ปักหมุดเส้นทาง‘หลังทวงคืน’ ทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้น จากสหรัฐกลับไทย แล้วไปไหนต่อ?

งดงามอลังการสมเป็นงานของกรมศิลปากรโดยแท้ สำหรับพิธีบวงสรวงทับหลังปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ที่ขึ้นเครื่องบินหวนคืนกลับภูมิลำเนา ณ ราชอาณาจักรไทยหลังถูกลักพาตัวอยู่ต่างแดนนานถึงกว่า 50 ปีเต็ม

หลังจากนี้ กรมศิลป์เตรียมจัดแสดงให้ประชาชนเข้าชมพร้อมถอดบทเรียนประวัติศาสตร์เป็นเวลา 3 เดือน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รอเพียง นายกฯตู่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาร่วมพิธีรับมอบและตัดริบบิ้นเปิดอย่างเป็นทางการ

หากเป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ เรียกได้ว่าจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ทว่า ในชีวิตจริง ทับหลังทั้ง 2 ชิ้น ยังต้องเป็นตัวละครหลักในโร้ด มูฟวี่ ว่าเส้นทางหลังจบนิทรรศการ 3 เดือนข้างต้นจะเอาอย่างไรต่อดี

เนื่องด้วยมีเสียงเรียกร้องจากท้องถิ่น ที่ปัดกวาดเช็ดถูปราสาทเตรียมพร้อมผูกข้อไม้ข้อมือจัดบายศรีรับขวัญทับหลังทั้ง 2 ชิ้นกันอย่างเต็มใจ ในขณะที่อีกกระแสมองว่า ควรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะเหมาะกว่า เพราะถึงขนาดใช้เวลาทวงคืนมากว่า 5 ปี ถ้าโดนโจรกรรมอีกรอบ จากภาพความสำเร็จจากความร่วมมือทวงคืนของภาครัฐกับประชาชนจะกลายเป็นภาพยนตร์ดราม่าสุดเศร้าเคล้าน้ำตาขึ้นมาทันที

Advertisement

อย่าเก็บเข้า ‘คลัง’ ต้องย้ำพลัง ‘ภาคประชาชน’ กรณีศึกษาเรียกร้อง ‘สิทธิ’

ประเด็นนี้ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะเขมรในประเทศไทยอย่าง รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่า ก่อนอื่น ไม่อยากให้เก็บเข้าไปไว้ในคลัง เพราะทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้ไม่ได้มีคุณค่าเฉพาะในแง่ของประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีแล้ว แต่มีคุณค่าในเรื่องของความตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยได้ความชัดเจนว่า ภาคประชาชนมีบทบาทสูงมาก ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่มีภาคประชาชนมีความตระหนักรู้และพร้อมชี้ช่องทาง รวมถึงเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน ส่วนในอนาคตหลังจัดนิทรรศการแล้ว หากคืนท้องถิ่นได้ จะเป็นผลดี แต่ต้องมีมาตรการดูแลอย่างรัดกุมไม่ให้สูญหายไปอีก

“จำเป็นต้องพูดถึงประเด็นที่ว่า สมบัติของชาติ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมบัติของหลวง หรือของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นของประชาชนด้วย ดังนั้น คนทั่วไปก็สามารถเข้ามามีส่วนในการอนุรักษ์ และสนับสนุนได้ เราอาจต้องเน้นย้ำให้เห็นว่าสมบัติพวกนี้ เป็นสมบัติของแผ่นดินที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาเป็นไปของดินแดนไทย ผมคิดว่าทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้จะเป็นกรณีศึกษาที่ต่อเนื่องมาจากกรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ในแง่ของการที่เราต้องเรียกร้องสิทธิในทรัพย์สินแผ่นดินที่เราเคยมีอยู่ แล้วถูกโจรกรรมไปต่างประเทศ

Advertisement

ดังนั้น เมื่อจัดแสดงครบ 3 เดือนแล้ว ไม่อยากให้เก็บเข้าไปไว้ในคลัง เพราะทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้ไม่ได้มีคุณค่าเฉพาะในแง่ของประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีแล้ว แต่มีคุณค่าในเรื่องของความตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรม น่าจะสามารถชูขึ้นมาได้ ถ้าถามว่าควรทำอย่างไร หากนำกลับไปที่ท้องถิ่นได้ ก็น่าจะเป็นผลดี แต่ประเด็นที่ต้องระวังคือ การดูแลรักษาไม่ให้หายไปอีก จะมีมาตรการอย่างไร หากเคยไปที่ปราสาทเขาโล้น จะทราบว่าค่อนข้างลับตาคน พูดง่ายๆ ว่าถ้าใครมีเจตนาจะขโมย ก็ทำได้แน่นอน หรือแม้แต่ปราสาทหนองหงส์ แม้ใกล้ชุมชนแต่สามารถโจรกรรมได้ เพราะไม่ได้มีเวรยามเข้าตลอด ถามว่าควรกลับไปที่ชุมชนไหม ถ้าท้องถิ่น
มีศักยภาพก็เห็นควรว่ากลับไปได้ ไม่มีปัญหา แต่กระบวนการในการระมัดระวัง อาจต้องทำให้รัดกุม” รศ.ดร.รุ่งโรจน์แนะ

ความหมายต่อท้องถิ่นต้องมาก่อน แนะเลิกนิทรรศการเน้นรูปแบบศิลปะ

ในประเด็นเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ มีความเห็นสอดคล้องกัน นั่นคือ ขณะนี้ท้องถิ่นตื่นตัวเรื่องความรักในมรดกวัฒนธรรมอย่างมาก ทับหลังที่ได้คืนมาทั้ง 2 ชิ้น เป็นมรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นอันดับแรก อันดับสองคือของชาติ ทั้งชาติ ทั้งรัฐ ทั้งท้องถิ่นมีสิทธิที่จะรักษาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในแง่ที่ท้องถิ่นดูแลไม่ได้ รัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้องโดยการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แล้วจำลองทับหลังไปไว้ที่ปราสาททั้ง 2 หลัง แต่ถ้าท้องถิ่นมีกำลัง ยืนยันว่าสามารถดูแลได้ ก็ต้องคืนให้ท้องถิ่น ซึ่งก็ต้องมีการตกลงกันระหว่างราชการกับท้องถิ่น แต่ไม่แน่ใจว่ากรมศิลปากรจะสามารถพูดให้ท้องถิ่นเข้าใจได้หรือไม่ หากไปพูดในลักษณะแสดงอำนาจ ก็จะเกิดปัญหา ในขณะเดียวกัน ถ้าท้องถิ่นทำเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียวก็ไม่มีประโยชน์

“ทับหลัง 2 ชิ้นนี้เป็นทั้งสมบัติชาติ และสมบัติท้องถิ่น อย่างน้อยกรมศิลปากรต้องรู้ว่าความรู้สึกหวงแหนของคนท้องถิ่นเขามีแค่ไหน ถ้าเขาคิดว่าดูแลได้ ก็ต้องคุย ต้องตกลงกันว่าจะดูแลรักษาด้วยวิธีไหน กรมศิลป์ก็ต้องเป็นผู้ช่วยให้คำแนะนำวิธีการ เทคนิคทางวิชาการ ว่าต้องทำอย่างไร ต้องให้ความรู้ที่เชื่อมโยงกับสังคม วัฒนธรรมของเขา อยู่ที่ศักยภาพของกรมศิลปากรว่าเข้าใจสิ่งนี้หรือเปล่า” ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรกล่าว ก่อนย้ำว่า ในการให้ความรู้ประชาชนผ่านนิทรรศการ ขออย่าเน้นไปที่ ‘รูปแบบศิลปะ’ แต่ต้องให้ความสำคัญกับ ‘ความหมาย’ และความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น

“การจัดนิทรรศการก็เหมือนกัน อย่าจัดแต่ในกรุงเทพฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในท้องถิ่นก็ต้องจัดด้วย โดยค้นคว้าและนำเสนอความหมายของทับหลังทั้ง 2 ชิ้นมาเผยแพร่ ทำงานวิชาการออกมาให้เห็น ไม่ใช่จัดแสดงแต่รูปแบบศิลปะ น่าเบื่อ ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในการให้ความรู้ชาวบ้าน ความหมายในการเป็นสิ่งสำคัญในศาสนสถานสำคัญกว่าสำหรับท้องถิ่น เลิกเสียทีสำหรับการจัดนิทรรศการที่เน้นประวัติศาสตร์ศิลป์ รูปแบบนั้น รูปแบบนี้ ศิลปะบาปวนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องทำให้เห็นว่ามีความเป็นมา และความสัมพันธ์กับสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นอย่างไร ไม่ใช่เน้นศิลปะ แต่ต้องเน้นที่ความหมาย” นักประวัติศาสตร์ชื่อดังขีดปากกาไฮไลต์

‘จำลอง’ คือทางเลือก ‘ของจริง’ เก็บพิพิธภัณฑ์แห่งชาติใน ‘ท้องถิ่น’

มาถึงความเห็นของ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กลุ่มสำนึก 300 องค์ หนึ่งในแกนนำริเริ่มผลักดันทวงคืน 2 ทับหลัง โดยเล่าว่า เนื่องจากกรมศิลปากรบูรณะปราสาททั้ง 2 หลังแล้ว โดยเฉพาะปราสาทเขาโล้น เมื่อทวงคืนสำเร็จแล้ว ก็ควรนำกลับไปติดตั้งที่โบราณสถาน แต่เนื่องจากโบราณสถานทั้ง 2 หลัง โดยเฉพาะปราสาทเขาโล้น ถ้านำของจริงไปติดตั้งอาจได้รับผลกระทบกระเทือน มีเรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีก เช่น จากการเขียน ซึ่งห้ามนักท่องเที่ยวได้ยากมาก เพราะเป็นปราสาทที่อยู่บนเขาโดดๆ ห่างไกลชุมชนมาก

ส่วนปราสาทหนองหงส์ แม้ว่าจะอยู่ในเขตวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โนนดินแดง ไม่ห่างไกลสายตาคนนัก แต่ไม่ได้มีการบริหารจัดการในลักษณะที่เป็นประจำ มีเพียงเทศบาลเข้าไปตัดหญ้า ซึ่งยังไม่พอที่จะรักษาความปลอดภัยได้ ดังนั้น การทำชิ้นจำลองไปติดตั้ง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ส่วนของจริงเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่อยู่ใกล้เคียงกับตัวโบราณสถานมากที่สุด ใครจะดูของจริงก็ไปศึกษาที่โน่น ตามจริงเวลาถ่ายรูป ไม่ต่างจากของจริง

สำหรับกระแสเรียกร้องของท้องถิ่น ที่อยากให้นำกลับไปติดตั้งบนปราสาทนั้น นักวิชาการท่านนี้มองว่า นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในการทวงคืนครั้งแรก ซึ่งกรมศิลปากร โดยเฉพาะ สำนักศิลปากรในพื้นที่ เหมือนพยายามจำกัดเรื่องการใช้งานโบราณสถาน ทำให้ท้องถิ่นมีความรู้สึกว่า ในเมื่อเขาร่วมรณรงค์ในการทวงคืนทับหลังด้วย อย่างเช่น กระแสที่ทวงคืนมากที่สุดอยู่ที่ ปราสาทหนองหงส์ ซึ่งนายกเทศมนตรีให้ความร่วมมือกับกลุ่มสำนึก 300 องค์ เป็นอย่างดี ช่วยกันผลักดันให้มีการออกสื่อให้เห็นถึงความสำคัญ จนกระทั่งเกิดคณะกรรมการทวงคืนขึ้นมา ฉะนั้น ท้องถิ่นจึงมีความรู้สึกว่าเมื่อได้โบราณวัตถุกลับมา ก็ควรกลับมาท้องถิ่น เพราะเป็นสิทธิของเขาที่จะมีความรู้สึกแบบนั้น มีความต้องการได้

“ผมได้คุยกับทางนายกเทศมนตรีเหมือนกันว่า เมื่อเราไม่มีพิพิธภัณฑ์ หรืออาคารที่จะดูแลรักษาโบราณวัตถุชิ้นนี้ให้ปลอดภัยได้ ก็ยังไม่ควรที่จะเอาไปคืนท้องถิ่น การติดตั้งที่โบราณสถานต้องมีเวรยามดูแลรักษาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทำไม่ได้ ไม่ปลอดภัยแน่นอน เพราะมันเคยหายมาแล้ว และง่ายต่อการชำรุด คนอาจจะมือบอนไปพ่นสี เขียน หรือไปกะเทาะ เหมือนรูปหน้าพระยมทรงกระบือ ซึ่งแต่เดิมในช่วงที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ไปสำรวจและถ่ายรูปกับทีม ก็ยังเห็นรูปหน้าเต็มองค์ แต่พอหายไปก็ถูกกะเทาะเอาเฉพาะส่วนหน้าออกไปขาย และทับหลังก็ถูกขายตามหลังต่อไป เหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกก็ได้”

หนุนกระจายอำนาจ ให้ความรู้ชาวบ้าน ลดภาระกรมศิลป์

ประเด็นการบริหารจัดการที่เกี่ยวโยงระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนนั้น เป็นที่รู้กันว่าคือปัญหาคาราคาซัง ไม่ใช่เฉพาะกรมศิลปากร แต่เกิดขึ้นกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐแทบทั้งสิ้น สำหรับเหตุเฉพาะกรณีทับหลัง ทนงศักดิ์ แนะว่า ต้องพูดคุยกัน มีความจำเป็นต้องให้ความรู้ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งส่วนราชการ และชุมชนด้วย

“ส่วนราชการก็บกพร่องเยอะ ทั้งการดูแลรักษาตัวโบราณสถาน ถ้าดูแลดีก็คงไม่หายไป เพราะอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร จะว่าไปแล้ว ไม่ควรจะหาย ถ้าหากราชการดูแลดี แต่คุณจะทำอย่างไรไม่ให้หายไปอีก ก็ต้องร่วมมือกับท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นเขาอยู่ใกล้กว่า สามารถที่จะทำอะไรต่อมิอะไรต่อตัวโบราณสถานให้ปลอดภัยได้ดีกว่า

ด้วยการบริหารจัดการดีกว่า ก็ควรมอบโบราณสถานให้กับท้องถิ่นไปดูแลรักษาเสีย ไม่ควรจะให้ราชการดูแลต่อไป ขณะที่โบราณสถานที่ท้องถิ่นสามารถดูแลได้ ก็สามารถถ่ายโอนอำนาจไปได้ ความจริงแล้วกรมศิลปากรเคยถ่ายโอนโบราณสถานให้ท้องถิ่นดูแลหลายแห่ง ซึ่งก็เป็นการตัดภาระของกรมศิลปากรไปได้เยอะ ปราสาทหนองหงส์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ควรจะจัดการให้ท้องถิ่นดูแล ช่วยราชการอีก
ทางหนึ่งด้วย ก็จะปลอดภัย และทำให้โบราณสถานมีมูลค่ามากขึ้น
ท้องถิ่นก็จะมีกิจกรรมทำ อะไรต่อมิอะไรของเขา

เดี๋ยวนี้ทุกที่ ผมว่าเขากระตือรือร้นในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราควรจะให้การศึกษาเขา กรมศิลปากรมีความรู้ดี ควรจะให้ความรู้กับชาวบ้าน อบรมท้องถิ่นกันไป เพราะความหวงแหนเป็นพื้นฐานของคน ถ้าคนจะรักมากขึ้น ก็ต้องเห็นคุณค่ามากขึ้น ถูกไหม?” ทนงศักดิ์ถามทิ้งท้าย

อธิบดีกรมศิลป์‘ไม่ขัดข้อง’ยืนยันฟังทุกคอมเมนต์

ปิดท้ายด้วยมุมมองของ ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งล่าสุดให้ปากคำว่าเห็นสอดคล้องกับนักวิชาการหลายๆ คน ซึ่งทางเทคนิคทางวิชาการ ถ้าอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะเหมาะสมกับการเก็บรักษาทั้งในเรื่องการดูแลรักษาและการบริหารจัดการ ส่วนท้องถิ่นอาจทำแบบจำลองไปติดตั้งเพื่อจัดแสดงในพื้นที่ ยืนยันว่า ทับหลังของจริงจะต้องถูกเก็บรักษาในสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด

“ทับหลังหนองหงส์ มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) ที่ใกล้ท้องถิ่นคือ พช.สุรินทร์ และ พช.พิมาย ขณะที่ทับหลังเขาโล้น มี พช.ปราจีนบุรี ที่อยู่ใกล้กับโบราณสถานแหล่งกำเนิด ซึ่งก็ต้องหารือว่าจะนำไปเก็บรักษาไว้ใน พช.ใด แต่ต้องหลังจากการจัดแสดงนิทรรศการที่ พช.พระนคร ก่อนเป็นเวลา 3 เดือน

ทางกรมศิลป์เองไม่ได้ขัดข้องกับข้อคิดเห็นของนักวิชาการหรือท้องถิ่น พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพราะโบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น นอกจากจะเป็นสมบัติของท้องถิ่นแล้ว ก็ยังเป็นสมบัติชาติด้วยเช่นกัน ดังนั้น เชื่อว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันเก็บรักษาอย่างดีที่สุด” อธิบดีกรมศิลป์คอนเฟิร์ม

3 เดือนหลังจบนิทรรศการ จึงมีอีกภารกิจสำคัญต้องจับตา นั่นคือการเดินทางของ 2 ทับหลังว่าในบรรยากาศ ‘ทวงคืน’ โดย ‘ท้องถิ่น’ หลังทวงคืนจากต่างแดน สุดท้ายแล้วจะลงตัวที่ตรงไหนในพิกัดประเทศไทย ที่ซึ่งโบราณวัตถุทรงคุณค่าถูกพรากไปกว่าครึ่งศตวรรษ

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร/อธิษฐาน จันทร์กลม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image