ก้าวที่ห้า ‘กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร’ ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ‘การเริ่มต้นเริ่มจากเรามีความกล้าที่จะทำ’

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม เทรนด์โลกที่เปลี่ยนไว ไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะด้วยโควิด-19 หรือภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย

หลายคนคงจะมองหา “คาถา-ยาวิเศษ” สร้างแรงบันดาลใจ ให้เกิดความกล้า ในการทำงาน ทำธุรกิจ ฝ่าวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

ชั่วโมงนี้คงไม่มีอะไรที่วิเศษไปกว่า “ใจ” ของตัวเราเอง เพื่อใช้จุดพลังความคิด ความกล้า สร้างความเชื่อมั่นไปให้ถึงปลายทางฝัน

หากใครที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ลองค้นหาคำตอบจาก “ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม” ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 ผลงานล่าสุดของ “ต้อง-กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร”

Advertisement

เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กฉบับกระเป๋า ที่เปิดโลกนวัตกรรมความคิด ถ่ายทอดการบริหารธุรกิจของผู้นำองค์กรระดับโลก ผ่านตัวหนังสือ 168 หน้า เปิดเล่มด้วย “ไปไม่ถึงไม่เป็นไร” ไล่ไปจนถึงบทสุดท้าย “ขี่จักรยานยุคโควิด” มีครบทุกรสชาติ สามารถอ่านจบได้ภายในวันเดียว

สำหรับ “ต้อง-กวีวุฒิ” ถือว่าคลุกคลีในแวดวงธุรกิจและหนังสือมานายหลายปี ปัจจุบัน อายุ 37 ปี ส่วนดีกรีนั้นก็ไม่ธรรมดา เป็นเด็กทุน ปตท. จบวิศวะปิโตรเคมีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท MBA ด้านนวัตกรรมจาก Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา

มีประสบการณ์ทำงานมากว่า 10 ปี เป็นหัวหน้าทีม Express Solution ของกลุ่ม ปตท. สร้างนวัตกรรมจากซิลิคอน วัลเลย์ ที่เรียกว่า Design Thinking มาใช้ในการสร้างธุรกิจใหม่ให้กับองค์กร อีกทั้งเป็นทีมงานก่อตั้งกองทุน Venture Capital ของกลุ่ม ปตท. ขึ้นเป็นครั้งแรก เสาะหาเทคโนโลยีและโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับองค์กร

Advertisement

ทำงานอยู่ ปตท.ประมาณ 5 ปี ผนวกกับความคิดเริ่มเปลี่ยนไป ได้ย้ายมาทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหัวหน้าทีม Innovation บุกเบิกธุรกิจนวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้บริษัท SCB10X (เอสซีบี เท็นเอกซ์) จนถึงปัจจุบัน

นอกจากงานประจำ “ต้อง-กวีวุฒิ” ยังเป็นอาจารย์สอนพิเศษวิชานวัตกรรม Design Thinking for Business Innovation ให้กับนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาแล้วกว่า 3 ปี และยังเป็นวิทยากรพิเศษไปบรรยายในด้านการสร้างนวัตกรรมให้กับมหาวิทยาลัย และองค์กรชั้นนำต่างๆ มากมาย ทั้งในและต่างประเทศ

ด้วยเป็นคนที่หลงใหลการอ่าน การเขียน การถ่ายทอดเรื่องราว “ต้อง-กวีวุฒิ” ใช้เวลาว่างจากงานประจำช่วงกลางคืนทำตามความฝัน เมื่อปี 2557 ก่อตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจ “แปดบรรทัดครึ่ง” บอกเล่าเรื่องราวนวัตกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกแบบสั้น กระชับ ตรงประเด็น มีแฟนเพจในวงการธุรกิจติดตามกว่าแสนคน

จากนั้นได้รับการชักชวนจากนักเขียนในดวงใจ “หนุ่มเมืองจันท์” สรกล อดุลยานนท์ เขียนคอลัมนิสต์ “ธุรกิจพอดีคำ” ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมามีผลงานหนังสือรวมเล่มเป็นหนังสือขายดี ถึง 6 เล่ม จาก “แปดบรรทัดครึ่ง” มีธุรกิจพอดีคำ เห็นได้ก่อนใครในหนึ่งย่อหน้า คิดใหญ่เริ่มให้เล็ก เมื่อหัวว่าง จึงสร้างสรรค์ และปล่อยใจคิด ไม่ติดกรอบ

ยังถ่ายทอดเรื่องราวการสร้างนวัตกรรรม การบริหารงาน การตลาด และแรงบันดาลใจจากทั่วทุกมุมโลก สำหรับคนที่ไม่มีเวลา ผ่านช่อง Podcast ชื่อว่าแปดบรรทัดครึ่ง ที่ฟังได้ทุกที่ทุกเวลา และมีผู้ฟังมากกว่าสี่ล้านครั้งในเวลาไม่ถึงปี

นับเป็นนักคิด นักเขียนชื่อดังในโลกนวัตกรรม ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์

•อยากทราบถึงที่มาที่ไปทำไมต้องชื่อ “ก้าวใหม่ๆ ใช้ใจเริ่ม”

จริงๆ ชื่อหนังสือมาจากการทำอะไรใหม่ๆ ปกติการทำธุรกิจหรือคิดทำอะไรใหม่ๆ เป็นเรื่องของการเริ่มต้น เริ่มจากที่เรามีความกล้าหรือเปล่า ถ้าเรามีความกล้าทำแล้วไม่เป็นอย่างที่คิดก็ไม่เป็นไร ผมคิดว่ามันก็ชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะคนอีกครึ่งหนึ่งยังไม่ทำเลย แต่เราทำไปก่อนทั้งที่ยังไม่รู้ เป็นทักษะที่สำคัญในยุคนี้ จริงๆ การเริ่มต้นต้องใช้ความกล้าเยอะ ไม่ได้ใช้ทักษะอะไรมาก ยุคนี้เรื่องของทักษะหาได้ไม่ยาก แต่คนที่จะสามารถทำอะไรได้จริงๆ คือ คนที่กล้าลอง จึงเริ่มจากการใช้ใจพอสมควร ซึ่งชื่อมีหลายแนวที่คิดไว้ มีน้องๆ ช่วยกันคิด ดูจากโครงของหนังสือพอดีคำ อยากให้เข้าใจง่ายๆ สั้นๆ

•ใช้เวลาเขียนนานแค่ไหนกว่าจะออกมาเป็นรูปเล่มอย่างที่เห็น

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ 5 แล้ว เป็นการรวมเล่มของคอลัมน์ธุรกิจพอดีคำ ที่เขียนในมติชนสุดสัปดาห์และเกิดจากแนวคิดที่ทำในเพจ 8 บรรทัดครึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องการบริหารธุรกิจ เอาแนวคิดที่มีอยู่แล้วมารวม ร้อยเรียง เป็นเรื่องราว ใช้ระยะเวลาไม่นาน เนื่องจากไม่ใช่หนังสือแต่งใหม่ มีทีมงานช่วยรวบให้ แต่ผมก็ช่วยปรับนิดหน่อย ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน แต่ใช้เวลาสะสมในเล่มประมาณ 1 ปี เพราะต้องราวด์อัพเรื่องราวตลอดทั้งปี

ผมจะออกหนังสือปีละเล่ม ปีนี้จึงออกมาเป็น “ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม” มีเนื้อหายากที่อ่านง่าย (หัวเราะ) เป็นเนื้อหาที่ผมคิดว่า เราก็เอามาจากทั่วโลก คือผมเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว และเป็นเนื้อหาที่เป็นธุรกิจค่อนข้างลึก สร้างอะไรใหม่ๆ เทคโนโลยีต่างๆ แต่เราเป็นคนที่ชอบเอามาเล่าให้มันเข้าใจง่ายๆ อะไรยากๆ ก็ทำให้มันง่ายและไม่ยาวมาก จึงเป็นหนังสือที่ไม่ค่อนข้างยาก แต่เนื้อหาก็จะลงลึกพอสมควร

•ผู้อ่านจะได้ประโยชน์หรือความรู้อะไรบ้างหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ

จริงๆ นักอ่านส่วนใหญ่ที่อ่านแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้จะค่อนข้างกว้างมาก เพราะหนังสือเป็นทั้งเรื่องผู้บริหารระดับสูงอ่านจะนำไปใช้ในการปรับองค์กร ถ้าเป็นคนทำงานรุ่นใหม่หรือรุ่นระดับกลาง จะนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับตัว พัฒนาตัวเอง ถ้าเราอยากมีงานทำอยู่ อยากจะเป็นคนที่ผู้บริหารเห็นแล้ว จะมี prudential ที่จะไปต่อองค์กรจะต้องทำยังไง หรือเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีก็เช่นเดียวกัน

ช่วงนี้เป็นช่วงของการปรับตัว ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ หนังสือเล่มนี้กับซีรีส์ที่ออกมา 4-5 เล่ม พูดแต่เรื่องนี้เรื่องเดียวเลย จึงเข้าใจง่าย ในการปรับตัวยังไงให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของการทำงานของตัวเอง เช่น ทำยังไงให้คุยรู้เรื่องกับหัวหน้า แล้วหัวหน้าจะบริหารรุ่นน้องรุ่นใหม่อย่างไง เจเนอเรชั่นช่องว่างต่างๆ เทคโนโลยีต่างๆ ที่มันเปลี่ยนแปลงมีอะไรบ้าง มันหมายความว่าอะไรกับการทำงานทุกๆ วันบ้าง

เรื่องธุรกิจภาพใหญ่เราไม่ได้เน้นหนังสือที่เป็นบิซิเนส แต่กลับมาที่ตัวเอง เปลี่ยนตัวเองยังไงได้บ้าง และจะเริ่มต้นเปลี่ยนตัวเองยังไง คุยกับคนยังไง การบริหารหัวหน้าที่กังวลกับอนาคตมากเหลือเกิน หัวหน้าที่ไมโครแมเนจเราจะทำยังไง ลูกน้องรุ่นใหม่ที่บอกว่าเขาไม่อดทนจริงมั้ยหรือหัวหน้าเองที่บริหารคน
ไม่เป็น

เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดเยอะมาก เพราะไม่ค่อยฟังกัน จะมีวิธีการและ Case Study จากต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ที่เขาทำยังไงกัน ทำแล้วประสบความสำเร็จหรือเปล่า หรือทำแล้วล้มเหลวจะทำยังไง ทุกอย่างจะ Apply กับคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะคนอ่านหนังสือเรามีทุกวัย เด็กจบใหม่ก็จะอ่านเยอะหน่อย คนที่เริ่มต้นธุรกิจจะได้แนวคิดจากหนังสือเล่มนี้ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและทำธุรกิจ ขึ้นอยู่กับการนำความรู้ไปปรับใช้อย่างไรมากกว่า

•ในตลาดมีหนังสือออกมากันเยอะมาก จุดแข็งหรือจุดขายเราอยู่ตรงไหน

เราไม่ได้แข่งกับใคร เรามีทางของเราเอง จริงๆ หนังสือนี้เป็นหนังสือที่มีแฟนติดตามประมาณหนึ่งอยู่แล้ว เพราะเราเขียนคอลัมภ์ธุรกิจพอดีคำ ปัจจุบันมีแฟนเพจที่ติดตามทั้งเพจ ช่องยูทูบ ช่อง Podcast และ Blog ของตัวเอง ที่ให้ข้อมูลให้ความรู้ทั้งสาระ และมีฐานแฟนของตัวเองบนโลกออนไลน์หลักแสน ยอดเข้าชมช่อง Podcast หรือยูทูบหลักล้าน จุดเด่นคือนอกจากเนื้อหาสาระที่อ่านง่ายแล้ว กลุ่มแฟนคลับยังเหนียวแน่นบนโลกออนไลน์ และหนังสือที่ออกมาเหมือนเป็นตัวเสริมอีกทางหนึ่ง มีแฟนคลับ กลุ่มคนที่สนใจตามมาจากฝั่งออนไลน์ด้วย และอีกฝั่งที่ยังชื่นชอบในการอ่าน เนื้อหาสาระรูปเล่มในหนังสือ

จุดขายอีกเรื่องหนึ่งที่คนชอบ เพราะแบ๊กกราวด์เราเป็นคนทำงานประจำเป็นหลัก แต่เอาเวลามาเขียน ดังนั้นสิ่งที่เขียนคนทำงานจะรู้ว่าเป็นเรื่องจริง ทะเลาะกับหัวหน้าเป็นเรื่องจริง พูดลูกน้องไม่ทำงานเรื่องจริง เรื่องพวกนี้ขึ้นกับแบ๊กกราวด์ พอเขาเห็นว่าเราเป็นแบบนี้ เขียนแบบนี้ได้ มันง่ายมากเลย เพราะเราพูดเรื่องจริง เลยทำให้คนอ่านไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือลูกน้องรุ่นใหม่ รีเลทได้หมด และต้องยอมรับว่าเรามีดีกรีไปเรียนมาคนก็พร้อมเชื่อประมาณหนึ่ง พอเขียนแล้วเข้าใจง่าย เป็นแนวที่เขาอ่านแล้วเก็ทค่อนข้างเร็ว

ยุคนี้เป็นยุคของความรู้ แต่ความรู้มันเยอะ ความรู้ปลอมๆ ก็เยอะ เราพยายามทำคอนเทนต์ให้ดี คนดีๆ จะรู้ว่าคอนเทนต์ดีๆ เป็นยังไง ต้องยอมรับว่าคนอ่านเป็นพนักงานประจำสัก 80% เจ้าของธุรกิจก็มีอยู่บ้าง แต่พนักประจำการจะทำของใหม่ๆ ในองค์กรหรือการทำสตาร์ตอัพอะไรพวกนี้ที่ลิงก์กัน องค์กรอยากจะทำงานกับสตาร์ตอัพ แต่สตาร์ตอัพไม่ชอบองค์กร องค์กรก็ทำงานกับสตาร์ตอัพไม่เป็น เพราะอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาจริงๆ ในปัจจุบัน องค์กรที่ปรับตัวไม่ได้ต้องพังไปเยอะเพราะคิดว่าตัวเองเปิดแล้ว แต่ไม่เปิด ผู้บริหารไปเรียนอะไรมาเยอะแยะ กลับมาก็ใช้ไม่เป็น เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ปรับได้จากทัศนคติตัวเอง ปรับยังไงเป็นเรื่องที่เราพยายามจะพูดคุยว่ามันคืออะไร

•ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทันโลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไว
ช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาธีมหลักของประเทศไทยเลย คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลง ดิสรัปชั่นดิจิทัล แต่คนส่วนใหญ่จะพูดแต่เทคโนโลยี พูดว่าตรงนั้นเกิดแบบนั้นแบบนี้ พูดง่ายมากเลย แต่จะนำมาใช้ยังไง เริ่มจากอะไร พอวิ่งเข้าไปในองค์กรแล้วเป็น Black Box ซึ่งคนที่ไม่ทำงานไม่รู้หรอก เพราะพูดแต่คนข้างนอกเหมือนจะง่ายไปเสียทุกอย่าง คนพูดก็จะดูฉลาด แต่จริงๆ แล้วข้างในเป็นอีกสตอรี่หนึ่ง
คนทำงานจะรู้ว่าการเนวิเกตองค์กร ซึ่งจริงๆ ไม่เกี่ยวกับเรื่องอายุเลยเกี่ยวกับเรื่องทัศนคติ ผมจะบอกว่าหัวหน้าดีๆ อายุเยอะๆ เฟรชๆ ก็เยอะแยะ ลูกน้องที่ห่วยๆ ก็เยอะแยะ ออกมาหัวสี่เหลี่ยมก็เยอะแยะ

•ช่องว่างระหว่างลูกน้องกับเจ้านาย การบริหารงานต้องเป็นแบบไหน

ง่ายมากแต่ทำไม่ง่าย ต้องพยายามเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งก่อน โดยที่ไม่ต้องออกความเห็นของตัวเอง คนที่จะบริหารอีกฝั่งหนึ่ง ต้องเข้าใจอีกฝั่งหนึ่งก่อน ไม่ใช่พูดแต่มุมของตัวเอง การบริหารคนคือเข้าใจคนอีกฝั่งและรู้ว่าเขาต้องการอะไร และทำให้เขาได้สิ่งนั้น โดยที่เราได้ด้วย ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน คนที่ทำงานใหม่ๆ ต้องทำงานหนักอย่างเดียว ไม่มีอะไรทดแทนการทำงานได้

•คาดหวังกับหนังสือเล่มนี้อย่างไรบ้าง

เหมือนทุกปี เนื้อหาถูกใจคนอ่าน นำไปปรับใช้ได้ในการทำงาน แฟนคลับเท่าที่ดูจากข้อมูลมีตั้งแต่อายุ 15 ปี ถึง 55 ปี ต่างคนต่างอ่านคนละแบบ อย่างที่บอกเวลาเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำงาน จะมีทั้งแบบคนทำงานรุ่นใหม่จะเป็นกลุ่มใหญ่ กับผู้บริหารจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง คือ คนหนึ่งอยากบริหารลูกน้อง คนหนึ่งอยากจะบริหารหัวหน้า จะพูดทั้งสองมุมค่อนข้างเยอะ

•วางแผนเขียนหนังสือเล่มต่อไปบ้างหรือยัง จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิดมั้ย

กำลังดูว่าจะทำอะไรต่อ (หัวเราะ) น่าจะเป็นหนังสือแนวประมาณนี้ เป็นเนื้อหาที่ทันสมัยในปีถัดไป มีวิธีการทำงานใหม่ๆ อะไรบ้าง ถามว่าจะมีธีมโควิดหรือไม่ อาจจะเกี่ยวกับการทำงาน เป็นเรื่องของ work from home เพราะเนื้อหาเหล่านี้ผมเขียน Podcast ทุกอาทิตย์อยู่แล้ว เกิดเรื่องอะไรผมก็พูดเรื่องนั้น

•จากสถานการณ์โควิดต้องปรับตัวยังไงบ้าง

ผม work from home 100% เลย เรื่องงานต้องปรับตัวอยู่แล้ว อาจจะโชคดีที่งานที่ทำเกี่ยวดิจิทัลโปรดักต์ สามารถทำที่บ้านได้อยู่แล้ว เราเวิร์กกับซอฟต์แวร์เอ็นจิเนียร์ คนที่เขาทำงานคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ประชุมทางออนไลน์ไม่มีปัญหาอะไร ปรับตัวได้ ที่ต้องปรับจริงๆ คือ เรื่องคัลเจอร์ เวลาดูแลทีมงานที่อาจจะต้องเจอกันบ่อยหน่อย และก็มีอะไรทำร่วมกันบ้าง ผมมีทีมอยู่ 30 กว่าคน ต้องให้ทีมใกล้ชิดกัน แต่ตัวงานจริงๆ ด้วยงานที่เราปรับมาก่อนที่มีโควิดแล้ว งานพวกนี้ก็ไม่ยากมาก

เมื่อต้องทำงานที่บ้าน ก็ต้องดูแลครอบครัวภรรยาและลูกไปด้วย ผมมีลูก 2 คน คนโตเป็นลูกชาย อายุ 5 ขวบ ชื่อว่า “พอดี” และลูกสาวอายุ 1 ขวบ ชื่อว่า “พอใจ” ตอนนี้ลูกชายคนโตต้องเรียนออนไลน์ ผมก็ต้องดูแล เหมือนสอนเอง (หัวเราะ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image