เสียงที่ไม่ได้ยิน ‘วัคซีน’ ที่เข้าไม่ถึง เมื่อ ‘คนไร้บ้าน’ ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง?

ในขณะที่คนทุกสาขาอาชีพ ต่างทุกข์ยากถ้วนหน้า ดิ้นรนให้ไปต่อได้ภายใต้โรคระบาดโควิด

คนไร้บ้าน กลุ่มก้อนหนึ่งของสิ่งมีชีวิต กำลังเพิ่มทวีทุกขณะ ตกอยู่ในสภาวะ “ถูกบังคับทางอ้อม” ให้ต้องออกจากบ้านมาใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ ด้วยรายได้ไม่เพียงพอต่อการประทังชีพ อันเกี่ยวพันกับ “พิษเศรษฐกิจ” และ “การจ้างงาน” ที่เข้าไม่ถึง

‘มูลนิธิอิสรชน’ เผยข้อมูลจากการสำรวจ พบว่า โควิด-19 ระลอก 3 มี คนไร้บ้านหน้าใหม่ ผุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถึง 4,432 ราย แบ่งเป็น หญิง 2,623 ชาย 1,855

“เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต สำหรับพี่น้องกลุ่มคนไร้บ้าน ตั้งแต่วิกฤตระลอก 3 เริ่มระบาดหนัก จะเห็นได้ว่า ‘มาตรการของรัฐ’ ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเปราะบางและคนไร้บ้าน เราก็ใช้วิธีการลงพื้นที่หลายๆ จุด ซึ่งสิ่งที่เจอ พี่น้องคนไร้บ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิม 150-200 คน ก็ขยับตัวเลขมากขึ้น”

Advertisement

คือคำกล่าวของ สมพร หารพรม หรือ โด่ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ในวงเสวนาออนไลน์ “เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน : สิทธิการเข้าถึงวัคซีน ที่คนไร้บ้านเข้าไม่ถึง” ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และไทยพีบีเอส เมื่อไม่นานมานี้

สมพร ชี้ชัดถึงปรากฏการณ์คนไร้บ้านว่า จากแต่ก่อนมักแอบหลบในพื้นที่ ไม่อยากให้คนพบ แต่โควิดรอบ 3 กลับพยายามปรากฏตัวให้เห็นมากขึ้น ด้วยความยากลำบากและนโยบายรัฐที่เข้มงวดเรื่องกฎหมาย ว่าด้วยการห้ามรวมกลุ่ม ห้ามแจกอาหาร ห้ามมีการแบ่งปัน

“แต่สิ่งที่ถูกมองข้ามคือคนพวกนี้ จากเดิมก็ยากลำบากอยู่แล้ว เข้าไม่ถึงแหล่งงานอยู่แล้ว ยิ่งเจอมาตรการแบบนี้ คนก็กลัวมากยิ่งขึ้น

Advertisement

การที่ไม่รู้ว่าทิศทางจะไปอย่างไร ก็ยากลำบากขึ้นอีก”

ย้ำปัญหาโครงสร้าง ไร้บ้าน-มีบ้าน คือ ‘สมาชิกเมือง’

ปัญหาที่เกิดในช่วงโควิด-19 ทำให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างนพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ เผยความเห็นว่า ก่อนหน้านี้ คนอาจมองเป็นเรื่องปัจจัยส่วนบุคคล แต่ตอนนี้ทำให้เห็นแล้วว่า เป็นเรื่องของระบบโครงสร้าง ที่มีเรื่องโควิด-19 และเศรษฐกิจ มาซ้ำเติม

“เห็นได้ชัดเจนว่า คนไร้บ้าน กับ คนที่มีบ้าน ในฐานะสมาชิกหนึ่งของเมืองใหญ่ กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถจะแยกกันได้ ในสถานการณตอนนี้จะต้องหามาตรการดูแลคนไร้บ้าน และประชากรกลุ่มเปราะบาง ก็ได้
ประสานงานไปในหลายระดับ และสอบถามเรื่องของการคัดกรองเชิงรุก แต่เกิดคำถามว่า ถ้าตรวจเจอแล้วจะตาม จะติดต่อได้อย่างไร ฉะนั้นทางสาธารณสุข จึงต้องมีนโยบายและความพร้อมในการตรวจเชิงรุก

จากการสำรวจพบว่า มี ‘ศูนย์ประสานงาน’ ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นจุดประจำ อาจจะเป็นโอกาสที่จะทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงการดูแล และวัคซีนได้ หน่วยงานภาครัฐ สามารถส่งการดูแลไปถึงคนไร้บ้านได้” นพ.วิรุฬชี้ช่องทาง

ส่วนการฉีดวัคซีน มี 2 เป้าหมาย 1.ลดอัตราการป่วย-เสียชีวิต 2.ลดการติดต่อ

“ถ้ามองในแง่ของคนไร้บ้าน คือ 1.เป็นกลุ่มเสี่ยง เสี่ยงที่จะไปติดต่อ และแพร่เชื้อให้กับคนอื่น 2.เสี่ยงที่จะป่วย และเสียชีวิต ภาวะความเป็นอยู่เรื่องอาหารที่กิน เรื่องความเครียด ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง ดังนั้น ‘กลุ่มคนไร้บ้านควรจะถูกจัดลำดับความสำคัญว่าควรเข้าถึงวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ ด้วยซ้ำ’ ซึ่งตรงนี้เป็นการทำงานเชิงนโยบาย และการเรียกร้องเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึง” นพ.วิรุฬเผย

คุณหมอวิรุฬ บอกอีกว่า Thai Care ดูแลคนทุกคนในแผ่นดินไทย หลักการคือ เราจะอยู่รอดไปด้วยกัน เป็นระบบที่กำลังมองอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ “คนที่ไม่มีเอกสาร” สามารถได้รับการดูแล และต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องใช้เครือข่ายของประชาสังคมเข้ามาเสริมการทำงานของรัฐ และรู้สึกว่า “หนักมาก” ถ้าจะใช้กระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว

“ต้องรวมพลังกับทุกฝ่าย ภาคประชาสังคม ร่วมกับเอกชน สนับสนุนงบประมาณบางส่วน เพื่ออย่างน้อยให้การเดินทางของคนไร้บ้าน มาถึงจุดประสานงานต่างๆ เรามองอย่างบูรณาการ ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และความอยู่รอด ควบคู่กันไป ต้นทุนเหล่านี้เรามีพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเริ่มพูดคุย และวางแผนทำงานร่วมกัน”

‘ขาดข่าวสาร’ รู้ไม่ทัน เข้าไม่ถึง

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในช่วงนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการติดตามข่าวสาร นโยบาย การเยียวยาของรัฐ ไปจนถึงการควบคุมและป้องกันโรคระบาด ซึ่ง “กลุ่มคนไร้บ้าน” ไม่สามารถเข้าถึงการรับรู้ได้อย่างทั่วถึงและเท่าทัน
ในประเด็นนี้ สุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือ ลุงดำ นายกสมาคมคนไร้บ้าน มองว่า พี่น้องคนไร้บ้านรับข่าวสารยาก ไม่มีอะไรดู โทรศัพท์แทบไม่มีใช้ ถึงแม้จะเก็บมาได้ ก็โทรเข้า-โทรออกเฉยๆ ไม่มีเงินเติมอินเตอร์เน็ต
ฉะนั้นแล้ว ปัญหาการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขหรือเยียวยาจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน” สุชินเน้นย้ำ

120 วัน เปิดประเทศ ฝากคิดให้หนัก ‘วัคซีน’ ยังไม่ได้ฉีด

เป็นประเด็นทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของ “วัคซีน” ทั้งการเร่งให้รัฐบาล รีบดำเนินการฉีด และเรียกร้อง “วัคซีนทางเลือก”

คนไร้บ้าน ก็ต้องการวัคซีนเหล่านี้ เช่นกัน

“เอาเป็นว่าในความคิดของผม ผมอยากได้วัคซีนที่นายกฯฉีด นายกฯฉีดอย่างไหน ผมอยากได้อย่างนั้น” สุชินลั่นวาจา เพราะมองว่า ตนและคนไร้บ้าน ก็เป็น “คน” อยากได้อะไรที่ปลอดภัย ทว่า กลับไม่มีสิทธิเลือก

จากการแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ในเรื่องของการเปิดประเทศภายใน 120 วัน โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ไม่จำเป็นต้องกักตัว สวนทางกับการฉีดวัคซีนของประชาชน ที่ยังไม่ไปถึงคนทุกกลุ่ม
ก่อเกิดข้อวิพากษ์เป็นวงกว้าง ว่าอาจสร้างปัญหาให้ตามมาอีก

สุชิน บอกว่า ระลอกที่ 3 ยังติดเชื้อหลักพัน หากเปิดประเทศ มีรอบที่ 4 อย่างไรก็ไม่รอด

“ผมขอฝากฝังนายกฯว่า ‘คิดดูให้ดี คิดให้หนัก’ ถ้าเปิดประเทศจริงๆ แล้วเรายังไม่เหมือนเมืองนอก เพราะตอนนี้เขาฉีดจนจะครบประชากรของเขา ของเรา 70 กว่าล้าน คนฉีดครบทุกคนหรือยัง ประเทศเรายังไปไม่รอดเลย จะรีบเปิด ทั้งที่ทุกวันนี้มีคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเยอะ และถ้าสถานการณ์แรงขึ้นกว่านี้ คนไร้บ้านก็ใช้ชีวิตยากขึ้น” สุชินตอกย้ำ

ในมุมมองของ สิทธิพล ชูประจง หรือ เอ๋ มูลนิธิกระจกเงา รับว่า มองไม่เห็นความหวัง เพราะตั้งแต่ทำงานกับคนไร้บ้านมา ไม่เห็นรัฐลงทุน ลงแรง ใช้ทรัพยากรกับคนกลุ่มนี้นัก
“ผมว่ามันเป็นเงื่อนไข ขวางการเข้าถึงวัคซีน อย่างเช่น คนที่ไม่มีบัตรประชาชน ผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่คนไร้บ้าน มีผู้ลี้ภัย บุคคลที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ จะทำอย่างไร ช่องทางใหญ่ที่ควรปลดล็อก คือรัฐต้องพูดให้ชัดว่า คนจะเข้าถึงวัคซีนได้ไม่จำกัดสถานะ เรื่องนี้ควรจะปลดล็อก”

เพราะถูกมองไม่เห็น 2 ด่านแรกของปัญหา

การเข้าถึงบริการตรวจเชื้อ และสิทธิการรักษา คืออีกสิ่งที่ยังเข้าไม่ถึง

อัจฉรา สรวารี หรือ จ๋า เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เล่าว่า ตั้งแต่การระบาดรอบแรก พยายามให้คนไร้บ้านอยู่ในพื้นที่ และได้ข่าวว่าเริ่มมีการจัดระเบียบพื้นที่ ถ.ราชดำเนิน ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้ตรวจเชื้อตั้งแต่รอบแรก รอบที่ 3 เชื้อไม่แสดงอาการ จึงไม่ทราบ

“คนไม่มีกิน หรือหากินไม่ได้ ก็ต้องเดินหางาน หาเก็บของเก่า เพราะฉะนั้น การอยู่กับที่ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ทุกคนก็ต้องดิ้นรน เป็นสถานการณ์ที่วิกฤต และบุคคลเหล่านี้มัก ถูกลืม ไว้ข้างหลังเสมอ” อัจฉราว่าอย่างนั้น

การช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน ที่ไม่สามารถทำได้ อันเนื่องมาจากเงื่อนไขต่างๆ ในกระบวนการทำงาน ที่แม้มูลนิธิ หรือหน่วยงานต่างๆ ต้องการเข้าไปช่วยเหลือ แต่ติดอุปสรรค ไม่ว่าการจัดการ การประสานงาน อย่าง “มูลนิธิอิสรชน” เอง อัจฉรา เห็นว่า เป็นปัญหาเชิงซ้อน ด้านระบบการจัดการของรัฐ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐสวัสดิการ ทั้งที่ผู้อยู่ในที่สาธารณะในเวลานี้ คือผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกปัญหา

“ทัศนคติทางสังคม ที่มองเชิงลบ ว่าคนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ขี้เกียจไม่ทำมาหากิน แต่วันนี้เมื่อเกิดปัญหาโรคระบาด เราก็จะได้เห็นโครงสร้างของรัฐสวัสดิการ คนไร้บ้านเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการใดๆ” อัจฉรากล่าว

ขณะที่ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย ตัวแทน สำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มองการตรวจเชิงรุก ว่า ตรวจวันนี้ไม่พบเชื้อ ไม่ได้แปลว่าพรุ่งนี้จะไม่พบเชื้ออีก ตราบใดที่ยังใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเช่นนี้

ตรงกันข้าม การที่เขาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ก็สามารถกลายเป็นผู้แพร่เชื้อ (super spreader) ได้ทุกเมื่อ ดังนั้นในมุมนี้ คนไร้บ้านจึงมีบทบาทกับโควิด-19 ค่อนข้างมาก ทั้งที่ไม่ถูกมองเห็นมาก่อน

“และในขณะนี้ จริงๆ ก็ยังไม่มีใครมองเห็นเขาอยู่เช่นเดียวกัน”

หมอขวัญประชาแนะนำด้วยว่า ในจุดแรก ต้องมีกระบวนการและวิธีการอย่างชัดเจน ด่านแรก ให้กลุ่มคนที่ไม่มีบัตรประชาชนหรือไม่มีหลักฐานใดๆ เข้าถึงวัคซีนได้ ด่านที่ 2 อยากนำเสนอให้ฉีดวัคซีนที่ใช้จำนวนโดสน้อย แล้วโอเค

“ผมว่ากลุ่มไร้บ้านเป็นกลุ่มที่เสี่ยงทั้งติดและแพร่เชื้อ จึงควรให้เขามีภูมิคุ้มกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

‘เยียวยา’ ไม่ครอบคลุมกลุ่มเปราะบาง และคำถาม

คุณหมอขวัญประชาชี้ว่า การเยียวยาที่รัฐมีให้ทั้งหมดในขณะนี้ เอาเข้าจริงยังไม่สามารถเยียวยากลุ่มเปราะบางที่สุดในสังคม สังเกตจากมาตรการช่วยเหลือ คนที่จะเข้าถึงโครงการเหล่านี้ได้ ต้องมีต้นทุนอยู่พอสมควร เป็นผลให้กลุ่มคนไร้บ้านเหล่านี้ เข้าไม่ถึงการเยียวยาใดๆ ที่รัฐส่งมาให้

เหตุนี้ จึงสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนว่า “สังคมไทย ยังไม่มีระบบโครงสร้างที่มาช่วยเหลือคนที่เปราะบางที่สุดในสังคม”

นพ.ขวัญประชาแนะด้วยว่า “ภาครัฐ” ต้องมีกลไก และมาตรการที่จะเข้ามาเยียวยา ช่วยกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด โดยที่เขาไม่ต้องมีต้นทุนใดๆ ก็ต้องช่วยเหลือ ทั้งค่าเช่าบ้าน แต่มาตรา การเหล่านี้ แทบไม่เห็นในภาครัฐด้วยซ้ำไป

“โครงสร้างทางสังคม ทำอย่างไรก็ได้ ให้กลุ่มคนจนเมืองมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เป็นหลักเป็นแหล่ง การแก้ปัญหาของวัคซีนอย่างเดียวก็คงไม่ตอบโจทย์ และต้องไม่ลืมว่า ภาคประชาสังคมมีบทบาทอย่างมากในการดูแลคนไร้บ้าน และจะท้าทายภาครัฐเช่นกัน ว่าจะเข้ามามีบทบาทและมองปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น

ท้ายที่สุด จะทำอย่างไรให้ทีมด่านหน้าของเรา ภาคประชาสังคมของพวกเรา เข้าถึงวัคซีนได้” นพ.ขวัญประชากล่าวทิ้งท้าย

เช่นนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “กลุ่มคนไร้บ้าน” ถือเป็นกระจกสะท้อนการทำงานในทุกภาคส่วน ส่งผ่านมาในรูปแบบของคำถาม

จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างไร? จะทำให้ภาพของสังคมมีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร ?

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image