หมดยุคเฟื่อง‘ตลาดนัดจตุจักร’ พ่ายพิษเศรษฐกิจ-โควิด นักช้อปไม่มี เจ๊ง ปิดแผงเกลื่อน

จากตลาดที่ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักช้อปทั่วโลก มีคนเดินช้อปกันขวักไขว่อย่างคึกคักในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สร้างรายได้ให้พ่อค้า แม่ขาย ได้วันละหลักหมื่น

วันนี้ “ตลาดจตุจักร” ตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แทบร้าง ผู้คนบางตา แผงค้ากว่า 10,000 แผง ตกอยู่ในสภาวะเงียบเหงา บางรายทนแบกภาระไม่ไหว ถอดใจปิดแผงค้า ติดป้ายให้เช่าในราคาที่ถูกลง หวังนำเงินมาจุนเจือค่าใช้จ่าย มากกว่าการค้ากำไรเหมือนเมื่อก่อน

ว่ากันว่าตลาดนัดจตุจักร เริ่มค้าขายไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ปี 2557 เกิดวิกฤตทางการเมือง จนมาถึงปัจจุบันเผชิญวิกฤตการระบาดโควิด-19 ถึง 3 ระลอก ยิ่งซ้ำเติมให้ยิ่งซบเซาหนัก นักช้อป รายได้หายไปเกือบ 100% ไม่เฟื่องฟูเหมือนเก่า

เพราะรายได้ที่หล่อเลี้ยง “พ่อค้า-แม่ขาย” มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในเมื่อประเทศปิด ไม่มีนักท่องเที่ยวบินเข้า เลยทำให้บรรยากาศตลาดนัดจตุจักรยากที่จะกลับมาเหมือนเดิม

Advertisement

จาก 13,000 แผง เปิดขายแค่20%

“สุธน สุวรรณภานนท์” ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิดที่ระบาดหนัก ส่งผลต่อบรรยากาศแผงค้าในตลาดจตุจักร จากทั้งหมดมีประมาณ 13,000 แผง ปัจจุบันมีผู้ค้าเปิดขายอยู่ 20% หรือกว่า 2,000 แผงต่อวัน และมีบางส่วนที่คืนแผงค้า เนื่องจากรายได้ลดลง เพราะคนกลัวโควิด ไม่กล้ามาเดินซื้อของ

Advertisement

ก่อนเกิดโควิดมีคนมาเดินประมาณ 100,000 คนต่อวัน เพราะมีต่างชาติและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศและมาเดินซื้อของที่จตุจักรกันมาก เนื่องจากตลาดจตุจักรเป็นแลนด์มาร์กตลาดนัดกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่นักท่องเที่ยวต้องมา แต่หลังจากเกิดการระบาดโควิดระลอกแรกและระลอก 2 คนเริ่มน้อยลงเหลือประมาณ 50,000-60,000 คนต่อวัน มาลดมากที่สุดเมื่อเกิดระลอก 3 เหลือประมาณ 10,000 คนต่อวัน

“บรรยากาศไม่คึกคัก เพราะคนกลัวโควิด ตอนนี้โซนด้านในและบริเวณหอนาฬิกามีปิดไปเยอะมาก แต่ผู้ค้าก็ไม่ถอยนะ ถึงจะไม่เปิดแผง ก็ขายผ่านช่องทางอื่น เช่น ไลฟ์สด ขายผ่านออนไลน์ เพราะมีลูกค้าประจำ ซึ่งสภาพแบบนี้ไม่ได้เกิดที่ตลาดจตุจักรอย่างเดียว เป็นทุกที่”

-กทม.ลดค่าเช่า50%เยียวยาผู้ค้า

“สุธน”บอกอีกว่า ปัจจุบัน กทม.เยียวยาผู้ค้า ให้เปิดขายได้ 6 วัน เว้นวันจันทร์ที่ปิดทำความสะอาดตลาด ลดค่าเช่าแผงลง 50% จาก 1,8000 บาทต่อแผงต่อเดือน เหลือ 900 บาทต่อแผงต่อเดือน เป็นระยะเวลา 8 เดือน ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 หากมีหนี้ค้างชำระถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ให้เริ่มผ่อนชำระหนี้ค้างเป็นระยะเวลา 5 เดือน เดือนละ 20% ของหนี้ค้างทั้งหมด เริ่มชำระตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ถึงมกราคม 2565 งดเว้นค่าปรับพร้อมดอกเบี้ย และขยายอายุสัญญาเช่าแผงให้อีก 1 ปี หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจจะขยายเวลาการลดค่าเช่าให้อีก

“ก่อนโควิดระลอก 3 เรามีมาตรการจะช่วยผู้ค้าเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย โดยจะอนุญาตให้เปิดขายในวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี ได้ถึงเวลา 6 โมงเย็น วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จาก 2 ทุ่ม ได้ถึง 4 ทุ่ม รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ บริเวณรอบหอนาฬิกา แต่เมื่อโควิดระบาดหนักจึงชะลอออกไป รอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง และเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้ค้าในตลาด เรียกความมั่นใจกลับมา” ผอ.ตลาดนัดจตุจักรกล่าว และย้ำว่า

ถึงตลาดจตุจักรจะซบเซาหนัก แต่ยังไม่หมดยุคเฟื่องฟู ยังมีจุดแข็ง ความเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดให้คนมาเดิน หลังโควิดจบน่าจะเริ่มดีขึ้น และในอนาคตข้างหน้าตลาดจตุจักรอาจจะเปิด 24 ชั่วโมง รองรับการเปิดบริการสถานีกลางบางซื่อที่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางของประเทศ จะทำให้ย่านนี้คึกคักมากยิ่งขึ้น

ติดป้ายปล่อยเช่า ลดราคากระหน่ำ

แม้ว่า กทม.จะมีมาตรการเยียวยาผู้ค้า แต่ดูเหมือนว่ายังปลุกมู้ดไม่ขึ้น จากการสำรวจพบว่าผู้ค้าในตลาดหลังแบกภาระต้นทุนไหม่ไหว ถอดใจปล่อยเช่า เช่น โครงการ 6 ซึ่งเป็นโซนที่คนคึกคัก เจ้าของแผงขึ้นป้ายให้เช่า 2 ล็อก เดิมตั้งราคาไว้ 30,000 บาทต่อเดือน ตอนนี้กดลงมาเหลือ 8,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่โครงการอยู่ด้านใน ไม่ใช่ทำเลไพรม์แอเรีย ติดป้ายให้เช่าหลายแผง เช่น โครงการ 18 ซอย 3 จากโควิดระบาดหนัก ทำให้เจ้าของเลิกขายของกลับบ้านต่างจังหวัด นำแผงที่ว่างปล่อยเช่าราคา 2,500 บาทต่อแผงต่อเดือน

เช่นเดียวกับเจ้าของแผงในโครงการ 18 อีกราย ระบุว่า ช่วงโควิด ค้าขายไม่ดี จึงนำแผงที่มีอยู่ 10 แผง มาปล่อยเช่าในราคาถูก 1,000 บาทต่อแผงต่อเดือน ลดภาระค่าใช้จ่าย

ผู้ค้าระบาย‘ขายไม่ได้แม้แต่บาทเดียว’

ในส่วนของผู้ค้าที่ยังปักหลักขายก็สะบักสะบอมไม่ต่างกัน “ลัดดาวัลย์” แม่ค้าขายเสื้อผ้าโซนริมราง อายุ 38 ปี ค้าขายที่ตลาดจตุจักรตั้งแต่เรียนจบจากมหาวิทยาลัย เล่าว่าเปิดร้านขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วขายได้วันละ 40,000-50,000 บาท ตอนนี้หลังเกิดโควิดระบาด 3 ระลอก ขายได้วันละ 2,000-3,000 บาท บางวันขายได้หลัก 100 บาท และมีบางวันที่ขายไม่ได้เลยสักบาทก็มี ซึ่งบรรยากาศแบบนี้เป็นมาร่วมปีแล้ว เพราะไม่มีคนมาเดินเลย ยิ่งต่างชาติหลังรัฐบาลประกาศปิดประเทศก็ไม่มีเข้ามาเลย ขณะที่คนไทยมีน้อยมาก ทั้งที่ทุกร้านในนี้เข้าร่วมโครงการ “ม33 เรารักกัน และ เราชนะ” เพื่อดึงให้เข้าร้าน ในช่วงแรกมีคนมาใช้ซื้อเสื้อผ้าบ้าง แต่หลังๆ ไม่มีเลย

“โควิดระลอกแรกกับระลอก 2 ยังพอขายได้ ยังพอมีคนมาเดิน แต่พอระลอก 3 ระบาดหนักมากขึ้น เงียบมาก (เน้นเสียง) เพราะคนไม่กล้ามาเดินกลัวติดโควิด หนักที่สุดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วันอาทิตย์ที่แล้วไม่มีคนเลย ที่ร้านก็ขายไม่ได้สักบาท”

ปัจจุบันต้องลดต้นทุน ไม่สต๊อกของใหม่ เร่งขายของเก่าให้หมดทุกวันนี้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ต้องนำเงินเก็บมาหมุน ซึ่งวันหนึ่งมีค่าเดินทางเพราะบ้านอยู่พระราม 2 ยังมีค่ากินอีกเฉลี่ยวันละ 400-500 บาทยังโชคดีที่เจ้าของแผงลดค่าเช่าให้จาก 40,000 บาทต่อเดือน เหลือ 10,000 บาทต่อเดือน

“อยากจะฝากถึงรัฐบาล ให้เร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว จะได้เปิดประเทศ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดจตุจักรขายของกันไม่ได้เลย มีปิดร้านไปกันเยอะมากช่วงโควิด บางคนที่เปิดขายเพราะไม่รู้จะไปทำอะไรเหมือนอย่างที่ร้านที่เปิดขายเพราะขายของมานาน เคยคิดจะเลิกแล้วไปขายของกิน แต่พ่อค้าแม่ค้าก็เต็มตลาดไปหมด เพราะคนตกงานเยอะ”

รัฐบาลต้องคุมโควิดให้อยู่ เร่งเปิดประเทศ

“ซูไฮลา” สาวนราธิวาส อายุ 27 ปี พนักงานขายร้านผ้าไหม เล่าว่า เจ้าของมีร้าน 4 สาขา อยู่ที่ตลาดจตุจักร 3 สาขาและศูนย์การค้ามิกซ์จตุจักร 1 สาขา แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจและโควิดที่ระบาดหนัก จึงปิดสาขามิกซ์จตุจักรไปเพื่อลดค่าใช้จ่าย

“ร้านเปิดขายวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ เมื่อปีที่แล้ว ก่อนมีโควิดมียอดขาย 30,000-70,000 บาทต่อสัปดาห์ พอมีโควิดเข้ามาระลอกแรกยังไม่กระทบมากมีรายได้ 14,000-15,000 บาทต่อสัปดาห์ ระะลอก 2 ลดลงเหลือ 4,000-5,000 บาทต่อสัปดาห์ มาระลอก 3 เหลือวันละ 1,000 บาท บางวันเปิดบิลไม่ได้เลย แต่เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมาฟลุคมากขายได้ 9,200 บาท มีชาวออสเตรเลียมาเหมาผ้าคลุมไหล่ไป 140 ผืน จากที่ขายไม่ได้เลย”

จากวิฤต “ซูไฮลา” เล่าว่า ที่ร้านไม่ได้ลงทุนซื้อของมาสต๊อกไว้มาเป็น 1 ปีแล้ว เพื่อลดต้นทุน พยายามระบายของเก่าให้หมดก่อน มีจัดโปรโมชั่นขายเท่าราคาส่ง จากผืนละ 150 บาท เหลือผืนละ 100 บาท เนื่องจากช่วงนี้ขายยากมาก เพราะคนไม่มี โดยเฉพาะต่างชาติที่เป็นลูกค้าหลัก ขณะเดียวกันก็เริ่มเปิดเพจขายทางออนไลน์ แต่ขายได้ไม่มากนักเพราะการแข่งขันสูง

“เปิดเพจขายเอง ช่วยเจ้าของร้าน ขายผ้าคลุมไหล่กับผ้าคลุมโซฟา พอขายได้เดือนละ 4,000-5,000 บาท มาชดเชยค่าจ้างที่ถูกปรับลด หนูก็เข้าใจเจ้าของร้านนะ เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้ ก็ต้องประหยัด ยังดีที่มีงานทำ”

ถามว่าอยากฝากอะไรถึงรัฐบาล ขอให้คุมโควิดให้อยู่ เพื่อเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาโดยเร็ว เพราะต่างชาติไม่ว่าเอเชียหรือยุโรป เป็นหัวใจหลักของการค้าขายในตลาดจตุจักร ตอนนี้หายไป 90% ทำให้การค้าขายซบเซาตามไปด้วย รายได้หายไปเกือบ 100% ตอนนี้ร้านค้าปิดและคืนแผงค้ากันมาก เพราะส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดเป็นคนต่างจังหวัด อยู่ไปมีแต่ค่าใช้จ่าย รายได้ก็ไม่มี จึงกลับไปอยู่บ้านชั่วคราว หากเปิดประเทศมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็หวังว่าจะทำให้ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ปิดสาขา ลดค่าใช้จ่าย อัดโปรโมชั่น

ไม่ต่างจาก “ซิน” พนักงานขายสินค้าสปาแบรนด์ “ภูตะวัน” เล่าว่า รายได้และลูกค้าหายไป 90% จากเดิมก่อนเกิดโควิดมีรายได้ 5,000-6,000 บาทต่อวัน หลังมีโควิดระลอก 3 ขายได้ 2,000-3,000 ต่อวัน เนื่องจากสินค้าที่ร้านเน้นลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศจีน เมื่อประเทศยังไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามา ทำให้ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง

“มีจัดโปรโมชั่นบ่อยขึ้น เพื่อดึงลูกค้า เช่น ซื้อครบ 500 บาท บิลถัดไปได้ส่วนลด 50 บาท ก็ทำให้รายได้ดีขึ้นมาแค่ 10% เพราะคนไม่มีมาเดิน แต่ยังดีกว่าเราไม่ได้ทำอะไร”

“ซิน”ยังบอกอีกว่า จากที่ยอดขายลดลง ทำให้มีการปิดสาขาชั่วคราวไปเพื่อลดค่าใช้จ่าย จากเดิมร้าน “ภูตะวัน” มีทั้งหมด 7 สาขาที่ตลาดจตุจักร เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังโควิดระบาดหนัก ได้ปิดไป 5 สาขาเหลืออยู่ 2 สาขาตรงโครงการ 14

“บริษัทมีโรงงานและออฟฟิศอยู่ที่สมุทรปราการ เปิดมา 21 ปีแล้ว ทำการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในประเทศนอกจากร้านที่ตลาดจตุจักร มีเปิดที่ห้างมาบุญครอง เซ็นทรัลเวสต์เกต เดอะมอลล์งามวงศ์วาน”

ม33 เรารักกัน เราชนะ ก็ยังช่วยไม่ได้

“อัครเดช” หนุ่มบึงกาฬ วัย 36 ปี เปิดเผยว่า ได้เปิดร้านขายเสื้อผ้าที่ตลาดจตุจักรมา 7 ปีแล้ว ตั้งแต่โซนลานเลบริเวณหอนาฬิกาจากนั้นก็ขยับมาอยู่ที่โครงการ 16 ซึ่งเป็นโซนที่คนเดินเยอะ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจและโควิดทำให้บรรยากาศตอนนี้เงียบมาก โดยเฉพาะการระบาดระลอก 3 ที่หนักมากยอดขายตกลงเยอะมาก จากเดิมขายได้วันละ 7,000-8,000 บาท เหลือวันละ 1,000 บาท

“คนไม่มีเลย หลังโควิดเริ่มระบาดหนัก เพราะคนกลัว บางวันผมขายได้ 400-500 บาทก็มี อย่างวันนี้ (30 พฤษภาคม) เปิดร้านตั้งแต่ 9 โมง เพิ่งขายได้ 400 บาท รายได้ต่อเดือนไม่พอกับรายจ่าย ยังดีที่เจ้าของแผงลดค่าเช่าให้ ระลอกแรกจาก 30,000 บาท เหลือ 20,000 บาท ระลอก 2 เหลือ 10,000 บาท ระลอก 3 ไม่เก็บค่าเช่า เขาบอกว่าช่วยๆ กัน”

“อัครเดช” บอกอีกว่า เปิดร้านขายเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ส่วนวันจันทร์-ศุกร์ อยู่บ้านที่บางพลีเย็บเสื้อเพื่อนำมาขายที่ร้าน โดยลงทุนครั้งละ 20,000 บาท เย็บได้ 600 ตัว ทำให้ต้นทุนไม่สูงเพราะเย็บเองขายเอง แต่รายได้ก็ไม่พอกับรายจ่าย ต้องนำเงินเก็บมาหมุน หากยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องกลับมาคิดว่าจะปิดร้านและกลับบ้านที่บึงกาฬไปทำอาชีพอื่น เพราะตอนนี้อะไรก็ไม่แน่ไม่นอนที่ผ่านมาโครงการ ม33 เรารักกัน เราชนะ ช่วยได้ระดับหนึ่งช่วงแรกๆ แต่หลังๆ คนประหยัดไม่ซื้อเสื้อผ้า ไปซื้อของกิน มากขึ้น

ถึงโควิดจะระบาด แต่ตลาดแห่งนี้ ยังมีผู้ลงทุนหน้าใหม่เข้ามาไม่ขาดสาย “เกดและปลา” สองสาวที่เป็นทั้งเพื่อนและหุ้นส่วนกันซื้อแฟรนไชส์เปิดร้านนมหมีปั่น โดยสองสาวระบายว่าเปิดร้านมาได้ 7 เดือน ช่วงโควิดพอดี ขายไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เนื่องจากคนไม่มีมาเดินเลย ยิ่งช่วงโควิดระลอก 3 เงียบมาก ขายได้วันละ 20 แก้ว ลดลงจากเดิมขายได้ประมาณวันละ 100 แก้ว

“รายได้ไม่ต้องพูดถึงเลยพี่ตอนนี้ ขายได้วันละ 1,000-2,000 บาท ที่ทำเพราะให้มีงานทำ เดิมเราสองคนเป็นฟรีแลนซ์ ไม่มีงาน เลยมาลงทุนร่วมกันซื้อแฟรนไชส์ รวมค่าต่างๆ ก็ร่วมๆ 200,000 บาท เสียค่าเช่าอีกเดือนละ 20,000 บาท ตอนนี้แต่ละเดือนรายจ่ายเข้าเนื้อ ต้องใช้เงินเก็บมาหมุนกันไปก่อน ยังดีที่รัฐมีโครงการเราชนะ ม33 เรารักกัน ทำให้ขายได้บ้าง”

ปิดท้าย “พี่สุ” อายุ 45 ปี ที่เปิดร้านขายเครื่องสแตนเลสมานานตั้งแต่ตลาดจตุจักรเปิด แม้ว่าบรรยากาศค้าขายไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังปักหลักขายมาถึงทุกวันนี้

“บรรยากาศเงียบมากตั้งแต่เกิดการระบาดโควิดระลอก 3 ขายของไม่ได้เลย เพราะไม่มีคนมาเดิน จากเดิมจะขายได้เดือนละเป็น 10,000 บาท โชคดีที่เช่าแผงตรงกับ กทม. ไม่ได้เช่าช่วงมา ตอนนี้ กทม.ลดค่าเช่าแผงถึงเดือนสิงหาคมนี้ จาก 1,800 บาทต่อแผงต่อเดือน เหลือ 900 บาทต่อแผงต่อเดือน มีอยู่ 4 แผง ก็เสียค่าเช่าอยู่ที่ 3,600 บาท ถึงจะลดภาระไปได้บ้าง แต่รายได้ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะคนมาซื้อเป็นต่างชาติ ไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ขายไม่ได้ มีส่งออกบ้างแต่ก็ไม่เยอะ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ”

เมื่อโควิดยังไม่หายไปจากโลกง่ายๆ คงอีกนานกว่า “ตลาดจตุจักร” จะกลับมารุ่งเรืองเหมือนเดิม

ประเสริฐ จารึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image