โฉมใหม่พันล้าน ‘สวนลุมพินี’ฉลอง100ปี เชื่อม ‘เบญจกิติ’ เนรมิต 810 ไร่ เทียบพาร์คระดับโลก

ปรับปรุงขอบน้ำเพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์หลากหลาย

กําลังนับถอยหลังปรับโฉมครั้งใหญ่ รับการฉลอง 100 ปี ภายในปี 2568 สำหรับ “สวนลุมพินี” สวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ 360 ไร่ ตั้งตระหง่านใจกลางกรุง
เป็นการปรับปรุงครั้งแรก ครั้งสำคัญ ตั้งแต่เปิดบริการเมื่อปี 2468 ให้ทันสมัย ไฉไล ก้าวสู่การเป็น “สวนสาธารณะระดับโลก”

ดึงภูมิสถาปนิกไทยชื่อดังออกแบบ
งานนี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทุ่มงบประมาณร่วม 50 ล้านบาท จ้างบริษัทสถาปนิกออกแบบและพัฒนาพื้นที่ มี “อาจารย์กชกร วรอาคม” ภูมิสถาปนิกชาวไทย มีผลงานออกแบบระดับโลกและสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมสาธารณะหลายแห่ง

ไม่ว่าจะเป็นอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวนเกษตรลอยฟ้าใจกลางสยามสแควร์ Siam Green Sky อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาหรือพระปกเกล้าสกายพาร์ค ล่าสุดกำลังออกแบบสวนลุมพีนีโฉมใหม่ให้ กทม.

“ชาตรี วัฒนเขจร” รองปลัด กทม. กล่าวว่า สวนลุมพินีจัดสร้างขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ตั้งอยู่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ ของกรุงเทพฯ ล้อมรอบด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม

Advertisement

ภายในสวนลุมพินี มีลักษณะการใช้งานแบบอเนกประสงค์ เป็นที่ตั้งของศูนย์นันทนาการ สมาคม ชมรมต่างๆ ล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เปรียบเสมือน “ปอด” สำคัญของคนเมือง มีต้นไม้ขนาดใหญ่อายุเก่าแก่ให้ความร่มรื่นรายล้อมอยู่ทั่วบริเวณ มีสระน้ำกว้างใหญ่ ดอกไม้นานาพันธุ์ สวนป่า และสถานที่สำคัญต่างๆ

2568 ฉลองใหญ่ครบรอบ100 ปี
ด้วยสภาพปัจจุบันอาคารสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ภายใน รวมถึงระบบสาธารณูปโภค มีสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา การจัดพื้นที่ใช้สอยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังไม่สามารถตอบสนองกับการใช้งานตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

กทม.จึงเตรียมปรับปรุงและพัฒนาสวนลุมพินีครั้งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองสวนลุมพินีครบรอบ 100 ปี ในปี 2568 ให้เป็นสวนสาธารณะระดับโลกที่สร้างสรรค์และทันสมัย รองรับการใช้ประโยชน์ในทุกมิติ พร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพฯ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ดึงดูดให้คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้มาเช็กอินและถ่ายรูปสวยๆ

Advertisement

“ในแต่ละวันมีประชาชนเข้ามาใช้บริการภายในสวนลุมพินีเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยวันจันทร์-ศุกร์ อยู่ที่ประมาณ 10,000 คนต่อวัน และวันเสาร์-อาทิตย์ อยู่ที่ประมาณ 15,000 คนต่อวัน”

สำหรับการปรับปรุงรองปลัด กทม.กล่าวว่า จะเป็นภายใต้แนวคิดออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะในทุกมิติ ครอบคลุมอัตลักษณ์ของเมือง 5 ด้าน ได้แก่ 1.คุณค่าแห่งประวัติศาสตร์ 2.คุณภาพทางวัฒนธรรม ศิลปะ การแสดง และแหล่งเรียนรู้รูปแบบต่างๆ 3.การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเมือง ตอบรับสภาวะโลกร้อน 4.สร้างพื้นที่กิจกรรมที่ทันสมัยและหลากหลายเข้ากับยุคสมัยและ 5.ตอบโจทย์การใช้งานตามรูปแบบมาตรฐานของการออกแบบ หรือ Universal Design ในการให้บริการในทุกส่วน ทุกกลุ่ม

ทยอยพัฒนา 3 เฟส ลงทุน 1,000 ล้าน
“เริ่มเฟสแรกไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคภายใน เช่น ระบบท่อ ระบายน้ำใต้ดิน ปัจจุบันไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และท่อระบายน้ำบางส่วนไม่เชื่อมกับทางระบายน้ำ รวมถึงแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในบึง ปรับปรุงงานระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ทางเดิน-วิ่ง อาคารที่ทรุดโทรม ส่วนเฟสที่ 2 เป็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเฟสที่ 3 เป็นการพัฒนาพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้งาน”

การพัฒนาทั้ง 3 เฟส คาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 1,000 ล้านบาท จะทยอยดำเนินการเป็นเฟสๆ ตั้งเป้าจะให้เสร็จภายในปี 2567 เฟสแรกได้งบประมาณแล้ว 140 ล้านบาท เป็นวงเงินเดิมที่เตรียมจะปรับปรุงอยู่แล้วก่อนหน้านี้ แต่หลังจากมีการปรับแผนใหม่ให้เป็นการปรับปรุงภาพรวมครั้งใหญ่ ทำให้ชะลอโครงการออกไปก่อน รอออกแบบใหม่จะแล้วเสร็จใน 2-3 เดือนนี้ จากนั้นเริ่มเดินหน้าเฟสแรกในทันที

ในแผนดำเนินการทางบริษัทที่ปรึกษา นอกจากจะออกแบบแล้ว ต้องสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มาใช้บริการ และภาคเอกชนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงสวนลุมพินีครั้งนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายให้เป็นสวนสาธารณะระดับโลกและทันสมัย

รองปลัด กทม.กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กทม.ปิดสวนลุมพีนีถึงวันที่ 14 มิถุนายน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วงระหว่างการปรับปรุง ยังคงเปิดให้บริการปกติ เพราะจะทยอยปรับปรุงทีละโซน แต่งดจัดกิจกรรม

‘อัศวิน’ อวดโฉมใหม่ รับฟังเสียงประชาชน
ด้าน “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” พ่อเมืองเสาชิงช้าได้สื่อสารถึงคนกรุงผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าเมืองที่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ สามารถบอกได้ถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง มีในหลายๆ ประเทศ เช่น Central Park ในนิวยอร์ก, Hyde Park ในลอนดอน, Garden by the Bay ในสิงคโปร์ ที่รู้จักกันทั่วโลก

สำหรับในประเทศไทย “สวนลุมพินี” เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของไทยที่มีประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 6 พระราชทานที่ดินสวนพระองค์ให้เป็นสวนพฤกษชาติ จะครบรอบ 100 ปี ในปี 2568 เป็นสวนสาธารณะที่ติดอันดับโลก ตั้งอยู่กลางเมืองใหญ่ด้วยพื้นที่สีเขียว 360 ไร่ มีเส้นทางออกกำลังกาย วิ่ง ปั่นจักรยาน และยังมีสะพานเขียวเส้นทางเชื่อมต่อไปได้ถึงสวนเบญจกิติอีกด้วย

“กทม.จะปรับปรุงสวนสาธารณะที่มีคุณค่าแห่งประวัติศาสตร์ ‘สวนลุม 100 ปี’ ให้เป็นสวนสาธารณะระดับโลก ที่สร้างสรรค์และทันสมัย แสดงความเป็นอัตลักษณ์ของเมืองเหมือนกับสวนสาธารณะชั้นนำของโลก”

พร้อมเผยโฉมใหม่ที่จะพัฒนา 5 พื้นที่ 1.ปรับพื้นที่สร้างกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมของเมือง ให้เป็นพื้นที่การแสดง ศิลปะ และแหล่งเรียนรู้ บริเวณลานอาคารบันเทิง ปรับพื้นที่เวทีการแสดง ให้มีที่นั่งชมเป็นรูปวงกลม รองรับผู้ใช้งานกว่า 25,000 คน บริเวณลานเกษตรเมือง เพิ่มพันธุ์ไม้ ดอกไม้ตลอดแนว มีพื้นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น

2.พัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ปรับปรุงสวนป่า เพื่อการเรียนรู้ธรรมชาติ ให้เป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย มีพื้นที่ป่าลักษณะต่างๆ มีน้ำตกจำลองระบบนิเวศเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างพื้นที่ป่าในเมือง ลดปัญหาสภาพแวดล้อมของเมืองอย่างปัญหาฝุ่น

3.พื้นที่ทำกิจกรรมที่หลายหลาย และเหมาะกับยุคสมัย มีพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น ศูนย์กีฬา ลานหญ้า ลานสำหรับสัตว์เลี้ยง ลานศิลปะ และลานกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ปรับพื้นที่ทางเดิน ทางวิ่ง และทางจักรยาน ปรับพื้นที่ริมบึงน้ำให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น มีศาลาพาเพื่อนวิ่ง ที่นักวิ่งสามารถพาเพื่อนคนพิการทางสายตาวิ่งออกกำลังกายในสวน

4.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคภายในสวน การปรับพื้นที่ถนนทางเดินแนวแกนกลางของสวน ตั้งแต่ประตูทางเข้า ร.6 ไปจนถึงฝั่งถนนวิทยุ นำสายไฟฟ้าลงดิน นำเกาะกลางออก เพิ่มพื้นที่ทางเดินให้กว้างขึ้น สร้างระบบระบายน้ำใต้ดินเพิ่ม เชื่อมท่อระบายรอบสวน เพื่อไม่ให้มีน้ำท่วมขังถนนทางเดินในสวน และเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำในสวน พร้อมมีระบบหมุนเวียนน้ำในบึงน้ำและปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง และ 5.มีจุดเชื่อมต่อสวนลุมพินี สะพานเขียว และสวนเบญจกิติ ด้วยทางเดิน และทางจักรยาน

ซึ่ง “กทม.” กำลังเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ร่วมกันพัฒนาโครงการ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

เชื่อมสวนเบญจกิติ สร้างปอดกลางกรุง 810 ไร่
ขณะที่ “สวนลุมพินี” กำลังนับถอยหลังปรับโฉมใหม่ ในห้วงเวลาเดียวกันรัฐบาลมีโครงการบูรณาการสองสวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางเมือง “สวนลุมพินีกับสวนป่าเบญจกิติ” อยู่ในพื้นที่เขตคลองเตยและปทุมวัน ด้วยสะพานเขียวเชื่อมโยงสองสวนขนาด 810 ไร่ แบบไร้รอยต่อ ด้วยการเดินเท้าและการปั่นจักรยาน

พลิกดูโมเดล “สวนป่าเบญจกิติ” เป็นการเปลี่ยนพื้นที่โรงงานยาสูบ 450 ไร่ ให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งกรมธนารักษ์ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อปี 2547 พัฒนาสวนน้ำ 130 ไร่แล้วเสร็จ และในปี 2559 สร้างสวนป่า ระยะที่ 1 เนื้อที่ 61 ไร่แล้วเสร็จ ส่งมอบให้ กทม.เป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการ

ล่าสุดกำลังสร้างสวนป่าระยะที่ 2-3 เนื้อที่ 259 ไร่ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมธนารักษ์กับกองทัพบกที่ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ให้กองทัพบกเป็นผู้ก่อสร้างด้วยวงเงิน 652 ล้านบาท จะสร้างพื้นที่ส่วนแรกแล้วเสร็จในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กลายเป็นพื้นที่สวนป่าเชิงนิเวศผืนใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ

เพราะที่นี่จะเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ และหลากหลายมากกว่า 300 ชนิด จำนวนกว่า 10,000 ต้น ยังเป็นพื้นที่หน่วงน้ำในหน้าฝน กักเก็บน้ำในหน้าแล้งได้ถึง 12,000 ลูกบาศ์กเมตรต่อวัน และบำบัดน้ำเสียได้กว่า 16,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ด้วยวิธีการตามธรรมชาติ ตามแนวโครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ย

ช่วยพลิกฟื้นชีวิตให้คนเมืองในยุคปัจจุบันอยู่ร่วมกับวิถีธรรมชาติ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image