อาศรมมิวสิก : มองตามจริง

อาศรมมิวสิก : มองตามจริง

อาศรมมิวสิก : มองตามจริง

เพลง “มองตามจริง” เป็นผลงานเพลงของวง ฤ-ไทย ที่มีความศรัทธาและทำเพลงขึ้นเพื่อจะมอบให้แก่อาจารย์ดังตฤณ (ศรันย์ ไมตรีเวช) และมูลนิธิบูรณพุทธ เป็นการเคารพบูชาพระพุทธเจ้า บูชาพ่อแม่ และครูบาอาจารย์ทุกท่าน ซึ่งอาจารย์ดังตฤณได้ทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นเรื่องราวที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

เพลง “มองตามจริง” ได้ปล่อยออกมาสู่ผู้ฟัง เผยแพร่ในวันวิสาขบูชา (26 พฤษภาคม 2564) ผ่านสื่อสมัยใหม่ โดยมอบรายได้จากการทำบุญของผู้ใจบุญทั้งหลาย ให้แก่มูลนิธิบูรณพุทธ (ธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี 0208999915 Line ID : มูลนิธิบูรณพุทธ)

วง “ฤ-ไทย” เป็นวงดนตรีที่มีสมาชิกปฏิบัติธรรมอยู่ 3 คนด้วยกัน มี อาจารย์กมลพร หุ่นเจริญ เป็นผู้ขับร้องและเป็นผู้ผสมเสียงร้องและดนตรี อาจารย์ตปาลิน เจริญสุข เป็นนักเชลโล เป็นผู้เขียนเนื้อร้องและทำนอง และอาจารย์ ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล เป็นนักเปียโนและเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน โดยบันทึกเสียงที่บ้านของแต่ละคนแล้วไปถ่ายทำวิดีโอที่โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ (รับชมได้ทาง YouTube: https://youtu.be/4QaPYxyQ-RQ และFacebook: https://www.facebook.com/ruethaiband)

Advertisement

อาศรมมิวสิก : มองตามจริง

เนื้อเพลง “มองตามจริง”

“ใจที่มันเหนื่อยล้า วนเวียนไปทุกวันเวลา อยากจะหาทางออกให้ใจได้คลาย ปล่อยไปตามสายลม วางตัวตน แล้วปล่อย มองร่างกายเถิดเธอ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้รู้สึกตัว ร่างกายตั้งอยู่ท่าไหน ดูลมหายใจ ที่เข้าออก ลากยาวลากสั้นต่างกัน ใจที่มองดูกาย เปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที มันเป็นทุกข์ บังคับจิตใจไม่ได้หรอก มันไม่ใช่ของเรา เสื่อมสลายทุกวัน มองร่างกายตามจริง

Advertisement

ยืน เดิน นั่ง นอน ให้รู้สึกตัว ร่างกาย ตั้งอยู่ท่าไหน ดูลมหายใจ ที่เข้าออก ลากยาวลากสั้นต่างกัน สิ่งทุกสิ่งเปลี่ยนไปไม่คงเดิม มองทุกอย่างตามจริง ใจกายนี้ ไม่ใช่เรา”

เมื่อผมได้รับเพลง “มองตามจริง” จากวง ฤ-ไทย ก็ต้องฟังอย่างตั้งใจ นอกจากเป็นเรื่องของคนใกล้ตัว ยังเป็นเรื่องที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องงานเพลง โดยธรรมชาติแล้ว ผมเป็นคนที่อยู่ห่างบุญพอสมควร เมื่อครั้งที่อายุยังน้อย ผมเป็นเด็กวัด อาศัยวัดเพื่อเรียนหนังสือ ก็ถูกหลวงพ่อตีก้นเพื่อให้จดจำว่าอย่าทำพิเรนทร์อีก เพราะใช้สิ่งที่มีดีอยู่ในตัวไปทำในทางที่ผิด ผมเป็นคนที่มีความจำดี มีอารมณ์ขัน ชอบคิดแผลงๆ ก็จำบทสวดในวัดได้หมด แล้วก็ไปใส่เนื้อใหม่แผลง ว่างๆ ก็สวดเนื้อแผลงเล่น เมื่อหลวงพ่อได้ยินเข้าก็โดนเฆี่ยน บทสวดแผลง เป็นดังนี้ “อกุศลาธรรมา แกงเนื้อให้ทำมา แกงไก่ให้ทำมา แกงปลาให้ทำมา น้ำพริกอย่าทำมา” ในที่สุดก็ยังจดจำบทสวดแผลงได้จนถึงทุกวันนี้

สมัยบวชเรียนเป็นพระที่บ้านนอก ผมก็ไม่รับนิมนต์เพราะขี้เกียจท่องบทสวด อ้างว่าจะเรียนธรรมะ แต่พอมีงานศพที่เจ้าภาพนิมนต์พระหมดวัดก็ต้องไปสวดผีด้วย วิธีท่องบทสวดก็ได้ถามเจ้าอาวาสว่าจะสวดบทไหนบ้าง ผมก็ใช้วิธีคัดลอกแล้วไปแปะไว้กับตาลปัตร เมื่อถึงเวลาที่สวดจริงๆ ก็นั่งสำรวมก้มหน้า เมื่อเงยหน้าขึ้นมาก็พบว่า บทสวดที่ติดตาลปัตรนั้นหันไปอยู่ด้านนอก แถมหลวงพ่อต้นเสียงก็สวดด้วยเสียงสูง (Altissimo) พระคู่สวดรับด้วยเสียงต่ำ (เสียงบาริโทน) ทำให้ผมซึ่งเป็นลูกคู่ เข้าสวดรับบทสวดยากมาก ซึ่งคิดว่า พระน่าจะเรียนเรื่องเสียงสวดมนต์และเรียนทำนองของบทสวดเสียก่อนที่จะรับงานสวด เพราะเสียงสวดเป็นเสียงของความศักดิ์สิทธิ์ พระเสียงดี บทสวดก็ไพเราะ หากพระที่เสียงสวดขี่กัน บทสวดก็เป็นเอ็ดตะโรโฟนี

ผมได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2521) ก็ไปอยู่ที่วัดไทย (เมืองเดนเวอร์) อยู่กับหลวงพ่อและได้ช่วยงานแม่ชี (ฝรั่ง) ทำความสะอาดวัด ซึ่งมารู้ภายหลังว่าแม่ชีเข้าไปศึกษาปรัชญาพุทธศาสนาและเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนาโรปะ (Naropa University) ซึ่งเพิ่งจัดตั้งได้แค่ 6 ปี อยู่เมืองโบลเดอร์ (Boulder) ไม่ไกลจากวัดนัก ส่วนผมนั้นไปอาศัยอยู่วัด กินข้าววัด เพราะไม่มีที่อยู่ แม่ชีถามว่ามาจากเมืองไทยนั้นรู้จักท่านบุดดาดะสา (Buddhadasa) ไหม ก็ตอบไปว่าไม่รู้จัก กว่าจะรู้ว่าเป็น “พุทธทาส” ผมก็โง่อยู่นาน เมื่อได้โอกาสกลับมาเมืองไทยก็ต้องรีบไปหาท่านพุทธทาส (พ.ศ. 2526) ทันที ได้เสวนาธรรมกับท่านพุทธทาส (2 ครั้ง) เรื่องดนตรีกับพุทธศาสนา ทั้งนี้ เพราะคำถามของแม่ชีฝรั่ง

เมื่อลูกสาวโตขึ้น ลูกสาวได้หันไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมกันหมดทั้ง 2 คน แถมไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมกันบ่อยครั้ง ครั้งละ 10 วัน ในที่สุดผมและภรรยาก็ต้องตามไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมกับลูกสาวด้วย เพราะอยากรู้ว่าลูกสาวไปทำอะไรกันในค่ายปฏิบัติธรรม มีกิจกรรมอะไรในค่ายธรรมะ ในที่สุดทั้งครอบครัวก็กลายเป็นสมาชิกค่ายธรรมะกันหมด

มาถึงวันวิสาขบูชาปีนี้ ลูกสาวคนเล็กกับเพื่อนก็ได้ทำเพลงธรรมะ “มองตามจริง” ได้ใช้ความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน ออกมาเผยแพร่เพื่อเป็นสะพานบุญให้แก่ผู้อื่น โดยชีวิตส่วนตัวนักดนตรีแต่ละคนนั้นได้ปฏิบัติธรรมโดยวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ขณะนี้นักเปียโนและผู้เรียบเรียงเสียงเพลงก็อยู่ในระหว่างการออกบวช (2 เดือน) จึงเอาสิ่งที่ทำอยู่มาเขียนเป็นเพลง

ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องงานเพลง เนื่องจากนักดนตรีทั้ง 3 คน เรียนรู้ดนตรีคลาสสิกมาทั้งชีวิต และมีความสามารถ ประกอบอาชีพเป็นนักร้อง เป็นนักดนตรีอาชีพ และเป็นครูสอนดนตรี เมื่อหันมาทำเพลงเพื่อศาสนา ก็ต้องตอบคำถามว่า ในทรรศนะของพุทธศาสนาที่ชาวบ้านเห็นว่า “ดนตรีนั้นเป็นบาป” เป็นอย่างไร

อุโบสถศีลข้อที่เจ็ด นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนาเวรมณี คือให้ละเว้นการฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรี เพราะเป็นข้าศึกแห่งกุศล ผมเองก็จะอธิบายอะไรได้ยากเพราะไม่มีความรู้เรื่องพุทธศาสนาลึกซึ้งอะไรนัก ได้แต่เปลือกๆ แบบจับฉ่ายศึกษากับกล้อมแกล้มวิทยา ไม่สามารถอธิบายในขั้นที่สูงกว่านั้นได้

การที่พระต้องสวดก็เพราะว่า เสียงสวดนั้นมีพลัง “เสียงมีอำนาจ” พระสวดที่เสียงดีจะมีกิจนิมนต์เยอะ เพราะว่าเสียงสวดไพเราะ ผู้ฟังสามารถขึ้นสวรรค์ได้เมื่อได้ยินพระเสียงดีสวด เพลงสวดจึงเป็นบทเพลงที่เก่าแก่ที่สุด คนโบราณได้สอนไว้ว่า “เสียงน้อยกิเลสน้อย เสียงมากกิเลสก็มาก” เสียงน้อยหมายถึงการมีทำนองเดียว เสียงเดียว ทำให้จิตเข้าถึงสมาธิได้ง่ายขึ้น บทสนทนาที่ได้จากท่านพุทธทาส (พ.ศ. 2526) ท่านสอนว่า

“ดนตรีและศิลปะบริสุทธิ์ มีคุณสนับสนุนความมีจิตว่าง เราฟังดนตรีกันที่ความไพเราะ ก็เหมือนกับการศึกษาธรรมะ ก็เพราะความไพเราะของพระธรรม”

เซนต์ออกัสติน (St. Augustine) นักปราชญ์ฝรั่งได้กล่าวไว้ว่า “วิญญาณกลับไปสู่พระเจ้าด้วยอาศัยเสียงดนตรี” ซึ่งก็ไม่แตกต่างไปจากความเชื่อของคนไทยโบราณที่เชื่อว่า “วิญญาณกลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์ด้วยเสียงของวงปี่พาทย์” ทุกวัดจึงมีปี่พาทย์บรรเลงในงานศพ แต่ทุกวันนี้ งานเผาศพที่วัด ไม่มีเสียงปี่พาทย์เสียแล้ว ชาวบ้านก็เชื่อว่าวิญญาณของศพทั้งหลายที่เผา หาทางขึ้นสวรรค์ไม่ได้ ก็กลายเป็นสัมภเวสี เที่ยวเร่ร่อน เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏไม่สิ้นสุด

เพลง “มองตามจริง” เป็นเพลงที่อาศัย “เสียงใส ใจสะอาด” นักดนตรีมีจิตใจสดใส มีเสียงดนตรีที่สดสะอาดและเป็นเสียงที่ละเอียด ทำให้เพลงได้ทำหน้าที่เหมือนกับเพลงสวด ฟังแล้วรู้สึกโล่งโปร่งเบา นักดนตรีเองก็เล่นด้วยความรู้สึกที่โล่งโปร่งเบา ดูเหมือนจะง่าย เข้าใจง่าย แต่ต้องลงมือปฏิบัติจริงเท่านั้นจึงจะได้

ทุกวันนี้ก็มีเพลงที่เกี่ยวกับธรรมะออกมามากขึ้น ซึ่งจะช่วยกล่อมเกลาในยามยาก ในยามที่มีทุกข์ ทุกข์ที่ไม่รู้จะพึ่งใคร ทุกข์ที่อยาก “ปลดทุกข์” หากได้พินิจมองความจริง อยู่กับความจริงแล้วค่อยๆ ปล่อยทุกข์ออกไป ทำใจให้เบา แม้กายจะยังหนักอยู่ แต่เมื่อใจเบาลง กายก็จะค่อยๆ เบาขึ้นด้วย

เพลง “มองตามจริง” เป็นเพลงเพื่อการให้ มอบให้แก่การกุศล ให้เพลง ให้ทำนอง ให้ใจ ให้ฝีมือ หากมีผู้ใจบุญก็มอบให้แก่การกุศลเพื่อผู้อื่น การให้จึงเป็นความสุขที่เกิดจากใจที่ได้ให้ เมื่อได้ให้แล้วก็จะมีความสุข

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image