อาศรมมิวสิก : อยู่ให้รอด ต้องมีศักยภาพและสายป่านยาว

การอยู่ให้รอดในสถานการณ์วันนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก บางอาชีพก็มีเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้า คือ อาชีพหมอ ซึ่งหมอหมายถึงผู้เชี่ยวชาญ อาทิ หมอยา หมอรักษา หมอผี หมอความ หมอดู และหมอเดา เพราะเป็นที่พึ่งในยามยาก ที่จะทำให้รู้สึกสบายใจได้ คนในสังคมต้องการบำบัด หมอรักษาและหมอยาเป็นอาชีพที่มีความจำเป็นและมีความต้องการในยามเจ็บไข้ได้ป่วย หมอผีเมื่อรู้สึกพึ่งใครไม่ได้ หมอดูเพื่อแสวงหาโอกาสและที่พึ่ง ไม่ว่าทางกายหรือทางจิต ในส่วนของหมอความนั้น เมื่อสังคมเกิดความขัดแย้งเกินกว่าที่จะคุยกันได้ ก็ต้องสู้เป็นคดี ในยามนี้ผู้เชี่ยวชาญประเภทหมออาชีพมีความเจริญก้าวหน้ามาก

หมออีกพวกหนึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญเหมือนกัน แต่เป็นพวกตกงาน อาทิ หมอลำ หมอพิณ หมอแคน หมอนวด หมอผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ในช่วงโควิดมีชีวิตยากลำบากมากเพราะตกงาน ส่วนหมอขวัญและหมอตำแยนั้น ได้ตกงานไปนานแล้ว

ผมได้รับคำรำพึงรำพันตัดพ้อจากพรรคพวกศิลปิน ผู้มีอาชีพศิลปะการแสดง นักร้อง นักดนตรี ตระกูลหมอผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจบันเทิงทั้งหลาย ล้วนตกงานกันยาวและไม่สามารถเข้าถึงบัญชีรับเงินใดๆ ของรัฐได้ เพราะศิลปินเป็นอาชีพที่ไม่มีหลักประกัน แม้จะวิ่งเต้นเส้นสายเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันตัวก็ลำบาก ทั้งนี้เพราะเข้าไม่ถึงการบริการ อาชีพของศิลปะการแสดง นักร้อง นักดนตรี กลายเป็นพวก “หาค่ำกินเช้า” เมื่อจะออกจากบ้านตอนค่ำไปหากินไม่ได้ เสียงไม่ดังตังค์ก็จะไม่มี กลับไปสู่สภาพศิลปินไส้แห้งอีกวาระหนึ่ง

นักดนตรี นักร้อง นักแสดง ที่ทำงานประจำในร้านอาหาร ผับ บาร์ หรือสถานบันเทิง พวกวงดนตรีที่รับงานไปแสดง รับงานแต่งงาน รับงานสังสรรค์รื่นเริง งานรับจ้างเปิดการแสดงเก็บเงินหรือขายอาหาร คนกลุ่มนี้ในเมืองไทยตกงานมาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2563 เป็นเวลา 15 เดือนแล้ว เครื่องและอุปกรณ์ดนตรีที่ใช้ทำมาหากินถูกยึด บางรายก็นำไปจำนำ บางรายก็หันไปทำอาชีพอื่น ส่วนหนึ่งก็กลับไปอยู่บ้านนอกอย่างหมดสภาพ

Advertisement

ตัวอย่างการเอาตัวให้รอด วันนี้นักดนตรีในยุโรปและอเมริกา อาการโรคระบาดโควิดเริ่มจะควบคุมได้ สังคมเริ่มคลี่คลาย นักดนตรีได้ฝึกซ้อม โรงเรียนดนตรีเปิดทำการได้แล้ว นักเรียนดนตรีที่มีฝีมือก็สามารถที่จะหางานแข่งขันเข้าประกวดในรายการต่างๆ ได้ ตัวอย่างเช่นนักกีตาร์ไทย “ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ผู้กระหายความสำเร็จ” ซึ่งเคยเขียนถึงเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2563 ได้ติดตามความเคลื่อนไหวว่าเขาอยู่รอดได้อย่างไรในพื้นที่ยุโรป ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ได้กระโดดเข้าร่วม “ประกวดเป็นอาชีพ” โดยเฉพาะในเวทีของเมืองใหญ่ ที่สำคัญในปีนี้ ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ได้เข้าประกวด 3 รายการแล้ว ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งหมด ที่ประเทศเซอร์เบีย ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และที่ประเทศโปแลนด์ การประกวดใช้ระบบออนไลน์ ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ใช้วิธีการประกวด ประกวด และประกวด เพื่อล่ารางวัลเป็นอาชีพ ซึ่งยังอยู่ในวัยที่เข้าประกวดได้

ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ได้ขึ้นเวทีประกวดมาแล้ว 100 กว่าครั้ง ได้รับรางวัล 67 ครั้ง เป็นรางวัลชนะเลิศ 19 ครั้ง ถือว่าเป็นคนไทยที่มีความสามารถสูงมากคนหนึ่ง ในการประกวดกีตาร์และการได้รางวัลเท่ากับการประกาศตัวเป็นนักดนตรีอาชีพ ซึ่งทำให้คนรู้จักประเทศไทยด้วย บนเวทีประกวดดนตรีระดับนานาชาติในยุโรปนั้น ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ถือว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จสูง แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ของคนเล็กๆ แต่ก็ได้สร้างมิติใหม่เป็นวีรกรรมดนตรีที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต

วิถีชีวิตชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ เป็นการนำเสนอทางออกของอาชีพดนตรีในโลกและวิถีชีวิตออนไลน์ ในยามที่ทุกคนตกอยู่ในภาวะคับขัน สังคมตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง คนไม่มีจะกิน คนที่มีอำนาจก็ฉวยโอกาส โดยเอาเปรียบผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น มีความแตกแยก และมีความชิงชังเพิ่มมากขึ้น ยังมองไม่เห็นทางออกของสังคมไทยว่าจะเดินต่อไปอย่างไร แต่สำหรับชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ แล้ว มีทางเลือก มีทางออก และมีทางเดินต่อไปได้ไม่ยาก

Advertisement

ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้วยความสามารถของตัวเอง เพราะการอยู่ในพื้นที่ยุโรปนั้นเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ แม้ไม่มีใครช่วย ซึ่งต้องช่วยตัวเอง คนอื่นๆ ได้แต่ช่วยให้กำลังใจ การอาศัยพื้นที่เวทีโลกเพื่อสร้างโอกาส มีเวทีประกวดดนตรีในโลกออนไลน์ มีจำนวนเวทีที่จะเลือกประกวดได้มาก มีกรรมการที่เชื่อว่าเป็นธรรม การตัดสินของคณะกรรมการเชื่อถือและยอมรับได้ ทำให้ชีวิตมีโอกาส ชีวิตการเอาตัวรอดได้เพราะมีพื้นที่มีเวทีในการแข่งขันแล้วได้รางวัล เงินรางวัลและเหรียญรางวัลที่ได้ก็สามารถนำไปสร้างโอกาสต่อ ทำให้
ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ อยู่ในฐานะของผู้ชนะระดับนานาชาติ ก้าวเดินไปอยู่ในแผ่นดินไหนก็มีคนต้อนรับ มีโลกชีวิตที่กว้าง

สำหรับเงินรางวัลที่ได้จากการเข้าประกวด ถ้าเป็นงานเล็กๆ ก็จะมีเงิน 500-1,000 ยูโร (20,000-40,000 บาท) ถ้าเป็นรายการขนาดกลางๆ ก็จะมีเงินรางวัล 2,000-3,000 ยูโร ถ้าเป็นรายการใหญ่ขึ้นไปอีก ก็จะมีเงินรางวัลประมาณ 8,000 ยูโรขึ้นไป แต่งานประกวดขนาดใหญ่ระดับโลกมีอยู่ไม่กี่งาน และเป็นรายการที่ยากมาก เพราะคนเก่งจากทั่วโลกก็จะลงแข่งขัน ไม่ใช่เพื่อชัยชนะเท่านั้น แต่เป็นโอกาสที่จะได้เปิดตัวให้โลกรู้จัก

ปัจจุบัน ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ เรียนจบปริญญาโทดนตรี เอกกีตาร์คลาสสิก ที่มหาวิทยาลัยโมสาร์ต (Mozarteum University) อายุ 27 ปีแล้ว ขณะนี้กำลังเรียนระดับประกาศนียบัตรศิลปิน (Artist Diploma) ซึ่งจะจบเดือนกรกฎาคมนี้ ด้วยจิตใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่น ทำให้ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ เลือกทางชีวิตที่เป็นเส้นทางนักดนตรีอาชีพชัดเจน โดยไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นคนไทย หรือต้องอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นนักดนตรีอาชีพระดับนานาชาติ มีรางวัลที่รองรับฝีมือ แล้วก็มีโอกาสที่จะเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกได้ง่ายขึ้น สามารถที่จะเลือกอาจารย์ที่จะสอนได้ ขณะเดียวกัน อาจารย์ก็อยากได้คนเก่งๆ เป็นลูกศิษย์ สามารถเลือกมหาวิทยาลัยในฝันได้ เลือกรับทุนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เสนอให้เลือก สามารถเลือกว่าจะไปอยู่ที่ประเทศไหนก็ได้ เพราะความสามารถได้เปิดโอกาส เมื่อมีฝีมือ มีผลงาน และมีรางวัล จึงเป็นกุญแจไขประตูทุกบานให้เปิดออก เพื่อให้ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ได้เลือก ศักยภาพความเป็นเลิศเท่านั้นที่อยู่รอด

การอยู่รอดอีกแบบหนึ่ง การประกวดขับร้องนานาชาติในไทย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จัดการประกวดการขับร้องขึ้นโดยโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ เป็นพื้นที่ดนตรีแห่งใหม่ เป็นการประกวด “Sugree Charoensook International Music Competition Edition 2021” อาจารย์ตปาลิน เจริญสุข และอาจารย์กมลมาศ เจริญสุข เป็นผู้ดำเนินการ ผู้จัดมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงฝีมือทางดนตรี เด็กจะได้ฝึกซ้อมดนตรีอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้เรียนรู้ได้ทำกิจกรรมดนตรีทั้งครูและนักเรียน สำหรับการประกวดร้องเพลงมีผู้สมัคร 160 คน เป็นการประกวดในระดับนานาชาติ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน ฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ อเมริกัน (เชื้อสายอาเซียน) และเด็กไทย ซึ่งมีรางวัลไม่ใหญ่นัก (20,000, 10,000 และ 5,000 บาท)

การเปิดพื้นที่ดนตรีแห่งใหม่ เพราะว่ามีโรคโควิดระบาดหนัก โดยการจัดประกวดแต่ละเครื่องมือ ซึ่งในการประกวดทำให้เห็นความตื่นตัวของเด็กไทยและเด็กในภูมิภาค พบว่าเด็กที่เรียนดนตรีมีคุณภาพสูง การเรียนดนตรีของเด็กไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มาจากโรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งเป็นเด็กที่พ่อแม่เอาใจใส่ เข้มงวด เอาจริงเอาจัง ตั้งใจดูแลลูกอย่างใจจดจ่อ บริบทของเด็กที่ส่งผลงานเพลงเข้าประกวด ต้องลงทุนมากพอสมควร ต้องใช้เวลา เพราะต้องมีครูพิเศษสอนขับร้อง มีชุดที่สวยงามใส่ ต้องมีนักเปียโนเล่นประกอบการขับร้อง ต้องเข้าห้องบันทึกเสียง สรุปแล้วพ่อแม่ต้องลงทุนให้กับลูกที่เรียนดนตรีมากพอสมควร ในกรณีของเด็กไทย เด็กซึ่งเป็นลูกตาสีตาสาไม่สามารถจะเรียนได้ นี่คือความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก

การเรียนดนตรีนั้น กว่าลูกจะเก่งต้องผ่านการเรียนพิเศษหลายปี ต้องจ้างครูอย่างต่อเนื่อง จนกว่าลูกจะเก่งพอที่จะเข้าร่วมการแข่งขันได้ ทำให้พ่อแม่หมดเงินค่าเล่าเรียนดนตรีไปหลายบาททีเดียว แต่ก็จะคุ้มมากเพราะดนตรีจะกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิตไปตลอด

ในการอยู่รอดอีกมุมหนึ่ง การระบาดของโรคโควิดทำให้การศึกษาดนตรีตกต่ำลงมาก ครูดนตรีพิเศษตกงาน ไม่มีรายได้ โรงเรียนดนตรีพิเศษ (มาตรา 15/2) เปิดประกอบกิจการสอนดนตรีไม่ได้ ยิ่งโรงเรียนดนตรีที่อยู่ในห้างหรือศูนย์การค้า นอกจากจะประกอบกิจการไม่ได้ ไม่มีรายได้ ยังต้องจ่ายค่าเช่าและจ่ายค่าประทังชีวิตเพื่อรักษาคนทำงานไว้ หากปิดโรงเรียนระยะสั้นก็พอทน แต่เมื่อต้องปิดโรงเรียน 15 เดือน หากมีสายป่านที่สั้นก็อยู่ไม่รอด ต้องปิดตัว ไม่รู้ว่าจะมีการระบาดระลอก 4-5-6 ตามมาอีกเมื่อไหร่

ศิลปินอาชีพ คุณคฑาวุธ ทองไทย (ไข่ มาลีฮวนน่า) ไม่มีงานแสดง ถูกหยุด ถูกเลื่อน ถูกยกเลิก ก็หันไปขาย “ชากัญชา” เพื่อเอาตัวให้รอด เพื่อหารายได้เลี้ยงลูกน้อง โดยมองไม่เห็นอนาคตว่า เมื่อไหร่จะมียาฉีด เมื่อไหร่จะมียาป้องกัน เมื่อไหร่ท้องฟ้าจะเปิด จะได้ออกไปทำงาน เวลานี้ทั้งนักร้องนักดนตรีอาชีพทั้งหลายที่อยู่ในประเทศไทย ก็ได้แต่ร้องได้เพลงรอ…รอ…และรอต่อไป รอ…รอ…แบบขอทาน

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image