จากเบบี้บูม ถึงเจนZ วันนี้ของ 24 มิถุนา ไม่ใช่แค่วันชาติที่ถูกลืม

จากเบบี้บูม ถึงเจนZ วันนี้ของ 24 มิถุนา ไม่ใช่แค่วันชาติที่ถูกลืม

วันนี้ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2564
วันเดียวกันนี้ เมื่อ 89 ปีที่แล้ว 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475

บุคคลกลุ่มหนึ่ง ‘ก่อการ’ ที่นำไปสู่การพลิกโฉมการเมืองไทยไปตลอดกาล

‘คณะราษฎร’ นำพาสยามเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ตั้งไข่ ล้มลุก และคลุกคลาน

ตลอดช่วงเวลาเกือบ 9 ทศวรรษ ภายใต้ความรับรู้ที่แตกต่าง บนเส้นเรื่องของพัฒนาการที่เดินหน้า หยุดนิ่ง ถอยหลัง กระทั่งกลับสู่วังวนที่ผู้คนต้องออกมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม เสมอภาค อันเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการที่ถูกประกาศเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง

Advertisement

คนหลากรุ่นหลายเจนเนอเรชั่นมองอย่างไร สู้แบบไหน และเพื่อสิ่งใดไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอันมีจุดตั้งต้นจากวันนี้เมื่อ 89 ปีก่อน

‘คนรุ่นใหม่’ ไม่ลืม แถม ‘ยิ่งจำ’ ความรู้นอกห้องเรียน ปลุกสู้เพื่อพรุ่งนี้

เริ่มต้นจากความรับรู้ผ่านแบบเรียน ที่เคยถูกนำมาตีแผ่แล้วหลายครั้ง ว่าการเรียนการสอนในบ้านเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ดังกล่าวเท่าที่ควรจะเป็น

Advertisement

“น้อยมากครับ แทบจะไม่มีตัวตนเลย เปิดหนังสือไปจะได้รับรู้แค่ว่า คณะราษฎร นำโดยพระยาพหล พลพยุหเสนา โดยปรีดี พนมยงค์ เสร็จแล้วครูจะข้ามไปบทอื่นเลย แค่นี้มันยังไม่เพียงพอกับประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก ปูนไม่เคยรู้จากตำราเรียนว่า 24 มิถุนายนเคยเป็นวันชาติ แต่รู้จากการที่ศึกษาเอง อยากให้คุณครูให้ความสำคัญและตระหนักว่า บุคคลเหล่านี้คือผู้คนที่นำเสรีภาพ การเลือกตั้งหรือว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาสู่พวกเรา

คือความในใจของ ธนพัฒน์ กาเป็ง หรือ ปูน เยาวชน เจนเนอเรชั่น Z จากกลุ่ม ‘ราษฎรเอ้ย’ ผู้โดดเด่นในการปราศรัย ทั้งลีลา สำนวนภาษา และข้อมูลที่นำเสนอในการชุมนุมเมื่อปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่เจ้าตัวต้องเดินสายไปรับทราบ ‘ข้อกล่าวหา’ ในหลายคดี

ปูน ธนพัฒน์ กาเป็ง

จาก ‘เด็กมัธยม’ คนหนึ่ง สู่นักกิจกรรมที่ลุกขึ้นต่อสู้ต้านเผด็จการ จากภาพคุ้นตาคืออนุสาวรีย์หน้าโรงพยาบาลพหลพลหยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี บ้านเกิด สู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

“ที่บ้านเกิดปูนมีโรงพยาบาลพหลพลหยุหเสนา ข้างหน้ามีอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เราก็เริ่มจากความสงสัยว่าทำไมโรงพยาบาลถึงตั้งเป็นชื่อเขา จนก็ได้รู้ว่าเป็นผู้ก่อการ นำความเจริญมาสู่ประเทศ แต่คนในจังหวัดก็ยังมีส่วนหนึ่งที่มองว่า ท่านคือกบฏ แต่ในความคิดเรา ท่านไม่ใช่กบฏ อยากจะบอกว่าขอบคุณมากๆ ที่ท่านกล้าหาญ ท่านเสียสละ ทุกวันนี้สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เข้าใจแล้วว่าสิ่งที่ทำก็เพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น ท่านไม่เคยหายไปจากใจคนที่รักประชาธิปไตยเลย เมื่อมีคนสั่งให้เราลืม มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องจำ”

ปูนยังเล่าว่า ก่อนหน้านี้ ครอบครัวเคย ‘รับไม่ได้’ ที่ลูกหลานออกมาเปิดหน้าทำกิจกรรม ทว่า ต่อมาก็เริ่มเข้าใจ

“เขาเคยไปร่วมชุมนุม กปปส. เขารับไม่ได้เลย ด่าเรา มีแต่ฟีดแบ๊กตีกลับ จนวันหนึ่งเขาโทรมาแล้วบอกว่าสู้ๆ นะ เพราะรับไม่ได้ที่กับการที่ลูกโดนกระทำแบบนี้ เลยเริ่มที่จะเปิดหู เปิดตารับฟังอะไรมากขึ้น จนมารู้ว่าสิ่งที่เขาเคยเชื่อในอดีตคือผิดทั้งหมดเลย สิ่งที่ปูนคิดมาตลอดคือจะทำอย่างไรให้คนในประเทศมีชีวิตที่ดีขึ้น ทำอย่างไรให้ไม่มีการรัฐประหารครั้งที่ 14 เกิดขึ้น เราคืออีกหนึ่งคนที่คาดหวังว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ สามารถพูดได้ว่าตัวเองนั้นต้องการอะไร อยากเข้าถึงรัฐสวัสดิการ อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ อยากให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 15 ปี หรือเรียนฟรีถึงปริญญาตรี” ปูนเปิดใจถึงความใฝ่ฝัน

ก่อนย้ำว่า “ตราบใดที่เรายังไม่ตาย เท่ากับว่ายังมีหวังในการสู้ต่อทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า”

เข็นประชาธิปไตยขึ้นภูขา ปีนี้เหนื่อยสุด คนท้อแต่ขอให้ทน

จากคนรุ่นใหม่ ขยับช่วงวัยย้อนหลังไปอีกนิด คุยกับ ฐนพงศ์ ลือชัยขจร นักวิชาการวัย 30 ต้นๆ เจ้าของผลงาน ‘ปลดแอกชาติ จากศักดินา-(ราชา)ชาตินิยม’ ซึ่งเล่าว่า ในช่วงที่ตัวเองยังเรียนมัธยม 24 มิถุนายน 2475 เป็นแค่หนึ่งในเหตุการณ์หนึ่งในบทเรียนไม่ต่างต่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และ 2 ทว่า ปัจจุบัน ไม่ใช่เช่นนั้นอีกต่อไป

“ช่วงที่ผมเรียนมัธยม เรารับรู้เรื่องราว 2475 ในฐานะเหตุการณ์หนึ่ง ไม่ต่างจากการเสียกรุง ไม่ได้ต่างจาก 14 ตุลาเท่าไหร่ เป็นครั้งหนึ่งของประชาธิปไตย เป็นความพยายามหนึ่งแล้วก็ล้มเหลว แต่สุดท้ายความล้มเหลวก็มาจากนักการเมืองชั่ว ทหารเผด็จการ พอมองย้อนกลับไปจริงๆ น่าสนใจว่าการรับรู้มีลักษณะค่อนข้างแปลกในระดับหนึ่ง รู้ว่าปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายประชาธิปไตย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเผด็จการ เราไม่ได้รับรู้เหมือนน้องๆ ในปัจจุบันซึ่งกลับมาเชิดชู จอมพล ป. อีกครั้ง”

ฐนพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เริ่มถูกให้ความหมายเป็นประชาธิปไตยแท้จริงขึ้นเรื่อยๆ ย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้า นิยายบางเล่มให้ภาพยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งใครไม่เคารพธงชาติ จะโดนทหารตีหัว เป็นภาพลักษณ์ที่แย่มาก แต่ตอนนี้ คนมองว่าจอมพล ป. วางแผนทำลายวัฒนธรรมชนชั้น

“คนเห็นมุมมองการตีความเปลี่ยนไปเยอะมาก ภาพลักษณ์จอมพล ป. เปลี่ยนไปเลย กลายเป็นวีรบุรุษ คณะราษฎรทั้งหมดกลับไปอยู่ในฝ่ายฮีโร่ นักอุดมการณ์ ที่พยายามจะทำให้ประชาธิปไตยสำเร็จ”

ฐนพงศ์ ลือชัยขจร

สำหรับปีที่ 89 ของประชาธิปไตย ที่มีหลากปัจจัยส่งผลให้ ‘ม็อบแผ่ว’ อย่างปฏิเสธไม่ได้ นักวิชาการ GEN Y ท่านนี้บอกว่า ปีนี้จะเหนื่อยที่สุด

“ถ้าถามผมนะ มันจะเป็นปีที่เหนื่อยที่สุด ที่ผ่านมาประชาธิปไตยมันเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ปีที่ 89-90 จะเหนื่อยที่สุด และคนเริ่มท้อใจ อยากย้ายประเทศ แต่ถ้าทนอีกนิดหนึ่งเนี่ย มันจะเป็นทางลงภูเขาแล้ว หากอดทน รับรองว่าหมดโควิด จะกลับมามีการเรียกร้องได้ยิ่งกว่าปีที่แล้วแน่นอน ผมเชื่อว่าชนชั้นกลางหลายคน ที่ยังกล้าๆ กลัวๆ และเคยอยู่ตรงกลางเริ่มไม่มีตังค์จะกินแล้ว ประเด็นการเรียกร้องก็อาจจะเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ลดเพดานลงนิดหน่อย แต่ในแง่ของความเห็นของสังคมมันเริ่มเกิดแล้วว่าอยู่ต่อไปอย่างนี้ ไม่โอเค”

ส่วนกระแสข่าวแนวโน้ม ‘ยุบสภา’ ฐนพงศ์ฟันธงว่า ‘อย่างไรก็ไม่ยุบ’

“ผมว่ารัฐบาลรู้แล้วว่าเลือกตั้งใหม่มีโอกาสจะกลับมาได้น้อยลง เขาไม่ยุบหรอก ยิ่งด่าก็จะยิ่งสู้ ยังไงเขาก็จะอยู่ต่อไป”

อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์

คณะราษฎรไม่มีวันตาย ‘เชื่อว่าจะมีชัยชนะในวันหนึ่ง’

ปิดท้ายด้วยรุ่นใหญ่ ยุค ‘เบบี้บูมเมอร์’ อย่าง อาเล็กโชคร่มพฤกษ์ ชาวท่าศาลา นครศรีธรรมราช อดีตศิลปินเพื่อชีวิตค่ายเพลงดังที่ประกาศตัวเป็น ‘ศิลปินเพื่อราษฎร’ ล่าสุด จัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 2475 ทุกเสาร์-อาทิตย์ตลอดเดือนมิถุนายนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แถมคอนเสิร์ตรอบพิเศษบนทางเท้าหน้า ‘วัดประชาธิปไตย’ ซึ่งมีชื่อในปัจจุบันคือ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน สถานที่บรรจุอัฐิคณะราษฎรภายในเจดีย์ที่สื่อถึง ‘หลัก 6 ประการ’ ด้วย ‘บัวกลุ่ม’ 6 ชั้น ไม่ใช่ 7 หรือ 9 ตามแบบไทยประเพณี

“เริ่มสนใจและอ่านประวัติศาสตร์จริงจังสุดสุด ตอนเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 49 ทุกวันนี้ยังศึกษาอยู่ เพราะหนังสือแต่ละเล่ม เล่าเรื่อง 2475 ไม่เหมือนกันครับ บางเล่มเล่าไปเล่ามาก็แอบด่าคณะราษฎรทีหนึ่ง บางเล่มก็อวยคณะราษฎรเกินเหตุ แต่ไม่ว่าอย่างไร การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นสำคัญมาก วันนี้ ชนชั้นสูงก็เสวยสุขจากหลักของคณะราษฎร คนรากหญ้าก็ได้มีกินประทังชีวิตจากหลักของคณะราษฎร จิตใจของเราอยู่ที่หมุดคณะราษฎร อยู่ที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มันเชื่อมติดกับจิตวิญญาณของเราโดยอัตโนมัติ สถานการณ์มันพาเรามา ความไม่ยุติธรรมมันอยู่ทั้งระบบ มันคือตัวผลักดัน มันเป็นแรงบันดาลใจให้สนใจการเมือง”

ท่ามกลางการตั้งคำถามถึงศิลปินเพื่อชีวิตบางรายที่ดูเหมือนแอบมีใจให้ฝ่ายเผด็จการ อาเล็ก ยืนยันว่าจะใช้ดนตรีและเสียงเพลงแทนการ ‘ปราศรัย’ ต่อไป

“เดือนนี้เป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นเดือนที่เราจะต้องรำลึก จะบอกเล่า แชร์กันว่า 2475 มันเกิดอะะไรขึ้น เรามีหน้าที่เล่นดนตรี อาจจะดูเต้นแร้งเต้นกา ตลกโปกฮา แต่ไปดูในเนื้อเพลงสิครับว่าพูดถึงอะไรในนั้น ตราบใดที่สถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นเช่นนี้ จะพุ่งชนทุกวัน สงครามนี้เป็นสงครามความคิด ไม่ได้เป็นสงครามที่หลั่งเลือด เราทำงานศิลปะเพื่อราษฎร แสงสว่างเท่านั้นที่จะไล่ความมืด เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ที่เราสู้ต้องการแสงสว่างเพื่อให้เห็นความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเมืองนี้” อาเล็กกล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า ศิลปินอยู่เพื่อสร้างงาน และทั้งชีวิตเล่นดนตรีเป็นอย่างเดียว หน้าที่หลักตอนนี้คือต่อสู้ทางการเมือง

อุดมการณ์คณะราษฎรไม่มีวันตาย ยังมีแต่ความงอกงาม และจะมีชัยชนะในวันหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image