คอลัมน์ ประสานักดูนก : ดูนกเวียดนาม (8): กะรางถิ่นเดียว

บ่ายวันที่ 5 ทริปดูนกเวียดนาม เดือนเมษายน ศกนี้ หลังจากโกยนกเอนเดมิกตัวเด็ดเข้ากระเป๋านกใหม่ Lifer ให้อุ่นใจแล้ว อาทิ นกขัติยาญวน เป้าหมายต่อไปบนเขาลางเบียน คือ นกกะรางถิ่นเดียวชนิดที่สอง นามว่า นกกะรางสร้อยคอดำ Collared Laughingthrush

หากเทียบกับ นกกะรางอกสีส้ม กะรางถิ่นเดียวชนิดแรกที่เก็บเข้ากระเป๋าได้เมื่อวาน เจ้าสร้อยคอดำนับว่ามีเสน่ห์ที่สีสันมากกว่าหน่อย หากชื่อชั้นไม่ด้อยไปกว่ากันเพราะว่าเป็นนกถิ่นเดียวของประเทศเวียดนาม ไม่พบในประเทศอื่นใดบนโลกนี้ จึงเป็นอีกตัวที่ต้องตามมาดู

ด้วยขนาดตัว 36-38 ซม. พอๆ กับนกกะรางหัวหงอกในบ้านเรา หัวสีดำ แก้มสีเงิน ตัดกับสีส้มสด สลับสีเทาอ่อนบนปีกที่แต้มด้วยสีเหลืองทอง ไม่ว่าใครถ้าเป็นนักดูนก ส่องไปพบคงต้องเพ่งมองไม่คลาดสายตา

“นกกะรางสร้อยคอดำ” พบได้เฉพาะในแคว้นอันนัมใต้ของเมืองญวน อาศัยอยู่ในป่าดิบเขา และชายป่าที่มีไม้พุ่มไว้เป็นแหล่งหากิน และหลบภัย เพราะนกกะรางมักจะหากินบนพื้นดินหรือกิ่งไม้เรี่ยพื้น ค้นหาหนอนแมลงเป็นอาหาร แม้ว่าในบางฤดูจะกินลูกไม้ได้เช่นกัน

Advertisement

ตามประสานกกะราง จะอาศัยรวมกันเป็นฝูง เจ้าตัวในภาพเมื่อยามบ่ายที่พบก็มากัน 3 ตัว กระโดดดึ๋งๆ ด้วยท่อนขาและนิ้วตีนแข็งแรง ผลุบโผล่ระหว่างพุ่มไม้ในและขอนไม้ที่ชายป่าริมถนน การส่องดูนกกะราง ต้องใจเย็นอดทน ถ้าจำเสียงร้องได้ กะรางเป็นนกปากเปราะ เพราะเมื่ออาศัยในป่าดิบรกทึบ นกจึงใช้เสียงร้องเป็นภาษาสื่อสารสู่กันในสมาชิกครอบครัวที่อาจจะเป็นเพียงคู่ผสมพันธุ์ หรือมีญาติตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เมื่อได้ยินเสียง นกอีกตัวจะร้องตอบ น่าประหลาดใจที่นกจำเสียงสมาชิกในฝูงของมันได้ แม้บางครั้งจะถูกหลอก ให้ตายใจด้วยเสียงนกที่บันทึกจากเทป

เมื่อนกกระโดดออกมาที่โล่ง มีแสงสว่าง จะมองหาหนอนแมลงได้ง่ายขึ้น ในทางกลับกัน ก็เปิดโอกาสให้ตกเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่าง่ายขึ้นด้วย เพราะจุดที่พบนกกะราง บนฟ้าก็มีนกอินทรีดำ นกนักล่าขนาดใหญ่ประจำป่าดิบในทวีปเอเชีย ร่อนลมโดยไม่กระพือปีก ละเลียดเหนือเรือนยอดไม้อย่างเงียบเชียบ แม้อาหารหลักของนกอินทรีดำจะเป็นลูกนก ไข่ในรัง หรือสัตว์ฟันแทะ อาทิ กระรอก กระแต แต่ถ้านกอื่นๆ เผลอตัว ละเลยการระแวดระวังภัย ก็อาจตกเป็นเหยื่อนักล่าปีกกว้างและยาวคล้ายใบพาย ตัวดำมะเมื่อมได้

เมื่อนกอินทรีดำร่อนผ่านมาใกล้ เสียงนกกะรางก็ดังขึ้นมา คราวนี้ไม่ใช่เสียงตอบโต้เพื่อร้องเรียกหากัน แต่เสียงร้องทำหน้าที่สัญญาณเตือนภัยให้เพื่อนๆ รู้ตัวว่าภัยกำลังมา ต่างก็ตัวใครตัวมัน รีบบินหลบเข้าพุ่มเพื่อหลีกภัย ไม่ใช่เฉพาะนก แม้แต่กระรอก กระแต ยามพบเห็นเหยี่ยว หรือนกอินทรีในป่า ก็จะส่งเสียงร้องเตือนแบบเดียวกัน แสดงว่าสัตว์เหล่านี้เรียนรู้ว่าสัตว์ชนิดใดเป็นภัยตัวฉกาจต่อชีวิตของพวกมัน

Advertisement

ถ้านักดูนกรู้จักสังเกต เงี่ยหูฟังตลอดเวลายามเดินดูนกในป่า เมื่อได้ยินเสียงร้องทักเช่นนี้ เงยหน้ามองฟ้า ก็อาจจะเห็นนกนักล่าร่อนเข้ามาให้ชมรายละเอียดของเงาร่างและขนใต้ปีกอย่างใกล้ชิดครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image