อีกกรณีกับป้อมมหากาฬ ‘ยรรยง บุญ-หลง’ ในดินแดนที่แผ่นดินมีค่ากว่าคน

“ชุมชนป้อมมหากาฬ” ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและถกเถียงผ่านโลกออนไลน์อย่างดุเดือดในชั่วระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา

จะเห็นด้วยหรือคัดค้านการเปลี่ยนชุมชนดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะนั้นก็เรื่องหนึ่ง

แต่ใช่หรือไม่ว่า การกระทำเช่นนี้ของกรุงเทพมหานครเอง นัยหนึ่งแล้วมันย่อมสะท้อนในตัวเองอย่างชัดเจนว่า-บ้านเมืองนี้ให้คุณค่ากับ “คน” น้อยเหลือเกิน ยังไม่นับว่าถ้าคุณดันเกิดเป็นคนที่ไม่ได้เสียงดังด้วยพื้นฐานชาติกำเนิดแล้ว คำพูดยิ่งไร้ความหมาย

ที่สุดแล้วมันคือการไล่รื้อบ้านจากคนที่มีโฉนดเพื่อนำไปพัฒนาตามโครงการของรัฐ-อย่างที่คนในพื้นที่ไม่อาจรับรู้เหตุผลอื่นใดได้อีก

Advertisement

ในฐานะสถาปนิก นักเขียนและคนที่ติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่เสมอ ยรรยง บุญ-หลง เฝ้าจับตาเหตุการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด

ในแง่ที่ว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงเป็นเหตุการณ์รายวันที่จะผ่านมาแล้วลับไปดังเช่นเคยๆ เพราะนอกเหนือจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตชาวบ้านแล้ว “ชุมชนป้อมมหากาฬ” คือผลลัพธ์ที่งอกงามขึ้นจากการที่แผ่นดินมีค่ามากกว่ามนุษย์

ยรรยงเป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัย UC Berkeley เป็นสถาปนิกในนิวยอร์ก และเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมสถาปนิกอเมริกัน (The American Institute of Architects)

Advertisement

นี่ย่อมรับรองว่าเขาได้เห็นและได้ใช้ชีวิตในบ้านอื่นเมืองอื่น ที่แน่นอนว่าด้านหนึ่งแล้ว หลายเมืองที่ผ่านสายตาเขา ก็ย่อมมีการปะทะกันระหว่างรัฐและผู้คนในชุมชนมาก่อน-ต่างกันก็เพียงวิธีจัดการของรัฐในแต่ละพื้นที่นั้นให้เกียรติและเคารพวิถีชีวิตผู้คนแตกต่างกันออกไป

“ป้อมมหากาฬนั้นถือเป็นสถานที่สำคัญของลิเกเลยนะ แต่กลับไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย ความจริงมันน่าจะเป็นจุดส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ ให้ต่างชาติมาดูว่านี่เป็นจุดกำเนิดลิเกที่มาจากเปอร์เซียที่ก่อนหน้านี้เรียกว่า ซิเกร์ หรือทำป้อมมหากาฬกลายเป็นสถานที่ที่เป็นที่ถกเถียง ดีเบต กันในประเด็นสังคมทั้งไทยและต่างชาติ

“แต่เขาไม่ได้ทำเรื่องนี้และเน้นเฉพาะสิ่งปลูกสร้างเท่านั้นเอง”

เป็นความเห็นอันเฉียบคมจากยรรยง-ซึ่งทุกประโยคของเขาจะยิ่งเฉียบคมมากขึ้น

ในทุกบรรทัดนับจากนี้

อยากให้ช่วยมองปรากฏการณ์ “ป้อมมหากาฬ” ที่เกิดขึ้น?

กรณีของป้อมมหากาฬเกิดจากชนชั้นนำของเราเน้นและให้ความสำคัญของเรื่องที่ดินมากกว่าที่จะเน้นในเรื่องนวัตกรรมหรือมูลค่าที่จะเกิดจากคน อย่างป้อมมหากาฬเองก็เป็นที่กำเนิดของลิเก อันเป็นวัฒนธรรมของการถกเถียง วัฒนธรรมของดีเบต แต่กลับไม่มีการเก็บคนเหล่านี้เอาไว้เพื่อเล่าหรือชูให้เป็นประเด็นสาธารณะที่เป็นประเด็นสำคัญ และให้ความสำคัญกับที่ดินมากกว่า

ทำไมสังคมไทยจึงให้ความสำคัญกับที่ดินมากกว่าคน?

อย่างวาทกรรม “หนักแผ่นดิน” ก็เป็นวิธีคิดอย่างหนึ่งที่ว่าไม่ได้เห็นคนในสายตา แต่เน้นในเรื่องของที่ดินมากกว่า คือคนไม่สำคัญแต่ที่ดินนั้นสำคัญ มันเป็นวัฒนธรรมของเจ้าที่ (แลนด์ลอร์ด) เป็นเพราะชนชั้นนำในไทยเองไม่ค่อยจะแสวงหาประโยชน์จากความคิดของ “คน” มากเท่ากับประเทศอื่นๆ อย่างคนจีน และแขกเปอร์เซียนั้นมีวัฒนธรรมการค้าที่เคลื่อนไหวไปทั่วโลก คนยิวก็เช่นกัน และคนเหล่านี้มีวัฒนธรรมการอพยพย้ายที่อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าพวกเขาจะทำธุรกิจเรื่องที่ดินเก่งก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วเขารู้ว่าวันหนึ่งก็จะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานอีกแน่นอน ดังนั้น เรื่องที่ดินจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรยึดติด สิ่งเดียวที่เขาเอาติดตัวไปได้คือคน ปัญญาของคน… ทุกวันเสาร์ ชาวยิวจะมีพิธี “สะบาโต” และพวกเขาก็มักจะรำลึกถึงการอพยพครั้งใหญ่จากอียิปต์และในอีกหลายๆ ประเทศในประวัติศาสตร์

เมื่อการต้องย้ายถิ่นฐานมันอยู่ในวิถีของการคิดตลอดเวลา เวลาที่เขาจะอนุรักษ์เขาก็เลือกอนุรักษ์อะไรที่อยู่ในคน ปัญญาของคนที่มันติดตัวไปได้ แต่ของเราเวลาอนุรักษ์จะอนุรักษ์สิ่งที่อยู่บนแผ่นดิน สิ่งปลูกสร้างมากกว่านวัตกรรมการคิด

แล้วนวัตกรรมที่เรามี?

เรามีวัฒนธรรมการถกเถียง และเสียดสีในลิเก ในตลกคาเฟ่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญนะ ถ้าไม่กล้าท้าทายอำนาจหรือทฤษฎีเก่าๆ เราจะก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมได้ยังไง แต่วัฒนธรรมของการถกเถียงและคิดนอกกรอบ กลับกลายเป็นมาจากคนธรรมดาๆ อย่างระบบวินมอเตอร์ไซค์ ที่นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต้องมาศึกษา หรือระบบเรือแสนแสบ ที่ต่างชาติอย่างเยอรมนีมาดูงาน หรือแผงลอยที่สามารถสร้างเมืองได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงในตอนกลางคืน มีความน่าสนใจมากจนถึงขั้นได้ลงในนิวยอร์กไทม์ส ว่าทำอย่างไรจึงสร้างเป็น instant city ได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงในเวลากลางคืน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนต่างประเทศให้ความสนใจแต่เรากลับไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไร

เรื่องการแพทย์ และวิศวกรรมของเราก็เก่ง อย่างเด็กที่ไปชนะหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือโอลิมปิก แต่กลับมาที่ประเทศไทยก็ไม่มีงานทำ เพราะเรานำเข้าเทคโนโลยีแบบสำเร็จรูป อุตสาหกรรมมันไม่ได้สนับสนุนคนที่ไปเรียนประเภทนี้ให้กลับมาวิจัย ปัจจุบันคนที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์ก็น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม สุดท้ายต้องดิ้นรนกับชีวิต และกับระบบการบริหารราชการในมหาวิทยาลัย

รัฐไทยไม่ค่อยสนับสนุนนวัตกรรมที่เกิดจากคนเท่าไร แต่นวัตกรรมที่เกิดจากการท่องเที่ยว การขายสิ่งที่มีอยู่จากที่ดิน จากทะเลสวยๆ นั้นมีเยอะ แต่การให้เกียรติความสร้างสรรค์ของคนยังน้อยเกินไป

มองการเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะคิดว่าจะมีประโยชน์มากกว่าจริงหรือไม่?

ผมเองก็ไม่ค่อยได้เดินสวนสาธารณะมากเท่าไรนะเพราะมันร้อน (หัวเราะ) แต่หากจะให้ผมไปดูหนังกลางแปลงที่ป้อมมหากาฬที่ชาวบ้านจัดผมก็ไปดูอีกเพราะมันน่าสนใจมากกว่า และจัดในช่วงเย็นๆ (ยิ้ม)

การเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะแล้วไปนั่งเล่น เดินเล่นกลางแจ้งในที่ที่ไม่มีคนเลย คุณแน่ใจหรือเปล่าว่าจะมีคนใช้ ได้มีการวิจัยหรือเปล่าว่าจะมีคนใช้จริงมากน้อยเท่าไร

คิดว่าทำไมรัฐถึงอยากเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ?

ผมก็คิดว่าอาจจะเป็นสิ่งที่นานาชาติบอกว่าคุณจำเป็นจะต้องมีพื้นที่สีเขียว ถ้าเปลี่ยนพื้นที่เป็นสวนก็สามารถที่จะนับเป็นพื้นที่สีเขียวได้ หรืออาจจะมีเรื่องอื่นที่เขาอยากจะทำธุรกิจในอนาคตผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน

ส่วนตัวคิดว่าควรจะต้องเป็นอย่างไร?

สำหรับผม ผมมองว่าคนที่อยู่ในชุมชน เรื่องราวลิเกที่อยู่ในชุมชน เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่า และเป็นจุดขายที่ดีในการท่องเที่ยว ปัจจุบันรัฐเองก็พยายามที่เปิดคลองต่างๆ ที่จะมาเชื่อมต่อกับระบบราง ซึ่งคลองรอบกรุงที่อยู่ติดกับป้อมมหากาฬพอดีก็สามารถเชื่อมกับเจ้าพระยานำเอานักท่องเที่ยวจากโรงแรมต่างๆ มาท่องเที่ยว มาดูลิเก มาดูเวทีการถกเถียงกันตรงนี้

คือถ้าคุณทำเป็นสวนสาธารณะนักท่องเที่ยวเขาไม่มาดูหรอก เขานั่งอยู่ในประเทศเขาก็ได้ มันจะต้องมีจุดขาย และเป็นสิ่งที่ชุมชนป้อมมหากาฬมี

ข้อเสนอที่ชาวบ้านบอกว่าพร้อมพิสูจน์ตัวเองในกรอบเวลาสองปี?

นี่เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมาก เพราะมันจะเพิ่มการท่องเที่ยวให้บริเวณนั้นขึ้นมากๆ ตอนนี้ชาวต่างชาติก็มาดูกันตั้งเยอะแล้ว มีทั้งหนังกลางแปลง มีการเล่นลิเก

ผมมองว่ารัฐน่ารับข้อเสนอของชาวบ้านและจัดการทำอย่างเร็วที่สุด เพราะมันจะเป็นการพิสูจน์ได้ว่าชุมชนสามารถเป็นประโยชน์แก่การท่องเที่ยวได้ ไม่ได้เป็นปัญหา และมีประโยชน์มากกว่าการสร้างสวนสาธารณะ

สุดท้ายแล้วหากมีการไล่รื้อชุมชนทั้งหมดอย่างที่ กทม.วางแผนไว้จริงจะเป็นอย่างไร?

สุดท้ายแล้วมันจะไม่มีคนอะไรมาเล่าเรื่องตรงนี้อีกแล้ว นี่คือชุมชนและสถานที่กำเนิดลิเกชาวบ้าน คนที่รู้ว่าลิเกมาจากเปอร์เซีย วัฒนธรรมการถกเถียงจากลิเก มาเป็นตลกคาเฟ่ จะหายไปหมด ที่ผมรู้ก็เพราะไปคุยกับชุมชนไม่อย่างนั้นใครจะมาเล่าให้ฟัง ถ้าไล่รื้อไปหมดมันก็จะหายไป เหลือเพียงสถานที่เท่านั้น ส่วนตัวผมเองก็อยากให้ชูประเด็นนี้ ให้เป็นสถานที่แห่งการกำเนิดลิเก เป็นพื้นที่แห่งการถกเถียง

นอกจากนี้ มันจะทำให้เราสูญเสียด้านการท่องเที่ยวด้วย อย่างตอนนี้เรื่องราวของป้อมมหากาฬก็ดังอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยทั่วโลกมาทำการศึกษาชุมชนตรงนี้ ถ้าเกิดเก็บไว้ อย่างไรเสียวันหนึ่งคนก็มามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเริ่มเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว

แต่ถ้าจะไปทำเป็นสวนสาธารณะเป็นอะไร ก็ต้องไปเริ่มใหม่และนับจากศูนย์เลย

แล้วโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยา?

จริงๆ แล้ว ควรจะต้องถามประชาชนว่าเขาต้องการงบประมาณไปทำอะไรบ้าง คือ อย่างในต่างประเทศ หลายเมืองต่างๆ เขาก็คิดคล้ายกับคนไทยที่เบื่อนักการเมือง มองว่ามีเรื่องคอร์รัปชั่น เขาจึงใช้วิธีที่ให้ประชาชนมาโหวตเลยว่าจะเอางบประมาณไปทำอะไรบ้าง เขาก็ใช้ระบบออนไลน์ให้โหวตกันเลย หรือตั้งจุดให้โหวตกันตามร้านชำ แล้วมันจะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง สอง สาม ว่าประชาชนอยากใช้งบประมาณในการทำเรื่องอะไร แม้ว่าจะไม่มีผลบังคับใช้ว่ารัฐต้องทำตามผลโหวต แต่ก็จะทำให้เห็นว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร

อย่างกรณีโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็เช่นกัน ถ้ามาลองโหวตดูอาจจะมีคนสนับสนุนก็ได้หรืออาจจะไม่มีก็ได้ แต่ก็ควรต้องทดลองดูก่อน เพราะว่าถ้าไม่มีก็จะเป็นอันตรายเพราะหากสร้างไปแล้วไม่มีคนใช้ สุดท้ายแล้วก็อาจจะกลายเป็นชุมชนแออัดใหม่อยู่ดี

หมายความว่าสวนสาธารณะที่กำลังจะสร้าง หรือโครงการริมน้ำเองก็ดีมีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นสลัมใหม่?

อย่างในต่างประเทศที่ประเทศฟิลิปปินส์ พยายามที่จะสร้างสวนสาธารณะที่ริมแม่น้ำปาสิกหรือ Manggahan Floodway ที่มีความตั้งใจเหมือนอย่างที่เราจะทำคืออยากให้เป็นสวนสาธารณะ ทางปั่นจักรยาน แต่สุดท้ายเลยทั้งแนวสองฝั่งแม่น้ำก็กลายเป็นสลัมใหม่ในเวลาไม่กี่ปี เพราะตำรวจไม่สามารถที่จะคุมพื้นที่ได้ตลอด 26 กม. ได้

คือเขาอยากจะให้เป็นที่ให้คนเดินพักผ่อน แต่ปรากฏว่าผู้คนไม่ได้ใช้มากอย่างที่คิด ทีนี้บางคนต่างเริ่มเข้ามาในพื้นที่แล้วก็มาเริ่มสร้างเป็นตั่งก่อน เสร็จแล้วก็มีหลังคากันแดด เสร็จแล้วก็ดั้นฝาก็กลายเป็นบ้านแล้ว คือมันไม่จำเป็นต้องลงเสาเข็มเลยเพราะว่ารัฐลงเสาเข็มให้เรียบร้อยแล้ว สุดท้ายก็กลายเป็นสลัมอีกทีในที่สุด

เมื่อรัฐไม่ให้ความสำคัญกับคนมากนัก พอออกแบบการคมนาคมมันก็เลยให้ความสำคัญกับที่ดินมากกว่า?

สังเกตไหมถ้าเทียบกับค่ากินอยู่ของเราแล้วค่ารถไฟฟ้าแพงมาก ถ้าเป็นที่เซี่ยงไฮ้เมื่อเทียบกับค่ากินอยู่แล้วรู้สึกว่ามันถูกกว่าประมาณ 4 เท่าทั้งที่ค่าครองชีพสูงกว่าเรา เป็นเพราะรถไฟฟ้าของเราไม่สามารถทำอสังหาริมทรัพย์รอบๆ สถานีได้ เป็นเอกชนอื่นทำ

ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นหรือเซี่ยงไฮ้มันทำได้ ทำอสังหาริมทรัพย์รอบๆ สถานี และเก็บเงินจากส่วนนั้นมาทำให้ค่าตั๋วรถไฟมันถูก แต่ของเราไม่ได้เก็บ แต่กลับไปหนุนให้อสังหาฯ รอบๆ สถานีกำไรดีขึ้น เราเอื้อประโยชน์ให้เจ้าของที่ดินมากกว่าคนทั่วไปที่ต้องจ่ายค่าตั๋วรถไฟฟ้า

มองภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ควรออกแบบเมืองยังไงให้อยู่ง่ายกว่านี้?

(คิด) ตอนนี้เราเสียเวลาไปเกือบครึ่งวันกับการขับรถหรือรถติด ถ้าเริ่มจากสิทธิของคนก่อน เราจะพบว่ารถเมล์นั้นสำคัญเพราะถ้านับว่า 1 คนมี 1 เสียง รถเมล์คันหนึ่งจะมีถึง 70 คน ซึ่งเท่ากับ 70 เสียง ถ้ามีเลนรถเมล์ส่วนตัวขึ้นมา มันก็จะมีสิทธิเท่ากับขบวนรถยนต์ 70 คัน เพราะในช่วงเร่งด่วน คนขับรถคันละ 1 คนเป็นส่วนใหญ่

คนที่นั่งรถเมล์ควรมีสิทธิในช่วงเร่งด่วนที่จะไม่ต้องมาติดบนถนน ถ้าเน้นที่คนมากกว่าก็ต้องเริ่มจากตรงนั้นก่อน ไม่ว่าจะเริ่มจากถนนสายใดก็ตาม รถเมล์ควรมีสิทธิมากกว่า แต่ของเรารถเมล์ก็ติดอยู่กับรถส่วนตัว ก็ยิ่งแย่ไปใหญ่ แล้วก็ต้องปรับปรุงคุณภาพของรถเมล์ด้วย

อย่างล่าสุด ผมเพิ่งไปที่เมืองโอ๊กแลนด์, แคลิฟอร์เนีย มันมีรถเมล์ชื่อ AC Transit ที่วิ่งในย่านเสื่อมโทรมแต่รถเมล์มันดีมาก คนก็ชอบเพราะมันไม่มีเขม่าหรืออะไรเลย ใช้ไฮโดรเจน Fuel Cells ซึ่งสามารถเอาไฮโดรเจนมาจากพวกโรงกลั่นน้ำมันได้ ถูกกว่าทำจากโซลาร์เซลล์ ก็ใช้เทคโนโลยีพวกนี้เพื่อให้คนที่นั่งรถเมล์รู้สึกดีขึ้น เขาเน้นคน ที่นั่งก็อย่างหรูเลย นั่งสบาย

แบบนี้อะไรคือตัวชี้วัดว่ามีระบบขนส่งมวลชนที่ดี?

ตัวชี้วัดที่ดี คือ คนใช้เวลาเท่าไหร่ (ต่อหัว) ต่อวัน ในระบบขนส่งมวลชน ไม่ใช่แค่คนนั่งเยอะแล้วประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่ เพราะเขาอาจจะต้องมาใช้เพราะไม่มีทางเลือกอื่นแล้วก็ได้ ดังนั้นต้องดูว่าเขาเสียเวลาเท่าไหร่ต่อคน ต่อวัน ทุกนาทีที่ใช้ในขนส่งมวลชนไม่ว่าจะรถเมล์หรือรถไฟฟ้ามันเอามาเป็นตัวชี้วัดได้ ทุกวันนี้เวลาที่ใช้ในการเดินทางเฉลี่ยต่อคนแล้วผมคิดว่าเสียเวลาเยอะนะ อย่างบางคนต้องไปอยู่ไกลมากๆ เพราะที่ดินในเมืองแพง

ในฐานะสถาปนิก เรามองว่ากรุงเทพฯมันควรมีพื้นที่แบบไหนเพิ่มขึ้นมาอีก?

(คิด) ต้องดูพื้นที่รอบๆ ว่ามีอะไรนะ แต่ถ้าถามผม ผมจะสร้างห้องสมุดแบบ TK Park เพิ่มขึ้นมาหลายๆ ที่เลย ห้องสมุดชั้นดี มีหนังสือภาษาอังกฤษและไทยใหม่ๆ ที่คนเข้ามาอ่านได้ มีเครื่องปรับอากาศ ทำให้มันดีๆ ต้องทำให้มันเยอะขึ้นและคนธรรมดาๆ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

สวนสาธารณะไม่สำคัญเท่าห้องสมุดดีๆ ที่ทันสมัยนะผมว่า (ยิ้ม) ถ้าจะทำจริงๆ ชุมชนก็ยังอยู่กับห้องสมุดได้ อยู่ชั้นบนก็ได้ แต่ละบ้านก็เป็นห้องสมุดแขนงหนึ่งไป บ้านนี้ mathematics อีกบ้าน physics อีกบ้าน politics and history อีกบ้าน sociology บ้านกลางเป็นเวทีลิเก เอาไว้ถกเถียง เสียดสี ทฤษฎีเก่าๆ ทั้งหลาย (หัวเราะ) ฯลฯ
ยรรยง บุญ-หลง

‘ผมชอบกรุงเทพฯ’

หากยังเห็น ‘คน’ สำคัญ

ในฐานะสถาปนิกผู้เห็นเมืองต่างๆ มามากมายทั่วโลก แต่เมื่อถามว่าจากทั้งหมดที่เห็นชอบเมืองใดที่สุด

ยรรยงตอบทันทีโดยแทบไม่คิดว่า “ผมชอบกรุงเทพฯ”

ราวกับรู้ว่าประหลาดใจในคำตอบ เขาอธิบายต่อทันทีถึงเหตุผลในคำตอบอันชวนให้เลิกคิ้วตั้งคำถามต่อนั้น-ว่า เขาจะยังคงชอบกรุงเทพฯอยู่ หากกรุงเทพฯยังเห็นคนสำคัญ

ผมชอบกรุงเทพฯ เพียงแต่คุณต้องเน้นคนกว่านี้ มันเป็นเมืองที่ตื่นเต้น มีความหลากหลาย แต่ทางภาครัฐน่าจะเน้นความสำคัญของคนให้มากกว่านี้”

ยรรยงอธิบายอีกว่า เรื่องทางกายภาพของ กรุงเทพฯ ถือว่าดี ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เขาชื่นชอบเมืองนี้

“ผมชอบมากนะ คือมีคลองเยอะแยะไปหมด มีนวัตกรรมใหม่ๆ บนถนน ตอนกลางคืนตอนกลางวันถนนก็กลายเป็นอีกอย่าง สิ่งนี้คืออีกอย่างที่ชอบ” เขาเล่าพร้อมรอยยิ้ม

แต่ถึงอย่างนั้นเองด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ได้ทำให้ “ชีวิตชีวา” ของกรุงเทพฯ หายไปทีละเล็ก ทีละน้อย

“คือชีวิตชีวาของเมืองนี้มันหายไปเยอะมากเหมือนกัน ย่านเก่าๆ ถนนบางสายที่มีการค้าขายก็โดนไล่ออกไป

“ที่สุดแล้วมันก็ต้องกลับมาที่ว่าเราให้ความสำคัญกับคนมากแค่ไหน ถ้าเราเห็นคนสำคัญเราก็จะออกแบบเมืองที่ผู้คนสามารถอาศัยอยู่ได้” ยรรยงทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image