คอลัมน์ เริงโลกด้วยจิตรื่น : วิถีแห่งการ’ปล่อยวาง’

ป็นเรื่องเข้าใจไม่ยาก หากไม่อยากมีความทุกข์ก็แค่ “ปล่อยวาง” ความกังวลของเราไปเสีย

อะไรที่มันหนัก แค่วางลงไม่ต้องแบกรับ ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือทางจิตใจ หากหนักหนาสาหัสให้ “ปล่อย” ให้ “วาง” เสียก็จบ

แม้จะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่นั่นเป็นเรื่องการพูด

กระบวนการในพฤติกรรมของคนเรานั้น มี “คิด พูด ทำ”

Advertisement

แค่ “พูดได้ แต่ทำไม่ได้” ดูจะเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว หากรวมที่ “พูดโดยไม่ได้คิด” เข้าไปอีก “ปล่อยวาง” ท่าจะเป็นเรื่องของการพูดอย่างเดียวกันมากมาย

เป็นการพูดตามๆ กันไป พูดเพื่อปลอบใจคนอื่นทั้งที่แม้แต่ตัวเองไม่คิดว่าจะทำ

“ปล่อยวางเสียบ้าง” เป็นคำที่ดูปลอดโปร่งดี อะไรทำนองนั้น

Advertisement

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะหากพิจารณากันให้ละเอียดลงไป การที่จะเกิดความคิดอย่างจริงจังในเรื่องปล่อยวางนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ยิ่งการแปลงความคิดมาเป็นการลงมือ “ปล่อยวาง” ยิ่งยากขึ้นไปอีก

ชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะในยุคสมัยเช่นนี้ดำเนินในวิถีตรงกันข้ามกับ “ปล่อยวาง” มาตั้งแต่เกิด ถูกสอนให้ “สะสม” ทุกสิ่งทุกอย่างมาตลอดทางของชีวิต

เงินทอง บ้านช่อง ข้าวของเครื่องใช้ทุกสิ่งอย่าง เกียรติยศ ชื่อเสียง

เราถูกนำพาไปในทางให้สะสม ลาภ ยศ สรรเสริญ อยู่ทุกลมหายใจ

“ปล่อยวาง” ที่เป็นวิถีตรงกันข้ามกับ “สะสม” แท้ที่จริงแล้วในวิถีแห่งยุคสมัยเป็นการฝืนความเคยชิน ฝืนแรงกระตุ้นภายใน กลายเป็นความขัดแย้งแปลกแยกในความรู้สึก

เพราะอย่างนี้ “ปล่อยวาง” จึงเป็นแค่เรื่องที่ “พูด” ไปเรื่อยเปื่อย อย่าว่าแต่ “ทำ” ไม่ได้ แค่ “คิด” ยังแทบไม่เคย

เราดำเนินชีวิตกันไปเช่นนี้ จนกว่าจะมีอะไรสักอย่างมากระตุ้นให้มองชีวิตไปอีกทาง

เกิดคำถามในใจถึง “คุณค่าของการสะสม”

“ปล่อยวาง” อาจจะก่อตัวเป็นจริงเป็นจังขึ้นในความคิด

จะทำให้พูดถึง “ปล่อยวาง” อย่างเข้าใจในคุณค่าที่แท้จริง แทนที่แค่พูดๆ ตามกันไปมากขึ้น

แต่กระนั้นก็ตาม แม้จะเปิดประกายที่กระจ่างในคุณค่าของ “ปล่อยวาง” ในความคิด ก็ใช่ว่าที่ว่างนั้นจะแปลสู่การปฏิบัติได้ทันที

จากเคยชินที่จะ “สะสม” ไปสู่ “ปล่อยวาง” นั้นจะต้องอาศัยความตั้งอกตั้งใจ และความอดทนอย่างสูงยิ่ง

อาจจะเริ่มต้นจากยึดมั่นใน “ศรัทธา” อย่างแน่นเหนียว เมื่อ “เชื่อมั่น” ว่า “ปล่อยวาง” เป็นวิถีทีมีคุณค่า จึงบังคับบัญชาชีวิตให้ดำเนินไปตาม “ความเชื่อ” นั้นอย่างมั่นคง ด้วยความพยายามต่อสู้กับ “ความเคยชิน” ที่จะมากดดัน บีบคั้นให้ละเลิกจากการดำเนินชีวิตตามความเชื่อนั้น เป็น “วิริยะ”

รักษา “สติ” อันคือความรู้ตัวไว้กับศรัทธาความเชื่อมั่นให้มั่นคง

จากนั้นบางคนอาจจะพัฒนาไปสู่ “สมาธิ” อันหมายถึงการมี “สติ” อยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันได้อย่างหนักแน่น ไม่ข้องติดกับที่สะสมมาจากอดีต หรือครุ่นคิดจะสะสมในอนาคต

อยู่อย่างเป็นหนึ่งเดียวกับ “ปล่อยวาง”

หรือบางคนอาจจะไปได้ถึงขั้นเกิด “ปัญญา” ที่จะมองเห็นสรรพสิ่งก่อเกิดขึ้นด้วยการประกอบกันด้วยปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามการแปรเปลี่ยนของปัจจัย และเห็นว่าทุกสิ่งอย่างล้วนแล้วแต่เป็นสมมุติที่เกิดขึ้นชั่วขณะตามเหตุแห่งปัจจัยที่มาประกอบทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่คงอยู่ให้ “ยึดถือ” ไว้ได้

และที่สุดจะมองเห็นว่า “ไม่มีอะไรอยู่ให้ยึดถือไว้ได้” เป็นเพียง “มายา” ที่เป็นเหตุให้ “หลงว่ามีอยู่”

เมื่อเห็นเช่นนี้ “ปล่อยวาง” อย่างเข้าใจ หรือ “ปล่อยวางด้วยปัญญาที่แท้” จะเกิดขึ้น

เพียงแต่สภาวะเช่นนี้ จะมีสักกี่คนที่เดินทางไปถึง

แม้เข้าใจและมองเห็นอยู่ตรงหน้า แต่ที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับ “สภาวะปล่อยวาง” นั้นจะมีสักกี่คน

ที่เห็นและเป็นไปส่วนใหญ่ เกิดและตายไปกับสภาวะจิตที่ครุ่นคิดสะสมไม่รู้หยุดหย่อนแทบทั้งนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image