แท็งก์ความคิด : เสือเศรษฐกิจ

ฟังการสัมมนา หัวข้อ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทย ด้วยการลงทุน” แล้วเห็นโอกาส

การสัมมนาวันนั้น มี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษ

มี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สะท้อนมุมมองการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

มี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า

Advertisement

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นายปัญญา ชูพินิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ร่วมเสวนาขับเคลื่อนแผนการคมนาคม

ฟังแล้วเห็นว่าประเทศยังมีโอกาส

Advertisement

ในวงสัมมนาครั้งนี้ ทุกคนเห็นด้วยกับการประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน

นายสนั่นกับนายสุพันธุ์ ย้ำว่าการเปิดประเทศเป็นโอกาสทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้

ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม ทั้งนายศักดิ์สยาม และผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวง ได้โชว์แผนงานที่เป็นโอกาสของประเทศให้ดู

ตอกย้ำความพร้อมของกระทรวงที่มีภารกิจหลัก คือ “ขนคน” และ “ขนสินค้า”

ฟังนายศักดิ์สยามแล้วเข้าใจทิศทางของกระทรวงคมนาคมว่าจะไปทางไหน

นายศักดิ์สยามอธิบายในการปาฐกถาพิเศษได้ชัดเจนในแนวทางพัฒนาการคมนาคมทั้ง 4 มิติ

พัฒนาทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ

ใครได้ติดตามฟังการสัมมนาคงรับทราบรายละเอียดกันแล้ว

ในที่นี่ขอหยิบยกบางหัวข้อที่รู้สึกสนใจ

อาทิ การพัฒนาการคมนาคมทางบก มีโครงการก่อสร้างถนน MR-map เส้นทางจากเหนือลงใต้ และเส้นทางจากตะวันออกไปตะวันตก

MR เป็นตัวย่อ

M คือ มอเตอร์เวย์ R คือ รางรถไฟ

MR เป็นโครงการที่บูรณาการระบบถนนกับระบบรางเข้าด้วยกัน

MR-map จากเหนือลงใต้ มีโครงการก่อสร้างเส้นทาง 1.เชียงราย-สงขลา 2.หนองคาย-แหลมฉบัง 3.บึงกาฬ-สุรินทร์

ส่วนเส้นทางสายตะวันตกไปตะวันออก มีเส้นทาง 1.ตาก-นครพนม 2.กาญจนบุรี-อุบลฯ 3.กาญจนบุรี-สระแก้ว 4.กาญจนบุรี-ตราด 5.ชุมพร-ระนอง และ 6.ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี

โฟกัสที่เส้นชุมพร-ระนอง

ณ ที่ตรงนั้น กำลังศึกษาเพื่อก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์

นายศักดิ์สยามบอกว่า หากทำสำเร็จ เส้นทางดังกล่าวจะเป็นเส้นทางการค้าใหม่ของโลก

เชื่อมการคมนาคมขนส่งสินค้าจากทะเลด้านอันดามันกับทะเลด้านอ่าวไทย

นานาชาติที่ขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางนี้ ไม่ต้องแล่นเรืออ้อมไปทางแหลมมลายู ช่วยลดเวลาการขนส่ง

ลดเวลาการขนส่ง เท่ากับการลดต้นทุน

ส่วนการพัฒนาการคมนาคมทางอากาศ นายศักดิ์สยามผลักดันให้สนามบินของไทยมีศักยภาพรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคนต่อปี

จากเดิมที่สนามบินไทยมีศักยภาพรับผู้โดยสารได้ 100 ล้านคนต่อปี ขณะที่ปริมาณนักท่องเที่ยวและนักเดินทางมีมากขึ้นกว่านั้น ทำให้เกิดความแออัด

ดังนั้น ในช่วงที่โลกประสบเหตุโรคระบาดโควิด-19 กระทรวงคมนาคมได้ผลักดันให้เพิ่มศักยภาพของสนามบิน

พัฒนาด้วยการเพิ่มรันเวย์ เพิ่มพื้นที่ให้รับผู้โดยสาร

เป้าหมายคือขยับขยายจนสามารถรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย ยังใช้เทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ

ต่อไปใครเดินทางไปสนามบิน สามารถใช้แท็บเล็ตตรวจสอบที่จอดรถได้ว่าว่างหรือเต็ม

สามารถตรวจสอบคิวหน้าด่าน ตม.ว่าสั้นยาว ควรจะไปต่อแถวไหน

สามารถตรวจสอบสัมภาระจนกระทั่งขึ้นเครื่อง

และอื่นๆ

ส่วนการพัฒนาระบบราง มีเป้าหมายชัดเจน คือ ลดต้นทุนการขนส่ง

ต้องจูงใจให้คนหันมาใช้ระบบรางมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

ถ้าทำได้ ก็หวังว่าต้นทุนที่ลดจะทำให้ราคาสินค้าไม่แพงเว่อร์

สำหรับการพัฒนาการสัญจรทางน้ำนั้น ดูเหมือนนายศักดิ์สยามจะมองไกลไปถึงการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ

ตั้งเป้าเปิดเดินเรือทั้งในประเทศ และเดินเรือต่างประเทศ

ขณะที่กรมเจ้าท่าซึ่งดูแลท่าเรือทั่วประเทศ ได้ปรับปรุงท่าเรือแหล่งท่องเที่ยวในช่วงที่ไทยปิดประเทศ

มั่นใจว่าพ้นสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดเมื่อไหร่ นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการทางเรือจะประทับใจ

ประทับใจทั้งความสะดวก ปลอดภัย และความสวยงาม

ฟังสัมมนา “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทย ด้วยการลงทุน” แล้วเห็นโอกาส

เห็นโอกาสที่ไทยจะเป็นฮับการคมนาคมในภูมิภาค

เห็นโอกาสของไทยที่จะเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชีย

แม้ 2 ปีที่ผ่านมา พิษโควิด-19 จะสร้างความเสียหายเป็นแสนล้านบาท

แต่ถ้าไทยมีความพร้อม เมื่อถึงเวลาที่โรคโควิด-19 ผ่านพ้น เศรษฐกิจไทยก็จะก้าวเดิน

โอกาสที่ประเทศจะกลับมาเฟื่องฟูยังมีอยู่

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image