“OPOAI”ลดต้นทุน สู่ผลกำไร พัฒนาอุตสาหกรรมไทยยั่งยืน

บรรยากาศโรงงานของ บริษัทสยามชิกเค้น โปรดักท์ จำกัด

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมในประเทศมีความเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้ง ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ แต่ก็มีไม่ใช่น้อยที่จะต้องปิดตัวลงไปเพราะขาดทุน และยังมีการแข่งขันในตลาดสูง

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีโครงการพัฒนา ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI) หรือโอปอย ตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยด้านการบริหารจัดการเชิง กลยุทธ์ในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรียนรู้การแก้ไขปัญหา แสวงหาโอกาส และการกำหนดทิศทางรวม ทั้งการเพิ่มศักยภาพ

ในโอกาสที่ลงตรวจเยี่ยม สถานประกอบการในภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท เมกก้าวู้ด จำกัด ตั้งอยู่ที่ ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง และ บริษัท สยามชิกเค้น โปรดักท์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ตำบลเขาต่อ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ *นิสากร จึงเจริญธรรม* รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เล่าถึงโครงการนี้ว่า ดำเนินงานมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว 1,336 ราย ในการเข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการครั้งนี้ เพื่อเป็นการติดตามผลการดำเนินงาน พร้อมกับให้กำลังใจ

“สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการโอปอยจะมีทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ปรึกษาแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยทีมที่ปรึกษาจะเข้าไปศึกษาข้อมูลของสถานประกอบการจากคณะผู้บริหารของสถาน ประกอบการนั้นๆ โดยเฉพาะเพื่อดูว่าสมควรเข้าพัฒนาในแผนงานไหนมากที่สุด และเมื่อได้ข้อสรุป ทางทีมที่ปรึกษาจะมีแผนการดำเนินงานให้ปฏิบัติจริง และติดตามผลพร้อมทั้งให้คำปรึกษาเป็นระยะๆ” รองปลัดอธิบายถึงการทำงาน

Advertisement

ภรภัทร โรจนมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมกก้าวู้ด จำกัด ที่ผ่านมาสามารถลดต้นทุนการผลิต คิดเป็นมูลค่า 24,689,979.28 บาท/ปี และลดต้นทุนพลังงาน คิดเป็นมูลค่า 1,464,177.60 บาท/ปี

(จากซ้าย) นิสากร จึงเจริญธรรม, ภรภัทร โรจนมงคล, สรวีร์ ลีลากานต์
(จากซ้าย) นิสากร จึงเจริญธรรม, ภรภัทร โรจนมงคล, สรวีร์ ลีลากานต์


“หลังที่ เข้าร่วมโอปอยในปี 58 ที่ผ่านมาเมกกาวู้ด ได้รับไม่ใช่แค่เรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือการลดต้นทุน แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้รับเป็นแนวคิดในการที่จะต่อยอดไปข้างหน้า แนวคิดที่ไม่หยุดนิ่ง ได้เกิดปลูกฝังแนวคิดเหล่านี้กับทีมงานของเรา ว่ามันโอกาสไปได้อีก”

“จากเดิมที่เคยคิดว่าอุตสาหกรรมนี้เป็น อุตสาหกรรมที่ต้องใช้คน ต้องใช้แรงงาน มันไปต่อไม่ได้แล้วเราเคยมีความคิดแบบนี้มาก่อน แต่โครงงานดีๆ แบบนี้ทำให้เราได้เปิดโลก ในปี 59 60 หรือ 61 นับต่อจากนี้ไปเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง พัฒนาได้ด้วยตัวเอง และนี้คือสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้เข้าร่วมโครงการ” นายภรภัทร เล่าถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการ

ด้าน สรวีร์ ลีลากานต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามชิกเค้น โปรดักท์ จำกัด เล่าว่า บริษัทได้เข้าร่วมโครงการโอปอยในปี 2559 โดยสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการโดยตรงคือ การได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงงานที่เราคาดไม่ถึงและไม่รู้มาก่อนว่า สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนั้นมีวิธีอื่นที่สามารถทำให้เราประหยัดต้นทุนและ เพิ่มรายได้ให้กับองค์กรได้ สิ่งที่ตามมาที่เห็นได้ชัดเจนคือ การที่เราได้พัฒนาศักยภาพของพนักงานเรา ทั้งระดับพนักงาน หัวหน้างาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่บริษัทฯ ได้รับไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานที่รวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น สามารถประหยัดเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี

“เมื่อคนได้รับการพัฒนาสิ่งที่ตามมาคือองค์กรของเราได้พัฒนาตามมานั่นเอง ผมต้องขอขอบคุณ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่” นายสรวีร์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

โครงการนี้ยังเป็นอีกหนึ่ง โครงการดีๆ สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่สามารถนำไปสานต่อหรือพัฒนาได้ด้วยตนเองหลังจากเสร็จโครงการ เพื่อให้มีความมั่นคง และยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image