โควิดยังไม่ซา ฤดูฝนก็กำลังจะมา การแพทย์ไม่หยุดนิ่ง ตั้งรับ รุกสู้ กู้วิกฤต

วิกฤตโควิด ยังอยู่กับคนไทย

วิกฤตวัคซีน ก็เป็นเรื่องต้องแก้ไข

ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามรับมืออย่างสุดกำลัง ไม่เพียงหน่วยงานด้านสาธารณสุข หากแต่รวมถึงสถาบันการศึกษาและอื่นๆ อีกมากมาย

ก่อนจะเข้าถึงฤดูกาลใหม่ที่ฟ้าฝนจะโปรยปรายนำมาทั้งความชุ่มฉ่ำ และเปียกชื้น พาโรคภัยเดิมๆ ที่เพิ่มเติมคือ โควิด ซึ่งประชาชนตั้งการ์ดสูงตลอดมา มีข้อมูล คำเตือน และความคืบหน้าในเทคโนโลยีสุขภาพมาอัพเดตให้รับทราบโดยทั่วกัน

Advertisement

‘มหิดล’ เตือน ความเปียกชื้นในฤดูฝน ‘โควิด’ อยู่บนพื้นผิวได้นานขึ้น

แม้ยังไม่มีรายงานว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ประชาชนก็ไม่ควร “การ์ดตก” เพราะความเปียกชื้นในช่วงฤดูฝนจะทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่บนพื้นผิวได้นานขึ้น จึงควรระวังมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการสัมผัสต่อเชื้อ โดยหลีกเลี่ยงการที่จะต้องไปอยู่ในที่แออัด และไม่ละเลยที่จะล้างมือและใส่หน้ากากอนามัยป้องกันอยู่เสมอเวลาที่ไม่ได้อยู่เพียงคนเดียว ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ตลอดจนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน

Advertisement
ดร.นายแพทย์สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ

อาจารย์ ดร.นายแพทย์สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ รอง ผอ.โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และฤดูฝนที่กำลังจะเข้ามา ยังมีโรคอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด คือ โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวมถึงโรคที่เกิดจากอาหารการกิน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ และอื่นๆ อีกหลายโรค จึงอยากให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้ดี หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์

ส่วนการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 นั้น แต่ละบุคคลมีความจำเป็นและเหมาะสมต่อการเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 ที่แตกต่างกัน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน ซึ่ง “กลุ่มเสี่ยง” ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด โรค NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) รวมถึงกลุ่มที่เป็นโรคอ้วน จะเป็นกลุ่มที่ถ้าติดเชื้อ COVID-19 แล้วจะมีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป แต่อาจฉีดได้ในรายที่สามารถควบคุมอาการได้ดี

สำหรับผู้ที่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนโควิด ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีนรุนแรงมาก่อน ซึ่งจะมีอาการหลายระบบ ได้แก่ อาการทางระบบผิวหนัง เช่น ผื่น คัน ลมพิษ ร่วมกับอีกอย่างน้อย 1 อาการระบบ ได้แก่ อาการระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หน้ามืด หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ หรืออาการระบบทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หรืออาการระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งหากมีประวัติแพ้วัคซีนรุนแรง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด

ในแง่มาตรการของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน พร้อมให้บริการประชาชน โดยคำนึงถึงการปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่าง ที่เชื่อมั่นได้ว่าปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยได้มีการจัดระบบการนัดหมาย เพื่อลำดับผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความแออัด ทั้งบริเวณที่พักคอย ที่รอพบแพทย์ และรอรับยา พร้อมทั้งมีการจัดวางเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือฆ่าเชื้อโรคในทุกจุดบริการ รวมทั้งมีการทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มกด ราวประตู ราวบันไดลิฟต์ หรือบริเวณที่จะต้องมีการสัมผัส ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 1 ชั่วโมง อีกทั้งให้ผู้ที่มารับบริการทุกคนใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจะใส่ทั้งหน้ากากอนามัย และเฟซชิลด์ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันที่เพิ่มขึ้น

‘รามาธิบดี’ ไม่หยุดนิ่ง พัฒนาเทคโนโลยีสู้โควิด จับตาเทรนด์สุขภาพโลก

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา

นอกเหนือจากการรับมือ ปฏิบัติการเชิงรุกย่อมสำคัญยิ่ง ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ เปิดเผยถึงภารกิจสำคัญที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเมืองหลวงของโลกด้านการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกมีความต้องการด้านระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพมากกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์

“รามาธิบดีเตรียมความพร้อมรับมือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนชาวไทย ทั้งในแง่ของการเปิดให้บริการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 และการทำงานร่วมกับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จ.สมุทรปราการ ในการรองรับการรักษาผู้ติดเชื้อต่อไป รวมถึงการวิจัยพัฒนาสารสกัดเพื่อต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 ในประเทศ และด้วยวิกฤตการณ์ที่ยังคงมีความเสี่ยงเช่นนี้ ทางสถาบันจักรีนฤบดินทร์ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีด้านการแพทย์มาปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ระบบ Telemedicine ใช้ในการตรวจรักษาเพื่อลดการเดินทางมายังโรงพยาบาลของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการได้รับเชื้อระหว่างเดินทาง และอำนวยความสะดวกในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางมาพบแพทย์ได้ รวมถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อให้บริการผู้ป่วย และยังลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อได้อีกด้วย” ศ.นพ.ปิยะมิตรกล่าว

นอกจากนี้ จากการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่ามี 3 เทรนด์หลักของเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ควรจับตามอง ได้แก่ การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า มุ่งเน้นการพัฒนาบริการสาธารณสุขโดยการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรบุคลากรทางการแพทย์วัยเกษียณ เพื่อให้บริการทางการแพทย์เชิงรุกให้แก่หน่วยงานเอกชนต่างๆ ที่รามาธิบดีได้เข้าไปจัดตั้งศูนย์สุขภาพภายใน (Rama Frontier) รวมถึงแผนการพัฒนาศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา โดยพัฒนาพื้นที่บริเวณถนนศรีอยุธยา เพื่อให้เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพที่หลากหลาย เช่น การรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก, การดูแลหัวใจ, การศัลยกรรมตกแต่งและเลเซอร์ศัลยกรรมผิวหนัง เป็นต้น

เตรียมความพร้อมเพื่อรับสังคมสูงวัย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมีตัวเลขเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 3 ในทวีปเอเชีย รองมาจากประเทศเกาหลีใต้และประเทศญี่ปุ่น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ.2565 รามาธิบดีจึงจัดตั้งโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) ร่วมกับกรมธนารักษ์ โดยมุ่งหวังให้เป็นที่พักอาศัยแบบครบวงจรของผู้สูงอายุที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม และมีบุคลากรทางการแพทย์คอยให้การดูแลด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย เทคโนโลยีสุขภาพแบบใหม่ที่เปลี่ยนโลกการแพทย์แบบเดิม นับตั้งแต่มีการพัฒนาระบบ AI เทคโนโลยีต่างๆ ก็ถูกพัฒนาประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นรวมถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพด้วย ในส่วนของการเรียนการสอน โรงเรียนแพทย์รามาธิบดีได้นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาให้นักศึกษาแพทย์ได้ทดลองใช้ เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ในการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ รวมถึงการพัฒนาศูนย์จีโนมทางการแพทย์เพื่อให้เป็นแหล่งวิจัยระบบพันธุกรรมที่เป็นรากฐานของสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ตัวอย่างงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คืองานวิจัยสารสกัดจากกระชายขาวในการยับยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเพื่อเป็นยาสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ที่รามาธิบดียังให้ความสำคัญกับการนำระบบเทคโนโลยีที่หลากหลายมาใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นแพทย์ยุคดิจิทัลต่อไปในอนาคต

ภารกิจด้านการพัฒนาบริการด้านสุขภาพ และการยกระดับการเรียนการสอนของหลักสูตรแพทย์ นับเป็นภารกิจสำคัญที่จะช่วยให้ระบบสาธารณสุขไทยก้าวไกลยิ่งขึ้น ซึ่งรามาธิบดีก็มุ่งหวังที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างมาตรฐานการแพทย์ให้มีคุณภาพในระดับโลกต่อไป สำหรับผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาค เพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในทุกภารกิจได้ผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ www.ramafoundation.or.th โทร 0-2201-1111

‘ธรรมศาสตร์’ เนรมิต ยิมเนเซียม 4 ศูนย์รังสิต

จุดฉีดวัคซีนโควิด ดีเดย์ 7 มิ.ย.

ปิดท้ายด้วยความคืบหน้าจากรั้วธรรมศาสตร์ ซึ่งล่าสุด ประกาศผนึกโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยกระดับ “อาคารยิมเนเซียม 4 ศูนย์รังสิต” เป็นจุดฉีดวัคซีนโควิด-19 รองรับประชาชนวันละ 2,000 ราย พร้อมระดมบุคลากรทางการแพทย์กว่า 100 ชีวิตดูแลใกล้ชิด วางระบบส่งต่อกรณีพบเคสอาการไม่พึงประสงค์ ดีเดย์ให้บริการ 7 มิ.ย.นี้ โดยตระเตรียมความพร้อมของอาคารสถานที่ วางระบบครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ตลอดจนทดสอบ Flow การเข้ารับฉีดวัคซีน จุดพักคอยเพื่อสังเกตอาการ ตลอดจนแผนรับมือฉุกเฉินกรณีผู้รับวัคซีนมีอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะมีบุคลากรทางการแพทย์กว่าวันละ 100 รายให้บริการ

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ มธ.ได้ประสานการทำงานกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ภายใต้การนำของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ อย่างเป็นเนื้อเดียว นั่นหมายความว่า นอกจากการให้บริการฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีระบบรองรับกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนด้วย

“เราได้จัดระบบเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบเพื่อความสมบูรณ์ในการให้บริการจริง โดยเชื่อมต่อการทำงานระหว่างจุดบริการวัคซีน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ รวมถึงโรงพยาบาลสนาม ฉะนั้นหากประชาชนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ก็จะได้รับการดูแลรักษาที่รวดเร็ว ทันท่วงที โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่สแตนด์บายเตรียมความพร้อมตลอดเวลา” รศ.เกศินีกล่าว

ทั้งนี้ อาคารยิมเนเซียม 4 ศูนย์รังสิต ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ใกล้กับทางเข้าประตูเชียงราก โดยจะเปิดให้บริการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร 0-2088-0400

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ซึ่งกลายเป็นประเด็นหลักในแทบทุกวงสนทนาทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในทุกชนชั้น ตั้งแต่ไฮโซถึงรากหญ้า เมื่อไวรัสร้ายไม่เลือกปฏิบัติในการจู่โจมโลกและมนุษยชาติ

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image