เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน EMPOWERING THAILAND 2021 ฉายภาพลงทุน 4 มิติ-ดันไทย ‘เสือศก.’

สัมมนาใหญ่ EMPOWERING THAILAND 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน นำโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษ พร้อม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้บริหารจากกระทรวงคมนาคม โดยมีนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน และผู้บริหารเครือมติชนให้การต้อนรับ

การประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นสัญญาณให้ทุกภาคส่วนได้รู้ทิศทางประเทศจากนี้ และทุกภาคต้องเตรียมพร้อมกันอย่างไรบ้าง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศชาติ

กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลและรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศ ครบทั้ง ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ งบประมาณผ่านทุกหน่วยงานในกระทรวงคมนาคมเพื่อใช้ลงทุน ล้วนเป็นเม็ดเงินที่มีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้จังหวะเดียวกันนี้ โดยปีงบประมาณ 2564 กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณ 1.88 แสนล้านบาท แม้ปีงบประมาณ 2565 งบประมาณอาจลดเหลือ 1.19 แสนล้านบาท เพราะต้องเพิ่มงบประมาณในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเร่งกระจายฉีดวัคซีนให้ประชากรชาวไทย

จากนี้การลงทุนภาครัฐจะเป็นอย่างไร ดังนั้น เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์มติชนจึงได้จัดสัมมนาหัวข้อ “EMPOWERING THAILAND 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” เป็นแกนระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนแนวทางของภาครัฐและภาคเอกชน ว่าจะทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า และช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยไปต่อกันอย่างไร ในรูปแบบไลฟ์
สตรีมมิ่ง ผ่านเฟซบุ๊กในเครือมติชน ซึ่งมีผู้เข้าชมจำนวนมาก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษ

เปิดสัมมนา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “EMPOWERING THAILAND 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” กล่าวตอนหนึ่งว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลด้านเศรษฐกิจชะงัก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัว และมีโอกาสเติบโต 6% ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้พลิกจากปีก่อนลบมาบวก 2.5-3.5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งการจะกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ขยายตัวได้ดี ต้องอาศัยเครื่องจักรทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุน กระทรวงคมนาคม มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2564 ได้รับการจัดสรรงบลงทุน 1.88 แสนล้านบาท เร่งรัดเบิกจ่ายงบปี 2564 ไปแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 50% ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว และปี 2565 เหลือ 1.19 แสนล้านบาท อย่าได้วิตกกับเรื่องนี้เพราะกระทรวงคมนาคมได้รับนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในสภาวะที่ประเทศต้องใช้งบประมาณในการต่อสู้กับโควิด-19 สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมองหาวิธีการลงทุนของภาครัฐ กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาแหล่งเงินทุนจากช่องทางอื่น ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) วางแผนเรื่องนี้ไว้ถือว่าเป็นเรื่องดีมากที่จะช่วยให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการได้เติมงบ ทั้งการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ (พีพีพี) การระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศ (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) และแหล่งเงินกู้จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

Advertisement

“กระทรวงคมนาคมมีแผนขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาค โดยวางแผนให้ครบ 4 มิติ คือ มิติทางบก ถนนต่างๆ ต้องมีคุณภาพ ความสะดวก ความปลอดภัย และความรวดเร็ว มิติที่สองคือระบบรางที่อนาคตระบบรางจะสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการลดต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศได้ และบรรจุในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มิติที่สาม คือ ทางอากาศ ตอนนี้สำคัญมาก ที่จะเปิดประเทศตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ นำร่องจังหวัดภูเก็ต (ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์) มิติที่สี่ คือทางน้ำ ไทยมีศักยภาพ มีทะเลฝั่งอ่าวไทย และมหาสมุทรฝั่งอันดามัน ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาจะเชื่อมต่ออ่าวไทยกับอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ที่ชุมพร-ระนอง แต่ละฝั่งจะมีท่าเรือน้ำลึก 15 เมตรขึ้นไป มีโครงข่ายมอเตอร์เวย์กับรถไฟเชื่อมต่อกัน สั้นและตรงจุดเพื่อให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำสุด โครงร่างจะได้เห็นปี 2565 ให้มองเป็นภาพเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำหนดแล้วเสร็จปี 2568 เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 ขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 เป็นการเปิดประตูให้อีอีซีทะลุไปมหาสมุทรอินเดียหรืออันดามันได้สั้นลง”

นอกจากนี้อีกหลายแนวคิดที่จะเกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงคมนาคม เช่น โครงการ MR-MAP บูรณาการรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง ตอบโจทย์ศูนย์กลางการเดินทางทั้งทางบกและทางราง วางพื้นฐานให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางอาเซียน แผนแม่บทมองไว้ 9 เส้นทาง จากเหนือลงใต้ 3 เส้นทาง ตะวันออกไปตะวันตก 6 เส้นทาง คือ เชียงราย-สงขลา หนองคาย-แหลมฉบัง บึงกาฬ-สุรินทร์ นครพนม-ตาก อุบลราชธานี-กาญจนบุรี สระแก้ว-กาญจนบุรี ตราด-กาญจนบุรี ชุมพร-ระนอง สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ก็จะชัดเจนขึ้นในปี 2565 มีการพัฒนาขยายสนามบินทั่วไทย ตามแผนเมื่อสนามบินนานาชาติได้พัฒนาเสร็จตามแผนอีก 4 ปีข้างหน้า จะรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 2-3 เท่าตัวจากปัจจุบันปีละ 200 ล้านคน ทางรางต่อไปต้องเป็นรถไฟรางคู่ อนาคตจะขยายทั่วประเทศใช้ความเร็ว 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง คมนาคมตั้งเป้าหมายให้ขนส่งสินค้าบนรางให้ได้ 30% จากวันนี้ 5-7% ระบบรางในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะครบ 14 เส้นทางปี 2570 ระยะทาง 554 กิโลเมตร ช่วยลดความแออัดบนถนน และลดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นพีเอ็ม ส่วนทางน้ำ ไม่แค่พัฒนาท่าเรือให้ทันสมัย แต่เล็งผุดสายการเดินทางเรือแห่งชาติ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้มุมมองต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุน

“ถ้าดำเนินการตามแผนทั้งหมด เชื่อว่าประเทศไทยจะมีอนาคต แต่สิ่งเหล่านี้คณะรัฐบาลทำลำพังไม่ได้ คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน สิ่งเหล่านี้สร้างขึ้นมาไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อคนไทยทุกคน เชื่อมั่นประเทศไทย เราต้องเดินไปด้วยกัน ผ่านโควิดไปด้วยกัน แล้วประเทศไทยจะกลับมาเป็นเสือเศรษฐกิจของทวีปเอเชียอีกครั้งให้จงได้” นายศักดิ์สยามทิ้งท้าย

Advertisement

การสัมมนาช่วงสอง เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมอง “ลงทุนไทย เคลื่อนประเทศไทย” ผ่าน 2 ผู้นำองค์กรภาคเอกชน คือ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายสนั่นกล่าวตอนหนึ่งว่า “ภาคเอกชน เรามีความพร้อม และเชื่อว่าโควิด-19จะอยู่กับเราอีกนาน สิ่งที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทย นอกจากฉีดวัคซีนให้ได้ภายในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านโดส ยังต้องพึ่งการเยียวยาจากภาครัฐ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ที่ช่วยประคองธุรกิจและเศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้ จะเกิดเเงินใหม่ไตรมาส 4 ปีนี้อย่างน้อย 50,000-100,000 ล้านบาท จากต่างประเทศมาไทย 1 ล้านคน
และเห็นด้วยการลงทุนของภาครัฐต้องไปต่อ โดยต้องอธิบายไปตามลำดับขั้น การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ควรทำให้เกิดขึ้น… ถ้าแผนการเปิดประเทศ และแผนการลงทุน เป็นไปตามเป้าหมาย จะช่วยสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจไทย จากช่วงการระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดระบบเศรษฐกิจเสียไป 300,000-500,000 ล้านบาท ฉะนั้นการสร้างโอกาสใหม่ๆ เช่น แผนการลงทุนของกระทรวงคมนาคม คิดว่า 1-2 ล้านล้านบาทนั้น ทำได้แน่นอน และการเปิดประเทศ ทำให้จีดีพีปี 2564 ขยายตัว 0.3% และทำให้จีดีพีทั้งปีโต 0.8-2.3%”

นายสุพันธุ์กล่าวให้มุมมองไว้ว่า “นอกจากการเปิดประเทศ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีแล้ว ตอนนี้เอกชนต้องร่วมมือ โดยเฉพาะรายใหญ่ ผลักดันการลงทุน อย่างที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่าตอนนี้รัฐลงทุนเป็นหลัก อยากให้เอกชนร่วมด้วย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าต่างคนต่างถอย การเปิดประเทศคงสำเร็จยาก ภาพการลงทุน วันนี้ได้ฟังจากกระทรวงคมนาคมถือเป็นเรื่องที่ดี บางโครงการที่ได้รับทราบ หลายโครงการถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ด้านการลงทุน อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง กระตุ้นให้นักลงทุนอยากเข้ามาลงทุนในไทย เพราะนักลงทุนจะดูโครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุน ความคุ้มค่า โลจิสติกส์ พลังงาน โดยอยากให้การสื่อสารของภาครัฐชัดเจน …”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้มุมมองต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุน

ต่อด้วยสัมมนาช่วงสาม หัวข้อ “เปิดแผนคมนาคม เปิดประเทศ ขับเคลื่อนอนาคตไทย” ที่เต็มเวทีด้วยคีย์แมนผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม เปิดด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม จากนั้นเป็นบิ๊กๆ จากกรมรัฐวิสาหกิจ และสำนักงาน ประกอบด้วย นายสราวุธ ทรศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดย นายบัญชา ชุมชัยเวทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ซึ่งแต่ละท่านจะลงรายละเอียดภายใต้คอนเซ็ปต์ 4 มิติ ขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาค

นายชยธรรม์กล่าวย้ำว่า แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมไทย แบ่งเป็น 2 มิติ คือ นโยบายหลักมาจากรัฐบาล หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี ลงสู่กระทรวงคมนาคม ก่อนแปลงมาเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม ส่วนใหญ่เป็นนโยบายระยะยาว ที่เตรียมแผนไว้ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ดังนั้นนโยบายภาพใหญ่จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่การระบาดโควิดเป็นเหมือนการเกิดอุบัติเหตุ เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด ต้องพยายามแก้ไขปัญหาก่อน อาทิ กำหนดเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 120 วัน ก็ได้รับนโยบายทำอย่างไรให้ประเทศไทยกลับมาแข็งแรงเร็วกว่าประเทศอื่น ซึ่ง 8 กรม และ 11 รัฐวิสาหกิจในคมนาคมต้องทำงานร่วมกัน ให้การขนส่งคน และขนส่งสินค้า จากต้นทางไปสู่ปลายทาง ผ่านระบบ 4 มิติ คือ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยเน้นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น การร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน และใช้ความรวดเร็วของเทคโนโลยี สิ่งสำคัญสุดคือการให้บริการประชาชนแบบสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล

นายนิตินัยย้ำว่า การลงทุนวันนี้จะรองรับการเปิดประเทศและการเดินทางหลังการระบาดของโควิด-19 หมดลง โดยประเมินว่า 6 สนามบินก่อนเกิดโควิดมีผู้โดยสาร 140 ล้านคน/ปี แต่สนามบินมีศักยภาพรองรับได้ 100 ล้านคน เกินขีดความสามารถ 40% คาดว่าปี 2565 ผู้โดยสารจะกลับมา 73 ล้านคนต่อปีหรือประมาณ 50% ก่อนเกิดโควิด และปี 2566 ผู้โดยสารน่าจะกลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด จากนั้นยอดจะพุ่งเกินศักยภาพจะรับได้ จึงต้องเตรียมขยายสนามบินตั้งแต่วันนี้ตามแผนปี 2568 จะมีสนามบินใหญ่รองรับผู้โดยสารอีกสูง 2 เท่า ที่จะมาพร้อมกับไฮเทคโนโลยี เพียงสั่งการหรือดูบนมือถือ ที่จะเกิดขึ้นครบทุกสนามบินในปีหน้า

ขณะที่นายปัญญาฉายภาพยุทธศาสตร์และแผนของกระทรวงคมนาคม ด้านการขนส่งสินค้า และการขนส่งคน โดยขนส่งสินค้า ผลักดันขนส่งทางถนนไประบบรางและน้ำเพิ่มขึ้น ประโยชน์ปลอดภัย และราคาถูกสู้กับต่างประเทศได้ ส่วนการขนส่งคน มุ่งลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลพิษ ลดอุบัติเหตุ สร้างระบบการขนส่งมวลชนที่ดี ชูโครงการแลนด์บริดจ์ประเทศไทยมีประตูการค้าเจาะภูมิภาคอาเซียนและประเทศที่ 3 อีก 2 ปี จากนี้ก็จะดำเนินการประมูล

นายสราวุธบรรยายให้เห็นภาพทางถนน ผ่านกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประชาชนใช้งานมากสุด แต่ละปีมีโครงการใหม่ 5 พันโครงการ ซึ่งเป็นส่วนที่จะเร่งเบิกจ่ายเพื่อซ่อมบำรุงและการก่อสร้างพัฒนาให้เดินทางสะดวก ปลอดภัย และมีความสวยงาม เกิดการจ้างงาน

นายวิทยากล่าวให้เห็นความสำคัญของการขนส่งทางน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ต้นทุนทางน้ำถูกสุดในระบบโลจิสติกส์เทียบทางบก 1 ต่อ 8 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ และความนิยมเที่ยวทางน้ำก็มากขึ้น ดังนั้นในวันนี้ ท่าช้าง ท่าเตียน ท่าราชินี ท่าวัดโพธิ์ ท่าพระนั่งเกล้า เป็นท่าเรือที่สวยงามมาก จากนี้จะเป็นมากกว่าเป็นท่าเรือ อนาคตการขนส่งทางน้ำจากการใช้แบบเดิมๆ เปลี่ยนไป อีกไม่เกิน 2 เดือนระบบติดตามเรือนักท่องเที่ยวทั้งหมดทั้งประเทศ จะเริ่มใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัย

นายกิตติพันธ์เล่าถึงความจำเป็นพัฒนาระบบรางว่า ภาครัฐลงทุนระบบรางแล้ว 1-2 ล้านล้านบาทช่วง 3-5 ปี เพื่อให้การใช้งานระบบรางคุ้มค่า สะดวกและปลอดภัย จากนี้จะเห็นพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน

นายนิตินัยกล่าวถึงทางอากาศจะเห็นอะไร โดยย้ำว่า ปี 2566 หรืออีก 2 ปีจากนี้ ผู้โดยสารจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด 73 ล้านคนต่อปี
หากไม่ลงทุนปี 2567 จะเกินศักยภาพรับการผู้โดยสาร จึงเตรียมลงทุนช่วง10-20 ปี หรือถึงปี 2578 กว่า 387,000 ล้านบาท เพิ่มขีดความรองรับผู้โดยสาร 243 ล้านคนต่อปี ที่โดดเด่นคือจะยกเครื่องสนามบินให้มีชีวิต ด้วยการนำไอทีมาให้บริการ ตั้งแต่จองตั๋ว เช็กอิน ตรวจสอบในทุกด้าน ที่ทุกสนามบินตามต่างจังหวัดจะทยอยเห็นโฉมใหม่เดือนเมษายนปีหน้าเป็นต้นไป

การสัมมนาครั้งที่ 4 ของปี 2564 ที่เครือมติชนจัดทำขึ้นคาดหวังจะเป็นสื่อกลางในการทำความเข้าใจ ทำให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศในอีก 120 วัน และอนาคตการลงทุนไทยจะไปในทิศทางใด

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image