คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : ตรวจสอบอาคารกันเถอะ

ภัยพิบัติล่าสุดจากระเบียงอาคารถล่มย่านประชานิเวศน์ 1 ให้บทเรียนอะไรเราบ้าง

วันนี้ขออนุญาตชวนคุยเรื่องใกล้ตัว โอกาสเกิดอาจจะน้อยมาก แต่เมื่อเกิดแล้วส่งผลกระทบมากมายมหาศาล เป็นเรื่องของการใช้อาคารค่ะ

เหตุเกิดสดๆ ร้อนๆ เมื่อเวลาประมาณก่อน 6 โมงเย็นของวันพุธ 7 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา อาคารพาณิชย์ให้เช่า กรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริเวณรอบตลาดประชานิเวศน์ 1 มีการถล่มลงมาบางส่วน ข้อมูลดิบคืออาคารพาณิชย์ให้เช่าหรือห้องแถวให้เช่าของ กทม. มี 19 ล็อก รวมทั้งหมด 177 ห้อง

กลุ่มอาคารหรือล็อกที่ถล่มลงมามี 13 ห้อง ลักษณะการถล่ม เกิดเนื่องจากเป็นอาคารเก่าสร้างตั้งแต่ปี 2525 ดูเหมือนมีการวิบัติของโครงสร้างอาคารบางประการ ทำให้มีการทรุดตัวบริเวณระเบียงซึ่งเป็นปูนคอนกรีต ถล่มแบบพับตัวลงมาทำความเสียหายให้รถยนต์ที่จอดด้านหน้าอาคารประมาณ 10 คัน

Advertisement

ข่าวดีคือไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งจะมีสักกี่ครั้งกันเชียวที่เกิดภัยพิบัติลักษณะนี้แล้วจะโชคดีได้อย่างนี้

อย่างน้อยที่สุด ภัยพิบัติครั้งนี้ก็ให้บทเรียนว่าคนเราควรจะต้องหันมาให้ความใส่ใจกับความปลอดภัยอาคาร ทำให้นึกไปถึงกฎหมายฉบับหนึ่ง นั่นคือ “พ.ร.บ.ตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548”

สาระสำคัญมุ่งเน้นให้อาคารขนาดใหญ่ 9 ประเภท ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารและต้องส่งรายงานให้กับรัฐบาลทราบทุกปี

Advertisement

คัดลอกรายละเอียดอาคาร 9 ประเภท มีดังนี้ 1.ตึกสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป (สูง 8 ชั้นขึ้นไป) 2.พื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป 3.อาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไปหรือบรรจุคนพร้อมกัน 500 คนขึ้นไป (เป็นอาคารสาธารณะ)

4.โรงละคร (ศัพท์ราชการเรียกโรงมหรสพ) 5.โรงแรม หรือตึกที่มีห้องพัก 80 ห้องขึ้นไป 6.สถานบริการตามกฎหมายกำหนดมีพื้นที่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป 7.อาคารชุดหรือตึกที่มีพื้นที่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป

8.ตัวโรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ใช้สอย 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และ 9.ป้ายบิลบอร์ด คัตเอาต์ สูงจากพื้นดิน 15 เมตรขึ้นไป หรือป้ายบิลบอร์ดติดตั้งบนหลังคา บนตึก ที่มีพื้นที่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป

รายละเอียดการตรวจสอบผู้สนใจติดตามข้อมูลได้จากเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง รู้แต่กฎหมายบังคับว่าจะต้องมีการตรวจสอบอาคารครั้งใหญ่ทุก 5 ปี กับต้องมีการตรวจสอบประจำปี แปลว่าปีละ 1 ครั้ง

กล่าวสำหรับกฎหมายตรวจสอบอาคาร เป็นหน้าที่เจ้าของอาคารเขาต้องรับไปปฏิบัติ ประชาชนอย่างเราๆ มีหน้าที่ไปสะกิดสอบถามเขาว่า ปีนี้จัดทำรายงานตรวจสอบอาคารหรือยัง

ประเด็นต่อมา ในระดับครัวเรือน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าบ้านจะถล่มหรือไม่

ถ้าหากเป็นการถล่มระหว่างการก่อสร้าง เรื่องนี้ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ ว.ส.ท. แนะแนวทางไว้ว่า ปกติน่าจะมาจาก 3 สาเหตุหลัก ประกอบด้วย การออกแบบผิดพลาด ใช้วัสดุผิดพลาด กับการก่อสร้างผิดพลาด

บทเรียนครั้งล่าสุดของระเบียงอาคารถล่มย่านประชานิเวศน์ 1 ย่อมไม่ใช่เกิดจากการถล่มระหว่างก่อสร้างแน่นอน เพราะอายุตึก 30 ปีแล้ว ส่วนจะเกิดจากอะไรให้เป็นหน้าที่ของทางการเขาบริหารจัดการกันไป

เรื่องใกล้ตัวคือบ้านพักอาศัยที่อยู่มาเป็นสิบๆ ปี มีวิธีสังเกต “ความวิบัติของโครงสร้าง” ยังไงบ้าง ขออนุญาตทบทวนความจำกันอีกสักครั้งนะคะ ผู้รู้ทั่นบอกว่าถ้าดูด้วยตาเปล่าก็ให้สังเกตกันที่ “รอยร้าว”

ก่อนอื่น ต้องปรับพื้นฐานด้วยว่า ในทางวิศวกรรม รอยร้าวบ้านมีทั้งแบบอันตรายและไม่อันตราย

รอยร้าวแบบไม่อันตราย เช่น รอยแตกลายงาของผนังปูนฉาบ ผิวหินขัด กรวดล้างทรายล้าง หรือการแตกร้าวของพื้นโรงรถ อย่างมากคือกระทบกับความสวยงามหรือการรั่วซึมเวลาหน้าฝน

ส่วนรอยร้าวแบบอันตราย เทคนิคการตรวจสอบดูด้วยตนเองคือเป็นรอยร้าวที่มีขนาดความกว้างมากกว่า 0.5 มม. ทดสอบโดยใช้ปากกาแหย่ลงไปได้ จุดสำคัญคือต้องมีองค์ประกอบเพิ่มอีก 2-3 อย่าง เริ่มจากเป็นรอยร้าว 3 จุดหลักบริเวณ “เสา-คาน-พื้น” ซึ่งร้าวจนเห็นเหล็กภายในคอนกรีต

จิ๊กซอว์อีกตัวคือบ้านมีการทรุดตัวไม่เท่ากัน โดยเฉพาะจุดที่มีปัญหาดินอ่อน เช่น กรุงเทพฯ (ส่วนหนึ่งเพราะมีการขุดน้ำบาดาลไปใช้กันเยอะ) มองด้วยตาเปล่าจะฟ้องออกมาทางผนังมีรอยร้าวเฉียงเส้นเดียว ทำมุมกับพื้นประมาณ 45 องศา

นอกจากนี้ ความวิบัติโครงสร้างบางครั้งยังแสดงออกในแบบที่ภาษาช่างเรียกว่า “บ้านพูดได้” หรือมีเสียงลั่นเปรี๊ยะให้ได้ยินก็มี

ถ้าตรวจสอบด้วยตนเองแล้วเห็นสัญญาณพวกนี้เมื่อไหร่ ข้อแนะนำคือใช้บริการมืออาชีพทันที อย่ารีรอ

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นสิ่งมีค่า เริ่มต้นจากการตรวจสอบอาคารกันเถอะค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image