ดร.นฤมล อรุโณทัย เปิดตำนานผู้กล้าแห่งท้องทะเล ไขปม’หาดราไวย์’

ภายหลังจากที่ภาพชายผิวคล้ำใบหน้าโชกเลือดถูกตีแผ่ไปตามสื่อต่างๆ สร้างความตกใจให้แก่สังคม เหตุอันเนื่องมาจากการปะทะกันที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ปมพื้นที่ทับซ้อนระหว่างชาวอูรักลาโว้ยกับบริษัทเอกชน

ประเด็นข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ทางบริษัทเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์การครอบครองตามกฎหมายปิดกั้นพื้นที่จนชาวเลไม่สามารถเข้าออกไปสู่ชายหาดอันเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อทำมาหากินและประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อได้

ปัญหาที่หาดราไวย์เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ปัญหาของชาวเลทั้ง 3 กลุ่ม มอแกน-มอแกลน-อูรักลาโว้ย ที่อาศัยกระจายอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยที่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และ จ.สตูล

“ยิปซีแห่งท้องทะเล” ชื่อนี้ค่อยๆ ถูกลบเลือน เมื่อการย้ายถิ่นฐานของชาวเลไม่สามารถเป็นไปโดยอิสระเหมือนเช่นอดีต การมีชีวิตหากินตามธรรมชาติทำได้ยากขึ้น เมื่อพื้นที่ส่วนหนึ่งกลายเป็นอุทยานแห่งชาติและอีกส่วนหนึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนบนฝั่ง

Advertisement

ดร.นฤมล อรุโณทัย หัวหน้าโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่ศึกษาวิถีชีวิตชาวเลมากว่า 20 ปี โดยเริ่มจากความสนใจในวิถีชาวมอแกน อันเป็นชาติพันธุ์ที่ยังคงวิถีชีวิตเดิมไว้ได้มากสุดในกลุ่มชาวเล

เธอเริ่มศึกษาในสมัยที่ยังไม่ค่อยมีคนไทยลงไปเจาะลึกเรื่องชาวเล ขณะที่มีนักมานุษยวิทยาต่างประเทศไปเรียนรู้ภาษาและวิถีชีวิตชาวเล เธอจึงรู้สึกว่าการมีคนไทยลงไป จะช่วยสื่อให้สาธารณชนจนถึงระดับนโยบายเข้าใจถึงวิถีชีวิตชาวเลได้ง่ายขึ้น

เหตุขัดแย้งที่หาดราไวย์น่าจะช่วยจุดประกายให้สังคมหันมารับรู้อีกหลายปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานของชาวเล ชีวิตที่เข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐาน การถูกทำให้เป็นอื่นในบ้านของตน ทำไม่ได้กระทั่งการใช้ชีวิตตามที่บรรพบุรุษเคยดำรงมา

อย่างน้อยที่สุดก็จะช่วยสร้างความเข้าใจถึงวิถีชาวเล เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ควรถูกทำให้สูญหาย เพียงเพราะความไม่เอาใจใส่ของสังคม

พื้นที่หาดราไวย์ใช้ทำพิธีกรรมอะไรบ้าง?

ตรงนั้นเรียกว่า “หลาโต๊ะ” มาจากภาษาใต้ว่า “ศาลาดะโต๊ะ” เป็นศาลเคารพ เขามีพิธีประจำปีหลายพิธี เช่น พิธีลอยเรือที่จัดปีละ 2 ครั้ง นอกจากนั้น ยังมีพิธีแก้บนหรือพิธีอื่นๆ ของหมู่บ้าน ใช้พื้นที่หลาจัดพิธีแล้วผู้คนทั้งหมู่บ้านรวมตัวกัน ทำกับข้าวใส่จานชามไปวางเรียงรอบหลา รอบศาล เป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ

แถวชายหาดเขาก็ใช้พื้นที่มานานแล้ว เอาไว้จอดเรือ ซ่อมอุปกรณ์ประมง สมัยก่อนพื้นที่ค่อนข้างเปิด บริเวณป่าเขาสามารถตัดไม้ไผ่ตัดหวายมาทำบ้านทำเรือ-อุปกรณ์ประมงได้อย่างอิสระ พื้นที่ถูกบีบมาเรื่อยๆ ยิ่งการท่องเที่ยวเติบโตเท่าไหร่ ที่ดินราคาแพง ชาวอูรักลาโว้ยถูกมองว่าเป็นส่วนเกินของเมืองที่กำลังเติบโต ทั้งที่เขาอยู่มาก่อน

ลักษณะความทับซ้อนของที่ดินที่มีข้อพิพาท?

แปลงพิพาทเขากั้นกำแพงไว้ ชาวเลต้องเข้าไปบาลัย ประกอบพิธีกรรม ทำเรือ ซ่อมอุปกรณ์ และทราบว่ามีบ่อน้ำที่ชาวเลใช้ด้วย ถัดจากที่ดินแปลงนี้กับที่หัวแหลมจะมีคลองเล็กๆ ที่ชาวเลเคยใช้ เด็กๆ ไปว่ายน้ำอาบน้ำ ผู้หญิงไปซักผ้าแถวปากคลอง ถ้ามีคลื่นแรงชาวเลเอาเรือไปจอดหลบลมแถวปากคลอง เป็นพื้นที่ใช้สอยหลายอย่าง แต่ที่เขาเน้นเรื่องบาลัย เพราะเป็นพื้นที่จิตวิญญาณที่เขาให้ความสำคัญมาก

ที่อยู่อาศัยของเขาก็เป็นกรรมสิทธิ์ของคนอื่น มีปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า บ้านผุพังแล้วจะซ่อมแซมก็จะเป็นประเด็นเรื่องที่ดิน

เคยมีความขัดแย้งถึงขนาดกรณีนี้ไหม?

เท่าที่ทราบมีความพยายามที่จะกั้นกำแพงเพื่อพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว สร้างวิลล่า ทราบว่ามีการเอาหินใหญ่ๆ มาถมสองครั้งแล้ว ชาวเลเขาพยายามดึงหินออกมา ไม่มีใครบาดเจ็บ แต่ครั้งที่สามมีคนบาดเจ็บ มีกลุ่มผู้ชายถือไม้ มีลักษณะการข่มขู่มากกว่าสองครั้งแรกจึงเป็นข่าวออกไป

ถ้าไม่ได้นับเรื่องพื้นที่บรรพบุรุษที่ใช้ต่อเนื่องกันมา ก็ต้องคิดเรื่องพื้นที่หลบภัยสึนามึ เพราะชุมชนมีประชากรแออัดมากจะทำให้เขาปลอดภัยได้ยังไง ถ้ามีกำแพงล้อมไว้ แล้วคนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินสร้างกำแพงไม่เปิดให้มีเส้นทางหลบภัย

ต้องช่วยกันคิดว่า ในอนาคตจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ระหว่างชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกับการพัฒนาการท่องเที่ยว จริงๆ ชาวเลเป็นคนรักสงบ ไม่อยากมีเรื่องราว แต่หลังชนฝาแล้วจะให้เขาหลบหลีกไปไหน

ชาวเลมีกรณีพิพาทที่ดินเยอะมากไหม?

พื้นที่อื่นยังมีอีกเยอะ ปรัชญาชีวิตชาวเลไม่ได้ต้องการกรรมสิทธิ์-เอกสารสิทธิเพื่อครอบครองเป็นเจ้าของ เขาต้องการอยู่อาศัยทำมาหากินเท่านั้น เป็นผืนดินที่ทำให้มีปัจจัย 4 เพียงพอ เรื่องกฎหมายกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องติดต่อราชการเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งชาวเลสมัยก่อนเขาไม่มีภาษาเขียนและไม่คุ้นเคยกับภาษาไทย กฎหมายต้องยืนยันเป็นเอกสาร บันทึก ลายลักษณ์อักษร ขณะที่เขาเป็นสังคมบอกเล่า การทำความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมของเขาเป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าชาวเลอยู่มานาน แล้วเอกสารสิทธิเกิดขึ้นได้อย่างไร?

มีหลายปัจจัย ต้องทำความเข้าใจว่า เดิมชาวเลไม่ได้อยู่อาศัยแน่นขนัดขนาดนี้ มีรูปที่ในหลวงเสด็จปี 2502 ก็มีบ้านชาวเลอยู่แล้วอาศัยกันหลวมๆ และชาวเลอพยพโยกย้ายบ่อยเป็นธรรมชาติของเขา เช่นเดียวกับประมงพื้นบ้าน ที่ต้องหลบคลื่นลม ย้ายไปอาศัยอ่าวอื่นเมื่อมีคลื่นลมแรง เป็นวิถีชีวิตตามธรรมชาติของฤดูกาล และสมัยก่อนมีโรคระบาด เช่น อหิวาต์ ฝีดาษ เวลาหมู่บ้านมีโรคร้ายต้องอพยพทั้งชุมชน

วิถีชีวิตเขาไม่ได้ตั้งถิ่นฐานปักหลักถาวรแบบชุมชนเกษตรกรรม คนอาจเห็นว่าพื้นที่นี้ว่างหรือมีบ้าน 2-3 หลัง คนที่อาศัยก็ไม่รู้สิทธิของตนเอง ไม่เชี่ยวชาญเรื่องลายลักษณ์อักษรหรือกฎหมาย ก็ออกเอกสารสิทธิทับไปเลย ก็เป็นไปได้

แนวคิดเรื่องการไม่ครอบครองของชาวเลต้องปรับเปลี่ยนไหม?

คิดได้สองแง่ว่า จะดึงเขาเข้ามาสู่โลกสมัยใหม่ หรือเราจะปรับระบบคิดของเราหันไปทางระบบคิดชาวเล ความจริงพื้นที่ชายหาดมีกฎหมายระบุไว้ว่าระหว่างแนวน้ำขึ้นขึ้นมา 50 เมตร จะต้องเป็นพื้นที่ใช้ร่วมกัน สังเกตว่าคนที่ใช้พื้นที่สาธารณะมาก คือ คนจน คนชายขอบ คนด้อยโอกาส ชาวเลเรียกร้องพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้เรียกร้องสำหรับชุมชนชาวเลอย่างเดียว แต่เพื่อคนอื่นจะได้ใช้ด้วย เขามองว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่พื้นที่ที่ชาวเลจะจับจองครอบครอง

ชุมชนชาวเลรวมตัวกันเหนียวแน่นไหม?

เหนียวแน่น ชุมชนชาวเลทุกที่ คนในชุมชนไม่อยากอพยพโยกย้ายปลีกตัวไปอยู่ที่อื่น แม้จะแต่งงาน บางครั้งคนนอกชุมชนย้ายเข้ามาด้วยซ้ำ เวลาเรามองสิทธิชุมชน ต้องเป็นสิทธิชนพื้นเมือง (Indigenous Peoples) ชุมชนกลุ่มเหล่านี้มีความเป็นชุมชนสูง มีความเป็นครือญาติ เป็น Collective Rights สิทธิรวมหมู่ แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดิน ถ้ามีการพิจารณาเรื่องเอกสารสิทธิใหม่จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวมหรือโฉนดชุมชน ถ้าให้สิทธิปัจเจกอาจมีแนวโน้มว่า เวลาเขาเดือดร้อนอาจขายส่วนของเขาไป

มติ ครม.เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลช่วยได้แค่ไหน?

มติ ครม.เกี่ยวกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ครอบคลุมทุกด้าน การทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย สาธารณสุข การศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม แต่เคลื่อนช้าเพราะมีกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น กฎหมายเรื่องที่ดิน มติ ครม.ไม่สามารถหักล้างกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีอยู่แล้วได้ เป็นเพียงการส่งเสริมวิถีชีวิต มีความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐหลายหน่วย อย่างกระทรวงวัฒนธรรม แต่ไม่สามารถบังคับใช้กับกฎหมายอื่นได้

สถานะสัญชาติของชาวเล?

ชาวเลกลุ่มมอแกลนกับอูรักลาโว้ยไม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ เพราะเขาตั้งถิ่นฐานมานาน เหลือคนที่ตกหล่นเท่านั้น แต่กลุ่มมอแกนอีกหลายร้อยคนยังมีปัญหาเรื่องสัญชาติ เดิมมอแกนอยู่ในเรือเดินทางไปมาระหว่างเกาะและชายฝั่งทะเล อพยพโยกย้ายมากสุด เลยถูกละเลยโดยภาครัฐ เรื่องบัตรประชาชนเพิ่งสนใจกันหลังสึนามิ สะท้อนว่ากลุ่มนี้ยังไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน ภาครัฐควรเร่งรัดดำเนินการ เท่าที่ทราบมีการดำเนินงานล่าช้าอยู่ บางพื้นที่ข้าราชการยังไม่กล้าลงมือตัดสินใจอะไร

พื้นที่สุสานก็มีปัญหาทับซ้อนอยู่หลายที่?

สุสานหลายพื้นที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนเหมือนกัน และยากกว่าพื้นที่อยู่อาศัย เพราะเป็นพื้นที่ฝังศพ จับจองออกเอกสารสิทธิได้ง่าย อย่างที่เกาะพีพี ชาวบ้านบอกว่าสุสานบางแห่งกลายเป็นที่พัก รีสอร์ต หรือสระว่ายน้ำไปแล้ว แน่นอน เขาเศร้าใจ น้อยเนื้อต่ำใจว่าไม่มีใครให้ความสำคัญพื้นที่ทางจิตวิญญาณเขา เสียงของเขาไม่ดังพอ ที่เกาะพีพีมีการกั้นรั้วหลังชุมชนแล้ว ถ้าต้องวิ่งหนีสึนามิก็ลำบากมากขึ้น ไม่อยากให้ความสนใจปัญหาที่

ราไวย์หายไปโดยเร็ว เพราะปัญหายังมีอีกหลายที่ แนวทางแก้ไขต้องออกมาคล้ายคลึงกัน ไม่ใช่เจรจาแก้ปัญหาแค่ราไวย์

ทัศนคติต่อชาวเลดีขึ้นไหม?

หลายๆ พื้นที่ดีขึ้น มีความพยายามทำความเข้าใจถึงวิถีเขามากขึ้นว่าทำไมเขาประสบปัญหาที่ดิน แต่ก็ยังมีกลุ่มเข้าใจผิดว่ากรรมสิทธิ์ก็ต้องเป็นของเจ้าของ ชาวเลมาทีหลังมาเป็นลูกจ้าง ยังมีแนวคิดแบบนี้อยู่

การรุกพื้นที่ทำให้พื้นที่ทำมาหากินของเขาลดลง จากการพึ่งพาธรรมชาติ ตัดต้นไม้ ออกเรือไปหาปลา เมื่อพื้นที่แคบลง ถูกบีบมาทำงานรับจ้างมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ เราไม่ได้ให้คุณค่ากับความรู้ทางทะเล ความรู้แบบนี้ใช้ไม่ได้แล้วในสังคมรับจ้าง เขาต้องเป็นคนล้างจาน ทำสวน เป็นแม่บ้าน อาชีพใหม่นี้ได้เงินทำให้เขาอยู่รอด แต่เป็นอาชีพที่ไม่ได้ดูพื้นฐานรากเหง้าความรู้ที่เขาสะสมมา มองแค่ว่าเขาเป็นคนรับจ้างเป็นแรงงาน เกิดการดูแคลนว่าชาวเลทำได้แค่นี้ ทั้งที่เมื่อดูความสามารถของเขา การดำน้ำออกเรือไม่มีใครเก่งเท่าชาวเลอีกแล้ว

พื้นที่เหมาะสมสำหรับชาวเล?

ต้องขอบคุณบางหน่วยงานที่พยายามกันพื้นที่ไว้ แต่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ด้านในแผ่นดิน ชื่อของเขาคือ “ชาวเล” วิถีคือความผูกพันกับทะเล มีชีวิตอยู่ในทะเล สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องมีพื้นที่อยู่อาศัยทำมาหากิน พื้นที่จิตวิญญาณที่อยู่ชายฝั่งทะเลในหมู่เกาะ หลายเกาะในแถบภูเก็ตเขาอยู่อาศัยมาก่อน พอย้ายถิ่น กลับมาอีกทีมีคนไปอยู่แทนแล้ว มีเอกสารสิทธิแล้ว ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่ชาวเลเคยอยู่อาศัยปลูกข้าวไร่ทำมาหากิน

พื้นที่ชายฝั่งทะเลเดิมแทบไม่เหลือแล้ว เราต้องหาพื้นที่และรับรองสิทธิ ไม่ใช่ให้เขาอยู่ตามยถากรรม ชีวิตที่ผูกพันกับทะเลจะกลายเป็นติดอยู่ในวงล้อมของกำแพง

ทางออกตรงกลางจากสองวัฒนธรรม?

ต้องเรียกร้องสิทธิชุมชน น่าเสียดายว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิชุมชน เป็นโจทย์ของทั้งสังคม บางพื้นที่ถ้ารื้อกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ทำอย่างไรให้มีการลงขันต่อรอง หลังสึนามิทราบว่ามีหลายองค์กรรับบริจาคและพร้อมที่จะซื้อที่ดินคืนให้ชาวเล เรามาลงขันบริจาคแล้วต่อรองให้ขายราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดให้ชาวเลไหม

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวควรมีภาษีบำรุงท้องถิ่น กลับสู่ชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่ได้หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราควรมีภาษีอีกชุดสำหรับการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวและธุรกิจ

คำตอบกรณีหาดราไวย์?

หลายคนอาจอยากหาคำตอบเร็วๆ ว่าตกลงใครถูกผิดที่ดินนี้ของใคร แต่ต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องซับซ้อน แต่ละพื้นที่มีบริบท มีปัญหาต่างออกไป แต่ท้ายสุดมีปัญหาร่วมกันเรื่องที่ดิน คำตอบว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง สังคมเรามักบอกว่า คนที่มีโฉนดเป็นเจ้าของ แต่คนที่อยู่มาก่อน ทำมาหากินมาก่อน แต่บางช่วงที่เขาไม่ได้อยู่พื้นที่นี้จะทำยังไง

เราสุดโต่งเกินไปหรือเปล่าสำหรับการพัฒนาที่ขีดเส้น กำแพงข้างหนึ่งสำหรับคนที่มีอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวมีที่อยู่อาศัยสาธารณูปโภคครบครันแล้วมาแสวงหาการพักผ่อน ความบันเทิงในชีวิต ขณะที่อีกซีกหนึ่งของกำแพงเป็นกลุ่มคนชายขอบ แค่ปัจจัยสี่ยังต้องดิ้นรนเลย แม้แต่หน้าชายหาดเป็นพื้นที่ที่เด็ก-คนแก่ที่ออกทะเลไม่ได้แล้วมาหาหอยหาปูประทังชีวิต การปิดกั้นชายหาดให้คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิพิเศษ เหนือสิทธิในการทำมาหากิน

มันโหดร้ายเกินไปหรือเปล่า เราจะเอื้ออาทรให้เขาได้ไหม

 

ชาวเลราไวย์

ใช้คำไหน ‘ชาวเล-ไทยใหม่-มอแกน-มอแกลน-อูรักลาโว้ย’?

การเรียกขานกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตอยู่ตามทะเลและชายฝั่งมีหลากหลายแตกต่าง

ช่วงหนึ่งคำว่า “ชาวเล” เป็นคำที่มีความหมายลบ อันเนื่องมาจากทัศนคติที่ไม่ดี จนมีการเลี่ยงใช้คำอื่นอย่าง “ไทยใหม่” เพื่อหลอมรวมตัวเองเข้ากับความเป็นไทย

หรือจะเรียกพวกเขาตามที่เขาเรียกขานตัวเอง “มอแกน-มอแกลน-อูรักลาโว้ย”

อาจารย์นฤมลบอกว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่คำว่า ชาวเล เป็นคำติดลบ เวลาพูดถึงชาวเลจะเห็นภาพว่าเป็นคนตัวดำ สกปรก ไร้การศึกษา

“ชาวเลเองก็รู้สึกด้อย หันมาใช้คำว่า ‘ไทยใหม่’ ไม่แน่ใจว่าใครเอาคำนี้มาใช้ แต่คงหวังดี ไม่อยากให้ถูกมองว่าแปลกแยกจากสังคมไทย เป็นไทยเหมือนกัน แต่อาจไทยใหม่หน่อย แต่ก็เป็นคำที่ละเลยรากเหง้าวัฒนธรรมของเขา”

ส่วนคำเรียกที่เหมาะสมสำหรับนักวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์บอกว่า

“ถ้าจะพูดถึงรายกลุ่มคิดว่าใช้คำที่เขาเรียกตัวเอง คือ มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย ดีที่สุด แต่ถ้าจะพูดคำรวมว่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ริมทะเลก็ใช้ ชาวเล ได้” ดร.นฤมลให้ความเห็นอย่างชัดถ้อยชัดคำ

การให้ความสำคัญในชื่อเรียก อาจมองได้ว่าเป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงการยอมรับอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ปัญหานี้เองก็เกิดขึ้นกับชาวเลรุ่นหลังที่เริ่มถูกกลืนทางวัฒนธรรม

ดร.นฤมลบอกว่า กลุ่มเยาวชนคนรุ่นหลังเริ่มไม่ใส่ใจในวิถีชีวิตภูมิปัญญาภาษาวัฒนธรรมมากเท่าไหร่ เพราะสังคมใหญ่ไม่เห็นคุณค่า ระบบการศึกษาพูดถึงประวัติศาสตร์-ภูมิปัญญาท้องถิ่นน้อยมาก โอกาสที่จะทำให้เขาเห็นความสำคัญก็น้อย

“เป็นความสูญเสียของทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะชาวเล เรากำลังสูญเสียสิ่งที่สั่งสมมาหลายร้อยปี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image