เริงโลกด้วยจิตรื่น : เห็นได้เมื่อ‘เพียรพอ’

คำถามหนึ่งที่ค้างใจอยู่ ระหว่าง

“ปัญญา” ที่เกิดจากการขบคิด ใคร่ครวญ

กับ

“ปัญญา” ที่เกิดขึ้นด้วยสติตื่นรู้นั้น

Advertisement

ต่างกันตรงไหน

ลองอย่างนี้ เริ่มต้นจากนึกว่าจะต้องจัดการอะไรสักอย่าง

การจัดการจำเป็นต้องอาศัย “ปัญญา” ใช่มั้ย ทุกการจัดการต้องอาศัย “ปัญญา” ทั้งนั้น จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของปัญญา

Advertisement

พอมีเรื่องต้องทำ ไม่ว่าจะจัดการด้วย “ปัญญา” แบบขบคิด ใคร่ครวญ หรือแบบเกิดขึ้นจากการสติตื่นรู้ ที่เหมือนกันคือต้องเอาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ ไหวพริบ การประเมินผลได้ผลเสียระยะสั้น ระยะยาว ผลกระทบที่จะตามมา หรืออะไรต่อมิอะไรทั้งหลาย

ประเมินว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องใช้อะไร จะเกี่ยวพัน โยงใยไปถึงอะไร ถึงใคร จะส่งผลอย่างไร แล้วสรุปหาทางที่ดีที่สุด

ไม่ว่าจะด้วย “การคิด” หรือ “การตื่นรู้” หากจัดการแบบรอบคอบพอ ย่อมต้องไตร่ตรองในปัจจัยที่เกี่ยวข้องเหมือนกัน

แต่ความต่างอยู่ที่การจัดการด้วย “ความคิด” นั้น มักตัดสินใจด้วย “ความอยากให้เป็น”

ถูก “ความอยากให้เป็น” ชี้นำ ว่าควรจะต้องจัดการเรื่องนั้นอย่างนี้ ให้เกิดผลอย่างนั้น

และ “ความอยากให้เป็น” มีแนวโน้มที่จะถูกครอบงำด้วยความเชื่อที่สะสมมาทั้งหลาย

ขณะที่การประเมินด้วย “ปัญญาแบบตื่นรู้” จะเห็น “ความเชื่อเหล่านั้น” เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มาประกอบ ไม่ยึดถือว่าจะต้องเป็นไปตามนั้น จึงไม่ถูกครอบงำด้วยความเชื่อนั้น ประเมินไปตามความเป็นจริง เห็นความเปลี่ยนแปลงของความเป็นจริงนั้น และผลที่เกิดจากปัจจัยที่เป็นจริงแต่ละอย่างส่งแรงเสียดทานต่อกันและกัน จัดการและรับรู้ผลตามความเป็นจริง โดยรู้ว่า “ความอยากให้เป็น” แค่ปัจจัยหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทเท่านั้น จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับอิทธิพล พลังอำนาจของปัจจัยอื่นๆ ไม่มีปัจจัยไหนที่ควบคุมได้เพียงหนึ่งเดียวที่จะให้เป็นไป

จะเป็นไปอย่างไรล้วนเป็นผลรวมที่เกิดจากคุณสมบัติของทุกปัจจัยส่งผลต่อกันและกัน

มาถึงตรงนี้ย่อมพอมองเห็นได้ว่า “ปัญญา” จากความตื่นรู้นั้น หากทำให้เกิดขึ้นได้จะก่อให้การจัดการไม่ว่าเป็นเรื่องอะไร จะดำเนินไปด้วยความโล่งเบามากกว่า ไม่ถูก “ความอยากให้เป็น” กดดันบังคับในแบบที่ขัดแย้งกับ “ความเป็นจริง”

เมื่อไม่เป็นไปตามที่อยาก ก็รับรู้เหตุที่ทำให้เป็นไปอย่างอืน ถ้าเห็นว่ามีความจำเป็นต้องให้เป็นไปอย่างไร จะรู้ว่าต้องจัดการกับเหตุอย่างไหน ด้วยวิธีอะไร เพื่อสร้างผลอย่างไรขึ้นมา

ค่อยๆ ทำไปตามความเป็นจริง ไม่ใช่หักโหมด้วยความอยาก

เพียงแต่ว่า การทำให้หลุดจากอิทธิพลของ “ความอยากให้เป็น” นั้น ไม่ใช่เรื่องที่นึกจะให้เกิด ก็เกิดขึ้นได้ทันที ด้วยผลของความเคยชินเก่าๆ และการปกป้องปมต่างๆ ในใจไว้ ทำให้เป็น “โอกาส” ของ “ความอยากให้เป็น” ที่จะเข้ามาครอบงำได้เสมอ เมื่อเผลอจากการมีสติ หรือมีสติไม่ถูกต้อง

การให้ผลที่จะให้เกิด “การมีสติชอบ” หรือ “สติที่ถูกต้อง” จึงจำเป็นต้องทำ

และนี่คือ “ความยาก”

แต่กระนั้นก็ตาม “ความยาก” ไม่ใช่ “ความเป็นไปไม่ได้”

ทุกคนตื่นรู้ได้ หากฝึกฝนอย่างถูกทาง ด้วยความเพียรที่เพียงพอ

จันทร์รอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image