คอลัมน์แทงก์ความคิด : งามแบบจีน

คอลัมน์แทงก์ความคิด : งามแบบจีน

คอลัมน์แทงก์ความคิด : งามแบบจีน

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้โอกาสไปเดินงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหมดไป

การช้อปหนังสือเปลี่ยนจากร้านหรือบูธหนังสือ กลายเป็นการช้อปทางออนไลน์

จากเดือนเมษายนมาถึงเดือนพฤษภาคม สถานการณ์การระบาดที่ยังไม่ยุติ

Advertisement

วันนี้โควิด-19 ได้กลายพันธุ์เกิดสายพันธุ์ใหม่หลายสายพันธุ์

สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้

ความหวังที่จะพ้นจากการระบาดคือการฉีดวัคซีน

Advertisement

ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนกันไปแล้วประมาณ 3 ล้านโดส

กำหนดการฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ จะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน

ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วต้องรอฉีดเข็มสอง

ซิโนแวค ฉีดเข็มแรกแล้วรอไป 3 สัปดาห์ค่อยมาฉีดเข็มสอง

แอสตร้าเซนเนก้า เดิมฉีดเข็มแรกแล้วรอไป 10 สัปดาห์ค่อยมาฉีดเข็มสอง

แต่ตอนหลังสาธารณสุขแจ้งว่า รอได้ถึง 16 สัปดาห์

ปลายสัปดาห์มีข่าวว่าวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ น่าจะเข้ามาให้บริการได้แล้ว

แต่ลองนับนิ้วคำนวณแล้ว คนไทยน่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าเดินทางไปไหนมาไหนอย่างปกติ

ยิ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงระดับ 2,000 รายต่อวันเช่นนี้

ยิ่งต้องรอต่อไป

ช่วงระหว่างรอ หลายคนคงใช้เวลาไปกับการ WFH อีกหลายคนคงใช้เวลาไปกับความบันเทิง

หลายคนนั่งดูภาพยนตร์จนเบื่อ หลายคนนั่งฟังเพลงกันจนอยากจะหาอย่างอื่นมาทำบ้าง

สำหรับผู้คนที่นิยมการอ่าน การอ่านหนังสือได้ทั้งสาระและความบันเทิง

แม้พิษโควิด-19 จะทำให้งานหนังสือขนาดใหญ่ต้องระงับ แต่การผลิตหนังสือยังมีต่อเนื่อง

สำนักพิมพ์มติชนเดินหน้าผลิตหนังสือใหม่ๆ ออกมา

เล่มหนึ่งที่สำนักพิมพ์มติชนนำเสนอ ชื่อว่า “งาม เพราะ แต่ง”

มีคำโปรยว่า “ประวัติศาสตร์การประทินโฉมตำรับจีน”

อ่านแล้ว น่าสนใจ

คนเขียนชื่อ หลี่หยา ส่วนคนแปลคือ เรืองชัย รักศรีอักษร

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมตำรับความงามในยุคสมัยต่างๆ ของจีนมานำเสนอ

มีประวัติความเป็นมาของเครื่องประทินโฉมสอดแทรก

มีชื่อตัวละครสาวงาม วีรสตรีในประวัติศาสตร์ที่คนไทยคุ้นหูปรากฏอยู่ในเล่ม

พร้อมทั้งนำเอาลักษณะพิเศษของตัวละครเหล่านั้นมาชวนให้สนใจ

จากนั้นข้อมูลเกี่ยวกับ “งาม เพราะ แต่ง” ก็เกิดขึ้น

เช่น เมื่อเอ่ยถึง “ไซซี” ว่ามีลักษณะพิเศษ คือ กลิ่นกายหอม

เนื้อหาต่อมาก็กล่าวถึงประวัติการใช้เครื่องหอม ชนิดของเครื่องหอม ตำรับยาตัวหอม

หรืออีกคนหนึ่ง คือ วีรสตรี “มู่หลาน”

ลักษณะพิเศษ “นั่งส่องกระจก ทาฮวาหวงบนหน้าผาก”

จากนั้นผู้อ่านก็ได้รับรู้เรื่องราวของ “เครื่องประดับหน้า”

นับตั้งแต่ความเป็นมาของเครื่องประดับหน้า ประเภทเครื่องประดับหน้า วัสดุที่ใช้ รวมไปถึงตำแหน่งที่ใช้

แต่ละตอนไม่สั้นไม่ยาว อ่านแล้วได้รับความบันเทิง

หรือ “หยาง กุ้ย เฟย” ที่ “ทาทั้งเล็บมือเล็บเท้า”

คราวนี้เนื้อหาหนังสือก็ว่ากันด้วยงามเพราะแต่งเล็บ

ทั้งประวัติความเป็นมาการทาเล็บ ชนิดของวัสดุทาเล็บ และมีภาพประกอบ

นอกจากนี้ ภายในเล่มยังบรรจุตำรับยาเอาไว้ให้ด้วย

เอาแค่ตำรับความหอมและการกำจัดกลิ่นก็มีหลายหน้า

ทั้งตำรับยาทำให้กลิ่นตัวหอม บ้างก็เป็นยาลูกกลอน บ้างก็เป็นน้ำแกง

แล้วยังมีตำรับเครื่องหอมรมและอบเสื้อผ้า

ส่วนตำรับกำจัดกลิ่นก็มีตำรับกำจัดกลิ่นรักแร้ กำจัดกลิ่นตัว กำจัดกลิ่นปาก

หนังสือเล่มนี้ สำนักพิมพ์มติชนระบุในคำนำว่า เป็นหนังสือเกร็ดประวัติศาสตร์

รวบรวมข้อมูลว่าด้วยการประทินโฉมและเครื่องสำอางในตำราโบราณของจีน

ตั้งใจจะให้ผู้อ่านที่นิยมความรู้เชิงวัฒนธรรมจีนได้ความสำราญจากข้อมูลที่นำเสนอ

ขณะที่ “หลี่หยา” ผู้เขียน ออกตัวไว้ในบทนำว่า ไม่ใช่ผู้มีความรู้ทางการแพทย์แผนจีน

การนำเสนอข้อมูล จึงทำได้เพียงแยกประเภท ไม่ลงลึกไปถึงการวิเคราะห์ตำรับยา

จึง “ขอให้ผู้อ่านทำความเข้าใจเป็นหลัก อย่านึกคะนองทดลองใช้”

หนังสือเล่มนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

ผู้เขียน และสำนักพิมพ์ ต้องการถ่ายทอดรสชาติทางวัฒนธรรม

ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ “หลี่หยา” ผู้เขียนระบุว่า ค้นคว้ามาจากบทความ หนังสือ

รวมถึงงานเขียนด้านวัฒนธรรมสมัยต่างๆ ของจีน

มีการอ้างอิงข้อมูลจากตำราแพทย์โบราณหลายเล่ม

การค้นคว้าที่มาจากหลายแหล่งข้อมูล ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความครบครัน และเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

สำหรับคนชอบวัฒนธรรมจีน หากได้สัมผัสข้อมูลในหนังสือ คงจะชอบใจ

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว กลับไปอ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์จีนที่มีตัวละครอย่าง ไซซี มู่หลาน หยางกุ้ยเฟย ปรากฏ

เมื่อได้อ่านคำเชิดชูความงามของตัวละครเหล่านั้น

ข้อมูล “งาม เพราะ แต่ง” จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่านและชม

ช่วยให้ทราบถึงวัฒนธรรมจีน

ทราบถึงการประทินโฉมที่จีนโบราณเขาทำกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image