มจาก มูลนิธิปิดทองหลังพระ ลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ แล้วเติมพลังให้ชุมชนได้ลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง

Advertisement

ถัดไปพบ โครงการทรูปลูกปัญญา ที่ช่วยติดอาวุธทางความรู้ให้เด็กและเยาวชน

และนอกจากทรูแล้ว ยังมีภาคเอกชนอื่นๆ แบ่งโซนช่วยกันดูแลโรงเรียนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

ไม่ว่าจะเป็น ทรู ไทยเบฟ ปตท. เอสซีจี แบงก์กรุงเทพ แบงก์ใบโพธิ์ ซีพีเอฟ ซีพีออลล์ ไทยยูเนี่ยน เซ็นทรัลกรุ๊ป บีเจซี

Advertisement

แต่ละบริษัทกระจายไปดูแลโรงเรียนในคลัสเตอร์ต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 18 คลัสเตอร์

เดินไปอีกหน่อย พบกับซุ้มของ อีซูซุ นำโครงการน้ำเพื่อชีวิตมาเผยแพร่

โครงการนี้กำเนิดขึ้นเพื่อช่วยโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำ

ช่วยให้โรงเรียนเหล่านั้นมีน้ำใช้

โครงการนี้เกิดขึ้นจากพนักงานตรีเพชรอีซูซุฯ ที่อยากช่วยเหลือชนบท

จากนั้นทำเรื่องเสนอประธานชาวญี่ปุ่น แล้วทั้งพนักงานและประธานก็ร่วมกันทำจนประสบผลสำเร็จไปหลายแห่ง

จัดทำกันไปจนท้ายสุด นอกจากจะเป็นโครงการที่เลิกไม่ได้แล้ว

ยังเป็นอีกหนึ่งปณิธานที่อีซูซุตลอดจนบริษัทในเครือประกาศจะดำเนินการต่อไปจนกว่าจะไม่มีโรงเรียนขาดแคลนน้ำ

ซุ้มสุดท้ายที่พบ คือซุ้มของโครงการกาแฟ “มีวนา” ซึ่งใช้กลยุทธ์ปลูกต้นกาแฟรักษาป่าต้นน้ำ

โครงการนี้มีบริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นโต้โผ

มีเป้าหมายคือรักษาป่าต้นน้ำ

วิธีการคือชักชวนชาวเขาที่จังหวัดเชียงราย ให้ปลูกกาแฟ

กาแฟที่ปลูกก็มีจุดขาย คือ ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรี

พื้นที่ที่ปลูกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์

เมื่อได้เมล็ดกาแฟมา บริษัทจะรับซื้อ แล้วนำไปขาย

โครงการนี้ทำให้ชาวเขามีรายได้ ไม่ต้องแผ้วถางป่าเพื่อทำกิน

สุดท้ายป่ายังอยู่ ต้นน้ำยังสมบูรณ์

ส่วนชาวบ้านก็มีรายได้เพิ่ม

วันนั้นมีโอกาสชิมกาแฟอาราบิกาที่นำมาเสิร์ฟ…ดื่มแล้วรู้สึกอร่อย

รสชาติกาแฟ…ไม่เป็นรองใคร!

หลังเดินดูครบ ได้ย้อนกลับมาที่มูลนิธิปิดทองหลังพระอีกครั้ง

คราวนี้เดินอ่านข้อมูลที่นำมาแสดงนิทรรศการ

แต่ละบอร์ดแสดงความคืบหน้าโครงการในจังหวัดต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ

อืม…มีอยู่หลายจังหวัด

ที่จังหวัดน่าน มูลนิธิได้น้อมนำพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ไปใช้

ดึงชาวบ้านในอำเภอสองแคว ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ ร่วมสร้างสรรค์

จับมือกันบริหารแหล่งน้ำ เพิ่มผลผลิตข้าว จัดตั้งกองทุนชุมชน ส่งเสริมการแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์

6 ปีผ่านไป ชุมชนที่นั่นมีรายได้เพิ่มจากการขายข้าวและปศุสัตว์

ตั้งกองทุนชุมชนได้ 10 กองทุน มีเงินก้นถุงอยู่ราว 2.7 ล้านบาท

อีกบอร์ดโชว์ผลสำเร็จที่จังหวัดอุดรธานี

ที่นั่นมูลนิธิปิดทองหลังพระยึดหลัก “ทำเล็ก เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด”

เสริมประสิทธิภาพแหล่งน้ำ ปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มผลผลิตข้าว ส่งเสริมการรวมกลุ่มของชุมชน

6 ปีผ่านไป ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีแหล่งน้ำมากขึ้น

เช่นเดียวกับที่จังหวัดกาฬสินธุ์

มูลนิธิปิดทองหลังพระดึงชาวบ้านมาช่วยขุดลอกคลอง และร่วมกันบริหารจัดการน้ำ

มีโครงการเพิ่มเติมองค์ความรู้ทางการเกษตร ส่งเสริมการปศุสัตว์ และสนับสนุนกลุ่มอาชีพ

3 ปีถัดมาพื้นที่รับน้ำมีมากขึ้น กองทุนเกิดขึ้นหลายแบบ อาทิ กองทุนพืชแปลงรวม กองทุนหมู กองทุนประมง กองทุนจิ้งหรีดทอง กองทุนสัตว์ปีก กองทุนปุ๋ย เป็นต้น

และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ชุมชนประสบความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกัน

วันนี้มูลนิธิปิดทองหลังพระได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปใช้อย่างได้ผล

ได้ผลเพราะเข้าใจศักยภาพของชุมชนว่ามีอยู่อย่างล้นเหลือ

ทั้งศักยภาพทางภูมิศาสตร์ มีดิน มีป่า มีน้ำ มีสัตว์

ทั้งศักยภาพทางภูมิอากาศ ทั้งร้อน ทั้งฝน ทั้งหนาว

ทั้งศักยภาพของชุมชน ที่รักในการเรียนรู้ และแปลงสิ่งที่เรียนไปเป็นวิถีทำมาหากิน

ดังนั้น เพียงไม่กี่ปีที่ดำเนินการ แต่ละชุมชนก็งอกงาม

ยิ่งเมื่อได้รับการเสริมความแข็งแรงจากรัฐ ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน

ความเจริญงอกงามก็มีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ละชุมชนที่เข้มแข็ง แต่ละชุมชนที่พัฒนา ล้วนเป็นชุมชนที่มีโอกาส

โอกาสที่หลายครั้งชุมชนไม่มี

โอกาสที่ชุมชนขาดแคลน โอกาสที่ได้รับการสนันสนุนจากภาคส่วนอื่นๆ

ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งมูลนิธิ เช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระ เป็นต้น

ภาคส่วนต่างๆ ดังว่า คอยทำหน้าที่เติมเต็มพลังให้แก่ชุมชน

ทำให้ชุมชนมีโอกาส ทำให้ชุมชนได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่

เมื่อชุมชนได้โอกาสแสดงฝีมือ…โลกก็เริ่มรับรู้ฝีมือของชุมชน

รับรู้ศักยภาพที่แต่ละชุมชนมีอยู่อย่างเปี่ยมล้น

เหมือนดั่งตัวอย่างที่นำไปแสดงในงานเสวนาของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเมื่อเร็วๆ นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image