คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : แทนที่ภาพเก่าที่น่ากลัวด้วยภาพใหม่สดใสกว่า

ความทรงจำเป็นคุณสมบัติที่เราอยากมีติดตัวไปนานๆ ค่ะ หลายท่านรู้คุณค่าของความทรงจำตอนอายุมากขึ้นแล้วขี้หลงขี้ลืม หรือกระทั่งนักเรียนจะรู้คุณค่าตอนเห็นข้อสอบแล้วคุ้นๆ ว่าเคยอ่านแต่จำไม่ได้ ความทรงจำไม่ใช่เรื่องที่มีเยอะๆ ถึงจะดีค่ะ บางครั้งมากเกินไปก็ก่อปัญหาเหมือนกัน

คุณสุภาพสตรีวัยเกษียณท่านหนึ่งน้ำหนักลดลงกว่า 10 กิโลกรัมภายใน 1 เดือนหลังจากลูกชายเสียชีวิต เธอเล่าว่าลูกชายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้อร้ายในร่างกายแบบที่ลุกลามรวดเร็ว หลังจากเข้าออกโรงพยาบาลหลายเดือน ลูกชายก็เสียชีวิตลงอย่างสงบในอ้อมกอดของเธอ แม้จะผ่านงานศพไปแล้วก็ยังทำใจไม่ได้เนื่องจากลูกชายคนนี้เรียนเก่ง หน้าที่การงานดี เงินเดือนสูง และดูแลพ่อแม่รวมถึงน้องสาวซึ่งเงินเดือนน้อยกว่าด้วยการรับภาระด้านเงินทองทุกอย่างในบ้านไม่ให้ใครต้องลำบาก เธอหวังจะฝากชีวิตไว้กับลูกชายถึงขนาดคิดว่าต่อให้สามีเสียชีวิตไปก่อนก็ไม่เป็นไรเพราะลูกชายคนนี้จะดูแลแม่จนกว่าเธอจะจากโลกไปแน่นอน พอลูกชายจากไปแบบนี้เลยคิดว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ทุกครั้งที่มองไปในบ้านหรือมาโรงพยาบาลซึ่งลูกชายเคยมาพักอยู่ก็จะรู้สึกเศร้ามากจนอยากตายตามลูกชายไปด้วย ภาพที่ติดอยู่ในความทรงจำมีแต่ภาพลูกชายเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลและภาพงานศพ

ชัดเจนว่าเธอมีอาการของโรคซึมเศร้าครบถ้วนจึงเริ่มรักษาด้วยยาค่ะ เมื่ออาการดีขึ้น จุดสังเกตของเธอน่าสนใจมากนั่นคืออารมณ์ดีขึ้น แม้โดยรวมก็ยังเศร้าอยู่แต่ความทรงจำที่มีเกี่ยวกับลูกชายเปลี่ยนไปค่ะ จากภาพลูกชายเจ็บป่วยและภาพงานศพที่วนเวียนอยู่ในหัวเป็นเดือนกลายเป็นภาพลูกชายกลับจากทำงาน วันเงินเดือนออก จ่ายค่าน้ำค่าไฟให้และให้เงินพ่อแม่ไว้ใช้จ่าย ภาพลูกชายพาไปเที่ยว พาไปกินอาหารที่พ่อแม่อยากกิน กระทั่งตอนลูกชายนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลก็บอกแม่ว่าอย่าเป็นห่วงผม ให้แม่ห่วงตัวเองเยอะๆ เพราะถ้าแม่แข็งแรงและมีความสุขเขาก็จะมีความสุขไปด้วย ดังนั้นเธอจึงหันมาจดจำเรื่องดีๆ ของลูกชายบ้าง ความเศร้าที่ลูกจากไปก็ยังเหลืออยู่แต่ทุกครั้งที่เศร้าก็จะคิดถึงภาพตอนลูกชายบอกว่าแม่ไม่ต้องเป็นห่วงก็จะรู้สึกมีแรงฮึดให้เข้มแข็งได้ทุกครั้ง

ความทรงจำเป็นเรื่องที่เราดัดแปลงได้ค่ะ ภาพที่ติดตาอาจจะเปลี่ยนไม่ได้แต่เราสามารถเปลี่ยนการตีความภาพนั้นได้ถ้าใจเราผ่อนคลายมากพอ ทำให้นึกถึงการ์ตูนที่เปลี่ยนภาพระบบโลหิตในร่างกายมนุษย์จากเลือดสีแดงๆ กับเชื้อโรคหน้าตาน่ากลัวเป็นภาพสาวเม็ดเลือดแดงน่ารักกับหนุ่มเม็ดเลือดขาวมหาโหดได้ ถ้าได้อ่านการ์ตูนเรื่องนี้สมัยเรียนวิชาโลหิตวิทยาเชื่อว่าจะเข้าใจและได้คะแนนดียิ่งกว่านี้ค่ะ

Advertisement

“เซลล์ขยันพันธุ์เดือด” เล่ม 1 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์รักพิมพ์ กล่าวถึงการจำลองร่างกายของคนเราเหมือนเมืองเมืองหนึ่ง นางเอกสาวคือเม็ดเลือดแดง เธอประกอบขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังอวัยวะต่างๆ ซึ่งดูเหมือนอีกเมืองหนึ่ง ทันทีที่มีเชื้อโรคบุกเข้าหลอดเลือดมา ลองนึกภาพมีสัตว์ประหลาดบุกเมืองค่ะ หน่วยโจมตีต่างๆ ก็จะเริ่มทำงาน หนุ่มเม็ดเลือดขาวจะดิ่งไปจัดการด้วยมือเปล่าก่อน ถ้าไม่สำเร็จ หน่วยบัญชาการเซลล์ทีผู้ช่วยจะส่งทีมมือปราบเซลล์ทีคิลเลอร์มาสมทบ เซลล์บีช่วยผลิตอุปกรณ์กำจัดเชื้อซึ่งในเรื่องดูเป็นปืนอานุภาพสูง ส่วนสาวแมสต์เซลล์ก็จะปล่อยฮิสตามีนพาให้น้ำท่วมเมือง ผู้เขียนถ่ายทอดหน้าที่เซลล์ออกมาเป็นบุคลิกภาพของคนได้อย่างน่าทึ่งเลยค่ะ นอกจากอ่านสนุกมากแล้ว ตอนจบจำได้เลยค่ะว่าเซลล์ไหนทำงานอย่างไร ความทรงจำที่เห็นเม็ดเลือดเป็นเม็ดเลือดสมัยเรียนถูกแทนที่ด้วยหนุ่มสาวหน้าตาน่ารักมากมายทำให้วิชาโลหิตวิทยามีเสน่ห์ขึ้นเยอะค่ะ

การแทนที่ความทรงจำโดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับความกลัวสามารถรักษาได้นะคะ เรารู้มาเนิ่นนานแล้วว่าหนึ่งในการรักษาความกลัวคือให้เผชิญหน้า วิธีนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า exposure therapy เช่น กลัวการเข้าลิฟต์ก็ให้เผชิญหน้าด้วยการลองเข้าลิฟต์เลย แม้จะดูเป็นวิธีที่สมเหตุสมผลในการรักษาแต่ยังไม่เคยมีใครพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการใดในสมองเป็นพิเศษจนกระทั่งงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology บอกว่า exposure therapy เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองจริง เขาทดลองในอาสาสมัครที่กลัวแมงมุมโดยให้มองภาพแมงมุมแล้วดูว่าระดับการทำงานของสมองส่วนอามิกดาลาซึ่งเกี่ยวข้องกับความกลัวเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หลังจากนั้นจึงรักษาด้วยวิธี exposure therapy คือให้มองภาพแมงมุม 10 นาทีแล้วจึงเปลี่ยนเป็นภาพแมงมุมที่น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ ผลพบว่าในวันที่ 2 ของการวิจัย การทำงานของอามิกดาลาลดลงบ่งบอกว่าระดับความกลัวลดลงแม้ว่าจะเห็นภาพที่เมื่อวานนี้กลัวมากก็ตาม ใจความสำคัญของงานวิจัยนี้คือ “เราเห็นภาพเดิม แต่ความรู้สึกที่มีต่อภาพเปลี่ยนไป”

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนภาพเก่าที่น่ากลัวเป็นภาพใหม่ที่สดใสคือเผชิญหน้ากับภาพเก่าให้ได้ในสถานการณ์ที่เรารู้สึกอบอุ่นใจและปลอดภัยขึ้นค่ะ เช่น มองภาพลูกชายที่เสียชีวิตไปแล้วในขณะที่จิตใจเราปลอดโปร่งหรือดูภาพแมงมุมในตอนที่เราปลอดภัยไม่โดนแมงมุมทำร้ายแน่นอน

Advertisement

ท่านที่อยากลบภาพความทรงจำที่ไม่ดีลองใช้วิธีนี้ดูนะคะ ไม่ต้องลบแต่ให้มองแล้วเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อภาพนั้นแทนค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image