เขียน ‘มหากาพย์’ ผ่านงานศิลปะ ประเทือง เอมเจริญ ในมุมภัณฑารักษ์-นักวิจารณ์

เหมือนได้เติบโต เฝ้ามองดูธรรมชาติ สังคม การเมือง วัฒนธรรม หรือแม้แต่สภาพเศรษฐกิจของประเทศ และโลกใบนี้ไปพร้อมกับงานที่จัดแสดงทั้ง 81 ชิ้น

ไล่เรียงจากยุคที่ 1 จนถึงยุคที่ 5 ตามการจัดแบ่งของภัณฑารักษ์รับเชิญนาม ถนอม ชาภักดี และ ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร

กำลังพูดถึงนิทรรศการที่มีชื่อว่า ประเทือง เอมเจริญ “ร้อยริ้วสรรพสีสรร” ตำนานชีวิตและสังคม

นิทรรศการนี้ จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติ ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินคนสำคัญคนหนึ่งของแวดวงศิลปะร่วมสมัยเมืองไทย โดยผลงานทั้ง 81 ชิ้น ได้ถูกแบ่งเป็นยุคๆ ตามสภาพการณ์ เพื่อฉายให้เห็นความเติบโต และการทำงานของศิลปินคนหนึ่งที่ไม่ยึดติดอยู่กับความสำเร็จแบบเดิมๆ

Advertisement

มีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการในครั้งนี้ ตลอดจนได้พูดคุยกับ ถนอม ชาภักดี หนึ่งในภัณฑารักษ์รับเชิญที่ทุ่มเทจัดงานออกมาได้อย่างน่าชื่นชม

ถนอมบอกว่า สำหรับการจัดงานครั้งนี้ นอกจากการเชิดชูเกียรติ อ.ประเทืองแล้ว ยังต้องการให้ผู้คนได้เห็นว่ามีศิลปินคนนอก หมายถึงคนที่ไม่ได้เรียนอยู่ในสถาบันศิลปะอะไรเลย แต่ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ทำงานมาด้วยตัวเอง กระทั่งประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนนอกที่จะเข้ามาสู่พื้นที่ศิลปะกระแสหลักของประเทศนี้ได้

“หากเรานับหมุดหมายของประเทืองที่ปี 2505 ช่วงนั้น ศิลปินส่วนใหญ่ต่างมีสังกัด มีกลุ่มค่าย อีกทั้งกระแสศิลปะนามธรรมตะวันตกก็กำลังเป็นที่คลั่งไคล้ (ขนาดที่จิตร ภูมิศักดิ์ ต้องเขียนหนังสือ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ มาสู้กับแนวคิด ‘ศิลปะเพื่อศิลปะ’) ประเทืองได้แหย่ตัวเองเข้ามาในกระแสนี้ด้วย แบบไม่มีต้นสังกัด ซึ่งสำหรับผมแล้วถือว่าเป็นเรื่องใหญ่

Advertisement
(ซ้าย) ถนนม-ประเทือง-ไพศาล (ขวา) ผลงานชื่อ “จากก้อนหินถึงคณะรัฐมนตรี”

“เพราะการทำงานศิลปะเพื่อศิลปะ งานนามธรรมต่างๆ นั้น คุณต้องสังกัดค่าย ต้องเรียนมา ต้องมีแบบแผน ไม่ใช่เป็นใครก็ไม่รู้โผล่มาเขียนรูปนามธรรมเลย เขาไม่ยอมรับ” ถนอมกล่าว พร้อมกับเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์ กับงานในช่วงแรกของประเทือง

สำหรับการทำหน้าที่ภัณฑารักษ์รับเชิญ ลองดูการแบ่งยุคสมัย พร้อมกับคำจำกัดความสั้นๆ ที่ขอสรุปความเองไว้ดังนี้

ยุคที่ 1 : เริ่มต้นค้นคว้า ทดลอง แสวงหา (2501-2509) ผลงานสะท้อนออกมาในโทนสีดำทึบทึม ซึ่งได้อิทธิพลแบบอย่างการทำงานมาจากผลงานของศิลปินยุคอิมเพรสชั่นนิสต์ โพสอิมเพรสชั่นนิสต์และซิมโบลิสต์ ส่วนสีที่ออกมาในโทนสีดำทึบทึมนั้นเป็นการสะท้อนสภาวะอารมณ์ ความรู้สึกของประเทืองเองที่รับจากเงื่อนไขความกดดันจากสภาวะแวดล้อมของตัวเอง

ยุคที่ 2 : พบธรรมะในธรรมชาติ สื่อผ่านนามธรรม (พ.ศ.2510-2520) ช่วงที่จริงจังในการเรียนรู้จากธรรมชาติ จนค้นพบทฤษฎี “น้ำหนัก-แสง-สี” ขณะเดียวกัน ก็รับศิลปะนามธรรมที่กำลังเฟื่องฟูมาสร้างงานในแนวทางของตัวเอง

ยุคที่ 3 : สังคม ชีวิต การเมือง…กัมปนาท กึกก้อง (พ.ศ.2516-2519) ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน จนกระทั่งดับวูบหลังการล้อมปราบในเหตุการณ์ “6 ตุลา 2519”

ยุคที่ 4 : ดอกผลสุกงอม สมบูรณ์ กลมกลืน (พ.ศ.2521-2535) ความสุกงอมลงตัวของศิลปิน

ยุคที่ 5 : หลุดพ้น ทดลอง แสวงหา สร้างสรรค์โลกใหม่ (พ.ศ.2536 เรื่อยมา) แม้จะประสบความสำเร็จ มาสู่จุดสูงสุดของการทำงานศิลปะ ได้รับประดับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ แต่เหมือนความท้าทายในการทำงานแบบใหม่ๆ ของประเทืองยังเต็มเปี่ยม

ถามว่าใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัววัด ?

“เหตุการณ์ทางการเมือง สังคม” ถนอมตอบกลับมาทันที ก่อนจะอธิบายต่ออีกว่า ถ้าดูงานยุคที่ 2 ซึ่ง อ.ประเทือง ได้รับคำแนะนำให้เอาเรื่องธรรมชาติเป็นหลัก จะเห็นว่าแกจับเรื่องธรรมชาติ กับสังคม การเมือง มาสร้างความใหม่ให้กับงาน ธรรมชาติที่เห็นรอบตัว ความโหดร้าย ความรุนแรงธรรมชาติ ออกมาในลักษณะนี้เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ความโรแมนติก

“นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าแกเข้าใจ กระบวนการธรรมชาติมีความดิบ ความเถื่อน แต่ก็ถูกนำเสนอผ่านสีละเมียดละไม และโครงสร้างสีแกก็ไม่ได้อยู่ในขนบสีอย่างแดง เหลือง น้ำเงิน ขาว แกจัดการเอง ผสมเอง จนเป็นชุดแนวคิดของแก นอกจากนี้ ในแง่หนึ่ง ประเทืองเป็นคนที่ซื่อสัตย์กับตัวเอง กับธรรมชาติ กับสังคม รู้สึกอย่างไรก็เขียนงานออกมาอย่างนั้น มีสัญลักษณ์ มีลูกเล่น จะเห็นว่าจากยุคแรกจนยุคที่ 5 งานของแกมีความเคลื่อนไหว มีพลวัต กับโครงสร้างสังคม มันขึ้นอยู่กับแกจับกระแสสังคมแบบไหนมาเล่น” ถนอมกล่าว
6

เดินดูงานของประเทือง ไล่เรียงลำดับตามการแบ่งยุคของภัณฑารักษ์

ต้องมาหยุดจ้องอยู่นานในยุคที่ 3 ซึ่งเป็นงานการเมืองเข้มข้น โดยเฉพาะภาพที่ชื่อ “ธรรมะ อธรรม” ขนาดใหญ่ ซึ่งเขียนในช่วงปี 2519 และแทบจะไม่เคยมีใครได้เห็นผลงานจริงในช่วงนั้น มีเพียงภาพถ่ายจากนักข่าวต่างชาติที่พิมพ์เผยแพร่ และกว่าคนจะได้เห็นของจริง ที่นำมาจัดแสดงสาธารณะก็ในปี 2523 เป็นต้นมาแล้ว

“รูปมีขนาดใหญ่และแกอยู่ที่บ้านสวนบางแคจะขนออกมาก็ลำบากเพราะเป็นร่องสวน ถนนหนทางไม่ดีและที่สำคัญประเทืองเองก็ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทหารจับตามองความเคลื่อนไหวอยู่ด้วยและช่วงที่ผลงานชิ้นนี้เสร็จใหม่ๆ ก็ไม่ได้นำออกแสดงหรือเผยแพร่ออกมา” ถนอมกล่าว

ผลงานขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า 'ธรรมะ อธรรม'
ผลงานขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า ‘ธรรมะ อธรรม’

ขณะงานอีกยุคหนึ่งที่ทำให้อึ้งและตะลึงจ้องมองอยู่เนิ่นนานด้วยเช่นกัน คือ ยุคที่ 5

ด้วยเป็นยุคที่เหมือนกับว่า ขนบต่างๆ ในทางศิลปะ ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว ประเทืองได้ระเบิดพลังงานออกมาผ่านภาพ ด้วยเทคนิคที่บางทีศิลปินเห็นแล้วอาจจะอึ้ง ไม่ว่าจะเป็นการขูดภาพ สะบัดสี ใช้เกรียงเขียน ฯลฯ เป็นการทำงานที่ใช้พลังเยอะมาก

(บน) “ทะเลเดนมาร์ค” และ “สึนามิ” 2 ผลงานในยุคที่ 5 ที่ก้าวหลุดจากกรอบเดิมๆ (ล่าง) ผลงานสีดำโครงสร้างทึบในยุคแรก

อย่างภาพ “ทะเลเดนมาร์ค” หรือ “สึนามิ” เป็นต้น

ในวัย 81 ปี ของประเทืองซึ่งป่วยเป็นมะเร็ง สามารถที่จะฟื้นตัวเองมาได้อย่างดี จนสามารถพูดคุย แสดงออก มีอารมณ์ร่วมกับผู้คนและสังคมได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี งานนี้จึงถือเป็นการเชิดชูเกียรติให้กับเจ้าตัวได้รับรู้

ก่อนจากกัน ถนอมกระซิบทิ้งท้ายด้วยว่า ในด้านหนึ่งนอกจากจะเชิดชูเกียรติประเทืองแล้ว ที่อยากจัดงานช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ก็เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นช่วงที่อาจารย์ประเทืองทำงานศิลปะออกมาได้อย่างมีพลังมาก ในสายงานที่เป็นศิลปะเพื่อชีวิต

“ผมคิดว่าประเทืองเป็นศิลปินคนเดียวที่เรามองเห็นงานเกี่ยวข้องกับโครงสร้าง วิธีคิดทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมได้ชัดเจน หากนับจากช่วงปี 2505 เป็นต้นมา แกใช้สถานการณ์สังคมเป็นสิ่งกำหนดวิธีคิดในการทำงาน ซึมซับ รับเอาเรื่องนี้แล้วทำออกมา…เป็นคนเดียวที่ค่อนข้างตกผลึกความคิด น่าจะให้คำจำกัดความได้ว่าเป็นผู้เขียนมหากาพย์ผ่านงานศิลปะออกมา” ถนอมกล่าว

สัมผัสผลงานด้วยตัวเอง ในนิทรรศการ “ประเทือง เอมเจริญ ‘ร้อยริ้วสรรพสีสรร’ ตำนานชีวิตและสังคม”

วันนี้-20 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

บทกวีที่เขียนด้วยลายมือ
บทกวีที่เขียนด้วยลายมือ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image