เลาะ‘แคมป์ก่อสร้าง’ ในวัน‘โควิด’อาละวาด สะเทือนเศรษฐกิจ-ชีวิตคนงาน

เลาะ‘แคมป์ก่อสร้าง’ ในวัน‘โควิด’อาละวาด สะเทือนเศรษฐกิจ-ชีวิตคนงาน

เลาะ‘แคมป์ก่อสร้าง’
ในวัน‘โควิด’อาละวาด
สะเทือนเศรษฐกิจ-ชีวิตคนงาน

เกินจะต้านไหว “สถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพมหานคร” ท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ที่ได้กลายเป็นโดมิโนไปทุกหย่อมหญ้า
ล่าสุด “คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง” ในซอยแจ้งวัฒนะ 5 เขตหลักสี่ ไซต์ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มีแรงงานติดเชื้อ 1,107 คน จากทั้งหมด 1,667 ราย กลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ลามไปยังพื้นที่อื่น ยังน่าห่วง 6 ชุมชนที่อยู่โดยรอบ 6,118 ราย ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
ยิ่งมาเจอ “โควิดสายพันธุ์อินเดีย” โผล่ในแคมป์ก่อสร้างถึง 36 ราย ยิ่งทำให้คนกรุงยิ่งผวาหนัก เพราะเชื้อสายพันธุ์นี้ระบาดเร็ว

ซีลแคมป์ก่อสร้าง409แห่งทั่วกรุง
ทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) งัดมาตรการ “Bubble and Seal” โมเดลเดียวกับสมุทรสาคร ควบคุมพื้นที่แคมป์ ตลาด ชุมชน โดยเฉพาะแคมป์ ให้คนงานทั้งหมดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ไม่เคลื่อนย้ายออกไปสู่ภายนอก ควบคู่กับตรวจเชิงรุก 14 วัน เพื่อขีดวงการระบาด
โดย กทม.ปูพรมคุมไซต์ก่อสร้างทั่วกรุง 409 แห่ง กระจายอยู่ใน 50 เขต มีคนงาน 62,169 คน แยกเป็นคนไทย 26,134 คน และต่างด้าว 36,035 คน
กฎเหล็กห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน หากจำเป็นให้ผู้ประกอบการแจ้งฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตต้นทางและปลายทาง ก่อนเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน และให้เคลื่อนย้ายภายใน 1 วัน พร้อมระบุเหตุผลความจำเป็นและข้อมูลในการเดินทางเพื่อการทำงานข้ามเขต เริ่มบังคับเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการดูแลแคมป์ให้ถูกสุขลักษณะ แยกผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยงสูงออกจากกัน ดัดแปลงเป็นแคมป์กักกัน หรือเรียกว่าแคมป์ควอรันทีน และแคมป์ไอโซเลชัน เป็นโรงพยาบาลสนาม
จาก “แคมป์หลักสี่” ขณะนี้มีไซต์ก่อสร้างอีกหลายแห่งต้องเฝ้าระวัง จากข้อมูล กทม. ณ วันที่ 22 พฤษภาคม พบ “คลัสเตอร์แคมป์คนงาน” ระบาดใหม่เพิ่ม 6 จุด มีผู้ติดเชื้อ 143 ราย แยกเป็นเขตคลองเตยแคมป์ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ จำนวน 2 แคมป์ จำนวน 84 ราย เขตห้วยขวางแคมป์ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ จำนวน 14 ราย เขตบางคอแหลมแคมป์ทวีพร จำนวน 2 ราย และเขตบางรักแคมป์ฤทธา จำนวน 35 ราย

จับตาคลัสเตอร์บ.ยักษ์ก่อสร้าง
นอกจากนี้ กทม.ประกาศปิดไซต์ก่อสร้างที่พบการติดเชื้อไปแล้วหลายแห่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เฉพาะไซต์ก่อสร้างยักษ์ใหญ่อิตาเลียนไทยฯ ปิดไปประมาณ 2-3 แห่ง
“ไซต์ที่พบผู้ติดเชื้อ เราได้หยุดการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 14 วัน พร้อมปรับปรุงทุกอย่างให้ถูกต้องตามมาตรการของสาธารณสุข พื้นที่อาบน้ำรวมปรับใหม่ ติดตั้งฝักบัว ติดฉากกั้น แยกเป็นห้อง ไม่ใช้ร่วมกัน มีสร้างพื้นที่กักตัวคล้ายโรงพยาบาลสนามไว้ภายในแคมป์ด้วย เพื่อไม่ให้เชื้อกระจาย แคมป์ไหนที่มีความเสี่ยงสูงก็แยกออกไปตรวจหาเชื้อ กักตัว 14 วัน จากนั้นตรวจหาเชื้ออีกรอบ ถ้าไม่พบก็กลับเข้าไปทำงานได้ ส่วนผู้ติดเชื้อก็ส่งรักษาที่สถานพยาบาล” แหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทยฯกล่าว และว่า
ปัจจุบันบริษัทมีแรงงานทั่วประเทศ 28,207 คน เป็นคนไทย 23,659 คน ต่างชาติ 4,548 คน เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีไซต์ก่อสร้างประมาณ 58 แห่ง ทั้งโครงการรถไฟฟ้า งานก่อสร้างอาคาร มีแรงงานทั้งหมด 11,571 คน เป็นคนไทยและต่างชาติ 9,197 คน และต่างด้าว 2,374 คน
อีกแคมป์ที่น่าจับตาไม่แพ้กัน เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม หลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.เมืองนนทบุรี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครนนทบุรี สาธารณสุข จ.นนทบุรี ตรวจคัดกรองเชิงรุกแคมป์คนงานก่อสร้างของ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ถนนพิบูลสงคราม จำนวน 959 ราย พบติดเชื้อ 515 ราย เป็นแรงงานไทย 43 ราย เมียนมา 265 ราย และกัมพูชา 207 ราย
เป็นตัวเลขในเบื้องต้น ยังคงต้องจับตาเพราะไม่รู้ว่าแรงงานในแคมป์แห่งนี้ได้ไปไซต์โครงการไหนบ้าง นอกจากรัฐสภาแห่งใหม่ ที่สำนักงานเขตดุสิตเข้าตรวจคัดกรองชุมชนโดยรอบอีก 734 ราย
“แคมป์ที่ติดโควิดเป็นคนงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ที่เสร็จแล้ว รอการโยกย้ายไปไซต์อื่น ไม่รู้ติดจากไหน เพราะไม่มีอาการ เราระมัดระวังมาตลอด ตอนนี้ได้ปิดแคมป์แล้วตามคำสั่งผู้ว่าฯถึงวันที่ 20 มิถุนายน” คำชี้แจงของภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ
“เรามีแรงงานก่อสร้างทั่วประเทศประมาณ 10,000 คน ยังไม่รวมผู้รับเหมาช่วง บริษัทพร้อมให้ความร่วมมือ กทม.และจังหวัดต่างๆ ที่ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน แม้จะทำให้การก่อสร้างล่าช้า จากการหยุดงาน ปิดการเข้าออก รอผลตรวจคัดกรองโควิด และปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ก็ตาม”

Advertisement

สมาคมรับเหมา
ชี้’แคมป์หลักสี่’เหตุสุดวิสัย
ขณะที่ “ลิซ่า งามตระกูลพานิช” นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า การระบาดโควิดระลอกแรกและระลอกสองไม่พบแรงงานก่อสร้างติดโควิด เพิ่งมาพบระลอกสามที่แคมป์หลักสี่ของอิตาเลียนไทยฯ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สุดวิสัยจริงๆ เพราะเชื้อโควิดระลอกสามระบาดเร็วและแรง
เมื่อปีที่แล้วสมาคมออกมาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการ เช่น ในแคมป์คนงานให้แบ่งแยกโซนกรณีที่มีคนงานติดโควิด หรือสงสัยจะติด ส่วนรถขนส่งแรงงานขอให้เว้นระยะห่างกันให้ขนคนงานแบบบ่อยขึ้น จากเดิม 3 เที่ยว เป็น 6-10 เที่ยว และมีมาตรการรักษาความสะอาด โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว กระติกน้ำ อาหารให้ทานแยกกัน
“ล่าสุดขอความร่วมมือเพิ่มเติม ให้ทุกแคมป์จำกัดการเข้าออกของบุคคลภายนอก ลดการติดต่อ ระหว่างคนงานกับบุคคลภายนอก ให้ดูแลและบริหารจัดการเขตก่อสร้างและที่พักคนงานมีแบ่งพื้นที่กักตัว รองรับพบกลุ่มเสี่ยง จัดให้มีพื้นที่พักอาศัยและสาธารณูปโภคแยกออกจากส่วนรวม และเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ตั้งศูนย์สมาคมก่อสร้างร่วมต้านโควิดขึ้น ประสานการตรวจเชิงรุกหรือให้ความช่วยเหลือกรณีมีแคมป์คนงานติดโควิด”
สำหรับสถานการณ์แรงงานต่างด้าว “นายกรับเหมา” ย้ำว่า เป็นสิ่งที่สมาคมคุมเข้ม เพราะอุตสาหกรรมก่อสร้างใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เป็นที่ถูกตรวจสอบตลอดเวลา ถูกจับตาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย 100% ไม่มีใครกล้าทำผิด
“มีแรงงานไทยและต่างด้าวในระบบทั่วประเทศร่วม 3 ล้านคน ลดลงจากเดิมมีอยู่ 4.5 ล้านคน เพราะโควิดรอบแรกมีปิดพรมแดน แรงงานต่างด้าวกลับประเทศไป 20-30% ถึงขณะนี้ยังไม่กลับเข้ามา เพราะมีหลายบริษัทประกาศ ถ้ากลับไปแล้วไม่ต้องกลับมาอีก เพราะกลัวจะนำเชื้อเข้ามาด้วย”

‘โควิด-แรงงานขาด’
ป่วนตลาดก่อสร้างทั้งระบบ
ผลพวงจากแรงงานที่หายไป “ลิซ่า” สะท้อนภาพว่าขณะนี้ธุรกิจรับเหมากำลังประสบปัญหาแรงงานขาดแคลน เพราะแรงงานที่เป็นคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบทำงานก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการใช้แรงงานต่างด้าวกันมาก แต่เมื่อแรงงานกลับประเทศไปแล้ว เลยทำให้ขาด ทางผู้ประกอบการเองก็ไม่สามารถก่อสร้างได้อย่างเต็มที่ ต้องบริหารจัดการแรงงานหมุนเวียนแต่ละไซต์เอง หากสร้างไม่เสร็จตามสัญญา ต้องขอขยายเวลาก่อสร้างเพิ่ม
“หลังเกิดคลัสเตอร์แคมป์หลักสี่ สมาคมได้ทำหนังสือถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (สุชาติ ชมกลิ่น) ขอจัดสรรวัคซีนฉีดให้กับแรงงานก่อสร้างที่อยู่ในกทม.เป็นการเร่งด่วน คาดว่าจะมีประมาณ 50,000 กว่าคน”
นายกรับเหมายอมรับว่า…แรงกระแทกจากคลัสเตอร์แคมป์คนงานติดโควิด มีผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างล่าช้าอย่างแน่นอนในระยะสั้น เนื่องจากมีการปิดแคมป์
ที่พบคนงานติดโควิด ทำให้ไม่สามารถออกมาทำงานได้ คนเกี่ยวข้องก็ต้องกักตัว 14 วัน ทุกอย่างเกี่ยวโยงกันหมด
“งานล่าช้าแน่ เพราะคนงานขาด จากที่ออกไปทำงานไม่ได้ เจ้าของโครงการไม่กล้าปล่อยออกไป กลัวจะเอาเชื้อไปติดคนอื่น งานก่อสร้างไม่มีแค่คนงาน ยังมีซับคอนแทรกเตอร์ ซัพพลายเออร์เข้ามาส่งของ ถ้าเราไม่กักตัวคนอื่นเดือดร้อนเชื้อจะกระจายออกไปหวังว่าจะกระทบระยะสั้นๆ ถ้ายังคุมคลัสดเตอร์แคมป์ก่อสร้างไม่ได้ กระทบแน่นอน”

‘ราคาเหล็ก’พุ่ง
แรงสุดในประวัติการณ์
ไม่ใช่แค่ปัญหาโควิดและแรงงานขาดที่เอฟเฟ็กต์ตลาดรับเหมา ยังมีต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจาก “ราคาเหล็กที่ผันผวน” ไม่หยุด
“ลิช่า” กล่าวว่า ปัจจุบันราคาเหล็กปรับขึ้น 50-80% จากเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว อยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท เป็นกิโลกรัมละ 26-28 บาท เรียกว่าขึ้นเร็วและแรงที่สุดในประวัติการณ์ ทางผู้ค้าเหล็กที่ทำโรงงานมา 30 ปี ก็ไม่เคยเห็นเหล็กราคาขึ้นแรงขนาดนี้เหมือนกัน
“สมาคมหารือตลอดกับสมาคมผู้ค้าเหล็ก โรงงาน สภาอุตสาหกรรม ทางผู้ค้าเหล็กจะยืนราคาก็ทำยาก เพราะราคาผันผวนหนัก ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ผู้ผลิตในไทย แต่เป็นปัญหาทั่วโลก ราคาวัตถุดิบเปลี่ยนทุกวันถ้ายืนราคาให้ อีก 2 วันราคาวัตถุดิบขึ้นเขาก็ขาดทุน รับภาระไม่ไหว มีผู้ผลิตบางรายเห็นราคาวัตถุดิบผันผวนแบบนี้ ก็ไม่กล้ารับออเดอร์ กลายเป็นปัญหาคาราคาซัง”

Advertisement

ดีมานด์โลกพุ่ง
ทำเหล็กในไทยผันผวนยาว 2 ปี
“ลิซ่า” คาดการณ์ราคาเหล็กจะผันผวนแบบนี้อีก 2 ปี ปัจจัยหลักมาจากตลาดโลก วัตถุดิบ สินแร่เหล็ก ที่ราคาสูงขึ้นมาก เพราะทุกประเทศทั่วโลก ที่ฉีดวัคซีนแล้ว หลังพ้นโควิด จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงานก่อสร้าง อย่างประเทศจีนเคยเป็นผู้ส่งออกเหล็ก ตอนนี้กลายเป็นผู้ซื้อเหล็กรายใหญ่ของโลก หลังจีนปิดโรงงานเหล็กไปมากจากเรื่องสิ่งแวดล้อม เลยทำให้ราคาทุกอย่างพุ่งสูงขึ้น
“ทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการก่อสร้าง นอกจากจีนที่กว้านซื้อเหล็กไปหมด อเมริกาก็กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทุ่มที่งานก่อสร้าง กลุ่มอียู (สหภาพยุโรป) ก็เช่นกันหลังโรงงานเหล็กปิดไปช่วงโควิด จะกลับมาเริ่มผลิตแต่ใช้ในกลุ่มอียูเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ส่งออก ทุกอย่างเหมือนซัพพลายมันหด แต่ดีมานด์การใช้เหล็กทั่วโลกเพิ่มขึ้น เลยเป็นเทรนด์ระยะยาว ซึ่งราคาจะผันผวนอีก 1-2 ปี”
ถามว่าราคาจะถึงกี่บาทไม่สามารถคาดการณ์ได้ ถ้าคาดการณ์แล้วกลัวหัวใจจะวาย ขณะนี้เวลาโค้ดราคาให้ผู้ประกอบการต้องยืนราคาถึง 5 โมงเย็น ถามว่าถ้าขึ้นมากิโลกรัมละ 50 บาทเจ๊งเลย เราอั้นไม่ไหวอีกแล้ว เพราะเหล็กเส้นราคาขึ้น 48-52% เหล็กบางอย่างขึ้น 80% กระทบต้นทุนก่อสร้างแล้วตอนนี้ 15-30% ทั้งโครงการเล็กและใหญ่ ขึ้นอยู่แต่ละโครงการจะใช้เหล็กปริมาณมากหรือน้อย เช่น หากกระทบ 15% งาน 100 ล้าน ขึ้นอีก 15 ล้าน ผู้รับเหมาแบกไม่ไหว เพราะมีกำไรแค่ 5-7%

ขอ‘ประยุทธ์’ช่วยพยุงธุรกิจ
เซฟแรงงาน 3 ล้านคน
จึงเป็นที่มาสมาคมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เพื่อแจ้งปัญหาราคาเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว ทำให้ผู้รับเหมาประสบปัญหาต้นทุนที่ผันผวนขึ้นอย่างผิดปกติ พร้อมข้อเสนอของผู้ประกอบการ หลังได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกจำนวนมากว่าได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กที่มีการปรับตัวสูงขึ้น
จากการตรวจสอบพบว่า ราคาเหล็กปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี 2563 กระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจ ไม่สามารถรับภาระตันทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจนำไปสู่การทิ้งงาน และการเลิกจ้างงาน ซึ่งปัจจุบันภาคการก่อสร้างมีการจ้างงานแรงานกว่า 3 ล้านคน
ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ประชาชน ภาควัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร และการขนส่ง ซึ่งงานก่อสร้างนับเป็น 8-9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหา จึงขอให้ภาครัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง

รื้อสูตร‘ค่าK’จ่ายเต็มจ่ายเร็วใน 60 วัน
โดยมาตรการเร่งด่วน 1.ยกเลิกส่วนต่างค่าปรับราคา (ค่า K) 4% จากสูตรการคำนวณค่าปรับราคา เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่เตือนมกราคม 2564-ธันวาคม 2565 กับโครงการที่ยังสร้างอยู่ และประมูลในอนาคต ซึ่งมาตรการนี้คณะรัฐมนตรีเคยมีมติแล้วเมื่อปี 2551
2.ขอให้ใช้ฐานดัชนีราคาในเดือนที่คิดราคากลางในการคำนวณค่า K แทนการใช้ดัชนีราคาในเดือนที่เปิดซองประมูลให้สะท้อนฐานดัชนีราคาที่ไช้ไนการคิด 3.เร่งรัดเบิกเงินชดเชยค่า K ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ยื่นขอ และ 4.การคิดราคากลางให้สะท้อนกับราคาเหล็กเสริมคอนกรีตที่แท้จริงในท้องตลาด โดยใช้ราคาไม่เกิน 30 วันก่อนประมูล ส่วนมาตรการระยะยาว ให้มีการปรับสูตรการคำนวณค่า K ให้สะท้อนต้นทุนที่เป็นธรรมและใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด
“สำนักงบประมาณไม่ได้ปรับสูตรค่า K มา 30 ปีแล้ว ส่วนราคากลางกรมบัญชีกลางต้องปรับให้เป็นปัจจุบัน หลังไม่ได้ปรับมา 5 ปี ส่วนการปรับสูตรค่า K ต้องศึกษา จะเป็นมาตรการระยะยาว ก็เห็นใจภาครัฐ เพราะมีโควิด มีเรื่องต้องใช้งบประมาณเยอะ แต่เวลานี้ผู้รับเหมาก็ประสบปัญหาหนักจริงๆ”
นอกจากนี้สมาคมยังขอขยายอายุสัญญา 74 วัน จากผลกระทบโควิดรอบแรกมีประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ออกแนวปฏิบัติเมื่อเดือนกันยายนแล้ว แต่ทางปฏิบัติมีหลายหน่วยงานรัฐไม่กล้าใช้ดุลพินิจพิจารณาให้ ล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินออกแนววินิจฉัยไปที่คณะรัฐมนตรีแล้วว่าหากโครงการล่าช้าจากโควิดตั้งแต่ปีที่แล้ว ให้ทุกหน่วยขยายอายุสัญญาได้ รอหน่วยงานเจ้าของโครงการจะพิจารณาให้หรือไม่
เป็นความหวัง-ความต้องการที่ “ภาคก่อสร้าง” รอคำตอบจากภาครัฐ เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางสารพัดวิกฤตที่รุมเร้า

ประเสริฐ จารึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image