VIRF ‘สะพานทางวัฒนธรรม’ ตลาด‘สินทรัพย์ปัญญา’ ความหวังไร้พรมแดนของคนแวดวง ‘สร้างสรรค์’

เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อย สำหรับแพลตฟอร์มที่น่าจับตายิ่ง อย่าง “Virtual Intellectual Rights Fair” หรือ VIRF เว็บไซต์อันเปรียบเสมือน ‘ตลาดออนไลน์’ แห่งแรกของไทย ที่เชื่อมโยงเครือข่ายผู้คนในแวดวงสร้างสรรค์ ให้เข้ามาเดินช้อป พูดคุย ซื้อ-ขายมรดกทางวัฒนธรรม สินทรัพย์ทางปัญญาได้จากทั่วโลก ผ่านหน้าจอเครื่องมือสื่อสาร

ผลงานโดย บริษัท อีลีท ครีเอทีฟ จำกัด (Elite Creative Company Limited) ในเครือประพันธ์สาส์น ที่หนนี้จับมือ “อโยเดีย” (AYODIA R.O.P.) หุ้นส่วนนักพัฒนาซอฟต์แวร์คนรุ่นใหม่ คลอดแพลตฟอร์มที่่ไม่เพียงพลิกโอกาสในวิกฤตโรคระบาด แต่ยังเปิดโอกาสให้นักเขียนไทยได้แสดงผลงานสู่สายตาตลาดสากล

11 มิถุนายน ณ โถงมติชนอคาเดมี ต้นโผเรื่องนี้ อย่าง อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีลีท ครีเอทีฟ จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้ง VIRF ร่วมสนทนากับผู้คนในแวดวงวรรณกรรม ที่เข้าร่วมงาน “ASEAN International Rights Fair” เปิดตัวแพลตฟอร์ม VIRF Platform ผ่านระบบ Cisco WebEx คับคั่งตลอด 3 วันติด ไม่ว่าจะเป็น สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, อัญชลี วิวัธนชัย หรือ “อัญชัน” นักเขียนรางวัลซีไรต์, วิทิดา ดีทีเชอร์ นักเขียนรางวัลชมนาดคนล่าสุด, อัสมา นาเดีย นักเขียนเรืองนามแห่งอินโดนีเซีย, แอกเนส ชาน นักเขียนเบสเซลเลอร์ ไปจนถึง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติ

ด้วยความตระหนักถึงหายนะร่วมของประชากรทั่วโลกจากโรคอุบัติใหม่ ที่ดิสรัปต์กระทั่ง “วัฒนธรรม” จึงจำต้องปรับเข้าสู่ยุคนิว นอร์มอล

Advertisement

ย้อนไป 2 ปีให้หลัง อาทร ซีอีโอ บจก.อีลีท ครีเอทีฟ เป็นประธานจัดงาน เทศกาลลิขสิทธิ์และเนื้อหาสำหรับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (ICCRF) ครั้งแรก เมื่อ 6-9 ธันวาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า นานาชาติฯ จ.เชียงใหม่

นำมาซึ่งความสำเร็จท่วมท้น มีผู้คนในอาเซียน จีน ทวีปยุโรป ตลอดจนทวีปอเมริกา เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 600 ล้านคน ทั้งยังสนใจ “นำเข้า” วัฒนธรรมไทย “ลงทุน” ทางวัฒนธรรมในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ดึงเม็ดเงินเพื่อการท่องเที่ยวและการพัฒนาต่างๆ มาสู่อาเซียนก่อเกิดเป็นความหวังว่าไทยจะกลายเป็น “ฮับ” สำหรับการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือเด็ก

Advertisement

ทว่า เมื่อโรคระบาดโควิด-19 ย่างกราย ก่อนทวีความรุนแรงตามลำดับ การจัดงานเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ก็ได้รับผลกระทบไปตามกัน จึงถึงเวลาค้นสร้างนวัตกรรมใหม่ “อีลีท ครีเอทีฟ” ยกร่างคอนเซ็ปต์เดิม สร้างเป็นงานออนไลน์ที่จัดบนภาคพื้นจริง (Ground Fair) แต่ก่อให้เกิดการทำกิจกรรมได้อย่างเสมือนจริง (Virtual Fair) ผ่านทางแพลตฟอร์ม VIRF นี้

 กล่าวอย่างง่าย แพลตฟอร์มนี้จะทำให้ทรัพย์สินที่จับต้องได้ยาก อย่าง “วัฒนธรรม” เกิดเป็นอุตสาหกรรมต่อยอด “creative economy” เช่น นวนิยายเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงเป็นบทละคร สู่การลงทุนถ่ายทำละครเรื่องนี้จนก่อให้เกิดการกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกรุงเก่า อย่างพระนครศรีอยุธยา การนุ่งผ้าพื้นเมือง ฯลฯ หรือแม้แต่การเผยแพร่หลักสูตรศิลปะมวยไทย ตลอดจนถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยโดยรวม จะสามารถเกิดเป็น “ทรัพย์” ที่จับต้องได้ผ่านแพลตฟอร์มนี้

ซึ่งทางผู้พัฒนาคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดถึงปีละ 100 ล้านบาท

อาทร มองว่า ไม่เพียงประสบการณ์ในวงการหนังสือ ตนเองยังสั่งสมประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศมายาวนานถึง 25 ปี ดังนั้น เมื่อเกิดการดิสรัปต์จากเทคโนโลยี อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีความคิดที่จะสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์กระทั่งได้เจอกับ “อโยเดีย” จึงพูดคุยตกลงเป็นพาร์ตเนอร์ ก่อตั้งธุรกิจ ‘มาร์เก็ตเพลส’ ขึ้นบนแพลตฟอร์มที่เรียกว่า “Virtual Intellectual Rights Fair”

“เปรียบเทียบให้เห็นภาพ อย่าง ลาซาด้า ช้อปปี้ เป็นมาร์เก็ตเพลสสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ VIRF คือมาร์เก็ตเพลสของสินค้าทางวัฒนธรรม และไอพีทั้งหลาย ‘ไอพี’ หรือลิขสิทธิ์เพียงแค่เรื่องนี้ก็แตกย่อยออกไปมาก ตั้งแต่หนังสือ ฟิล์ม ละคร นาฏศิลป์ ดนตรี รวมไปถึงเกมโดยแพลตฟอร์มนี้เราจะจัดเอง หรือเปิดเป็นพื้นที่เช่าจัดงานก็ได้ ระยะแรกจะให้พื้นที่อาเซียนมาใช้งานในราคาไม่แพงก่อน จากนั้นก็ขยับตลาดไปที่ยุโรป อเมริกา และทั่วโลก” อาทรเผยเป้าหมาย

อาทร เล่าต่อว่า วันเปิดตัววันแรกได้เชิญตัวแทนที่มีประสบการณ์งานแฟร์จากอาเซียน 6 ประเทศเข้าร่วมด้วย ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย และมาเลเซีย และจะมี 10 บูธที่จะมาออก เป็นบูธไพรอต ทั้งยังมีโปรแกรมที่เกี่ยวกับกิจกรรมหลากหลาย มีวิดีโอ พรีเซ็นเทชั่น อธิบายเกี่ยวกับแพลตฟอร์มนี้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะหากค้าขายกันอย่างเดียวอาจมีความน่าเบื่อ

“ตลาดนี้มีประโยชน์มาก ต่อให้โควิดหายแล้วก็ยังเล่นลูกผสมได้ คือทั้งจัดแฟร์ตามปกติ และแพลตฟอร์มเสมือนจริง เพราะการเดินทางไปค้าขายมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ค่าเดินทาง ที่พัก ค่าเข้างาน ต้องวางแผนเยอะ แต่ต่อไปนี้ใครมีกำลังก็ไป งานเสร็จก็ท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอี รายย่อยต่างๆ ที่กำลังไม่พอจ่ายค่าต้นทุนสูงๆ ก็จะมีโอกาสเข้าแข่งขันในตลาดได้เช่นกัน ที่สำคัญไม่ต้องรองานแฟร์ แต่แพลตฟอร์มนี้เปิดได้ตลอด 365 วัน 24 ชั่วโมง สำหรับต่างชาติเขาเห็นโอกาสที่จะขายของ และเราก็มีโอกาสจะขายลิขสิทธิ์เขาเหมือนกัน ซึ่งเราก็ต้องมาคุยในวงนักเขียนว่าจะทำอย่างไรให้ตลาดยอมรับว่า คอนเทนต์เราเข้มแข็ง
เหมือนกัน” อาทรเผย

“ถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมของสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ จะโลดแล่นอย่างไร้พรมแดน ทั้งทางกายภาพ และจินตนาการ ด้วยการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์ม VIRF”

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

คือคำประกาศของ ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ในนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน

ด้วยมองว่า โดยหน้าที่ของศิลปะและวัฒนธรรมถือเป็น “เครื่องมือสำหรับมวลมนุษย์” มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ร่วมสนับสนุนทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมการใช้ทุนทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เสมอมา

“ตอนนี้เรามีตลาดเสมือนจริงที่ผู้สร้างสรรค์เนื้อหา และผู้ถือลิขสิทธิ์ จะสามารถมาร่วมพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและดำเนินการตามข้อตกลงทางธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเสียเวลา กับการติดต่อข้ามซีกโลก ในรูปแบบดิจิทัลเป็นครั้งแรก ประกอบไปด้วยผู้ร่วมงานหลากหลายในประเทศกลุ่มอาเซียน และผลงานที่เป็นนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับแพลตฟอร์มอื่นๆ ในอนาคต

เนื่องจากโลกดิจิทัลเป็นสื่อที่ใช้เชื่อมโยงกันในชีวิตประจำวันของเราในช่วงเวลาวิกฤตที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาเราได้ต่อสู้ดิ้นรน ได้พยายาม และล้มเหลว แต่ในที่สุดก็ได้พบหนทางให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และคอนเทนต์ต่างๆ ได้เจริญรุ่งเรืองแล้ว ถือเป็นการสร้างสะพานที่พังทลายไปแล้วขึ้นมาใหม่อีกครั้ง” ผู้ช่วย รมว.วัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้าย

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์

ด้าน ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการบริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะสปอนเซอร์รายแรกของแพลตฟอร์ม VIRF เผยความรู้สึก “ยินดีเป็นอย่างยิ่ง” ที่ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมสนับสนุนโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับวรรณกรรมอยู่มาก ไม่ว่าจะรางวัล S.E.A. Write Award, รางวัลชมนาด รวมทั้งการตีพิมพ์หนังสือลักษณะไทย

ดร.ทวีลาภชี้ด้วยว่า ทางธนาคารเห็นว่าโลกของเราในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการนำดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวัน และหลายสิ่งหลายอย่างได้ปรับเปลี่ยนไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น จึงเห็นความสำคัญของการสนับสนุนองค์กรที่มีความคิดก้าวไกล บวกกับประสบการณ์ที่ล้นหลามของผู้บริหารของทั้ง 2 องค์กร ที่คิดค้น VIRF ขึ้น ทำให้แพลตฟอร์ม VIRF นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ และน่าสนใจเป็นอย่างมาก

คืออีกหนึ่งความหวังให้ผู้ประกอบการ ตลอดจนศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน ไม่ว่าจะสำนักพิมพ์, บรรณาธิการ, นักเขียน, จิตรกร, นักร้องเพลงพื้นบ้าน-สากล, ฯลฯ องค์กร สมาคมนักเขียน พึ่งพาตนเองได้ในห้วงยามแห่งหายนะ

คือต้นแบบของแพลตฟอร์ม Start Up ด้านสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ที่ปรับตัวรับการรุกรานของเทคโนโลยีได้โดยไม่เสียจุดยืนด้าน “เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม”

ทั้งยังปูทาง ถักทอเครือข่ายมวลมนุษยชาติ ให้ทำงานร่วมกันด้าน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ได้อย่างเป็นมืออาชีพ


‘ทีเอชนิค-ดอทอะไร’ เปิดตัว ‘สมุดเยี่ยม.ไทย’

แพลตฟอร์มเยี่ยมไข้ในยุคนิว นอร์มอล

มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) ร่วมด้วย บริษัท ดอท อะไร จำกัด เปิดตัว “สมุดเยี่ยม.ไทย” ดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับบอกเล่าเรื่องราวและแบ่งปันประสบการณ์เมื่อต้องกักตัวหรือรักษาตัวในโรงพยาบาลและห่างไกลคนรู้จัก พร้อมเผยแพร่แพลตฟอร์มนี้ในงานเสวนาหัวข้อ “เทคโนโลยีกับโควิด-19”

ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 มูลนิธิได้เปิด สมุดเยี่ยม.ไทย ขึ้นเพื่อลดการเยี่ยมผู้ป่วยแบบเจอหน้า ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการรับเชื้อหรือส่งต่อเชื้อ เน้นการเยี่ยมเยียนทางไกล สามารถฝากข้อความเยี่ยมเอาไว้ และเก็บไว้ดูในอนาคต หรือจะเป็นการเยี่ยมแบบ Real-time ที่สามารถเปิดวิดีโอคอลและเยี่ยมพร้อมกันได้หลายคน ทั้งนี้ ระบบนี้ต้องการป้องกันคนไข้ที่อาจจะมีภาวะเจ็บป่วยไม่สะดวกตอบสนองตลอดเวลา ให้สามารถจัดสรรเวลาการเยี่ยมเองได้และไม่รบกวนคนไข้มากนัก

ขณะที่ นภชาติ กัลยาณพันธ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดอท อะไร จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม สมุดเยี่ยม.ไทย กล่าวว่า ผู้ใช้งานระบบ สมุดเยี่ยม.ไทย จะได้รับเว็บเพจเป็นของตนเอง โดยสามารถเขียนบทความ แบ่งปันอัลบั้มรูปภาพ ทำนัดหมายวิดีโอคอลผ่านระบบวีคลาส และอ่านข้อความที่ผู้มาเยี่ยมเขียนถึงได้ ขณะนี้ได้เปิด สมุดเยี่ยม.ไทย ให้ใช้งานแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และเริ่มมีผู้มาใช้บริการสร้างเว็บเพจเป็นของตนเองแล้วจำนวนหนึ่ง

“แม้สื่อสังคมออนไลน์จะเป็นที่นิยมในปัจจุบันแต่บางครั้งไม่ตอบโจทย์ในการเผยแพร่ข้อมูล เพราะผู้ใช้งานบางคนไม่อยากเปิดเผยบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ให้กับทุกคน และบทความที่โพสต์จะถูกเลื่อนหายไปย้อนกลับมาดูได้ยาก การเผยแพร่ข้อมูลบน สมุดเยี่ยม.ไทย จึงเป็นบันทึกประสบการณ์ที่ผู้ใช้สามารถย้อนกลับมาดูเมื่อไหร่ก็ได้ และยังได้โดเมนส่วนตัวที่เก็บความทรงจำนี้ไว้ด้วย” นภชาติกล่าว

ในมุมของ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นหรือถูกใช้อย่างมากในช่วงการใช้ชีวิตวิถีใหม่ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ เช่น จำนวนผู้เช่าออฟฟิศลดลง ธุรกิจร้านซักรีดลดลง ส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหารตามออฟฟิศซบเซาลงไปด้วย นอกจากนั้นการเสพสื่อโซเชียลมีอัตราเพิ่มสูงมากขึ้น เกิดข่าวปลอมจำนวนมาก ซึ่งการเสพสื่อมากเกินไปก่อให้เกิดความเครียด ดร.ทวีศักดิ์จึงเสนอให้มีการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อความสุข เช่น แพลตฟอร์ม สมุดเยี่ยม.ไทย ควรจะพัฒนาสำหรับเหตุการณ์อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

ส่วน นพ.จาตุรงค์ ศิริเฑียรทอง อาจารย์และจิตแพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปกลุ่มอารมณ์ของคนไข้โควิด-19 ว่า มีทั้ง กลัว กังวล เศร้า รู้สึกผิด โกรธ และไม่มั่นคง แต่ก็มีส่วนน้อยที่มีความรู้สึกโล่งใจ และมีความสุข การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสารช่วยให้ผู้ป่วยลดความกังวล เพิ่มความสามารถในการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น ปรับตัวและก้าวผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นได้

“สมุดเยี่ยม.ไทย” ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้คนไทยมีโดเมนและเว็บเพจเป็นของตนเอง พร้อมเป็นสื่อกลางในการแบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์การกักตัวอยู่บ้าน หรือรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel นอกจากนี้ การทำเพจเข้าถึงในรูปแบบเว็บไซต์สำหรับรวบรวมรายละเอียดความเจ็บป่วย ทำให้ผู้เข้าเยี่ยมได้รับข้อมูล โดยผู้ป่วยไม่ต้องให้ข้อมูลเดิมซ้ำๆ หลายรอบ การเข้าเยี่ยมแบบนัดเวลาตามที่ผู้ป่วยสะดวก เพิ่มความใกล้ชิด ให้กำลังใจ โดยไม่รบกวนความเป็นส่วนตัว และเวลาพักของผู้ป่วยจนเกินไป เพิ่มความสุขให้กับทั้งผู้ป่วย และผู้เยี่ยม

ทั้งนี้ จังหวัดปทุมธานียินดีให้ สมุดเยี่ยม.ไทย สามารถเผยแพร่แพลตฟอร์มนี้ในโรงพยาบาลสนามของปทุมธานี ส่วนผู้สนใจใช้งานแพลตฟอร์ม “สมุดเยี่ยม.ไทย” สามารถสมัครใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ https://สมุดเยี่ยม.ไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image