ประเพณี วัฒนธรรม และกรรมสิทธิ์ ในชีวิต”ชาวเล”

ท่ามกลางบรรยากาศการทำตัวเป็นไม้บรรทัดของสังคมไทยที่ตัดสิน “บางกลุ่มชาติพันธุ์” ว่า “เป็นอื่น”

ชาวเล กำลังประสบปัญหาอย่างเดียวกัน! 

ชาวเลเป็นคำปักษ์ใต้ที่ย่นย่อมาจาก ชาวทะเล มีความหมายถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบชาวฝั่งทะเล กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนพื้นเมืองที่มีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะที่มีจุดเกี่ยวข้องกัลทะเลและชายฝั่ง

ย้อนกลับไปในปี 2547 ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ ไม่ปรากฏชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลขึ้นในสำนึกรู้ของสังคมไทย ทั้งที่เป็นกลุ่มชนที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตในบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยมาหลายร้อยปี ซึ่งด้วยระยะเวลาเช่นนี้ แน่นอนว่าพวกเขาย่อมมีภาษา วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตัวเองอยู่นานมากแล้ว

Advertisement

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด สังคมไทยเหยียดและขับให้ชาติพันธุ์เหล่านี้ “เป็นอื่น” อยู่เสมอ อาจจะด้วยความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรมกระแสหลักของสังคมไทยที่ปฏิเสธและไม่ยอมรับความมีอยู่ของวัฒนธรรมอื่นในเขตแดนประเทศตนอยู่เสมอ แน่นอนว่านี่ย่อมเป็นเส้นทางที่ไม่เปิดโอกาสให้ความหลากหลายเข้ามามีบทบาทพื้นที่ จนวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองหลายพื้นที่ถูกกลืนหายไปอย่างน่าเสียดาย

พ้นไปจากนี้ พวกเขายังต้องเผชิญภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดิน, การจ้างงานผิดกฎหมาย รวมถึงอคติและมายาคติทางชาติพันธุ์

การถูกทำให้เป็นอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องเศร้าเรื่องใหม่ของสังคมไทยแต่อย่างใด ดูเหมือนเราจะคุ้นเคยกับการปฏิบัติแบบนี้มานานแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น เพื่อจะย้ำและชี้ให้เห็นว่ายังมีผู้เดือดร้อนจากทัศนคติเช่นนี้อยู่ งานเสวนา “บางวัฒนธรรมไม่มีกรรมสิทธิ์ บางวัฒนธรรมไม่มีคำว่ากังวล?” โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรพันธมิตร

Advertisement

จึงเหมาะสมกับบรรยากาศเช่นนี้อยู่ไม่น้อย


ความผูกพันต่อพื้นที่ท้องถิ่น
อันไร้ลายลักษณ์อักษร

ดร.นฤมล อนุโณทัย หัวหน้ากลุ่มวิจัยพลวัตวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเปิดประเด็นขึ้นมาก่อนถึงความเป็นอยู่ของชาวมอแกนที่ย่อมรู้จักเกาะสุรินทร์เป็นอย่างดี ก็เนื่องด้วยเติบโตที่นั่นมาทั้งชีวิตและมีรกรากประเพณีอันยาวนาน ซึ่งแสดงผ่านชื่อเกาะที่เป็นภาษามอแกนมากกว่าภาษาไทย ฟ้องชัดถึงความผูกพันของชาวมอแกนต่อพื้นที่นั้นๆ อย่างแนบชิด

แต่ความผูกพันอันไร้ลายลักษณ์อักษรเช่นนี้ แน่ชัดอยู่แล้วว่าย่อมไม่เป็นที่รองรับของกฎหมายไทย

ปัจจุบันสามารถแบ่งชาวเลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ อูรักลาโว้ย, มอแกลน และ มอแกน พวกเขาอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลหรือเกาะต่างๆ เป็นนักว่ายน้ำที่เชี่ยวชาญ มีความรู้เรื่องทิศทางลมและเรือแพอยู่ในระดับฝังเข้าเส้นเลือด

และก็ด้วยภูมิปัญญาอันล้ำลึกเช่นนี้เองที่ทำให้พวกเขาอาศัยอยู่กับธรรมชาติโดยไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด

“ชาวเลรู้จักพื้นที่ใกล้ทะเลเหล่านั้นมากกว่าไกด์นำเที่ยว เพียงแต่ก็แนะนำได้ไม่ดีเท่าหรือพูดภาษาต่างประเทศไม่ได้”

ความน่ากังวลที่ ดร.นฤมลเห็นคือการล่มสลายของวัฒนธรรม เพราะเช่นนี้ย่อมทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมหล่นหายไป และแน่นอนว่านั่นย่อมส่งผลให้เรากลายเป็นวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว ซึ่งเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอนที่จะกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน

“ให้สังคมได้มีการเรียนรู้ที่งอกเงยยิ่งขึ้น เกิดพลังในเชิงสร้างสรรค์”

“ซึ่งเราก็ต้องคิดไปให้ถึงรากของวัฒนธรรมที่มีมากกว่าเครื่องแต่งกายหรืออาหาร”

หากวัฒนธรรมอันหลากหลายหายไป คนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงที่สุดอาจหนีไม่พ้นคนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นแต่เดิมนั่นเอง

“ก็ต้องกังวลว่า สิ่งเหล่านี้จะไปเปลี่ยนวิถีชีวิตใครหรือไม่” ดร.นฤมลกล่าว

pra01060959p3
บรรยากาศงานเสวนา จากซ้าย-ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว, สาวิตรี สุวรรณสถิตย์, ดร.นฤมล อนุโณทัย และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์


ระบบศักดินาและการยึดครองที่ดิน
เหตุผลของการจับจองเป็นเจ้าของ

ไม่ห่างกับที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวไว้ “แต่ก่อนนี้เราอยู่รวมหมู่กับชาวเล แต่ไม่มีกระดาษบอกว่าตรงนี้คือที่ของเรา”

การแบ่งที่ดินนั้นเริ่มขึ้นในสมัยที่มีศักดินา โดยก่อนหน้านั้นไม่อาจระบุได้ว่าพื้นที่ไหนเป็นของใคร ผู้คนใช้ประโยชน์จากที่ดินร่วมกัน เรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทีหลัง และด้วยระบบศักดินานี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงความเป็นเจ้าของ การยึดครอง

“ก่อนหน้านั้นเรายึดครองพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อเป็นเจ้าของ แต่ระบบศักดินาซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ทำให้เห็นชัดในเรื่องความเป็นเจ้าของ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เกิดการรังวัดที่ดิน นำมาสู่การตั้งคำถามว่ากรรมสิทธิ์คืออะไร”

“หลังรังวัดก็มีการปรับว่าหลังจากนี้จะเริ่มลงทะเบียนว่าใครเป็นเจ้าของที่ไหน ซึ่งก็มีแต่เหล่าขุนนางหรือคนในเมืองที่ทราบเรื่องเหล่านี้และมาลงทะเบียน”

แน่นอนว่าชาวเลหรือชาวดอยนั้นไม่รู้เรื่อง อาจจะด้วยความห่างไกลหรืออะไรก็ตาม ทำให้ไม่ได้มาลงทะเบียนและพลาดการจับจองเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งตนและบรรพบุรุษอยู่มาหลายร้อยปี

“เราควรไปเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ไม่ใช่พยายามไปเปลี่ยนเขา” อมรากล่าว ก่อนขยายถึงประเด็นความแตกต่างในความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของคนแต่ละพื้นที่ แต่ละสมัยว่ามีมาเสมอ ซึ่งอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติย้ำว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ “ชาวบ้านเขาคิดเป็น ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเป็น”

วิธีการมองเรื่องธรรมชาติและทรัพยากรของหลายคนกับชาวบ้านนั้นต่างกันมาก จนนำมาสู่จุดที่เป็นความขัดแย้งต่อกัน ซึ่งอมราเสนอว่า การจะเปลี่ยนมุมมองได้นั้นต้องคิดในระดับปัจเจก, ระดับความสัมพันธ์และโครงสร้าง

“เราต้องมองว่าความสัมพันธ์ของเขาเป็นอย่างไร คนที่อยู่มาดั้งเดิมเขาสัมพันธ์อย่างไรกับพื้นที่ กับคนที่อยู่ปัจจุบันแล้วมีเอกสารสิทธิ ซึ่งแน่นอนว่าชาวเลเองก็ต้องทำความเข้าใจคนที่มาอยู่ใหม่ด้วยเช่นกัน”

ในแง่การปรับโครงสร้างนั้น อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอว่า วัฒนธรรมกับโครงสร้างสังคมใกล้กันมาก และแน่นอนว่าโครงสร้างมีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมอย่างสูง ซึ่งจำเป็นต้องปรับจูนสิ่งเหล่านี้เข้าหากันให้มากที่สุด และต้องเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นสันติ-หรืออย่างน้อยก็ไม่เพิ่มพูนความขัดแย้งให้มากขึ้น

ซึ่งนั่นย่อมหมายความถึงการรอคอยวันเวลาที่จะประสบประสานความเข้าใจที่ตรงกันในสักวันนั่นเอง


วัฒนธรรมชาวเล
หยั่งรากลึกท่ามกลางการถูกขับสู่ความเป็นอื่น

ชาวเลปัจจุบันถูกแรงขับจากโลกสมัยใหม่และโลกาภิวัฒน์ พวกเขามีการเรียนรู้ และถ่ายทอดวัฒนธรรมให้กัน มีบทเพลง และเพลงร้องมากมายที่ถูกบันทึกผ่านรุ่นสู่รุ่น

สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นว่าในทรรศนะของสังคมไทยแล้ว หลายคนนิยมเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่ายิปซี-อันหมายถึงคนเร่ร่อนในตะวันตก มีลักษณะไม่น่าไว้ใจ “ทั้งที่จริงๆ แล้วคนเหล่านี้มีวัฒนธรรมสูงมากเลย”

อคติอันน่าเจ็บปวดเหล่านี้ เกิดจากการสั่งสอนอบรมกันมาจนเราต่างมีพฤติกรรมที่คล้ายกัน

และนั่นย่อมทำให้เราผลักคนที่ไม่เหมือนสู่ดินแดนของความเป็นอื่นเสมอ

“เมื่อเราอยู่ในกลุ่มคนที่คิดคล้ายๆ กันก็มีการระแวงคนที่คิดต่าง เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เราก็ควรมองอย่างคนที่น้ำไม่เต็มแก้วว่าทำไมเขาจึงคิดเช่นนั้น เป็นเช่นนั้น”

“ดีกว่าการมองอีกฝ่ายอย่างไม่ไว้ใจ”

พ้นไปจากนี้ สังคมไทยยังมักมองชาวเลในลักษณะผู้ไร้อำนาจ และไม่เคยเห็นลักษณะพิเศษบางประการของพวกเขา สาวิตรีบรรยายว่า ชาวเลนั้นดำน้ำได้ลึกและทนจนเป็นธรรมชาติ เพียงแต่เราไม่ค่อยและไม่เคยอยากเรียนรู้จากพวกเขาเท่านั้นเอง

“พวกเขาไม่เคยก่อความเดือดร้อน ไม่เป็นข่าว ไม่เป็นที่สนใจ”

การปรากฏตัวเป็นข่าวของชาวเลเกิดขึ้นในปี 2547 เมื่อเกิดสึนามิขึ้นที่ประเทศไทย พวกเขาเป็นกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มที่มองออกว่าการที่น้ำลดเหือดไปค่อนทะเลเช่นนี้ย่อมนำความพินาศมาสู่พื้นดิน

และนั่นทำให้พวกเขาตัดสินใจพานักท่องเที่ยวบางกลุ่มหนีออกมาได้ทันเวลาก่อนที่น้ำทะเลจะกลืนกินผู้คนหายไปกับเกลียวคลื่น

pra01060959p2
ตัวอย่างงานและวัฒนธรรมจากชาวเล


ไม่ใช่ความเมตตา
แต่เป็นความเข้าใจ

ปิดท้ายที่ ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ให้ความเห็นอย่างเฉียบคมว่า สิ่งที่ชาวเลต้องการนั้นไม่ใช่ความเมตตา

“แต่เป็นความเข้าใจ”

ปัจจุบันชาวเลส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายฝั่งหรือบนเกาะ ส่วนใหญ่ยังยึดอาชีพเกี่ยวกับทะเล เช่น ดำน้ำ หาหอย ปูหรือตกปลา บางส่วนหันมาทำงานรับจ้าง เช่น ขับเรือท่องเที่ยว ขณะที่บางส่วนก็หันมาประกอบอาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวกับทะเล

ซึ่งในบรรยากาศที่สังคมเผชิญหน้ากับความคิดเรื่องกรรมสิทธิ์นั้น ช่วยให้เราหลุดพ้นจากปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนได้หรือไม่ ซึ่งสุริชัยยืนยันว่า เราคงไม่อาจพัฒนาอย่างยั่งยืนได้หากยังใช้ระบบกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

“เราต้องคิดว่าทำอย่างไรเราจึงจะอยู่กับทะเลและเป็นเจ้าของร่วมกันได้ ถ้าไม่ขยายความเข้าใจเรื่องการเป็นเจ้าของร่วมกัน คงแก้ข้อครหาว่าเราเป็นชาติใจแคบ ไปแย่งที่ดินชาวเลไม่ได้หรอก”

ทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องราวที่ไม่ใหม่ซึ่งสังคมไทยยังไม่อาจก้าวข้ามไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image