สุวรรณภูมิในอาเซียน : ‘ชาติ’ ที่ต้องปลดแอก ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ‘นิยายนํ้าเน่า’ ทางการเมือง

“ชาติ” ที่ต้องปลดแอก ในประวัติศาสตร์ชาติไทย “นิยายนํ้าเน่า” ทางการเมือง

ประวัติศาสตร์ชาติไทยของทางการ ถูกประพันธ์เป็น “นิยายนํ้าเน่า” โดยชนชั้นนําเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อสนองแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนําเรื่อง “ชาติ”และ “เชื้อชาติ” ตามรอยประวัติศาสตร์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุโรป

“ชาติ” ที่ต้องปลดแอกเพราะถูกฉ้อฉลและช่วงชิงไปอยู่ใต้อํานาจไม่ชอบธรรมของคนมีอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวในสังคม แล้วสร้าง “เชื้อชาติ” ขึ้นใช้กดทับคนส่วนมากซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่มีหลายกลุ่ม

น่าอัปยศอดสูงอย่างยิ่งที่ระบบการศึกษาของไทยในอํานาจเผด็จการทหารทุกวันนี้รวมถึงระบบมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนโดยตรงทางประวัติศาสตร์โบราณคดียังเจริญรอยตามประวัติศาสตร์ชาติไทยแบบ “นิยายนํ้าเน่า” ฉบับทางการนั้น ทั้งๆ รู้อยู่แก่ใจว่าไม่เคยพบหลักฐานสนับสนุนทางโบราณคดีหรือทางมานุษยวิทยา และล้วนเป็นปฏิปักษ์ต่อความก้าวหน้าทางความคิดสร้างสรรค์สังคมเสมอหน้าประชาธิปไตย

ดังนั้น ต้องร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันการปลดแอกประวัติศาสตร์ชาติไทยให้พ้นสภาพ “นิยายนํ้าเน่า” ทางการเมือง

Advertisement

ประวัติศาสตร์ชาติไทยของทางการตั้งแต่นานมาแล้วแบ่งตามลักษณะศิลปกรรมทางศาสนาที่รับจากอินเดียออกเป็น 7 สมัย โดยไม่พบหลักฐานสนับสนุนว่าจริงตามนั้น แต่ถูกควบคุมให้ต้องเชื่อ ดังนี้ 1. สมัยทวารวดี 2. สมัยศรีวิชัย 3. สมัยลพบุรี 4. สมัยเชียงแสน 5. สมัยสุโขทัย 6. สมัยอยุธยา 7. สมัยรัตนโกสินทร์

สมัยลพบุรี (ในประวัติศาสตร์ชาติไทย) ได้ชื่อจากศิลปะลพบุรี โดยคําว่า “ลพบุรี” เป็นชื่อสมมุติขึ้นใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงคําว่า “เขมร” เนื่องจากช่วงเวลาที่แต่งตํารากําหนดรูปแบบศิลปกรรมชุดนี้อยู่ในสมัยเหยียดเชื้อชาติตามแนวคิดแบบอาณานิคม ทั้งนี้เพราะงานช่างศิลปะที่พบล้วนเป็นแบบเขมร เนื่องจากลพบุรีมีชื่อเดิมว่า “ละโว้” เป็นรัฐเครือ ญาติเครือข่ายใกล้ชิดมากกับเขมรของอาณาจักรกัมพูชา (แต่คนในวัฒนธรรมลาวเรียก “ขอม”)

ช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ใครคิดต่างจากแนวนี้ถือเป็นพวกคอมมิวนิสต์, พวกทําลายความเป็นไทย, พวกขายชาติ, ฯลฯ โอกาสถูกใส่ร้ายหมายหัวจนติดคุกมีสูงมาก

‘นิยายนํ้าเน่า’

ทางการเมืองในประวัติศาสตร์ชาติไทย

“ชาติ” และ “เชื้อชาติ” ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่โดยตัวของมันเองตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา หรือยุคบรมสมกัปป์ แต่เป็นสำนึกใหม่ “จินตกรรมใหม่” ของชุมชนจินตกรรม (โดย อ. เบน แอนเดอร์สัน) ที่เพิ่งมีในยุโรปไม่นานมานี้แล้วแพร่ถึงไทยสมัย ร.5

ดังนั้นก่อน ร.5 ไม่มี “ชาติ” และไม่มี “เชื้อชาติ” หมายความว่ารัฐอยุธยา, รัฐสุโข ทัย, รัฐล้านนา, รัฐนครศรีธรรมราช, รัฐศรีโคตรบูร ฯลฯ ไม่มีชาติไทยและเชื้อชาติไทย แต่ประวัติศาสตร์ชาติไทยถูก “ประพันธ์” โดยชนชั้นนำให้มีชาติไทยและเชื้อชาติไทยตั้งแต่ยุคพระเจ้าเหา แล้วมีในทุกสมัยที่กล่าวมา

ประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับ “นิยายนํ้าเน่า” ทางการเมือง มีโครงสร้างเป็นเส้นตรงจากเหนือลงใต้ซึ่งล้วนเป็น “เท็จ” (หมายถึงไม่เป็น “จริง” ซึ่งเคยมีผู้เขียนทักท้วงเรื่องนี้หลายคนและหลายครั้งแล้ว แต่ยังต้อง “ผลิตซํ้า” เพราะรัฐราชการไทยยังไม่เลิกใช้งานและเผด็จการทหารยังใช้เป็นเครื่องมือทําลายฝ่ายตรงข้าม) โดยสรุปดังนี้

1. ชนชาติไทยเชื้อชาติไทยอันบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากสิ่งเจือปน มีถิ่นกําเนิดอยู่ทางตอนเหนือๆ ของจีน แต่ถูกรุกรานจากจีนจึงต้องอพยพลงทางใต้

2. อาณาจักรน่านเจ้าเป็นของชนชาติไทยเชื้อชาติไทย อยู่ทางตอนใต้ของจีน ต่อมาถูกจีนรุกรานรุนแรง ทําให้คนไทยต้อง “อพยพถอนรากถอนโคน” จากอาณาจักรน่านเจ้าหนีลงทางใต้อีกครั้งหนึ่ง

3. ชนชาติไทยเชื้อชาติไทยเข้าไปตั้งหลักแหล่งใหม่ในดินแดนไทยปัจจุบัน ซึ่งเป็นของมอญและขอม (เขมร) จึงต้องยอมเป็นขี้ข้ามอญและขอม ต่อมาชนชาติไทยเชื้อชาติไทย “ปลดแอก” จากขอม แล้วตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก

4. กรุงสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของคนไทย ต่อมาสมัยพ่อขุนรามคําแหงมีอํานาจขยายอาณาเขตกว้างไกลถึงทะเลสมุทรสุดแหลมทอง หลังจากนั้นมีพวกมลายูเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพ่อขุนรามคําแหง แล้วจัดตั้งเมืองปัตตานี

5. ต่อมากรุงสุโขทัยเสื่อมโทรมลงไป ทําให้พระเจ้าอู่ทองพาไพร่พลหนีโรคห่าจากเมืองอู่ทอง แล้วสร้างเมืองใหม่ชื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งที่สอง เมื่อ พ.. 1893 จากนั้นสืบเนื่องเป็นกรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์

วิชาการ ‘ไม่การเมือง’

“ประวัติศาสตร์โบราณคดีคือวิชาการบริสุทธิ์ ไม่มีการเมือง” เป็นคาถาปกปิดตัวตนแท้จริงของครูบาอาจารย์กระแสหลักที่คํ่าเช้าเฝ้า “สีซอ” โฆษณาชวนเชื่อกรอกหูนักเรียนนักศึกษาให้ต้องท่องจําแล้วห้ามถาม ห้ามเถียง

แต่โลกจริงของประวัติศาสตร์โบราณคดีในไทยมีกําเนิดจากการเมืองของชนชั้นนํา และทําหน้าที่อย่างเคร่งครัดรับใช้การเมืองนั้นไม่เสื่อมคลายในแนวทาง “เป่านกหวีด” ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง (สู่ความเสมอหน้าของคนเท่ากัน) เพื่อผดุงอำนาจชนชั้นนำตั้งแต่ถือกําเนิดในอดีตตราบจนปัจจุบัน จึงมีการเรียนการสอน “นิยายน้ำเน่า” ทางการเมืองเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยทั่วประเทศขณะนี้

ชาติ” ที่ต้องปลดแอก เพราะ “ชาติ” ถูกฉ้อฉลและถูกช่วงชิงไปอยู่ใต้อำนาจไม่ชอบธรรมของคนมีปืนกับรถถัง ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวในสังคม แล้วกดทับคนส่วนมากซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่และมีหลายกลุ่ม ประวัติศาสตร์ชาติไทย “นิยายน้ำเน่า” การเมือง เพราะมาจากการเสกสรรปั้นแต่งของชนชั้นนำเมื่อไม่นานมานี้ โดยทำเป็น “นิยายน้ำเน่า” การเมือง เส้นตรงจากเหนือลงใต้

ชาติ” ที่ต้องปลดแอก ตั้งเลียนแบบชื่อหนังสือ ปลดแอกชาติ จากศักดินา-(ราชา)ชาตินิยม ของ ฐนพงศ์ ลือขจรชัย (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.. 2564)


เพลงดนตรีประวัติศาสตร์

โดย หลวงวิจิตรวาทการ [พ.ศ. 2482]

อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และรัฐมนตรีลอย

    ชาติเรามีสมัญญาว่าชาติไทย       เป็นชาติใหญ่แต่โบราณนานหนักหนา

ภูมิลำเนาของเราแต่ก่อนมา        อยู่ท่ามกลางพสุธาของเอเซีย

เมื่อชาติจีนรุกร้นร่นลงใต้          เข้าแย่งไทยทำกินถิ่นก็เสีย

จีนไล่ไทยเหมือนไฟไหม้ลามเลีย          ไทยต้องเสียดินแดนแคว้นโบราณ

ถูกแย่งที่หนีร่นลงทางใต้          ไทยมาตั้งเมืองใหม่อย่างไพศาล

ชื่อน่านเจ้าอยู่ไปไม่ได้นาน          จีนก็ตามรุกรานถึงทางนี้

เมื่อถูกรุกสุดสู้อยู่ไม่ได้          ไทยก็แตกแยกกันไปหลายวิถี

ไทยอิสาณเลื่อนลงโขงนที         ไทยใหญ่หนีร่นมาอยู่สาละวิน

พวกไทยน้อยพลอยเลื่อนเคลื่อนลงมา       อยู่แม่น้ำทั้งห้าทางทักษิณ

คือ ยม, น่าน, ปิง, วัง ตั้งทำกิน         พวกไทยกลางยึดถิ่นเจ้าพระยา

ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย อพยพถอนรากถอนโคนจากถิ่นกำเนิดบริเวณเทือกเขาอัลไตอยู่ทางเหนือของจีน ถูกสร้างขึ้นตามแนวคิดแบบอาณานิคม แม้ยกเลิกแล้ว แต่ยังมีอิทธิพลจนปัจจุบัน

(ซ้าย) “24 มิถุนายน วันชาติ” จากหนังสือ ศรีกรุง ฉบับพิเศษ 24 มิถุนายน 2484 (ภาพจากบทความ “วันชาติ 24 มิถุนายน : ความรุ่งโรจน์และการร่วงโรยผ่านการนำเสนอของสื่อมวลชน” ณัฐกมล ไชยสุวรรณ. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2562) (ขวา) ธงชาติเพิ่งมีสมัย ร.6 แต่มีความสำคัญยิ่งใหญ่มาก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงถูกเน้นแล้วถูกนำเข้าฉากสุดท้ายของละครปลุกใจรักชาติเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ที่เน้นเรื่องชาติ (ไทย) ศาสนาและพระมหากษัตริย์ บทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา หรือ วิจิตร วิจิตรวาทการ) แสดงครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2497

เพลงชาติของประชาชน

พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ผู้แต่งทำนองเพลงชาติไทย (ภาพจากปกสูจิบัตร “พระเจนดุริยางค์วิชาการ” 26 ธันวาคม 2562)

“เพลงชาติ” ของไทย แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ปีเตอร์ ไฟท์) ปิติ วาทยะกร (2426-2511) บิดาเป็นชาวเยอรมันสัญชาติอเมริกัน ส่วนมารดาเป็นชาวมอญสัญชาติไทย

ทำนองเพลงชาติของไทย พระเจนดุริยางค์บันทึกด้วยตนเองบอกว่าทำตามความประสงค์ของ “คณะผู้ก่อการ 2475” ที่ต้องการทำนองเพลงแบบเพลงชาติฝรั่งเศสชื่อ La Marseillaise

 ระเจนดุริยางค์ มีบันทึกบอกไว้ว่าเพลงชาติไทยที่แต่งนั้น “มีแต่ทำนองล้วนๆ ไม่มีเนื้อร้อง…เพลงแบบนี้ใครๆ ที่มีความรู้ในการประพันธ์เพลงก็สามารถทำได้ทั้งนั้น”

[เนื้อร้องเพลงชาติมี 2 ชุด ตามการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” ชุดแรก แต่งโดยขุนวิจิตรมาตรา ขึ้นต้นว่า “อันสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง” ชุดหลัง แต่งโดยหลวงสารานุประพันธ์ ขึ้นต้นว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ใช้เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2482]

“เพลงชาติคือเพลงของประชาชน” อติภพ ภัทรเดชไพศาล กวี, นักเขียน, นักประพันธ์เพลงร่วมสมัยบอกไว้นานแล้ว และบอกต่อไปอีกว่าเพลงชาติเป็นสมบัติของสามัญชน ของประชาชน ท่วงทำนองของเพลงชาติกระชับ ฟังง่าย ร้องง่าย จำง่าย ไม่มีการร้องประสานเสียง แต่คนร้องรวมหมู่ ทุกคนจะร้องพร้อมๆ กันด้วยทำนองหนึ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นเพราะ “เสียงของประชาชน” คือ “เสียงของชาติ” ซึ่งเป็น “หนึ่งเดียวกัน” และ “เสมอภาคกัน” นั่นเอง

ลักษณะเสรีประชาธิปไตยในทำนองเพลงชาติไทยมีส่วนสำคัญเป็นพลังผลักดันความคิดสร้างสรรค์ “เพลงไทยสากล” เติบโตแผ่ขยายกว้างขวาง

หลังแต่งทำนองเพลงชาติไทย พระเจนดุริยางค์ได้รับยกย่องเป็นผู้วางรากฐานการเรียนการสอนเพลงดนตรีสากล จึงมีลูกศิษย์มากมายทั้งสามเหล่าทัพ รวมถึงกรมตำรวจและกรมศิลปากร ลูกศิษย์ทางเพลงดนตรีสากลเหล่านี้ล้วนสร้างสรรค์เพลงดนตรีไทยสากลแล้วแตกแขนงสมัยหลังเป็น “เพลงลูกทุ่ง” กับ “เพลงลูกกรุง”

เพลงชาติ ประเทศสยาม เนื้อร้องแรกตั้งต้นว่า “ประเทศสยาม นามประเทือง ว่าเมืองทอง…” หมายถึง สยามได้ชื่อว่าเป็นเมืองทอง อันสืบเนื่องจากสุวรรณภูมิ

เพลงชาติ ประเทศไทย เนื้อร้องปัจจุบันตั้งต้นว่า “ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทย…” หมายถึง ประเทศไทยเป็นที่รวมศูนย์ของคนเชื้อชาติไทย

1. ไม่ตรงกับหลักฐานวิชาการที่พบจริงทั้งในไทยและใน SEA ว่าไทยเป็นลูกผสมจากคนหลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ทั้งในอุษาคเนย์และในโลก ได้แก่ จีน, อินเดีย, อิหร่าน, อาหรับ, ฝรั่ง เป็นต้น

2. “เชื้อชาติ” ไม่มีในโลก แต่ถูกสร้างให้มีครั้งแรกในยุโรป ราว 200 ปีมานี้ เพิ่งแผ่ถึงสยามสมัย ร.5

3. เชื้อชาติไทย” ไม่มีจริง แต่ถูกสร้างให้มีสมัยหลัง ร.5

4. เนื้อร้องเพลงชาติปัจจุบัน เป็นผลพวงจากลัทธิ “คลั่งเชื้อชาติ”

5. ลักษณะ “คลั่งเชื้อชาติไทย” ดูได้จากเนื้อร้องเพลงชาติ ตั้งต้นว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” หมายถึง ประเทศไทยเป็นที่รวมศูนย์ของคนเชื้อชาติไทย ทั้งในดินแดนไทยและในดินแดนอื่นๆ ด้วย “โดยไม่คำนึงว่าคนเชื้อชาติไทยในดินแดนเหล่านี้จะยอมผนวกเข้ากับประเทศไทย หรือจะเรียกร้องเป็นอย่างอื่น” (บทนิพนธ์ของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ 2 เมษายน 2517)

[หลวงวิจิตรวาทการ (รัฐมนตรีลอย, อธิบดีกรมศิลปากร) เดินทางไปฮานอยเพื่อชมกิจการโบราณคดีของสำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศส ได้แผนที่ฉบับหนึ่งซึ่งสำนักฝรั่งเศสจัดทำขึ้น แสดงหลักแหล่งคน “เชื้อชาติไทย” มีมากมายหลายแห่งในอินโดจีน, จีนใต้, พม่า, อัสสัมของอินเดีย ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” (โดยหลวงวิจิตรวาทการ แถลงพร้อมหลักฐานแผนที่แหล่งของชนเชื้อชาติไทย เพื่อสถาปนา “มหาอาณาจักรไทย”)

นายปรีดี พนมยงค์ (รัฐมนตรีคลัง) เป็นฝ่ายข้างน้อยคัดค้าน

ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ แล้วตราเป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2482]

วัฒนธรรมเคารพธงชาติ 8 นาฬิกา (ภาพจาก อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม. 14 กรกฎาคม 2540) 
(ล่าง) ในยามสงครามและน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2485 ภาพของประชาชนที่หยุดยืนเคารพธงชาติโดยพร้อมกันนั้น เป็นการเริ่มรณรงค์โดยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ความเข้มข้นของการยืนตรงเคารพธงชาติทั้งเช้าและเย็นนั้นมีขึ้นในราวทศวรรษ 2520 เพื่อต่อสู้กับปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ และบวกกับเทคโนโลยีด้านหอกระจายเสียงที่ติดตั้งไปทุกชุมชนทุกหัวระแหง

ธงชาติ 24 มิถุนายน 2475 และสิ่งของเครื่องใช้

ถูกบังคับสูญหาย” จากห้องแสดงพิพิธภัณฑ์

สิ่งของเครื่องใช้สำคัญของเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เคยถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ (แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ได้แก่ ธงชาติผืนแรก กับสิ่งของเครื่องใช้

ธงชาติผืนแรก ที่คณะราษฎรนำขึ้นประดิษฐานเหนือยอดพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อเวลาเช้าตรู่ 24 มิถุนายน 2475

สิ่งของเครื่องใช้ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

หลังจากนั้นสิ่งของจัดแสดงทั้งสองรายการนี้ “ถูกทำให้หายไป” เมื่อ พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นช่วง 10 ปี หลังการปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2501)

ทั้งสองรายการพบใน “สมุดมัคคุเทศ นำเที่ยวหอสมุดวชิรญาณและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร” พ.ศ. 2491

ข้อมูลยกมานี้ได้จากบทความเรื่อง “มองหาสิ่งที่ไม่เห็นและการทำพลเมืองให้ เชื่อ(ง) ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” ของ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ (อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พิมพ์ใน เมืองโบราณ [ปีที่ 37 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) 2554 หน้า 79-89]

ภาพเหตุการณ์ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อคณะราษฎรนำเอาพระที่นั่งอนันตสมาคม อาคารที่สร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างเสร็จสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ไม่ได้ใช้ในกิจการใด มาเป็นที่ทำการของคณะปฏิวัติและเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
คณะราษฎรสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับแรกหลังปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ได้ 3 วัน ประกาศใช้เมื่อ 27 มิถุนายน ในภาพเป็นการมาชุมนุมที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องในพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 เมื่อ 10 ธันวาคม 2475 ดังนั้นวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีจึงเป็นวันรัฐธรรมนูญมาจนถึงปัจจุบัน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image