อาศรมมิวสิก : Josef Hassid : ตำนานไวโอลินผู้อาภัพ คติเตือนใจเรื่อง‘เด็กอัจฉริยะ’

Josef Hassid : ตำนานไวโอลินผู้อาภัพ คติเตือนใจเรื่อง‘เด็กอัจฉริยะ’

อาศรมมิวสิก : Josef Hassid : ตำนานไวโอลินผู้อาภัพ คติเตือนใจเรื่อง‘เด็กอัจฉริยะ’

วอล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) น่าจะเป็นคนแรกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็น “เด็กอัจฉริยะ” (Child Prodigy) ทางดนตรี อย่างจริงจังเป็นคนแรก (หรือไม่?) และนั่นดูจะเป็นเสมือนการปักหมุดหมายนิยามความหมายนี้ให้กับเด็กและเยาวชนผู้ที่มีความสามารถทางดนตรีปราดเปรื่องเกินวัย หลังจากยุคสมัยของโมซาร์ทเป็นต้นมาแนวคิดของคำว่าเด็กอัจฉริยะ ก็แทบจะกลายเป็นจุดมุ่งหมายอยู่ลึกๆ ในใจผู้ปกครองและผู้ใหญ่หลายคนที่อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นกับลูกหลาน หรือคนรู้จักใกล้ชิด ซึ่งในอีกด้านหนึ่งที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอๆ ก็คือมันกลับกลายเป็นภาระและแรงกดดันอันหนักอึ้งต่อตัวเด็กผู้นั้น ความคาดหวังให้เขากลายเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก ที่ราวกับเสมือนยกโลกทั้งใบมากดทับไว้บนบ่าของเยาวชน จนเขาใช้ชีวิตอยู่กับดนตรีอย่างไม่มีความสุขตามธรรมชาติของวัย ตัวเด็กจะเก่งถึงขั้น “อัจฉริยะ” จริงหรือเปล่า บางทีนั่นก็เป็นเรื่องที่ยากแก่การพิสูจน์ หากแต่ความทุกข์และแรงกดดันนั้นได้เกิดขึ้นกับตัวเด็กไปแล้ว มากบ้าง น้อยบ้าง และเรื่องราวของ “โยเซฟ ฮัสซิด”(Josef Hassid) เด็กอัจฉริยะทางไวโอลินในตำนาน ผู้เปรียบเสมือนดาวตกที่ส่องแสงสว่างเพียงวูบเดียวเจิดจ้า ร้อนแรง และเผาไหม้ตัวเองจบสิ้นไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว น่าจะมีอะไรๆ ให้เราได้น้อมนำมาพิจารณาในการกำหนดเป้าหมายให้เด็กๆ ที่เราไปคาดหวังและทึกทักเอาเองว่าเป็นอัจฉริยะ เพื่อมิให้เกิดโศกนาฏกรรมอันไม่พึงปรารถนาที่อาจเกิดขึ้น

“ถ้าหาก…” ใช่แล้วต้องเน้นคำว่า ถ้าหาก เพราะเขาจบสิ้นชีวิตไปในวัยเพียงไม่เต็ม 28 ปี ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1950 ความปราดเปรื่องทางการบรรเลงไวโอลินของเขาทำให้ผู้คนในแวดวงอดคาดเดากันไปต่างๆ นานา ไม่ได้ว่า “ถ้าหาก…” เขายังมีชีวิตยืนยาวอยู่อีกสัก 30-40 ปีต่อมา จะเป็นอย่างไร? แต่นั่นก็เป็นเพียงการคาดเดากันไป เป็นคำถามที่ไม่มีวันได้รับคำตอบ แล้วอะไรเล่าคือสิ่งที่ทำให้คนรุ่นหลังต้องมาให้ค่าความสนใจกับหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่จากโลกไปในวัยอันมิควรเช่นนั้น สิ่งที่ทำให้เราต้องหันมาสนใจเรื่องราวของเขาก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ตำนาน“ นั่นเอง เขากลายเป็นตำนานเรื่องเล่าขานแห่งยุคสมัยได้ จากคำบอกเล่าเรื่องราวที่บันทึกไว้ ซึ่งที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดเห็นจะได้แก่การที่เขาถูกหยิบยกไปเปรียบเทียบกับนักไวโอลินที่กล่าวกันว่ายิ่งใหญ่ที่สุดแห่งแห่งศตวรรษที่ 20 นั่นก็คือ “ยาชา ไฮเฟ็ทซ์” (Jascha Heifetz-The Violinist of The Century) และผู้ที่กล้าหาญยกโยเซฟ ฮัสซิด เอาไว้เหนือยาชา ไฮเฟ็ทซ์ ก็มิใช่ใครอื่น เขาก็คือนักไวโอลินขั้นเทพและนักแต่งเพลงนาม “ฟริทซ์ ไครสเลอร์” (Fritz Kreisler) ผู้ยิ่งใหญ่ทางดนตรีที่ได้พบเห็นและรู้จักทั้งไฮเฟ็ทซ์และฮัสซิดในการเจริญเติบโตทางดนตรีมาด้วยกันทั้งคู่ (แม้อายุจะห่างกันสองทศวรรษ) ฟริทซ์ ไครสเลอร์ ได้กล่าวประโยคที่เป็นตำนานจารึกให้โลกไม่มีวันลืมโยเซฟ ฮัสซิด ลงด้วยคำกล่าวที่ว่า “นักไวโอลินอย่าง ยาชา ไฮเฟ็ทซ์ จะอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ในทุกๆ รอบ 100 ปี แต่…นักไวโอลินอย่าง โยเซฟ ฮัสซิด นั้นจะอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ในทุกๆ รอบ 200 ปี…”

นอกจากคำกล่าวจากปากของอภิบุรุษทางไวโอลินอย่าง ฟริทซ์ ไครสเลอร์แล้ว โชคยังดีอยู่บ้างที่โยเซฟ ฮัสซิด ได้ทิ้งหลักฐาน “ภาพถ่ายทางเสียง” ในช่วงที่เขากำลังรุ่งเรืองสุดขีดเอาไว้ให้คนรุ่นเราได้สดับตรับฟังอยู่บ้าง แม้ว่ามันจะเป็นเพียงงานบันทึกเสียงบทเพลงสั้นๆ แบบที่อาจเรียกว่า “เพลงเกร็ด” (Vignette) เพียง 8 เพลง (เพลง La Capricieuse ของ เอ็ลการ์ที่อัดไว้สองครั้งซ้ำกัน) อันเป็นงานบันทึกเสียงแบบ “แผ่นครั่ง” (78 rpm) ในระบบโมโน (Mono) ที่เป็นเพียงงานตัวอย่างที่อัดไว้ให้กับบริษัทแผ่นเสียงในปี ค.ศ.1940 ในวัยเพียง 17 ปี นั่นเป็นมรดกทางเสียงดนตรีทั้งหมดที่เขาทิ้งไว้ในโลกนี้ พอให้เราได้พิจารณาถึงคำยกย่องเขาที่ไครซเลอร์กล่าวว่า เขาเป็น “ปรากฏการณ์ในรอบ 200 ปี” นั้น มิใช่เป็นเพียงอารมณ์เพ้อฝันตามความรู้สึกของศิลปิน หากแต่มันมีน้ำหนักความจริงอันเป็นที่ประจักษ์อยู่ไม่น้อย งานบันทึกเสียงประวัติศาสตร์นี้ในยุคต่อมาถูกนำไปรวมแผ่นกับงานบันทึกเสียงรวมบทเพลงสั้นๆ ของนักไวโอลินคนอื่นๆ อยู่บ้าง คือไปรวมกับงานของ “จินเน็ท เนวู” (Ginette Neveu) หรือนำไปรวมกับงานบันทึกเสียงของนักไวโอลินในตำนานอีกคนอย่าง “ฟิลิป นิวแมน” (Philip Newman) ด้วยเหตุผลที่ว่ามันมีเพียง 9 ชิ้นสั้นๆ รวมเวลาทั้งสิ้นเพียง 30 นาที ซึ่งในทุกวันนี้เราสามารถหาฟังได้อย่างครบถ้วนและง่ายดายขึ้นไปอีก ผ่านช่องทาง “ยูทูบ” (YouTube)

Advertisement

Josef Hassid : ตำนานไวโอลินผู้อาภัพ คติเตือนใจเรื่อง‘เด็กอัจฉริยะ’

เรื่องราวชีวิตของ โยเซฟ ฮัสซิด เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คู่ควรแก่คำว่า “ต่อสู้” และสะท้อนข้อคิดที่ว่าการประสบผลสำเร็จในชีวิตของความเป็นศิลปินนั้น ความเก่งกาจและพรสวรรค์อันสูงส่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดนั้นไม่เพียงพอ หากแต่มันต้องเสริมด้วยการได้รับการจัดการอันเหมาะสมตามควรจากบุคคลแวดล้อม เรื่องราวชีวิตของฮัสซิดไปปรากฏอยู่ตามบทตอนต่างๆ ของหนังสือหลายเล่ม ที่รวบรวมปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน แม้กระทั่งปีเกิดของเขาก็ยังไม่แน่ชัดนัก ส่วนใหญ่จะบ่งบอกว่า เขาเกิดในปี ค.ศ.1922 ในขณะที่บางแหล่งระบุว่าเป็นปี ค.ศ.1923 แต่ระบุตรงกันว่าเขาเกิดในเดือนธันวาคม (วันที่ก็ยังมีการคลาดเคลื่อนไปอีก) บ้านเกิดอยู่ที่เมือง “สุวาลกิ” (Suwalki) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโปแลนด์ จากครอบครัวยากจนมีบิดาเป็นเพียงเสมียนธนาคารประจำท้องถิ่น และมารดายึดอาชีพช่างทำหมวกสตรีหารายได้เสริม โยเซฟ ฮัสซิด เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน

พรสวรรค์ทางดนตรีของเขาอาจจะได้รับสืบทอดมาทางสายเลือดบรรพบุรุษ (พ่อและปู่) ที่สืบทอดมาด้วยการเป็นนักร้องนำสวด (Cantor) ในสุเหร่าชาวยิว นอกจากเป็นเสมียนธนาคารแล้วบิดาเขาเป็นนักร้องที่มีสุ้มเสียงไพเราะทีเดียว อีกทั้งยังเป็นผู้รักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ มีความรู้ทางดนตรีพอตัวในระดับผู้นำคณะนักร้อง แม้ว่าฐานะจะยากจนแต่บิดาของเขามุ่งหวังให้ลูกๆ เอาดีทางดนตรี ในหนังสือ “The Life and Times of Josef Hassid” เขียนโดย Gerald Spear เล่าว่า ไวโอลินคันแรกที่โยเซฟ ฮัสซิด เล่นเป็นไวโอลินที่ยืมจากเพื่อนบ้าน แม้จะมีสภาพไม่ดีแต่ เด็กน้อยรักมันมาก จะยอมปล่อยมือวางมันลงก็ในยามเข้านอน และโยเซฟ ฮัสซิด อ่านโน้ตดนตรีออกก่อนที่จะอ่านหนังสือได้ พ่อเขามุ่งหวังความสำเร็จในชีวิตลูกชายคนนี้ถึงขั้นยอมทุ่มเทชีวิตลาออกจากงาน เพื่อประกบลูกชายหัวแก้วหัวแหวนนำตัวไปแสวงหาโชคชะตาในเมืองหลวงกรุงวอร์ซอ (Warsaw) เพื่อหาครูไวโอลินที่เหมาะสมแก่พรสวรรค์ลูก พ่อลงทุนใช้เงินเก็บน้อยนิดไปเช่าห้องใต้หลังคาราคาถูกเป็นที่พำนักในเมืองหลวง จนได้โอกาสไปเรียนกับ “วิลเฮล์ม คริสตัล” (Wilhelm Krysztal) นักไวโอลินแห่งวงวอร์ซอฟิลฮาร์โมนิก พ่อของเขาเล่าว่า ช่วงชีวิตตอนนี้อากาศที่หนาวเย็นเป็นอุปสรรคมากกว่าความหิวโหยเสียอีก ความหิวยังสามารถเล่นไวโอลินได้ แต่อากาศที่เย็นยะเยือกโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศนั้น ทำให้นิ้วและมือแข็งเกร็งจนเล่นไวโอลินแทบไม่ได้ ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1932 หนูน้อยโยเซฟ ฮัสซิด ในวัย 10 ขวบ สูญเสียแม่ไป ซึ่งว่ากันว่านี่เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ไปจนตลอดชีวิต เพราะโดยลึกๆ แล้วความสัมพันธ์ของเขากับพ่อ อยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก จากความรักและความหวังในแบบของพ่อผู้ทุ่มเทชีวิตเพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จให้จงได้ แต่ตอนนี้เขาต้องมาขาดแม่ผู้ให้ชีวิตในด้านที่อบอุ่นและร่มเย็นไปตลอดกาล

Advertisement

ในปี ค.ศ.1934 เขาได้มีโอกาสย้ายมาเรียนกับครูไวโอลินคนสำคัญนามว่า “มีซีสวัฟ มิคาโลวิคซ์” (Mieczyslaw Michalowicz) ครูไวโอลินที่มีศิษย์เป็นตำนานนักไวโอลินแห่งศตวรรษ หลายคนอาทิ B.Huberman, S.Goldberg และ Ida Haendel ในปี ค.ศ.1935 หนูน้อยโยเซฟ ฮัสซิด วัย 13 ปี เข้าร่วมแข่งขันไวโอลินรายการสำคัญ “Wieniawski Competiton” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก นี่ดูจะเป็นการแข่งขันที่ได้รับการกล่าวขวัญและวิพากษ์ถึงในอีกหลายสิบปีต่อมา เมื่อนักไวโอลินอย่าง “ดาวิด ออยสตราค” (David Oistrakh) พ่ายแพ้ได้รางวัลที่สองรองจาก “จินเน็ท เนวู” (Ginette Neveu) ส่วนหนูน้อยโยเซฟ ฮัสซิด ได้เพียงประกาศนียบัตรปลอบใจ ว่ากันว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นสัญญาณแห่งความผิดปกติทางสมองของเขา บางกระแสว่ากันว่าหนูน้อยจำบทเพลงคอนแชร์โตไม่ได้ บางกระแสบอกว่ากระแสต่อต้านชาวยิวกำลังรุนแรงจนทำให้หนูน้อยตกรอบ แต่ผู้ได้รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศก็คงไม่เป็นที่กังขาในผลงานต่อวงการดนตรีในกาลต่อมา

Josef Hassid : ตำนานไวโอลินผู้อาภัพ คติเตือนใจเรื่อง‘เด็กอัจฉริยะ’

ชีวิตของ โยเซฟ ฮัสซิด เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี ค.ศ.1937 ซึ่งนี่ไม่รู้ว่าเป็นโชคดี หรือโชคร้าย หรือว่ามันผสมปนเปกันไป เมื่อ “โบรนิสวัฟ ฮูเบอร์แมน” (Bronislaw Huberman) นักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่ชักนำให้เขาไปเข้าเรียนพิเศษภาคฤดูร้อนกับ “คาร์ล เฟลช” (Carl Flesch) ปรมาจารย์ไวโอลิน ที่ขณะนั้นยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการอีกด้วย นักไวโอลินรุ่นเยาว์ที่ต้องการประสบความสำเร็จในวงการอาชีพระดับสากล ต้องมาผ่านมือของ คาร์ล เฟลชเสียก่อน (เรื่องราวของครูผู้ทรงอิทธิพลแบบนี้เกิดขึ้นทุกยุคสมัย) คาร์ล เฟลช ผู้มีวิธีการสอนที่เข้มงวด มุ่งมั่น เพื่อวิถีสู่การเป็นศิลปินเดี่ยวที่มิได้คำนึงถึงความผิดปกติบางด้านของลูกศิษย์ ขณะนั้นหนุ่มน้อยฮัสซิด วัย 15 ปี ได้ไปตกหลุมรักกับสาวนักไวโอลินเพื่อนร่วมรุ่น เธอมิได้มีเชื้อสายยิว ในขณะที่กระแสต่อต้านชาวยิวกำลังรุนแรง ความรักของหนุ่มน้อย-สาวน้อยถูกกีดกันสุดขีดจากผู้ปกครองของทั้งสองฝ่าย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความบาดหมางครั้งสำคัญระหว่างโยเซฟ ฮัสซิด กับพ่อบังเกิดเกล้า จากการพบกับ “คาร์ล เฟลช” ในภาคเรียนฤดูร้อน คาร์ล เฟลช ต้องการปลุกปั้นฮัสซิดให้เป็นศิษย์คนสำคัญในอนาคต จึงดึง โยเซฟ ฮัสซิด ให้มาเรียนต่อกับเขาในกรุงลอนดอน อันเป็นที่ตั้งแห่งสำนักหลักของเขา ที่มีลูกศิษย์ระดับพระกาฬอยู่หลายคน อาทิ Szymon Goldberg, Ginette Neveu, Ida Haendel, Henryk Szeryng และอีกมากมายหลายคน แต่คาร์ล เฟลช ก็กล้ายืนยันแบบไม่ต้องเกรงใจใครว่า ในบรรดาลูกศิษย์ที่เป็นตำนานนักไวโอลินชั้นนำของโลกแห่งศตวรรษที่ 20 ทั้งหลายของเขานั้น คนที่มีพรสวรรค์สูงสุดและเป็นเลิศกว่าใครในบรรดาลูกศิษย์นั้นก็คือ… “โยเซฟ ฮัสซิด” ผู้นี้นั่นเอง!

“อัจฉริยะ” มักมาควบคู่กับความผิดปกติ บางทีพระผู้เป็นเจ้าก็ประทานความพิเศษนี้มาให้พร้อมความทุกข์ทรมานอย่างปฏิเสธไม่ได้ ฮัสซิดมีมือที่สูงด้วยพรสวรรค์ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ชะตากรรมให้โรคร้ายความผิดปกติทางสมองควบคู่มากับเขา เขาเริ่มมีอาการความจำเสื่อม (อาจส่อแววตั้งแต่การแข่งขัน “Wieniawski Competiton” แล้ว) การออกแสดงในลักษณะ “Recital” ร่วมกับเปียโน ในกรุงลอนดอน เดือนเมษายน ค.ศ.1940 สร้างชื่อเสียงให้กับเขาอย่างมาก นักวิจารณ์แห่งยุคสมัยบันทึกความทรงจำไว้เป็นอย่างดี แต่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เขาขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่กับวงลอนดอนฟิลฮาร์โมนิก ในบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตของไชคอฟสกี (โดยมี Gregor Fitelberg เป็นวาทยกร) หายนะจึงเผยขึ้นเต็มรูปแบบด้วยภาวะความจำเสื่อม อันเป็นทั้งความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ

ดาวรุ่งผู้เจิดจรัส, เด็กอัจฉริยะที่อภิบุรุษไวโอลินอย่าง ฟริทซ์ ไครซเลอร์ รับรองแบบไม่ยั้งปากว่าเป็น “นักไวโอลินที่จะอุบัติขึ้นในโลกทุก 200 ปี” (เน้นว่าเหนือกว่าไฮเฟทซ์!) หรือปรมาจารย์ผู้ทรงอิทธิพลอย่างคาร์ล เฟลช ที่พูดแบบไม่เกรงใจใครว่า นี่คือลูกศิษย์ที่อัจฉริยะที่สุดเท่าที่เคยสอนไวโอลินมา ทุกสิ่งที่สว่างไสวราวแสงอาทิตย์ดับลงอย่างมืดมนรวดเร็วราวกับสุริยุปราคา หรือดาวตก หลังจากนั้นช่วงทศวรรษสุดท้ายแห่งชีวิต กลายเป็นแต่เรื่องการรักษาอาการทางสมองที่ลุกลามกลายเป็นโรคจิตเภทในที่สุด เขากลายเป็นคนเสียสติ, วิกลจริตถึงขั้นเอามีดไล่ทำร้ายบิดาบังเกิดเกล้า ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1950 เขาได้รับการผ่าตัดสมอง แต่ต่อมาเกิดภาวะติดเชื้อเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจนเสียชีวิตในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1950 ด้วยวัย 27 ปี 11 เดือน ปิดตำนาน “นักไวโอลินแห่งรอบสองศตวรรษ” ไปอย่างสุดจะเสียดาย

Josef Hassid : ตำนานไวโอลินผู้อาภัพ คติเตือนใจเรื่อง‘เด็กอัจฉริยะ’

“จอรัลด์ มัวร์” (Gerald Moore) นักเปียโนผู้บรรเลงเปียโนประกอบให้เขาทั้งในการบรรเลงสดและบันทึกเสียง เขาเป็นนักเปียโนประกอบ (Accompanist) ระดับมือทองคนหนึ่งที่นักร้องและศิลปินเดี่ยวผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายต่างไว้วางใจในการเป็น “ผู้ร่วมงาน” ได้กล่าวถึงโยเซฟ ฮัสซิดว่า “เขาดูเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองเลย ยกเว้นในเวลาที่เล่นไวโอลิน นั่นเขาจะเปลี่ยนไป เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและแน่วแน่ ในระดับศิลปินผู้บรรลุวุฒิภาวะ” และในบทสัมภาษณ์ในนิตยสารกราโมโฟน (Gramophon) ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ.1973 เขาได้กล่าวแบบไม่เกรงใจใครอีกว่า “เขาเป็นอัจฉริยะนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่ผมเคยร่วมงานมา เขามีความสมบูรณ์พร้อมทางเทคนิค, ความแม่นยำในระดับเสียงอันมหัศจรรย์, น้ำเสียงไวโอลินที่เปล่งประกายรัศมี แต่มีบางสิ่งที่เหนือไปกว่านั้น นั้นก็คือคุณลักษณะในเชิงนามธรรม-ความรู้สึกอันล้ำลึก (Metaphysical Quality) ที่ยากแก่การอธิบาย” อย่างที่กล่าวมาแล้ว เรื่องราวของเขาเป็นเรื่องของอัจฉริยะที่ควรศึกษาอย่างแท้จริง เพราะอัจฉริยะมักมาควบคู่กับความทนทุกข์ทรมานบางอย่างที่ผู้เฝ้าดูภายนอกนึกคิดไม่ถึง

ผู้เขียนคิดอยู่เสมอมาว่าการเป็นคนธรรมดาๆ โดยมีความสุขตามควรแก่อัตภาพนี่แหละน่าจะเป็นความโชคดีที่สุดแห่งการได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว (และได้สัมผัสดนตรีอันวิจิตรงดงาม) บ่อยครั้งจึงรู้สึกเป็นห่วงแทนที่หลายคน อยากให้ลูกเป็นเด็กอัจฉริยะ จนพยายามไขว่คว้าหาวิธี “เลี้ยงลูกให้เป็นอัจฉริยะ” (จริงมั่ง, ปลอมมั่ง) โดยไม่ได้ดูผลร้ายบางด้านที่มันอาจจะควบคู่กันมา ซึ่งยากแก่การควบคุมและบริหารจัดการ อัจฉริยะมักมีด้านมืดของมันตามมา พูดแล้วก็ทำให้นึกไปถึงเพลงฝรั่งในอดีตเพลงหนึ่งที่สอนใจให้เรายอมรับชีวิตได้ทั้งด้านสว่างและด้านมืดของมัน…“Love Me Love my Dog”…

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image